“Brawn GP” : ทีม F1 ที่มีอายุเพียงแค่ 1 ปี แต่ไปถึงแชมป์โลก – Sanook

มีเรื่องราวตำนานเทพนิยายในวงการกีฬาเกิดขึ้นมากมาย แต่หากว่ากันที่วงการมอเตอร์สปอร์ตอย่าง Formula 1 หนึ่งในเทพนิยายที่แฟนกีฬาความเร็วหลงรัก คงหนีไม่พ้นเรื่องของ Brawn GP อย่างแน่นอน

จากการถูกนายทุนใหญ่ทิ้งไว้กลางทางก่อนเปิดฉากฤดูกาลแค่ไม่กี่เดือน ทีมที่กลุ่มคนทำทีมใช้เงินเพียง 1 ปอนด์ในการซื้อ และจำต้องใช้นามสกุลของคนที่ซื้อมาตั้งเป็นชื่อทีม ไม่เพียงสามารถส่งรถเข้าแข่งขันได้เท่านั้น แต่ยังสร้างปาฏิหาริย์ด้วยการเป็นแชมป์โลก

ติดตามเรื่องราวของทีม F1 ที่มีอายุเพียง 1 ปี ทว่าสร้างตำนานสุดยิ่งใหญ่นี้ได้กับ Main Stand

ทิ้งไว้กลางทาง

ประวัติศาสตร์ของวงการ F1 นั้น มีการเทคโอเวอร์กิจการทีมที่ประสบปัญหาแล้วเปลี่ยนชื่อทีมใหม่อยู่หลายครั้ง ซึ่งในกรณีของ Brawn GP ก็เช่นกัน

จุดเริ่มต้นของทีมนี้สามารถย้อนกลับไปได้ถึงปี 1968 เมื่อทีม Tyrell ที่สร้างชื่อในการแข่งขันระดับรองมาตั้งแต่ยุค 1950s ตัดสินใจส่งทีมเข้าแข่งขัน F1 และประสบความสำเร็จไม่น้อย สามารถคว้าแชมป์โลกประเภททีม 1 สมัย ในปี 1971 และแชมป์โลกประเภทนักขับ 3 สมัย จาก แจ็คกี้ สจวร์ต ในปี 1969, 1971, 1973) รวมถึงตำนาน “รถแข่ง 6 ล้อ” ที่โลกจดจำ กับ Tyrrell P34 ที่ใช้แข่งขันในฤดูกาล 1976 และ 1977

1อย่างไรก็ตามผลงานในสนามที่สาละวันเตี้ยลงในยุค 1980s และ 1990s ทำให้ Tyrell ตัดสินใจขายทีมให้กับ British American Tobacco ผู้ผลิตบุหรี่ดังอย่าง Lucky Strike กับ 555 ที่อยู่คู่วงการมอเตอร์สปอร์ตมานาน และเปลี่ยนชื่อทีมเป็น British American Racing หรือ BAR ในฤดูกาล 1999 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น BAR Honda หลัง Honda ผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนเครื่องยนต์ในปี 2000

แม้ผลงานอาจจะยังไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์โลก แต่ก็ได้ขึ้นโพเดียมอยู่เป็นระยะ ประกอบกับข้อกำหนดเรื่องการโฆษณาสินค้าที่นับวันบุหรี่ยิ่งมีที่ยืนในวงการกีฬาน้อยลงทุกที ที่สุดแล้ว BAR ก็ตัดสินใจขายทีมให้กับ Honda จนก้าวสู่การเป็นทีมโรงงานเต็มตัวในปี 2006

นี่คือการกลับมาทำทีมแข่ง F1 อย่างเต็มตัวอีกครั้งของ Honda นับตั้งแต่ช่วงปี 1964-1968 ท่ามกลางความฝันว่า ยุคทองของพวกเขาจะกลับมาอีกครั้ง หลังเคยสร้างตำนานในช่วงกลางยุค 1980s ถึงต้นยุค 1990s กับการเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้ทีม Williams และ McLaren ก่อนพา เนลสัน ปิเกต์, ไอร์ตัน เซนน่า กับ อแลง พรอสต์ สู่ตำแหน่งแชมป์โลก … ทว่าฝันนั้นใช่จะเป็นจริงเสมอไป

แม้จะมีชัยชนะและได้ขึ้นโพเดียมอยู่บ้าง แต่ผลงานในการเป็นทีมโรงงานอย่างเต็มตัวของ Honda ก็ไม่ถึงกับดีนัก … เมื่อเข้าสู่ฤดูกาล 2008 แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เริ่มจะสาดส่องเข้ามาบ้าง เมื่อทีมได้ รอสส์ บรอว์น (Ross Brawn) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของทีม Ferrari ในยุคทอง ที่ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ คว้าแชมป์โลก 5 ปีซ้อน ระหว่างปี 2000-2004 มาเป็นประธานของทีม

2ถึงกระนั้นผลงานของทีมในซีซั่นดังกล่าวก็ยังไม่กระเตื้องเช่นเดิม ทำให้บรอว์นและ นิค ฟราย ซีอีโอของทีม ตัดสินใจหันไปโฟกัสกับการพัฒนารถในฤดูกาล 2009 ที่จะมีการเปลี่ยนกฎใหม่ ทั้งการเพิ่มระบบ KRES หรือ Kinetic Energy Recovery System ที่เปลี่ยนพลังงานจลน์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า ควบคู่กับการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (พูดแบบให้เข้าใจง่ายคือเป็นเครื่องยนต์ไฮบริดนั่นเอง) รวมถึงการเปลี่ยนจากยางเซาะร่อง (Groove) มาเป็นยางสลิกไร้ดอก พร้อมความหวังว่า “ปีหน้ามาแน่”

แต่หลังจากที่ฤดูกาล 2008 จบลงได้ไม่นาน ฟ้าก็ผ่าอย่างจัง … Honda ประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน F1 โดยมีผลทันที

กู้วิกฤติ

“ปลายเดือนพฤศจิกายน 2008 ผมกับนิค (ฟราย) ถูกเรียกเข้าประชุมที่สำนักงานใหญ่ของ Honda ในอังกฤษ สิ่งที่ผมได้ยินคือ ‘พวกเขาจะยกเลิกโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับ F1 ทั้งหมด'” รอสส์ บรอว์น เล่าถึงวันที่รับทราบข่าวร้ายจากทาง Honda

3วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ที่ชื่อว่า “The Great Recession” ส่งผลมาถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ จนเป็นเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ค่ายรถยนต์โลโก้ตัว H ตัดสินใจเดินออกจากการแข่งขัน F1 ซึ่งดูจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มกับเม็ดเงินที่เสียไป ถึงกระนั้นการจะถอนสมอออกไปเลยไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

“ประเด็นคือก่อนหน้านั้น พวกเราได้รับการอนุมัติงบประมาณสำหรับฤดูกาล 2009 และทุกอย่างก็พร้อมแล้ว เลยมืดแปดด้านว่าจะอะไรยังไงต่อ สิ่งที่เราต้องทำคือ กลับไปที่โรงงาน แจ้งข่าวนี้ให้ทุกคนทราบ แล้วก็แยกย้าย แต่ก่อนหน้านั้นเราต้องปรึกษากับฝ่ายกฎหมายก่อน สิ่งที่ทางนั้นแนะนำมาคือ พวกเขาไม่สามารถปิดโปรเจ็กต์ง่าย ๆ ไปเลยได้ เพราะเรามีพนักงานอีกกว่า 700 คน อีกทั้งยังมีขั้นตอนต่าง ๆ อีกมากมาย แต่นั่นก็ช่วยซื้อเวลาให้เราได้เช่นกัน สำหรับการหาเจ้าของใหม่ที่จะมารับช่วงทีมต่อ”

เพื่อให้คนที่อยู่เบื้องหลังกว่า 700 คนยังมีงานทำ รอสส์ บรอว์น จึงต้องออกไปเสนอโปรเจ็กต์ของตน หวังให้มีนายทุนรายใหม่มาซื้อกิจการ และก็ดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้สวย เมื่อมีผู้ให้ความสนใจหลายราย ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการมอเตอร์สปอร์ต อย่าง เดวิด ริชาร์ดส์ ประธาน Prodrive หนึ่งในทีมรถแข่งชื่อดังของอังกฤษ ที่สร้างชื่อจากการทำทีม Subaru ในศึกแรลลี่ชิงแชมป์โลก หรือ WRC รวมถึงเคยเป็นประธานของทีม BAR Honda ระหว่างปี 2002-2004 ตลอดจนคนนอกวงการอย่าง คาร์ลอส สลิม เฮลู มหาเศรษฐีชาวเม็กซิโก ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า “รวยที่สุดในโลก” และ Virgin Group กลุ่มทุนที่มี เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีผู้ทะเยอทะยานเป็นหัวเรือใหญ่

ทว่าแม้มีผู้สนใจหลายราย กลับไม่มีรายใดที่สามารถปิดดีลนี้ได้สำเร็จ

ปฏิทินขยับเข้าสู่ปี 2009 วันแล้ว วันเล่า ปัญหานี้ดูยังจะไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการแก้ไข ดูเหมือนจะใกล้เข้าสู่ความจริงที่ว่า ทีมจะต้องถูกยุบ และกว่า 700 คนต้องตกงานเข้าไปทุกที แต่ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ก็ได้ข้อสรุป 

รอสส์ บรอว์น ควักเงิน 1 ปอนด์ (เทียบค่าเงินเฟ้อในปี 2021 จะอยู่ที่ราว 1.25 ปอนด์ หรือ 57 บาท) ซื้อกิจการทีมแข่ง F1 จาก Honda เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าต่อไปได้

4“ข้อตกลงที่มีกับ Honda คือ ‘เอาล่ะ คุณจะต้องเสียเงินเท่านี้ในการปิดบริษัท รวมถึงจ่ายเงินชดเชยต่าง ๆ หรือให้เราเดินหน้าทำทีมต่อ จัดการปัญหาต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการส่งรถเข้าแข่งขันเอง โดยที่คุณเสียเงินน้อยกว่าตัวเลขที่พูดไปเมื่อกี้’ การที่เราตัดสินใจทำทีมต่อ ทำให้ Honda เสียเงินน้อยกว่า และถ้ามองในแง่ศีลธรรม มันก็ดีกว่าด้วย จริงอยู่การที่ต้องเลิกจ้างพนักงานกว่า 300 คนไม่ใช่เรื่องดีเลย แต่อย่างน้อย อีกกว่า 400 คนก็ยังมีงานทำต่อ Honda เลยตกลงที่จะสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายของทีมเราในฤดูกาล 2009 ให้ ซึ่งก็พอให้เราเดินหน้าต่อจนจบฤดูกาล ถึงกระนั้นผมอยากเรียกมันว่าเป็น ‘แผนเอาตัวรอด’ (Survival Plan) มากกว่านะ เพราะเราก็จำต้องหาสปอนเซอร์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มงบทำทีมเช่นกัน” บรอว์น เผย

ในส่วนของสปอนเซอร์ Virgin Group ที่เคยมีข่าวว่าจะซื้อกิจการแต่หาข้อสรุปไม่ได้ ตกลงที่จะเข้าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน ทำให้พวกเขามีงบประมาณในการทำทีมเพิ่ม ทีนี้ก็มาถึงอีกคำถามสำคัญคือ ทีมนี้จะลงแข่งในชื่อใด?

จากหลากหลายไอเดียที่เข้ามา บทสรุปสุดท้ายกลับเรียบง่ายเกินคาด … ก็ในเมื่อ รอสส์ บรอว์น เป็นผู้กู้วิกฤตให้ทีมนี้สามารถเดินหน้าต่อได้ นามสกุลเขานี่แหละเหมาะสุดแล้วที่จะเป็นชื่อทีม

5“พูดตรงนี้เลยว่า นี่ไม่ใช่ไอเดียของผมนะ” บรอว์นย้อนเล่าถึงตอนนั้น “แคโรไลน์ แมคกลอรี่ ที่ปรึกษากฎหมายของเราเป็นคนเสนอ อันที่จริงเรามีไอเดียเรื่องชื่อทีมมากมาย แต่ผมก็ไม่ได้ซื้อไอเดียไหนเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะ ‘Pure Racing’ ที่ทำให้ผมขำก๊าก ส่วน ‘Tyrell’ แม้เป็นไอเดียที่ดีกับการให้เกียรติรากเหง้าของทีม แต่มันมีปัญหากับทางครอบครัวไทเรลล์ในการใช้ชื่อนี้ สุดท้ายแคโรไลน์เสนอให้ใช้นามสกุลของผม ‘Brawn’ กลายเป็นว่าบอร์ดบริหารทุกคนซื้อไอเดียนี้ ซึ่งผมก็ปลื้มอยู่นะครับ”

แม้จะต้องส่งทีมเข้าแข่งขันในฐานะทีมใหม่ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ของ Honda เดิมได้ (พวกเขาต้องเปลี่ยนเบอร์รถจาก 18-19 ที่อิงจากอันดับเดิมของ Honda ในฤดูกาล 2008 มาเป็น 22-23 เนื่องจาก Force India ทีมอันดับสุดท้ายของฤดูกาลก่อนหน้า ทำการประชาสัมพันธ์สำหรับซีซั่นใหม่ด้วยเบอร์ 20-21 ไปแล้ว) แต่ฝ่ายจัดการแข่งขัน F1 รวมถึงสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการส่งทีมเข้าแข่งขัน รวมถึงอนุมัติการเปลี่ยนชื่อทีมตามคำขอ

Brawn GP ถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างให้ต้องจัดการ ก่อนการทดสอบรถก่อนเปิดฤดูกาล และก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น

ประกอบร่างสร้างความสำเร็จ

แม้ในภาคผู้บริหารจะวุ่นวายอยู่กับการหาทางออกให้กับทีม แต่ทีมงานส่วนอื่น ๆ ยังคงถือหลัก “The show must go on” เดินหน้าทำงานกันตามปกติ ทำให้ตัวรถแข่งสำหรับฤดูกาล 2009 ถูกพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว

แม้การถอนสมอออกของ Honda จะทำให้รหัสตัวรถต้องเปลี่ยนไป จาก RA109 สู่ BGP 001 แต่นั่นคือปัญหาเพียงเล็กกระจิ๋วเท่านั้นที่ Brawn GP ต้องเผชิญ เพราะยังมีเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นมาก คือการหาหัวใจดวงใหม่มาใส่ในรถคันนี้ เนื่องจาก Honda ไม่ได้มอบเครื่องยนต์ไว้เป็นของขวัญอำลาด้วย

6รอสส์ บรอวน์ ต้องออกเดินทางเพื่อพบปะกับผู้ผลิตเครื่องยนต์รายอื่น ๆ ในการแข่งขัน เพื่อหาเครื่องยนต์ใหม่มาใส่ให้กับรถแข่ง สุดท้าย Brawn GP เลือกเครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz ซึ่งการออกแบบเครื่องยนต์นั้น เอื้อให้พวกเขาแก้ไขตัวรถเดิมน้อยที่สุดในเวลาที่จำกัดเช่นนี้

“เรื่องการแก้ไขตัวรถให้เข้ากับเครื่องยนต์คือปัญหาของเรา แต่ทาง Mercedes ก็กังวลกับปัญหาทางการเงินของเราเหมือนกัน เราเลยต้องคุยกับพวกเขาให้ชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เราพร้อมจ่ายเงินเต็มจำนวนเลยด้วยซ้ำ เพราะ Honda ให้เงินพวกเรามาแล้ว นอกจากนี้เรายังต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาอีกด้วย ผมว่าทางนั้นน่าจะโล่งใจทีเดียวในตอนที่ได้รับเช็คเต็มจำนวนตั้งแต่ต้นปี” บรอว์น เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

ในเรื่องของนักแข่ง Brawn GP เลือกใช้บริการของ เจนสัน บัตตัน (Jenson Button) กับ รูเบนส์ บาร์ริเคลโล่ (Rubens Barrichello) คู่นักขับเดิมของ Honda จากฤดูกาล 2008 ส่วนเป้าหมายของทีม บรอว์นเผยว่า เรื่องการคว้าแชมป์โลกหรือชนะการแข่งขันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหัวของพวกเขาเลย ตอนนี้คิดเพียงทำผลงานให้ดี มีคะแนนติดมือ เพื่อที่อย่างน้อย ๆ จะได้มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนทีมเพิ่ม

7แต่เพียงแค่การทดสอบรถก่อนฤดูกาล 2009 จะเริ่มขึ้น ความจริงก็ปรากฏทั้งที่ บาร์เซโลนา และ เฆเรซ ประเทศสเปน เมื่อ BGP 001 เร็วกว่ารถคันที่เหลือในกริดอย่างเห็นได้ชัด ในรอบแรก ๆ ถึงกับมีการลบเวลาที่ทำได้ด้วยซ้ำ เพราะดูเหมือนว่าจะมีการลัดโค้ง แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ รถวิ่งได้เร็วจริง ๆ

“ทุกครั้งที่เวลาถูกลบ ดูเหมือนเราจะเร็วกว่าคนอื่น ๆ 2-3 วินาทีด้วยซ้ำ เราเลยต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม ใส่ตัวถ่วงน้ำหนักเพิ่ม แล้วปล่อยรถออกไปวิ่งต่อ อันที่จริงเราควรคิดถึงเรื่องนี้ก่อนหน้านั้น แต่เป้าหมายของเราตอนไปที่นั่น คือหวังแค่ให้รถมันวิ่งได้ ไม่ได้หวังว่ารถจะวิ่งเร็ว” เจมส์ วาวล์ส หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Brawn GP เผย

“ผมจำได้เลยว่ามีคนของทีม McLaren พูดว่า ‘นี่พวกนายถอดตัวถ่วงน้ำหนักออกไปใช่ไหม เยี่ยมมาก สปอนเซอร์น่าจะชอบใจ’ และอีกหลาย ๆ ทีมก็เช่นกัน พวกเขาคิดว่าเราให้รถออกไปวิ่งด้วยน้ำหนักน้อยที่สุดเท่าที่กติกาอนุญาตเพื่อดึงดูดผู้สนับสนุน แต่ความจริงเราทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้รถวิ่งช้าลงต่างหาก”

8ด้วยความเร็วผิดปกตินี้ ทีมคู่แข่งจึงจับจ้องไปที่รถของ Brawn GP มากเป็นพิเศษ และในที่สุดก็พบสิ่งผิดปกติ นั่นคือการเสริมครีบรีดอากาศที่โครงสร้างรับแรงกระแทกเมื่อเกิดการชนด้านท้าย กลายเป็น Double Diffuser หรือ ครีบรีดอากาศด้านท้ายแบบ 2 ชั้น ทำให้ทีมคู่แข่งยื่นเรื่องให้ฝ่ายควบคุมการแข่งขันพิจารณาว่าทำผิดกฎหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นอกจาก Brawn GP แล้ว ยังมีอีก 2 ทีมที่ออกแบบรถโดยมี Double Diffuser เช่นกัน นั่นคือ Toyota และ Williams จนในที่สุดแล้วมีคำตัดสินจึงออกมาว่าไม่ผิดกฎ สามารถลงแข่งได้ตามเดิม

เมื่อปัญหาทุกอย่างคลี่คลาย Brawn GP ก็พร้อมออกศึกแล้ว

สู่แชมป์โลก

เพียงแค่สนามแรกของ F1 ฤดูกาล 2009 ที่ อัลเบิร์ต พาร์ค ประเทศออสเตรเลีย Brawn GP ก็สร้างผลงานสุดตะลึง เจนสัน บัตตัน นักขับมือหนึ่งทำเวลาได้ดีที่สุดในรอบคัดเลือก คว้าตำแหน่งโพลก่อนชนะการแข่งขัน ขณะที่ รูเบนส์ บาร์ริเคลโล่ คว้าอันดับสอง

9หลังจากนั้นผลงานของทีมนี้ก็เรียกได้ว่าพุ่งทะยาน เพราะใน 7 สนามแรก บัตตันคว้าแชมป์ได้ถึง 6 สนาม ขณะที่อีกสนามเข้าป้ายที่อันดับ 3 ส่วนบาร์ริเคลโล่คว้ารองแชมป์ไป 3 สนาม

“เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” อาจใช้อธิบายผลงานเกินคาดของ Brawn GP ในช่วงครึ่งแรกของฤดูกาล 2009 ได้ก็จริง แต่งบประมาณการทำทีมที่จำกัดกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของพวกเขาในช่วงที่เหลือของฤดูกาล ซึ่งบรอว์นเองก็ทราบดี

“ในวงการ F1 เมื่อรถได้ลงสนามเป็นครั้งแรก คุณจะเริ่มรู้แล้วว่าต้องปรับแก้ตรงไหน ซึ่งโดยปกติ บาร์เซโลน่า สนามแรกที่แข่งในทวีปยุโรป จะเป็นช่วงที่คุณได้เห็นทีมต่าง ๆ อัพเกรดรถขนานใหญ่ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการอัพเกรดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ฤดูกาล 2009 เราสร้างแชสซีส์ขึ้นมาแค่ 3 ตัวเท่านั้น ซึ่ง 2 ตัวแรก เราลากใช้ยาวมาตลอดครึ่งแรกของซีซั่นเลย”

เข้าสู่ช่วงกลางฤดูกาล ผลงานของ Brawn GP เริ่มตก บัตตันทำได้เพียงแค่ประคองให้เก็บคะแนนสะสมได้ แม้บาร์ริเคลโล่จะเริ่มมีผลงานที่กระเตื้องขึ้น กับการคว้าแชมป์ที่ บาเลนเซีย ประเทศสเปน และ มอนซ่า ประเทศอิตาลี แต่ปัญหาในการออกแบบรถที่ซ่อนอยู่ปรากฏตัวออกมาให้เห็นแล้ว

10“การทำอุณหภูมิของยางให้เหมาะสมเพื่อรีดประสิทธิภาพให้ได้นานที่สุดเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ซึ่งบางสนามเราไม่สามารถทำได้ ต้องยอมรับว่าในตอนนั้นเราไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มากพอเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน เดี๋ยวนี้มีเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้ยางเข้าสู่อุณหภูมิการทำงานมากมาย แต่ตอนนั้นเหมือนกับเราหาสวิตช์เปิดไม่เจอ” บรอว์น เผย

“ถึงอย่างนั้นผมคิดว่าความกดดันที่หลายคนมองว่าเราจะสร้างปาฏิหาริย์คว้าแชมป์โลกได้เลยทั้ง ๆ ที่เริ่มต้นแบบตะกุกตะกักขนาดนี้ก็มีส่วน มันอาจส่งผลให้นักขับของเราต้องขับแบบระวังขึ้น ซึ่งเชื่อว่าทุกคนในทีมก็อาจเกิดความรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน ตัวผมคงเป็นหนึ่งในไม่กี่คนของทีมชุดนั้นที่เคยต่อสู้เพื่อคว้าแชมป์โลกมาก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะรับมือได้อย่างเพอร์เฟ็กต์เสมอไป”

ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังสามารถเก็บแต้ม รักษาระยะห่างจากคู่แข่งได้มากพอ ก่อนการคว้าอันดับ 5 ของบัตตัน และอันดับ 7 ของบาร์ริเคลโล่ที่ อินเตอร์ลากอส ประเทศบราซิล ในสนามรองสุดท้ายของฤดูกาล ทำให้ทุกอย่างปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ ด้วยตำแหน่ง “แชมป์โลก”

11“ผมจำได้ว่า เช้าวันแข่งที่อินเตอร์ลากอส เจนสัน (บัตตัน) พูดกับผมว่า ‘ไม่ต้องห่วง บ่ายนี้ผมปิดจ๊อบได้แน่’ บางทีหลังจากที่ได้คุยกับพ่อของเขาในคืนก่อนหน้า เขาน่าจะรู้ตัวว่านี่คือโอกาสเดียวที่เขาจะคว้าแชมป์โลก วันนั้นเขาขับได้ดีมาก แซงเมื่อมีโอกาส ใส่เต็มเมื่อถึงคราวจำเป็น ไม่ทำอะไรโง่ ๆ และไร้ความกังวล ตอนรถเข้าเส้นชัย ผมถึงกับร้องไห้ออกมา ถึงก่อนหน้านี้ผมเคยทำทีมคว้าแชมป์โลกมาก็หลายครั้ง แต่จากสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา การคว้าแชมป์ครั้งนี้มันพิเศษจริง ๆ” บรอว์น เล่าถึงวันที่พวกเขาคว้าแชมป์อย่างเป็นทางการ

บทสรุป เจนสัน บัตตัน ทำได้ 95 คะแนน คว้าแชมป์ประเภทนักขับ ส่วน รูเบนส์ บาร์ริเคลโล่ เก็บได้ 77 คะแนน จบอันดับ 3 ในประเภทนักขับ ส่วนประเภททีม Brawn GP ทำได้ 172 คะแนน คว้าแชมป์ฤดูกาล 2009 ด้วยเปอร์เซ็นต์ชัยชนะ 47.05% (8 จาก 17 สนาม) คว้าแชมป์โลกในประเภททีมได้สำเร็จ

ฉากสุดท้าย สู่ตำนานบทใหม่

การคว้าแชมป์โลกได้ตั้งแต่ปีแรกถือเป็นความสำเร็จที่น้อยทีมจะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขัน F1 ยิ่งเมื่อดูเส้นทางของ Brawn GP กว่าจะมาถึงจุดนี้ คำว่า “ปาฏิหาริย์” คงไม่เกินจริงนัก

และแม้ Brawn GP จะเป็นทีม F1 ที่มีอายุเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น แต่ฉากสุดท้ายของพวกเขาก็ลงเอยอย่างกับเทพนิยายไม่แพ้เส้นทางที่ผ่านมา

12หลังจากการแข่งขันฤดูกาล 2009 จบลง Daimler AG บริษัทแม่ของ Mercedes-Benz และ Aabar Investments กลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าซื้อหุ้น 75.1% ของทีม ด้วยมูลค่าคาดการณ์ที่สูงถึง 110 ล้านปอนด์ (เทียบค่าเงินเฟ้อในปี 2021 จะอยู่ที่ราว 150 ล้านปอนด์ หรือ 6,900 ล้านบาท) ส่วนหุ้นอีก 24.9% ที่เหลือ เป็นของ รอสส์ บรอว์น กับ นิค ฟราย และทุกคนในทีมได้ทำงานต่อกับทีมใหม่ในชื่อ Mercedes GP

อย่างไรก็ตาม Mercedes GP ต้องเปลี่ยนไลน์อัพนักแข่งใหม่ เมื่อ เจนสัน บัตตัน และ รูเบนส์ บาร์ริเคลโล่ ตัดสินใจไม่อยู่กับทีมต่อ โดยได้สองนักขับชาวเยอรมัน นิโค่ รอสเบิร์ก กับ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ผู้หวนคืนสังเวียนแข่ง F1 อีกครั้ง หลังเลิกแข่งไปเมื่อปี 2006 มารับหน้าที่แทน

13แม้ผลงานของ Mercedes GP ในช่วงฤดูกาล 2010-2013 จะไม่ดีนัก เช่นเดียวกับ รอสส์ บรอว์น ที่ลงจากตำแหน่งประธานทีมหลังซีซั่น 2013 จบลง แต่รากฐานที่ได้สร้างไว้ก็ทำให้ Mercedes GP หรือ Mercedes-AMG ในปัจจุบัน ก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจแห่งวงการ F1 ยุค 2010s กับการคว้าแชมป์โลก 7 สมัยต่อเนื่องทั้งในประเภททีมกับนักขับ (ลูอิส แฮมิลตัน 6 สมัย นิโค่ รอสเบิร์ก 1 สมัย) และยังเป็นยอดทีมแห่งโลกความเร็วจนกระทั่งทุกวันนี้

ถึงจะผ่านมานานนับทศวรรษ แต่ความสำเร็จของ Brawn GP ยังคงเป็นที่จดจำของแฟนกีฬาความเร็ว ทว่า รอสส์ บรอว์น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฝ่ายมอเตอร์สปอร์ตและเทคนิคของ F1 รวมถึงเป็น 1 ใน 3 เจ้าของรถ BGP 001 ที่ถูกสร้างขึ้นมา (อีก 2 คันอยู่กับ เจนสัน บัตตัน และ Mercedes-Benz) มองว่าปาฏิหาริย์เช่นเดียวกับที่พวกเขาสร้างขึ้นมานี้ อาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

14“แม้เราจะเป็นคนที่สร้างปาฏิหาริย์นี้ขึ้นมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า Honda ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปาฏิหาริย์นี้ขึ้นมาได้ เพราะพวกเขาใช้งบประมาณไปหลายร้อยล้านปอนด์ก่อนหน้านี้ และหน้าที่ของเรา คือทำให้มันผลิดอกออกผลด้วยงบประมาณก้อนสุดท้ายที่พวกเขาทิ้งไว้ให้”

“ถึงกระนั้นสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและทำให้เป็นแชมป์โลกครั้งนั้นเป็นอะไรที่พิเศษ ซึ่งผมภูมิใจกับมันมาก ๆ นะ เรามีทีมที่ลงแข่งเพียงแค่ปีเดียว แล้วทำสถิติ 100% ในการคว้าแชมป์โลกได้”

“การได้เห็นชื่อของเราสลักบนถ้วยแชมป์เป็นสิ่งที่อะไรก็ทดแทนไม่ได้ครับ”