คนบ่นไม่ซื้อ! คนซื้อไม่บ่น FORD NEW RANGER 2022

ระบบส่งกำลัง 

Ford Ranger เจเนอเรชันใหม่ มาพร้อมตัวเลือก เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบเดี่ยว และเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบคู่ ความจุ 2.0 ลิตร แบบ 4 สูบแถวเรียง ที่มีประสิทธิภาพ เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบเดี่ยว มาพร้อมตัวเลือก 2 แบบ คือ รุ่นที่ให้พละกำลัง 150 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาทีและแรงบิด 350 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,750 รอบต่อนาที และรุ่นที่ให้กำลัง 170 PS ที่ 3,500 รอบต่อนาทีและแรงบิด 405 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,500 รอบต่อนาที

สำหรับเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ 2.0 ลิตร มีกำลัง 210 แรงม้า ที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที เครื่องยนต์รุ่นนี้ยังประจำการอยู่ใน Everest เจเนอเรชันใหม่ เครื่องยนต์รุ่นดังกล่าว ออกแบบระบบบายพาสที่ชาญฉลาด สามารถปรับการทำงานของเครื่องยนต์เพื่อมอบประสิทธิภาพในการใช้งาน กล่าวคือ เทอร์โบชาร์จ 2 ตัวจะทำงานร่วมกันที่รอบต่ำเพื่อเพิ่มกำลังแรงบิดและการตอบสนอง หรือปรับทำงานโดยไม่ผ่านเทอร์โบขนาดเล็ก เพื่อให้เทอร์โบขนาดใหญ่ส่งกำลังได้เต็มที่เมื่อใช้รอบสูงต่อเนื่อง การนำรถไปทดสอบบนเครื่องไดนาโมมิเตอร์ ทั้งการบรรทุกน้ำหนักสูงสุด ความทนทานต่ออุณหภูมิ ไปจนถึงการใช้งานเครื่องยนต์จนเข้าใกล้ขีดจำกัด จากนั้นจึงนำรถไปทดสอบในประเทศที่มีอากาศหนาวจัดอย่างยุโรปและนิวซีแลนด์ รวมถึงในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการจำลองการใช้งานสภาวะขั้นสุดของลูกค้า โดยติดเครื่องยนต์และเร่งความเร็วสูงสุดไว้นานกว่า 700 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทดสอบในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ -40 ไปจนถึง 50 องศาเซลเซียส

ระบบเกียร์ใน Ford Ranger ใหม่ มาพร้อมตัวเลือกเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด แบบเดียวกับที่ใช้ใน Ford F-150 และ Ford F-150 Raptor ซึ่งได้รับการทดสอบกว่า 6 ล้านกิโลเมตร ใช้การแข่งออฟโรดระยะทางกว่า 3,900 กิโลเมตร ซึ่งในการทดสอบ ยังรวมถึงการแข่งขัน Baja 1000 โดยระบบเกียร์ดังกล่าว ติดตั้งในรถ Ford ที่มาพร้อมเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ 2.0 ลิตร ทั้งใน Ranger และ Everest นอกเหนือจากเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งมีอยู่ใน Ranger รุ่นปัจจุบัน สำหรับ New Ranger เจเนอเรชันใหม่ มีระบบส่งกำลังให้เลือกคือ เกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ที่จับคู่กับเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบเดี่ยว

ฐานล้อที่กว้างและยาวขึ้น เพิ่มความมั่นคงในการขับขี่ทั้งบนทางเรียบและออฟโรด มีการปรับมุมเงย 30 องศา (เพิ่มจาก 28.5 องศาในรุ่นก่อนหน้า) และมุมจากด้านหลัง 23 องศา (เพิ่มจาก 21 องศาในรุ่นก่อนหน้า) ฐานล้อที่กว้าง ทำให้นักออกแบบสามารถเพิ่มความกว้างของกระบะท้าย ใช้บรรทุกของได้มากขึ้นและปรับรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย โช้คหลังยังขยับมานอกเพลาเพื่อให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น ตำแหน่งของโช้คที่อยู่ด้านนอกเพลาทำให้การควบคุมรถทำได้ดี ไม่ว่าจะขนสิ่งของหนักหรือไม่ ช่วยลดปัญหาเรื่องการกระเด้งของรถกระบะทั่วไปที่มีโช้คด้านในเพลาเมื่อไม่ได้บรรทุกของ

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อพื้นฐานซึ่งเป็น “ระบบชั่วคราว” โดยมีทรานสเฟอร์เคส ควบคุมด้วยไฟฟ้า ทำงานแบบ 2 จังหวะ พร้อม Shift-on-the-fly โหมดการขับขี่แบบ 2H, 4H และ 4L เพื่อส่งกำลังอย่างต่อเนื่องสู่เพลาหน้าและหลัง เฟืองท้ายแบบ Locking Rear Differential สามารถเปิดใช้งานได้ผ่านหน้าจอระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC 4A® เฟืองท้ายจะทำให้ล้อบนเพลาเดียวกันหมุนที่ความเร็วเท่ากัน เพื่อเพิ่มการยึดเกาะถนนขณะลุยทางวิบากออฟโรด

โหมดการขับ

โหมดการขับใน new Ranger 2022 มีโหมดการขับขี่ให้เลือก 6 โหมด ได้แก่ โหมดปกติ โหมดประหยัด โหมดลากจูงและบรรทุก (เฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ) โหมดถนนลื่นสำหรับการขับขี่ทางเรียบ โหมดโคลน โหมดทรายสำหรับการขับบนเส้นทางออฟโรด โหมดการขับแต่ละโหมด จะปรับการทำงานระบบขับเคลื่อนทั้งหมดให้มีความเหมาะสม ตั้งแต่การเปลี่ยนเกียร์ไปถึงการตอบสนองของคันเร่ง ระบบควบคุมการทรงตัวและการยึดเกาะ ระบบเบรกอัตโนมัติ (ABS) และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

หน้าจอแสดงผลสำหรับการขับขี่แบบออฟโรดโดยเฉพาะบนระบบเชื่อมต่อการสื่อสาร SYNC 4A® สั่งงานด้วยการสัมผัสหน้าจอ ซึ่งจะแสดงผลการตั้งค่าระบบส่งกำลังและระบบดิฟล็อก องศาการบังคับควบคุมพวงมาลัย มุมการเอียงของรถ ไปจนถึงกล้องหน้าที่มาพร้อมเส้นกะระยะ ในห้องเครื่องยังมีพื้นที่ให้ติดตั้งแบตเตอรี่สำรองอีกลูก เพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์การตั้งแคมป์และอุปกรณ์อื่นๆ ตัวเลือกอุปกรณ์เสริมแผ่นกันกระแทกใต้ท้องรถทำจากเหล็กตัดด้วยเลเซอร์ เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายต่อระบบบังคับเลี้ยว อ่างน้ำมันเครื่อง การเปลี่ยนเกียร์และระบบเกียร์ โดยแผ่นกันกระแทกใต้ท้องรถมีการติดตั้งเข้ากับโครงรถ ถอดง่ายสะดวกต่อการซ่อมบำรุง หลังคาที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ 350 กิโลกรัม ขณะรถจอดอยู่กับที่ และรับน้ำหนักได้ 85 กิโลกรัมขณะรถเคลื่อนที่ การบรรทุกสัมภาระหลากหลายรูปแบบในบริเวณกระบะท้าย มีห่วงยึดสัมภาระบนท้ายกระบะและขอบกระบะ จุดยึดอุปกรณ์ช่างบนฝาท้าย และจุดยึด 6 จุด สำหรับติดตั้งและใช้งานอุปกรณ์เสริมบริเวณท้ายกระบะ

Ford Ranger 2022 ลุยน้ำได้สูงสุด 800 มิลลิเมตร ที่ความเร็ว 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่นเดียวกับ Ranger รุ่นปัจจุบัน ในขั้นตอนของการทดสอบ มีการขับลุยน้ำในความเร็วที่ต่างกันในความลึกสูงสุด 800 มิลลิเมตร นอกจากการทดสอบทางกายภาพ ทีมวิศวกรยังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยงานด้านวิศวกรรมเพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานด้านพลศาสตร์ของรถยนต์เมื่ออยู่ในน้ำ ให้แน่ใจว่าน้ำจะไม่เข้าไปในบางจุด และระบบหลักยังทำงานได้หลังขึ้นจากน้ำ เช่น ไฟส่องสว่างและแตร มีการทดสอบการลุยน้ำขณะใช้เกียร์ถอยหลังเพื่อรองรับการใช้งานในชีวิตจริง

รถต้นแบบ Ford Ranger 2022 ผ่านการทดสอบ ที่สนามทดสอบรถยนต์ ยู ยางส์ ใกล้เมืองเมลเบิร์น เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร ขณะเดียวกัน ชิ้นส่วนหลักๆ เช่น ช่วงล่าง ตัวถัง และเครื่องยนต์ ผ่านการทดสอบแบบไม่มีพัก ภายในห้องทดสอบที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ก่อนที่จะมีการทดสอบรถทั้งคันจริงๆ มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในการจำลองสถานการณ์ เพื่อตรวจสอบชิ้นส่วนและระบบหลักๆ ของรถว่าทำงานร่วมกันได้ดีหรือไม่ เพื่อลดเสียงรบกวนจากการทำงานของชิ้นส่วนหรือเสียงจากลมที่อาจเข้ามาในห้องโดยสาร ในช่วงแรกของการพัฒนา Ford ใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ หลังจากนั้น มีการสร้างรถต้นแบบ 200 คัน เพื่อใช้ทดสอบในขั้นตอนของความคงทน ตั้งแต่การวิ่งด้วยความเร็วสูงในทะเลทรายออสเตรเลียและตะวันออกกลาง รวมถึงนำมาวิ่งบนถนนและทางด่วนท่ามกลางอากาศร้อนชื้นในประเทศไทย ไปจนถึงอุณหภูมิติดลบในยุโรปและอเมริกาเหนือ การจำลองสภาวะการทดสอบให้เหมือนจริง เป็นสิ่งที่รถจะต้องพบเจอเมื่อถูกนำไปใช้งาน บนทางเรียบหรือเส้นทางออฟโรด ซึ่งรวมถึงความชื้นจัดในไทย อากาศหนาวเย็นที่นิวซีแลนด์ และอุณหภูมิร้อนถึง 50 องศาในแถบตะวันออกกลาง

นอกจากการทดสอบรถทั้งคันในสภาพแวดล้อมจริงแล้ว ยังมีการทดสอบส่วนประกอบเฉพาะชิ้นด้วย ตั้งแต่ระบบกันสั่นสะเทือน ชุดลาก โครงรถ ประตู ฝาท้าย แผงตัวถัง กันชน เบาะที่นั่ง และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ต้องจับ สัมผัส หรือกระแทก โดยทดสอบจนกว่าชิ้นส่วนจะถึงจุดแตกสลายในสภาพแวดล้อมที่ควบคุม เพื่อค้นหาจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้น เป้าหมายในการทดสอบส่วนประกอบต่างๆ เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะใช้งานได้อย่างปลอดภัย.