‘เปอโยต์ 3008’ โฉมใหม่แห่งสิงห์สำอาง – เดลีนีวส์

ศึกตลาดรถยนต์ช่วงโค้งสุดท้ายของปี ดุเดือดเป็นธรรมดาเช่นเดียวกับ เปอโยต์ ประเทศไทย ที่ส่ง “เปอโยต์ 3008” รถอเนกประสงค์สายพันธุ์สปอร์ตล่าสุดเข้ามาเสริมทัพ สานต่อประวัติศาสตร์ยาวนานของเปอโยต์กว่า 211 ปี และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี สัปดาห์นี้ “ป้ายแดงชวนขับ” จึงได้นำมาทดสอบสมรรถนะโดยนักแข่งมืออาชีพ

เปอโยต์รุ่น 3008 เวอร์ชั่นรุ่นปี 2021 แม้ถือว่าเป็นเพียงรุ่นปรับโฉม เพราะโครงสร้างหลักของรถนั้นยังคงไม่ต่างไปจากเดิม แต่ต้องยอมรับว่าการปรับโฉมในครั้งนี้พวกเขา “จัดหนัก” ด้วยการนำเสนอแนวคิดด้านการออกแบบที่ฉีกกรอบ และเป็นรากฐานให้กับรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์รุ่นต่อ ๆ ไปของเปอโยต์นั่นเอง อันดับแรกเลยก็คือการเปลี่ยนกระจังหน้าที่แต่เดิมเป็นแบบกรอบโครเมียม มาเป็นแบบไร้กรอบที่ใช้แนวคิดแบบ “พาราเมตริก ดีไซน์” (Parametric Design) ที่เราเห็นเป็นครั้งแรกในรถรุ่นนี้เลยก็ว่าได้ โดยเส้นสายครีบเล็ก ๆ ของกระจังนั้นระเบิดออกไปจดขอบชายล่างของไฟคู่หน้าเลยทีเดียวเป็นรูปแบบที่ชวนให้พิจารณาเพ่งพินิจถึงความชาญฉลาดของการออกแบบที่มองได้ไม่รู้เบื่อ

อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของรถยนต์จากเปอโยต์ ก็คือ “เขี้ยว” ซึ่งเป็นไฟเดย์ไทม์ รันนิ่งไลต์ (Daytime Running Light) ทรงตั้งที่ลากยาวลงมาจากปลายของไฟคู่หน้า เราจะพบเห็นรูปแบบของไฟทรงเขี้ยวนี้ได้ในเปอโยต์รุ่นใหม่ทุกรุ่น นับตั้งแต่นี้ไป อีกสิ่งหนึ่งซึ่งแฟนพันธุ์แท้ของค่ายสิงห์เขย่งขา ยังคงจดจำได้ก็คือการใช้เลขชื่อรุ่นติดบนฝากระโปรง สิ่งนี้เป็นรายละเอียดที่กลับมาอยู่บนฝากระโปรงหน้าของเปอโยต์อีกครั้ง หลังจากที่หายกันไปนาน ตัวเลข 3008 บนฝากระโปรง ถือเป็นเสน่ห์ที่ผสมผสานรายละเอียดจากอดีตเข้ากับปัจจุบันได้อย่างงดงาม

ส่วนด้านท้ายปรับโฉม จากไฟท้ายทรง 3 แถบตั้งสีแดง ที่มีชื่อในวงการว่ากรงเล็บสิงห์ หรือ Lion Claws ได้ปรับรูปแบบเสียใหม่เป็นโคมสีดำใส ที่ลากยาวซ้ายจดขวา ช่วยทำให้ตัวรถดูกว้างและจากกรงเล็บสิงห์สีแดง ก็เปลี่ยนไปเป็นแถบไฟท้ายสีขาวใส 3 แถบ ที่จะเปล่งแสงสีแดงเมื่อเหยียบเบรก หรือเปิดไฟหน้าเท่านั้น ถึงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นเกินคาดทีเดียวเรียกได้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกนั้นทำได้ดีเยี่ยม เรียกสายตาให้คนต้องเหลียวมองตลอดทางที่ทำการขับทดสอบเลยก็ว่าได้

ส่วนภายในห้องโดยสารนั้นถือได้ว่าเปอโยต์ยังคงความโดดเด่นเหมือนเมื่อแรกพบเมื่อหลายปีก่อน นักออกแบบสามารถใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง “ผ้า” มาแทนที่วัสดุจำพวกโลหะ หรือไม้ ในการตกแต่งในรถได้อย่างชาญฉลาด

แผงแดชบอร์ดของเปอโยต์นั้นเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ที่ได้สัมผัสครั้งแรกได้เสมอ เพราะโดดเด่นด้วยงานออกแบบที่เล่นระดับสวยงาม ส่วนสวิตช์ ทรงคีย์เปียโนทั้ง 7 คีย์ ก็ยังคงความเท่อยู่เสมอ ส่วนพวงมาลัยที่มีขนาดเล็กกว่ารถทั่วไปนั้น สร้างความฉงนให้ผู้ที่ได้สัมผัส แต่เมื่อได้ทดลองใช้ก็จะพบว่ามันใช้ง่ายกว่าที่คาด และมอบทัศนวิสัยที่ยอดเยี่ยมเอามาก ๆ

จุดที่แตกต่างไปจากรุ่นก่อนเปลี่ยนโฉมเห็นจะเป็นจอสัมผัสกลางแดชบอร์ดที่ขยายขนาดขึ้นเป็น 10 นิ้ว ใช้งานได้ง่ายทุกฟังก์ชันและรองรับระบบแอปเปิลคาร์เพลย์ และแอนดรอยด์ ออโต้ รวมถึงการสั่งงานด้วยเสียง (จะติดก็แต่ซอฟต์แวร์แผนที่แม้จะดูงดงามแต่ยังไงซะก็ไม่ฉลาดเท่าของกูเกิลอยู่ดี) ส่วนหน้าปัดสำหรับผู้ขับนั้นเป็นจอดิจิทัลคมชัดสูงอเนกประสงค์ที่ใหญ่ถึง 12.3 นิ้ว ที่เรียกว่าไอ คอกพิต (i-Cockpit) ที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นจอเข็มแบบที่เราคุ้นเคย หรือจะเป็นจอแสดงแผนที่แบบ 3 มิติก็ย่อมได้

แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความยียวนของนักออกแบบจากฝรั่งเศส ที่แอบซ่อนรายละเอียดขี้เล่นไว้เสมอ ก็คงจะเป็นมาตรวัดรอบที่ตามปกติรถทั่วไปจะหมุนตามเข็มนาฬิกา แต่สำหรับรถคันนี้มันเล่นหมุนทวนเข็มนาฬิกา ดูทีไรก็งงทุกทีไป ก็อย่างว่าล่ะ คนฝรั่งเศสเค้าไม่ชอบทำอะไรเหมือนชาวบ้าน

ด้านลูกเล่นเรื่องการขับขี่ รถคันนี้ติดตั้งระบบช่วยในการขับขี่ในสภาพพื้นผิวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทราย โคลน หรือหิมะ ซึ่งแม้จะขับเคลื่อนเพียง 2 ล้อหน้า ซึ่งความสามารถนี้มาจากการทำงานของระบบควบคุมการส่งถ่ายกำลังนั่นเอง ซึ่งหากพบการลื่นไถลในล้อข้างใดก็จะส่งกำลังไปให้ล้อตรงข้ามนั่นเอง

ด้านเบาะนั่งนั้นถือว่ามีขนาดพอเหมาะ ไม่ใหญ่ ไม่เล็ก ปรับด้วยระบบไฟฟ้า นั่งได้สบายหายห่วง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สำหรับผู้โดยสารตอนหลังนั้นหายห่วง กว้างได้ใจเลยทีเดียว และด้านประตูท้ายนั้นก็ตามสมัยนิยม สามารถใช้เท้ายื่นเข้าไปใต้ท้องรถเพื่อสั่งงานให้เปิดท้ายรถได้ สะดวกสำหรับผู้ที่ถือของเต็มสองมือ และเมื่อเปิดขึ้นมาก็พบกับพื้นที่ห้องเก็บของท้ายรถที่ใหญ่สำหรับการขนของสำหรับครอบ ครัวทั่วไปอย่างสบายพูดได้เต็มปากว่า รถฝรั่งเศสใน พ.ศ. นี้เค้านิ่งจริง ๆ

ทางด้าน ต้น หรือ มานัต กุละปาลานนท์ นักแข่งมืออาชีพระดับโลกที่ไปคว้าชัยการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบนูร์เบอร์กริง 24 ชั่วโมง ที่ประเทศเยอรมนี ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งไปสร้างผลงานอย่างน่าประทับใจจากการลงแข่งรุ่นจีที-3 ในรายการไทยแลนด์ ซูเปอร์ซีรีส์ ที่สนามช้าง อินเตอร์ เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ และนักทดสอบขาประจำคอลัมน์ “ป้ายแดงชวนขับ” บอกว่าเห็นเปอโยต์ 3008 ครั้งแรกรู้สึกว่าเป็นรถที่มีหน้าตาดีประทับใจ โดยเฉพาะภายนอกที่มีกระจังหน้าแบบไร้กรอบ ไฟหน้ามีกริลที่เป็นเม็ด ๆ ไม่มีกรอบเข้ากันดีกับไฟหน้าแบบฟูลแอลอีดี ล้อแม็กลายสวยขอบ 18 นิ้ว

เทียบราคาแล้วถือว่าคุ้มค่า โดยเฉพาะเป็นรถยุโรปที่มีราคาใกล้เคียงกับรถระดับเดียวกันจากฝั่งญี่ปุ่น จากนี้เป็นหน้าที่ของบริษัทต้องทำพีอาร์แบรนด์และดูแลเรื่องบริการหลังการขายให้ดี มีรับประกันด้านต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่น คิดว่าไม่น่าห่วงเรื่องการขายต่อราคาตก ซึ่งเวลานี้รถญี่ปุ่นรุ่นไม่ฮิตราคาก็ตกเยอะเหมือนกัน แต่ปัจจุบันผู้บริโภคยอมจ่ายกับเทคโนโลยี และความปลอดภัย จึงไม่น่าห่วงเรื่องรถมือสองเพราะสุดท้ายใช้งานไป 4 ปี ราคาน่าจะใกล้เคียงกัน

เมื่อเข้ามาภายในรถบ้าง นักแข่งมืออาชีพบอกว่าดีไซน์ความโค้งต่าง ๆ ของคอนโซลตรงกลางคล้ายเปียโนจอกลางมีแอปเปิลคาร์เพลย์มาให้ ส่วนจอหน้ารถดูดีเพราะโดดเด่นที่สุด เพราะสามารถเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานได้มาก มีเนวิเกเตอร์ มีเลขไมล์บนจอแบบดิจิทัล ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทันสมัย มีหลังคาแก้วที่แม้ว่าไม่จำเป็นแต่ทำให้รถดูสวยดี ส่วนเบาะหนังถือว่าโอเค รองรับกับท่านั่งที่ดี แต่พวงมาลัยมีขนาดเล็กไปสักนิด แต่สำหรับนักแข่งมืออาชีพไม่เป็นอุปสรรคเพราะพวงมาลัยในรถแข่งก็เล็กอยู่แล้ว และยังจับในตำแหน่งที่ 09.00 น. และ 15.00 น. ซึ่งเป็นร่องอุ้งมือพอดี ใช้กดปุ่มฟังก์ชันใช้งานพอดี หรือการใช้เกียร์หลังพวงมาลัยก็โอเค

“ข้อดีของพวงมาลัยขนาดเล็กไม่บังสายตาส่วนความคิดบางคนมีปัญหาตอนเลี้ยวกลับรถต้องหมุนพวงมาลัยเยอะ ๆ เพราะวงเลี้ยวแคบ แต่ขับในเมืองใช้งานปกติคล่องตัว เปลี่ยนเกียร์สมูทปกติดี อัตราเร่งไม่อืด รอบต่ำยังทำงานได้ดี มีปัญหาแค่ไฟเลี้ยวนิดหน่อยเพราะเสียงเตือนค่อนข้างดังราวจะถูกปลุก แรก ๆ ฟังเสียงก็แปลก แต่เมื่อคุ้นเคยไม่มีปัญหา”

ส่วนระบบเทคโนโลยีความปลอดภัยใช้งานได้ตรงไปตรงมา เช่น ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกเลน ระบบรักษาให้อยู่ในเลนเวลาขับเผลอ ๆ ระบบจะดึงพวงมาลัยมาให้จากที่ลองใช้พบว่าระบบทำงานได้ดี ระบบเตือนมุมอับสายตา ระบบเซ็นเซอร์ถอยจอด ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดทำงานได้ดีมีความนุ่มนวลไม่ได้เร็วหรือช้าเกินไป ส่วนแรงม้าที่เคลมไว้ 176 แรงม้า แบบแน่น ๆ หรือเรียกว่าเป็นม้าตัวโตเรี่ยวแรงดี ทำงานได้ดี โดยรวมเป็นรถที่ขับดี ช่วงล่างวางใจไม่มีการโคลงเคลง แต่ช่วงรอยต่ออาจแข็งไปนิดนึง ปกติรถยุโรปน่าจะทำให้นิ่ม ๆ หน่อย แต่ไม่มีปัญหาเมื่อขึ้นเนินด้วยความเร็ว รถไม่แข็งหรือนิ่มเกินไปอยู่ระดับกลาง ๆ ส่วนการเก็บเสียงเมื่อขับด้วยความเร็วค่อนข้างสูงเงียบดี

ส่วนเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร มีเทอร์โบ กับแรงบิด 245 นิวตัน-เมตร มีให้ใช้ตั้งแต่รอบต่ำที่ 1,400 รอบ/นาที จนถึงรอบสูงน่าพอใจ เมื่อลองกดคันเร่งเยอะเกือบ100% รู้สึกว่าเกียร์ 1 ดึงเลยทำงานดีมากทั้ง ๆ ที่มีผู้โดยสารนั่งเต็ม 4 คน พอเปลี่ยนเป็นเกียร์ 2, 3, 4 ไปเรื่อย ๆ ความเร็วจนถึงรอบปลายระดับ 120-140 กม./ชม. ใช้งานได้ดีไม่อืด ขับช้าหรือขับในเมืองไม่กระโชกโฮกฮาก หรือคันเร่งตอบสนองพอดี ไม่ได้ไวต่อเท้าหรือกระชากเกินไป คิดว่าการขับในเมืองไม่เป็นปัญหาแน่นอน

“ฟิลลิ่งการขับดีเป็นโอกาสดีทีเดียวที่นำเครื่อง 1.6 ลิตรมาติดเทอร์โบ ส่งผลให้รถมีความแรง ประหยัดน้ำมัน แล้วขับดีแม้ว่าไม่ได้ดึงขนาดจี๊ดจ๊าด แต่ไม่อืด ส่วนตัวรู้สึกประทับใจโดยเฉพาะเกียร์ 1 กดแล้วมาดึงขึ้นมาเลย จากนั้นยังไหลไปได้เรื่อย ๆ ส่วนเร็วปลายที่ระดับ 120-140 กม./ชม. ดีใช้งานในเมือง หรือขับต่างจังหวัดไม่น่าเกลียดการเปลี่ยนเกียร์สมูทไม่ช้าไม่เร็วเช่นรถยุโรป แต่ส่วนจังหวะการตัดรอบพึ่บพั่บใช้งานดีมาก ซึ่งเครื่องขนาดนี้ยังไม่เห็นในรถญี่ปุ่น”

ต้นบอกว่าประทับใจเครื่องยนต์เวลาขับเร็วชอบปุ่มสปอร์ตให้ความรู้สึกแตกต่างจากรถทั่วไประดับเดียวกัน เพราะมีทั้งเสียงเครื่องยนต์ที่แตกต่างไปด้วย มีเสียงครางมากขึ้น แล้วอัตราการตอบสนองของคันเร่งดีขึ้น ตั้งแต่รอบต่ำเลย เหมือนมีสปีดเซ็นเซอร์ที่คันเร่งทำให้ไวขึ้น ปุ่มสปอร์ตดี แต่ข้อเสียของการกดปุ่มต้องรอจังหวะนิดนึงเพื่อเปลี่ยนโหมด และมี 5 โหมดให้เลือกใช้ได้ด้วย…โดยรวมเป็นรถที่ดี สำหรับคนที่มองหารถเอสยูวีไซซ์ขนาดนี้ลองขับดูก่อนแล้วอาจเปลี่ยนความคิด.