คอลัมน์การเมือง – จีนกับอเมริกาแข่งกันหาวิตามิน โลกยุคใหม่ตุนไว้ใช้ในสงครามการค้า

พ.ศ.2428 อังกฤษยกกองทัพ ที่มีอาวุธทันสมัย และมีอานุภาพสูงกว่า เข้าปล้นพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ของพระเจ้าสีป่อ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์คองบองแห่งราชอาณาจักรพม่า อังกฤษเนรเทศพระเจ้าสีป่อไปอยู่ในรัตนคีรี เมืองชนบทของอินเดีย และ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า ก็เสด็จสวรรคตในเมืองชนบทของอินเดีย

อังกฤษใช้เวลา 60 กว่าปี ยึดครองพม่าในระหว่างที่ยึดครองพม่า อังกฤษได้ผลาญทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่แร่ธาตุใต้ดินจนถึงป่าไม้ในป่าในเขา ขณะที่ปล้นเอาทรัพยากรธรรมชาติของพม่าทั้งขุดรื้อผืนดินโค่นไม้ทำลายป่า คนอังกฤษในยุคนั้น เห็นแก่ได้ไม่มีคุณธรรม ไม่คำนึงถึงระบบนิเวศไม่สนใจเรื่องสัตว์ป่า ไม่สนใจเรื่องโลกร้อนโลกเย็น


นี่เป็นนิสัยถาวรของฝรั่งตะวันตก ที่เห็นแก่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่กลายเป็นภัยร้ายแรงของโลกต่อมา

เมื่อฝรั่งตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่คิดค้นขึ้นมาได้ว่าส่วนประกอบสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนใหญ่สกัดขึ้นได้จากสินแร่

ในทศวรรษ 2520 ในขณะสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังเป็นประเทศยากจน สหรัฐ เข้าไปทำเหมืองแร่หายาก(Rare earth) ในประเทศจีน สหรัฐ เข้าไปทำเหมืองขุดพลิกแผ่นดินค้นหาแร่หายาก โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของระบอบนิเวศ ความเสียหายของธรรมชาติ และสัตว์ป่าประกอบกับยุคนั้น ผู้นำจีนถือว่าแร่หายาก เป็นสินค้ามีค่าเหมือนน้ำมัน

เติ้ง เสี่ยวผิง ประธานาธิบดีจีนในขณะนั้นประกาศว่า แร่หายากเป็นคำตอบของจีน เหมือนกับตะวันออกกลางมีน้ำมัน ชาวจีนในชนบทหลายหมื่นคนจะหารายได้จากการทำเหมืองมากกว่าทำการเกษตรทั้งปี

อุตสาหกรรมเหมืองแร่หายากในจีนรุ่งเรืองหลายทศวรรษ และจีนกลายเป็นนักขุดแร่หายากแนวหน้าของโลก แต่เมื่อจีนถูกวิจารณ์หนัก เจ้าหน้าที่จีนจึงประกาศสงครามกับอุตสาหกรรมสกปรกของประเทศ รวมถึงการขุดแร่หายากทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

จีนตัดสินใจลดเลิกการทำเหมืองแร่หายากในประเทศ และเปลี่ยนเป็นการหา Rare Eath จากต่างประเทศแทน

จีนกลายเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญอันดับหนึ่งของโลกในการขุดหาแร่หายาก จีนเป็นผู้ผลิตแร่หายาก 80% ของกำลังการผลิตทั่วโลกนอกจากนั้นจีนมีแร่หายากสำรองมากที่สุดถึง 35% ของแร่หายากทั่วโลก ที่สำคัญสหรัฐนำเข้ากว่า 80% ของปริมาณการนำเข้าแร่หายากจากจีน

ปัจจุบันแร่หายาก กลายเป็นปัจจัยที่ห้าของประชาคมโลก เพราะแร่หายากเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หน้าจอ แผงวงจร แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้ากว่า 90% ต้องใช้แร่หายากเช่นเดียวกันกับเครื่องบินรบรุ่น F-35 ของกองทัพสหรัฐ ซึ่งการผลิตเครื่องบินดังกล่าว 1 ลำ ต้องใช้แร่หายากถึง 420 กก. และแร่หายากยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพอีกมากมาย

สำนักข่าวเอพี เสนอรายงานพิเศษเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565ในชื่อเรื่องว่า “พม่าไม่สำนึกถึงมุมดำของแร่หายาก” และโปรยข่าวว่า

“จากการสอบสวนพบว่ารัฐบาลทหารพม่าปล้นแผ่นดิน ทำลายป่าไม้ ทำลายระบบนิเวศอย่างร้ายแรง จากการขุดหาแร่หายาก เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าของรัฐบาลทหาร จากการสำรวจด้วยดาวเทียมพบว่าพื้นที่ป่าทางเหนือภาคเหนือของเมียนมา ผืนป่ากลายเป็นทะเลโคลนขนาดใหญ่ถึง2,700 หลุม ในพื้นที่ 300 แห่ง”

เอพี รายงานด้วยว่าพื้นที่ป่าทางตอนเหนือของเมียนมาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุหายากหลายชนิด#เหมือนเป็นแหล่งวิตามินของโลกสมัยใหม่ แต่ในพื้นที่ตอนนี้ นกไม่ร้อง พืชสมุนไพรไม่เติบโต ปลาไม่ว่ายน้ำเพราะน้ำแปรสภาพเป็นโคลนเหนียว สัตว์ต่างๆ ไม่ออกเดินท่องป่าหากิน และบางครั้งก็พบวัวล้มตาย ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ป่าสูญเสียวิถีชีวิต ที่ย้อนกลับไปหลายชั่วคน หากใครออกมาเรียกร้องประท้วงอะไร ก็จะเผชิญกับคำขู่คุกคามเอาชีวิต

จูลี มิเชลล์ คลิงเจอร์ ผู้แต่งหนังสือ “Rare Earths Frontiers” (ด่านหน้าแร่หายาก) กล่าวว่าการทำเหมืองแร่หายากส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปี 2553 สภาคองเกรสของสหรัฐ กำหนดให้บริษัทต่างๆ เปิดเผยที่มาของ “แร่ธาตุที่มีที่มาจากแหล่งความขัดแย้ง” เช่นแทนทาลัม ดีบุก ทองคำ และทังสเตน ซึ่งมีที่มาจากความขัดแย้งในประเทศคองโก รวมทั้งให้สัญญาว่าจะไม่ให้มีผลประโยชน์ต่อกลุ่มติดอาวุธ

ส่วนสหภาพยุโรป ไม่ได้กำหนดให้แร่หายากรวมอยู่ในข้อกำหนดแร่ที่มีที่มาจากความขัดแย้ง จึงมีช่องว่างในการกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทานที่ขยายไปถึงยุโรป

อุตสาหกรรมเหมืองแร่หายากในจีนรุ่งเรืองหลายทศวรรษและจีนกลายเป็นนักขุดแร่หายากแนวหน้าของโลก แต่เมื่อจีนถูกวิจารณ์หนัก เจ้าหน้าที่จีน จึงประกาศสงครามกับอุตสาหกรรมสกปรกของประเทศ รวมถึงการขุดแร่หายาก

ขณะที่ทั่วโลกมีความต้องการแร่หายากมากขึ้น คาดว่าความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 300 เป็น 700 ภายในพ.ศ. 2583 ซึ่งสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แคลร์ แฮมมอนด์ นักวิจัยอาวุโสของ Global Witness ซึ่งทำงานที่เมียนมากล่าวว่า ความต้องการแร่ธาตุเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เพราะเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวที่เพิ่มขึ้นต้องการแร่หายากเป็นส่วนประกอบ

ความต้องการแร่หายาก สวนทางกับการปิดเหมืองแร่ในจีน หลังจากรัฐบาลจีนเริ่มบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดที่สุดในโลก และ สั่งปิดเหมืองบางแห่ง แต่จีนมองหาแหล่งทรัพยากรที่ใหม่ในเมียนมา ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่หายากบางชนิดที่มีค่าที่สุดในโลก ทำให้คนงานเหมืองหลายพันคนในมณฑลเจียงซีของจีน ข้ามพรมแดนไปทำมาหากิน รวมทั้ง “นายกัว” ซึ่งได้รับโทรศัพท์ติดต่อให้ไปทำงานเหมืองในเมียนมาใน พ.ศ. 2562

แม้ว่าต้องกินอยู่อย่างลำบากในป่าและทำงานหนักในเหมืองเอกชนขนาดเล็กที่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งขายแร่ให้กับเหมืองยักษ์ใหญ่ในจีนโดยตรง จีนนำเข้าจากเมียนมาพุ่งขึ้น 100 เท่า

ข้อมูลการค้าของสหประชาชาติระบุว่า ตั้งแต่พ.ศ. 2558 จีนนำเข้าจากเมียนมาสูงขึ้นเกือบ 100 เท่า และศุลกากรของจีนเปิดเผยว่า เมียนมาเป็นแหล่งผลิตแร่หายากแหล่งใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียวของจีนซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของอุปทานทั้งหมด

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหมืองในเมียนมา มีเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีหลายร้อยแห่ง นายกัวคาดว่าจะขยายเป็นหลายพันแห่งในเวลาไม่ช้า และอีกไม่นานแร่หายากในเมียนมาจะหมดไป แต่นายกัวไม่สนใจเรื่องการอนุรักษ์หรือการเมืองอยู่แล้ว สิ่งที่เขาสนใจอย่างเดียวคือเงิน

แหล่งน้ำสีฟ้า แต่เป็นพิษ ล้อมรอบด้วยป่าในเวลาเพียงไม่กี่ปี เพราะแร่หายากซ่อนตัวในดินเหนียวอ่อนนุ่มและอยู่ใกล้ผิวดินทำให้ขุดหาได้ง่าย แต่สารพิษปนเปื้อนทั้งน้ำและดิน

สารชะล้าง ทำให้แม่น้ำสายหลักของเมียนมา ปนเปื้อนพิษเป็นเหตุให้เกิดดินถล่ม และทำให้ดินเป็นพิษน้ำใช้กินไม่ได้และสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือตัวนิ่มและแพนด้าแดงหนีออกจากป่าไปแล้ว

ชาวบ้านคนหนึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำที่อยู่ห่างจากแหล่งเหมืองขุดหาแร่หายากเพียง 24 กิโลเมตร ภรรยาของเขาเคยจับปลาไปขาย แต่ตอนนี้กินปลาไม่ได้ เพราะ

ปนเปื้อนสารพิษจึงต้องซื้อปลาจากที่อื่น ซึ่งราคาแพงกว่ามากินและทุกครั้งที่ลุยน้ำเท้าจะรู้สึกคัน

แร่เถื่อนที่ขุดได้ขายให้จีนเท่านั้น มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการเปิดเผยว่าปี 2564 จีนนำเข้าแร่หายากจากภาคเหนือของพม่า 33,500 ตัน

แร่หายากที่ขุดอย่างผิดกฎหมายในเมียนมาจะขายให้จีนเท่านั้น เพราะเป็นทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ของจีนและจีนส่งไปขายทั่วโลก

บริษัท China Southern Rare Earth หนึ่งในผู้ผลิตแร่หายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แร่หายากจากเมียนมาร้อยละ 70ส่วนที่เหลือมาจากการรีไซเคิลโดยไม่มีการขุดแร่หายากในจีน

ส่วนบริษัท Minmetals ผู้ผลิตรายใหญ่อีกราย แจ้งกับผู้ถือหุ้นในรายงานประจำปีว่า บริษัทต้องนำเข้าแร่หายากอีกมาก เพราะเหมืองในจีนผลิตไม่เพียงพอ และบริษัท Rising Nonferrous ซึ่งเป็นบริษัทที่ 3 ระบุว่า ได้รับการอนุมัติจากศุลกากรจีนให้นำเข้าแร่หายากจากเมียนมา

เมื่อแร่แปรสภาพเป็นแม่เหล็กแร่จะถูกแยกออกกลั่นและหลอมละลายวัสดุจากแหล่งต่างๆ นำมาผสมรวมกัน ทำให้การระบุว่า แร่หายากชนิดใดมาจากเมียนมาและผู้ผลิตแม่เหล็กของจีนไม่ทราบว่าแร่หายากมาจากไหน เพราะบริษัทต่างๆ ก็ไม่ได้ถามที่มา

หลังจากแร่หายากส่งไปบริษัทแม่เหล็กแล้ว ก็จะผ่านอีกหลายขั้นตอนกว่าจะถึงมือผู้บริโภครวมทั้งบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจึงแทบจะไม่มีความโปร่งใส เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ทราบที่มาของแร่หายาก

หวังว่า “ซัพพลายเออร์” (ผู้ผลิตสินค้า และนำเข้ามาจำหน่ายให้กับบริษัทต่างๆ ที่ได้ยื่นใบสั่งซื้อสินค้าให้) ระบุที่มา

นาบีล แมนเชรี เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมแร่หายาก กล่าวว่า มีเพียงรัฐบาลจีนเท่านั้นที่บังคับให้บริษัทต่างๆ แยกแยะแร่หายากที่มาจากจีนและเมียนมาได้

ค่ายผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง จีเอ็ม โฟล์กสวาเกนและ เมอร์เซเดส เบนซ์ ได้แต่หวังว่าซัพพลายเออร์ จะปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ ส่วนค่ายฟอร์ด มีการตรวจสอบและขอให้ซัพพลายเออร์ระบุแหล่งที่มา ขณะที่ ฮุนได ไม่ใช้แร่หายากจากเมียนมา

ด้านบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้ง บอช บรอส และ นิเด็ค กล่าวว่า บริษัทผลิตแม่เหล็กยืนยันว่าไม่ได้ใช้แร่หายากจากเมียนมา ส่วนบริษัทอื่นๆ เช่น คอนติเนนทัลเอจี และบอร์กวอร์เนอร์ หวังว่าซัพพลายเออร์จะปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ

ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น ซัมซุง กล่าวว่า จะไม่ให้มีการละเมิดสิทธิหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วน โตชิบา พานาโซนิค และฮิตาชิไม่ขอออกความเห็น แต่กล่าวว่าจะระงับการทำงานร่วมกับธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วน ธิสเซ่นครุปป์ กล่าวว่ามีมาตรการริเริ่มเพื่อหาแหล่งที่มาของแร่ธาตุที่ส่งให้กับซัพพลายเออร์แม่เหล็ก

ซีเมนส์ กาเมซ่า ผู้ผลิตกังหันลมในสหรัฐอเมริกาและยุโรป กล่าวว่า จะตรวจสอบซัพพลายเออร์ทันทีและกำลังเตรียมที่จะติดตามสิ่งเหล่านั้นจากต้นน้ำต่อไป ซึ่งข้อมูลของซัพพลายเออร์แสดงว่าแร่หายากมาจากจีนเท่านั้น

คลิงเจอร์ กล่าวว่า วิธีเดียวที่บริษัทจะเลี่ยงไม่ใช้แร่หายากจากเมียนมาคือการมีห่วงโซ่อุปทานของตัวเองนอกเมียนมา จีน และอาจอยู่นอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง

ทั้งหมดที่สาธยายมาเพื่อแสดงให้เห็นนิสัยถาวรของฝรั่ง คือ ตอนที่ตัวเองปล้นทรัพยากรของชาติอื่นทำลายสภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำ และ ผืนป่า#ฝรั่งจะเงียบเป็นอมสาก แต่หากประเทศอื่น ทำบ้างก็จะโวยวายโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือโพนทะนาว่า พวกอำนาจนิยม หรือเผด็จการผลาญสิ่งแวดล้อมทำลายธรรมชาติทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่เนื้อหาใหญ่ใจความที่แท้จริงคือความริษยาเพราะรู้ว่าจีนกำลังครอบครองทำวิตามินชนิดใหม่ใช้ในอุตสาหกรรมโลกที่เรียกว่า “แร่หายาก”

วันนี้สหรัฐมุ่งเป้าหมายโจมตีไปที่รัฐบาลทหารเมียนมา แต่ในอนาคตอันใกล้ อเมริกาต้องหันเป้าหมายไปโจมตาลีบันเพราะมีรายงานว่าในอัฟกานิสถาน สหรัฐ ได้สำรวจพบว่า ใต้พื้นดินของประเทศอัฟกานิสถานที่อเมริกันเข้าไปยึดครองอยู่นาน 20 ปี มีแร่หายากอยู่ไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านตัน และ ตาลีบันผู้ปกครองอัฟกานิสถาน ได้ให้สัมปทานการทำเหมืองแก่จีนและรับเงินมัดจำล่วงหน้า มาส่วนหนึ่งเรียบร้อยแล้ว

จีนถนัดในการทำการค้ามาแต่โบราณ สหรัฐเอมริกาถนัดการทำสงครามนอกบ้านเป็นงานหลัก คอยดูกันว่า ในสงครามการค้ายุคใหม่ ใครจะเป็นเจ้าของครอบครองวิตามินชนิดใหม่ ที่ใช้หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมโลกมากกว่ากัน

สุทิน วรรณบวร