ไทยครองแชมป์ “ตาย” จากมอเตอร์ไซค์


This image is not belong to us

ข้อมูลจากรายงาน Global Status Report on Road Safety 2018 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับที่ 9 หรือ 22,491 คน แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยหนุ่มสาว อายุตั้งแต่ 5-29 ปี

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น สำหรับประเทศไทย ก็คือ 74% ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์

โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัย (Social Mobilization for Motorcycle Safety) นำเสนอข้อมูลว่า 3 องค์ประกอบหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ คือ คน, รถจักรยานยนต์ และ ถนน โดยพบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายดีเทียบเท่าสากล แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้

พญ.ชไมพันธ์ สันติกาญจน์ หนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า กฎหมายที่ควรถูกปรับแก้เพิ่มเติม ได้แก่ ความเร็วเขตเมืองต้องไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเดิมสูงถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, การใช้เข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหลังและเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก เป็นต้น ที่สำคัญประเทศไทยมีปัญหารถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านคัน เป็น 20 ล้านคัน มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่มีใบอนุญาตมากถึง 10 ล้านคน แต่ยังขาดการมุ่งเน้นในการกำกับดูแลเยาวชนและรถจักรยานยนต์

This image is not belong to us

คุณหมอชไมพันธ์ บอกว่า โครงการนี้จะใช้ Safe System Approach โดยมุ่งเน้นที่คนและรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญและยังขาดการให้ความสำคัญในช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมา โดยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสังคมเรื่องการกำหนดประเภทของการออกใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ของประเทศไทยที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านใบขับขี่และอายุของผู้ขับขี่ (United Nations Economic Commission for Europe-UNECE) และความปลอดภัยของตัวรถรวมทั้งส่วนประกอบของรถจักรยานยนต์ ที่ยังเป็นช่องว่างของการดำเนินงานของเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนของรถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ รายงานการเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ (Injury Surveillance -IS) จากโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ 28 โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ผู้บาดเจ็บรุนแรง ตายหรือรับไว้รักษาในโรงพยาบาล จากอุบัติเหตุขนส่งที่เป็นผู้ขับขี่นั้น เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ สูงถึง 89% ส่วนในกลุ่มผู้โดยสาร เป็นผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ 64% และในกลุ่มผู้เดินเท้าถูกชนโดยรถจักรยานยนต์ 57%

สัดส่วนการบาดเจ็บรุนแรงจากการใช้รถจักรยานยนต์ สูงที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คิดเป็น 15.8% รองลงมาคือกลุ่มอายุ 20-24 ปี คิดเป็น 13.5% และเมื่อวิเคราะห์รายงานการเฝ้าระวังการบาดเจ็บเป็นรายอายุ จะพบว่าอายุที่บาดเจ็บรุนแรงจากการใช้รถจักรยานยนต์สูงที่สุด คือ อายุ 17, 16, 18, 15 และ 19 ปี ตามลำดับ และผู้ใช้รถจักรยานยนต์มีพฤติกรรมเสี่ยงสูง เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัยและผู้ขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุ

“กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีสัดส่วนการตายเพิ่มขึ้น โดยมีข้อบ่งชี้ว่า การออกใบขับขี่ชั่วคราวให้เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันเพิ่มจากไม่เกิน 90 เป็น 110 ลูกบาศก์เซนติเมตร ที่มีความเร็วสูงขึ้นได้ถึง 135-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาการไม่มีใบขับขี่ที่เหมาะสมกับความจุรถจักรยานยนต์ น่าจะทำให้การตายในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีเพิ่มขึ้น” ผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่จักรยานยนต์ปลอดภัยบอก

This image is not belong to us

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประมาณร้อยละ 70-80 ของผู้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขนส่งเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยในแต่ละปีประเทศไทยจะมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสียชีวิตประมาณ 16,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่า รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่มีสัดส่วนสูงสุดที่มีการบาดเจ็บรุนแรงในทุกประเภทของผู้บาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ขับขี่พาหนะ ผู้โดยสาร หรือคนเดินเท้า

ข้อมูลการวิจัยในปี 2562 โดย พญ.พิมพ์ภา เตชะกมลสุข และโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 9 แห่ง พบว่า รถจักรยานยนต์รุ่นครอบครัวซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดประเทศไทย เป็นพาหนะที่มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตของอุบัติเหตุขนส่ง โดยพบว่าหน้ายาง ขนาดวงล้อ ความ เร็วรถ และเบรก ที่เมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะส่งผลที่สัมพันธ์กันต่อการทรงตัว การยึดเกาะผิวถนน และระยะการเบรกที่ไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รถจักรยานยนต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้ใช้ในประเทศไทยตายชั่วโมงละเกือบ 2 คน และยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งในการขนส่งสินค้าและบริการที่มีการซื้อขายออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งในการส่งอาหารต้องทำเวลาให้ได้ตามกำหนด และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นได้.