ป้ายผู้สมัคร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยมเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยกลยุทธ์เลือกเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Voting – SV) โดยเทคะแนให้ผู้สมัครของฝ่ายเดียวกันที่มีคะแนนนิยมมากที่สุด หลังพบว่าคะแนนเสียงแตกออกเป็น 3-4 ส่วน

อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ระบุผ่านเฟซบุ๊กซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะวันนี้ (16 พ.ค.) โดย “ฟันธง” ว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครในนามอิสระ จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจาก พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ ในนามอิสระ, สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครในนามอิสระ และ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต่างหาเสียงแข่งกันเอง และกองเชียร์ของทั้ง 3 คนก็รณรงค์ให้เลือกคนที่ตนเชียร์ ซึ่งหมายความว่า “เราแข่งขันตัดคะแนนกันเองระหว่าง 3 คนนี้.. ไม่ได้แข่งขันกับชัชชาติ หรือ วิโรจน์ (ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล)”

เขาระบุด้วยว่า ความหวังเดียวที่ยังเหลืออยู่ก็คือสนับสนุนและขอรณรงค์ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ด้วยกลยุทธ์ SV

“ผมยังคงยืนยันว่า ‘ถึงจะมีคนที่เรานิยม-รักชอบอยู่ในใจ แต่ต้องตัดใจ’ ดูฐานคะแนนนิยม และ ‘ร่วมใจกันเทคะแนนเสียงให้กับผู้ที่เป็นที่นิยมที่สุด และมีโอกาสที่จะชนะมากที่สุด’ ไม่อย่างนั้นจะจบด้วยคำว่า ไม่เลือกเราเขามาแน่” อัษฎางค์ระบุ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ขณะที่เว็บไซต์คมชัดลึก ไทยโพสต์ และผู้จัดการ รายงานโดยอ้างความเห็นของ ดร. เสรี วงษ์มณฑา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เมื่อ 12 พ.ค. ที่ระบุว่า “ถึงเวลาที่สลิ่มต้องตัดสิน Strategic Vote แล้วนะคะ 3, 4, 6, 7 รวมใจกันเลือกเบอร์เดียวที่มีทางจะทำให้เขาคนนั้นที่เราคิดว่าไม่น่าจะอิสระจริงได้ชัยชนะ อย่าดื้อดึงดันที่จะเลือกคนที่เราชอบให้เสียงแตกแล้ว ให้เขาชนะนะคะ…”

สำหรับ 3 เป็นหมายเลขประจำตัวผู้สมัครของสกลธี, 4 เป็นเบอร์ของสุชัชวีร์, 6 เป็นเบอร์ของ พล.ต.อ. อัศวิน และหมายเลข 7 เป็นของ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครในนามอิสระ

อัษฎางค์-เสรี ไม่ได้ระบุถึงชื่อหรือหมายเลขผู้สมัครที่เขาคิดว่าควรเทคะแนน ต่างจาก ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่โพสต์เฟซบุ๊กซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ (16 พ.ค.) มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ 22 พ.ค. “คะแนนเสียงของฝั่งซ้ายค่อนข้างจะเป็นเอกสารเป็นเนื้อเดียวกันโดยมีคะแนนนำโด่ง ในขณะที่คะแนนฝั่งขวา แตกออกเป็นหลายเสียงหรือพูดง่าย ๆ ว่าสลิ่มเสียงแตก”

นักวิชาการรายนี้ยังอ้างถึงผลการสำรวจโดยนิด้าโพล (ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังเผยแพร่โพลได้) เล่าถึงวิธีการทำโพลของนิด้าว่าน่าเชื่อถืออย่างไร ก่อนระบุว่า “ผู้เขียนไม่ได้ชื่นชอบคุณอัศวินเป็นการส่วนตัว แต่เลือกลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์ เพื่อไม่ให้ฝั่งในระบอบทักษิณเอาชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ อย่าลืมว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมทางการเมือง”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

รสนา โตสิตระกูล เปิดปราศรัยที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. เมื่อ 11 พ.ค.

การออกมารณรงค์ SV เกิดขึ้นหลังจากบรรดานักการเมือง นักวิชาการ และผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในหลากหลายวงการ ออกมาประกาศความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือร่วมปรากฏตัวพร้อมกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ตัวเองพร้อมลงคะแนนให้ ทำให้การเลือกเชิงยุทธศาสตร์ดูจะเกิดขึ้นได้ยากในสนามเลือกตั้ง 22 พ.ค. นี้

บีบีซีไทยรวบรวมรายชื่อเหล่าคนดังที่ประกาศพร้อมลงคะแนนเลือก 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาไว้ ณ ที่นี้

กองเท(คะแนน)ให้อัศวิน

  • ถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคม สังกัด ปชป. และอดีตแกนนำ กปปส.
  • นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี
  • ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ
  • ชัยวิวัฒน์ ชนะสิทธิ์ หรือ “ชู ทางด่วน” เซียนมวย
  • ผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มกลุ่มแท็กซี่ปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กรุงเทพมหานคร”

ที่มาของภาพ, PRทีมอัศวิน

คำบรรยายภาพ,

“ชู ทางด่วน” นำตัวแทนกลุ่มเซียนมวยเข้าให้กำลังใจ พล.ต.อ. อัศวิน เมื่อ 12 พ.ค. พร้อมระบุว่า พล.ต.อ. อัศวินเป็นสายเลือดวงการมวย เพราะเป็นหัวหน้าค่ายมวยมาก่อน ในฐานะคนวงการเดียวกันยินดีที่จะสนับสนุน

นพ. วรงค์ให้เหตุผลในการต้องร่วมใจกันเลือก พล.ต.อ. อัศวินเอาไว้ว่า ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ “เบรกเกมแลนด์สไลด์ทางจิตวิทยาในอนาคต เพราะการเมือง กทม. กับระดับชาตินั้น ทับซ้อนกัน” พร้อมเชิญชวนประชาชน “ออกจากบ้านด้วยความมั่นใจว่า เราคือประชาชนที่รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต่อต้านระบอบทักษิณจำแลง”

ไม่ต่างจากอดีต ส.ส. ปารีณาที่สนับสนุนการเทคะแนนให้อดีตผู้ว่าฯ โดยระบุว่า “เมื่อคนกรุงเทพ แบ่งเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาล และไม่รักสถาบัน กับอีกฝ่ายตรงข้าม ก็ต้องยึดแนวทางของอาจารย์อานนท์ คือไม่ตัดคะแนนกันเอง ควรจะรวมไปเบอร์เดียวกันและควรจะเลือกเบอร์ที่มีคะแนนสูงกว่าอีกเบอร์”

กองหนุนสกลธี

  • ม.จ. จุลเจิม ยุคล
  • สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และอดีตแกนนำ กปปส.
  • ทยา ทีปสุวรรณ อดีตแนวร่วม กปปส. ภรรยาของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการสังกัด พปชร. และอดีตแกนนำ กปปส.
  • นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ
  • อัญชะลี ไพรีรัก อดีตพิธีกรบนเวทีกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. ผู้ประกาศข่าวท็อปนิวส์
  • นิติพงษ์ ห่อนาค หรือดี้ นักแต่งเพลง
  • นรินทร ณ บางช้าง หรือเอ๋ ศิลปินนักร้องร็อคเกอร์
  • กิตติ เชี่ยววงศ์สกุล หรือเกลือ (ร่วมเป็นพิธีกรบนเวทีปราศรัยเมื่อ 13 พ.ค.)
  • ฝันดี จรรยาธนากร นักแสดง และอาสาสมัครกู้ภัย (ร่วมเปิดตัวเป็นที่ปรึกษาด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
  • ดร. จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ หรือทิว นักฟิสิกส์ควอนตัม (ร่วมเปิดตัวเป็นที่ปรึกษาด้านไอทีและดิจิทัล)
  • กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือครูลิลลี่ ติวเตอร์วิชาภาษาไทย
  • พาเมล่า บุนนาค ครูสอนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เปียโน
  • ธนพร สมศรี อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
  • เรวดี ศรีท้าว วัฒนสิน อดีตนักวิ่งทีมชาติไทย
  • คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งและอดีตกรรมการผู้จัดการนิตยสารอิมเมจ
  • เพจ “เชียร์ลุง” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 2.6 แสนคน
  • เพจศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.3 แสนคน
  • เพจศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศ.ป.ป.ส.) ซึ่งมีผู้ติดตาม 7.2 หมื่นคน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

สุเทพ เทือกสุบรรณ เดินทางไปให้กำลังใจ 4 จำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏฯ จากการร่วมชุมนุมกับ กปปส. โดยมีสกลธีรวมอยู่ด้วย ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้อง 3 จำเลย ยกเว้น สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ที่ถูกแก้โทษจำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญา

สุเทพเป็นหนึ่งในบุคคลที่สนับสนุนสกลธีตั้งแต่โค้งแรกยันโค้งสุดท้าย โดยเขาได้แสดงความเห็นว่า ผู้สมัครหลายคนทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย มีความสัมพันธ์ มีความใกล้ชิด เคยได้ประโยชน์จากระบอบทักษิณ

“ผมไม่อยากให้คนเหล่านี้มาเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพื่อที่จะสร้างรากฐานทางการเมืองไว้รองรับการกลับมาของระบอบทักษิณ ผมกลัวเรื่องนี้ และไม่อยากเห็น คุณสกลธีนี่เรียกว่าเป็นสหายร่วมรบมากับผม นอนกลางดินกินกลางถนน ต่อสู้กับความพยายามของระบอบทักษิณ ที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ล้างผิดให้พวกเดียวกัน” อดีตแกนนำ กปปส. กล่าว

กองเชียร์รสนา

  • พล.ต. จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
  • สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำ พธม.
  • พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำ พธม.
  • สมณะแสนดิน ภูมิพุทโธ หรือสมณะโพธิรักษ์ นักบวชชาวอโศก
  • ดร. อุทัย ดุลยเกษม อดีตอธิการบดี ม.ศิลปากร
  • สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิด นักเขียน ปัญญาชนสยาม ติดป้ายสนับสนุนรสนา ที่บริเวณรั้วบ้านในซอยสันติภาพ

ที่มาของภาพ, Facebook/Sulak Sivaraksa

คำบรรยายภาพ,

ภาพชุดนี้ถูกเผยแพร่ทั้งทางเพจของอาจารย์สุลักษณ์ และเพจของรสนา โตสิตระกูล โดยผู้สมัครผู้ว่าฯ หญิงได้กล่าวขอบคุณ ส.ศิวรักษ์ ที่ให้การสนับสนุน

พล.ต. จำลองเขียนจดหมาย ฝากชาว กทม. มาช่วยกันเลือกรสนาเป็นผู้ว่าฯ กทม. “เปลี่ยนผลโพลทั้งหลายได้ให้เหมือนสมัยที่เคยเลือกผมนะครับ ผมมั่นใจว่า ถ้าพร้อมกันเลือกคุณรสนาทุกอย่างจะไม่เสียเปล่าอย่างแน่นอนครับ”

กองเสริมสุชัชวีร์ (นอกเหนือจากนักการเมืองสังกัด ปชป.)

  • พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ “เสธ.อ้าย” ติดป้ายสนับสนุน เอ้-สุชัชวีร์ ที่บริเวณรั้วบ้านในซอยสุขุมวิท 54
  • จิตกร บุษบา หรือปู คอลัมนิสต์และสื่อมวลชน (ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อ 13 พ.ค.)

ที่มาของภาพ, PRทีมสุชัชวีร์