มาตรฐาน “คาร์ซีท” ใครควบคุม?

     ในยุคที่ทุกคนสามารถออกความเห็นได้ทันทีผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เราได้รับรู้กระแสสังคมอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นประเด็น “คาร์ซีท” ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 นี้เป็นต้นไป ก็ถูกหยิบยกมาคุยกันในหลากหลายแง่มุม ซึ่งสำหรับผมแล้วบอกเลยว่าเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์กับกฎหมายนี้ครับ

     ก่อนอื่นคงต้องย้อนไปพูดถึงเบาะรถยนต์ในยุคอดีตกันก่อน ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเบาะหลังหรือเบาะหน้าจะเป็นแบบเบาะเรียบ หรือ bench seat ที่นั่งเรียงกันได้ 3 คน หรือถ้าให้เห็นภาพก็ประมาณรถตู้นักเรียนสมัยก่อน เวลารถเลี้ยวทีตัวก็จะไหลไปที ก่อนที่จะมีการพัฒนาเบาะแบบกระชับรูปร่าง หรือ bucket seat ขึ้นมาภายหลัง

     ซึ่งเบาะแบบ bucket seat ก็ถูกพัฒนาต่อเป็น extreme racing seat สำหรับรถแข่งที่แทบจะห่อหุ้มตัวคนเอาไว้เลย ซึ่งหลักการเรื่องความปลอดภัยนี้ก็เป็นหลักการเดียวกันกับ “คาร์ซีท” สำหรับเด็ก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกบอกว่า คาร์ซีทช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

     ฉะนั้น การบังคับให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปีต้องมีที่นั่งพิเศษบนรถ รวมถึงการบังคับให้คนที่นั่งในรถเบาะหลังหรือแถวอื่น ๆ ต้องคาดเข็มขัดตลอดเวลา คือเหตุผลเรื่องของความปลอดภัยที่ผู้ใช้รถทุกคนไม่ควรปฏิเสธ เพราะขึ้นชื่อว่า “อุบัติเหตุ” มันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะขับรถแบบระมัดระวังแค่สุด ๆ แล้วก็ตาม

     สำหรับผมมองว่านี่คือเบสิคพื้นฐานที่ควรจะต้องมีอยู่แล้ว เหมือนกับลงเรือควรต้องใส่ชูชีพ ขี่มอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกกันน็อก คนขับรถต้องคาดเข็มขัด ซึ่งหากแม้ไม่มีกฎหมายบังคับทุกคนก็ควรจะต้องทำเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว เพื่อความปลอดภัยและเป็นการแสดงความรับผิดชอบทุกชีวิตที่อยู่บนรถ

     แต่ครับแต่! สิ่งที่จะเป็นปัญหาต่อไปจากเคสนี้ คือ มาตรฐานของคาร์ซีท ว่าจะดีพอที่จะปกป้องชีวิตของเด็ก ๆ หรือไม่ การที่กระแสโซเชียลบางส่วนออกมาบ่นเรื่อง “ราคา” ที่ค่อนข้างแพง ทำให้ตอนนี้หากไปเสิร์ชในกูเกิลค้นหาอุปกรณ์ชนิดนี้ คุณจะเจอคาร์ซีทในหลากหลายราคามาก ที่ผมเห็นถูกที่สุด ราคาหลัก สองร้อยบาทก็มี!

     ผมรีบสอบถามไปยังพี่ชาย และเพื่อนผู้ที่ผ่านประสบการณ์ใช้คาร์ซีทกับลูก ๆ ทั้งคู่พูดตรงกันว่า “คาร์ซีท” เป็นอุปกรณ์นำเข้าที่ต้องผ่านมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย จะนำเข้าจากญี่ปุ่นหรือยุโรป ก็ว่ากันไป แต่ที่แน่ ๆ ทุกยี่ห้อต้องมีใบรับรอง ที่ผ่านการทดสอบทั้งการชน การรับแรกกระแทกจากหลากหลายทิศทาง ที่สำคัญยังไม่มีผลิตในเมืองไทย

     นั่นเป็นเครื่องหมายคำถามต่อไปว่าหากมีการออกกฎหมายบังคับใช้คาร์ซีทกับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี แล้วเมื่อถึงเวลาตำรวจเรียกตรวจ พี่จ่าหรือพี่หมวด เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าคาร์ซีทที่ติดมานั้นได้มาตรฐานความปลอดภัย หรือแค่เห็นว่ามีติดตั้งมาก็ถือว่าปล่อยผ่านได้ ไม่ถูกปรับแล้วอย่างนั้นหรือ

     สิ่งที่อันตราย คือ หากอุปกรณ์ชิ้นนี้ยังเป็นสินค้านำเข้าที่มีอัตราภาษีค่อนข้างสูง จะทำให้มีอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานออกมาขายกันเต็มโลกออนไลน์ และจะกลายเป็นว่าเป็นการติดตั้งเพื่อปกป้องการถูกปรับ มากกว่าที่จะปกป้องชีวิตของเด็กจริง ๆ

     การออกกฎหมายบังคับใช้คาร์ซีทเป็นสิ่งที่ดีมากครับ แต่จะดีกว่านี้หากมีการพูดถึงมาตรฐานของอุปกรณ์ด้วย เพราะใครจะไปรู้ว่าการรอดพ้นค่าปรับ 2,000 บาท กรณีเลวร้ายที่สุดอาจทำให้เขาสูญเสียลูกสุดที่รักไปก็เป็นได้ครับ