เปิดเวทีเสวนา “ความจริง…ค่าการกลั่น” แนะบูรณาการทุกภาคส่วน-ประหยัดพลังงาน 

แจงความจริงเรื่องค่าการกลั่น ในเวทีเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง ความจริง…ค่าการกลั่น” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มากด้วยประสบการณ์ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนน้ำมัน มาร่วมเสวนาพร้อมแนวทางและมุมมองที่หลากหลาย ประกอบด้วย ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นายเจน นำชัยศิริ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) มาร่วมเป็นวิทยากรในเวทีเสวนา โดยมี ศิรัถยา อิศรภักดี เป็นผู้ดำเนินรายการ 

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าธุรกิจการกลั่นน้ำมัน มีมายาวนานกว่า 100 ปี ขณะที่เทคโนโลยีการกลั่นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ค่าการกลั่น” หมายถึงต้นทุนน้ำมันดิบทุกชนิดที่โรงกลั่นซื้อมาในเวลาหนึ่งแล้วนำมาถ่วงน้ำหนัก เมื่อนำมากลั่นเป็นน้ำมันสุก หรือเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทต่างๆ แล้วเอาราคามาคูณปริมาณน้ำมันแต่ละชนิดที่กลั่นได้ ซึ่งส่วนต่างนี้เรียกว่า(Gross Refining Margin : GRM) แต่โรงกลั่นแต่ละโรงตั้งมาไม่พร้อมกันขณะที่เทคโนโลยีก็ต่างกัน เหมือนรถยนต์ที่กินน้ำมันไม่เท่ากัน ฉะนั้น GRM ไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น แต่เป็นความสามารถของโรงกลั่นในการแข่งขัน โรงกลั่นที่มี GRM ต่ำ ก็ไม่มีโอกาสสู้กับโรงกลั่นที่มี  GRM สูง GRM จึงเป็นเพียงการสะท้อนศักยภาพในการแข่งขันระหว่างโรงกลั่นด้วยกันเอง 

ทั้งนี้สงครามยูเครน ส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น น้ำมันดีเซลขาดแคลนในบางช่วง โดยเฉพาะจีน ส่วนต่างน้ำมันดีเซลในสิงค์โปร 20 เหรียญต่อบาห์เรล หรือประมาณ 5 บาท ต่อลิตร ขณะที่เกิดวิกฤตโควิดใหม่ ๆ ช่วงล็อกดาวน์ เติมน้ำมัน 1,000 บาทก็เต็มถังแล้ว ปัจจุบันเติมน้ำมัน 2,000 บาท ยังไม่เต็มถัง ทุกคนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา และแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่องทำให้กองทุนน้ำมัน ติดลบ 5,000 ล้านบาท รัฐบาลอุ้มราคาน้ำมันดีเซล 600 ล้านบาทต่อวัน ในช่วงสงครามยูเครน ทำให้น้ำมันดีเซลในไทยขึ้น 17% แต่ในตลาดสิงค์โปรราคาน้ำมันเพิ่มสูงถึง 84 % ส่วนราคาน้ำมันเบนซิลขึ้น 61% ส่วนประเทศไทยราคาเบนซิลขึ้นเพียง 38 % สาเหตุที่ประเทศไทยไม่ขึ้นราคาตามตลาดโลก เพราะรัฐบาลพยายามยื้อทั้งเรื่องกองทุนน้ำมัน และลดภาษีสรรพสามิตร  5 บาทต่อลิตร จนยื้อไม่ไหวจึงค่อย ๆ ขยับราคาขึ้น แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ วิกฤตดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นแต่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายคนเข้าใจผิดและเอาช่วงราคาน้ำมัน แพงที่สุดไปเทียบกับราคาน้ำมันดิบช่วงนี้ อนุมานว่าโรงกลั่นฟันกำไรเกินไปหรือไม่   

 

“คนไทยไม่ค่อยตระหนักในเรื่องราคาน้ำมันดีเซลในบ้านซึ่งมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซิล ในตลาดโลกมีราคาน้ำมันดีเซลแพงกว่าเบนซิล  ประการแรกเราต้องไม่ให้น้ำมันขาด รวมถึงเร่งความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มที่มีรายได้น้อยก่อน เช่นหาบเร่ แผงลอย และวินมอเตอร์ไซด์ ซึ่งประเทศไทยนำเข้าพลังงานสุทธิ โดยเฉพาะน้ำมันดิบนำเข้า 90% เพื่อมากลั่น ส่วนปรัชญาที่เชิญต่างชาติมาลงทุนโรงกลั่นในประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน ถ้าเรามีสูตรราคาเป็นหลักประกันที่ไม่จูงใจ ก็ไม่มีคนมาลงทุนในประเทศเรา ส่วนสูตรราคาที่จูงใจที่สุดก็คือสูตรราคาที่อิงกับราคา FOB หน้าโรงงานสิงค์โปร์ ซึ่งมีคำถามต่อไปว่าทำไมต้องไปอิงราคาสิงค์โปร์ ทั้งนี้ราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงค์โปร์กำหนดโดยรัฐบาลสิงค์โปรเป็นราคาหน้าโรงกลั่นสิงค์โปรปลอดภาษีทั้งหมด ฉะนั้นการเข้าไปแทรกแซงกลไกลตลาด จะมีความยุ่งยากเหมือนลิงอยู่ในแห ส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก”   


ปัจจุบันราคาพลังงานแพงต่อเนื่อง และอาจจะแพงต่อไปจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเป็นหนี้เกือบหนึ่งแสนล้านบาท หากราคาน้ำมันลดลงเราต้องเก็บเงินเข้ากองทุน จนกว่าเงินในกองทุนจะมีค่าเป็นบวก ถึงเวลานั้นราคาน้ำมันก็ไม่ได้ลดลง แต่เราก็ยอมรับได้ และขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลพยายามทำทุกอย่างแล้ว เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ขาดแคลนน้ำมัน เพราะว่าถ้าขาดแคลนน้ำมัน มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรจะหวังแต่ภาครัฐ และกระทรวงพลังงานเพียงอย่างเดียว ต้องบูรณการกับหลาย ๆ กระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม คมนาคม ร่วมถึงภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องช่วยกันด้วย  

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาระดับมหภาค สิ่งสำคัญที่สุดคือประหยัด ภาครัฐและภาคเอกชนรายใหญ่ ควรทำตัวเป็นตัวอย่าง ประหยัดทั้งน้ำไฟฟ้า น้ำมัน รวมถึงแก้ปัญหาระบบคอขวด โลจิสติกส์ ในประเทศไทยซึ่งเป็นต้นทุนในการขนส่งสินค้า อุปโภคบริโภคและต้นทุน ในการขนส่งของประชาชน บางที่เราลืมนึกไปว่ากฎระเบียบต่าง ๆ  จากภาคขนส่ง กระทรวงคมนาคม ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้มีรายได้น้อยผู้ประกอบกิจการเช่นกัน  


นอกจากนี้จะต้องแก้ปัญหาระดับบุคคล สิ่งที่เราทุกคนทำได้คือการประหยัดน้ำมันในยุคน้ำมันแพง อย่าขับรถเร็ว อย่าซิ่ง การขับรถในอัตราความเร็ว 90 – 100 กม./ ชั่วโมง จะช่วยประหยัดน้ำมัน 15-25%  หมั่นตรวจเช็กรถยนต์และเครื่องยนต์สม่ำเสมอ เติมลมยางตามพิกัด เช็คหัวเทียน จะช่วยประหยัดน้ำมันได้ 10% ไม่ขับก็ดับเครื่องอย่าใช้รถเป็นห้องเก็บของ วางแผนการเดินทางก่อนออกจากบ้าน ไม่เดินทางในเวลาที่เร่งรีบ อย่าแตะเบรกบ่อย ๆ เป็นต้น  

นายเจน นำชัยศิริ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)  กล่าวในเวทีเสวนาว่า   ย้อนกลับไปช่วงเกิดโควิดแรก ๆ น้ำมันเครื่องบินขายไม่ได้ และต้องนำไปผลิตภัณฑ์ที่ราคาต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งสถานการณ์ ไม่แน่นอน สำหรับโรงกลั่นน้ำมันมีความผันผวนเยอะ วันนี้ผลิตภัณฑ์น้ำมันขึ้นราคาโรงกลั่นได้ประโยชน์ แต่ขณะเดียวกัน ช่วงราคาน้ำมันลง โรงกลั่นขาดทุน เราไม่ได้คิด การที่จะตั้งโรงกลั่นโรงหนึ่งไม่ได้ง่ายและการที่มีโรงกลั่นโรงหนึ่งในประเทศไทย ถือว่าได้ประโยชน์ สูตรราคาหน้าโรงกลั่นสิงค์โปร์ ผมเห็นด้วย เพราะราคาซื้อขายหน้าโรงกลั่นสิงค์โปร์ ราคาคนซื้อคนขายมีกำลังต่อรองพอ ๆ กัน สะท้อนการแข่งขันการตลาดแบบเสรีที่สมบูรณ์ 

 

นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางลดราคาน้ำมันขายปลีก ว่า ปัจจุบันราคาเอเทนอลที่นำมาผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลิตรละ 26.49 บาท ซึ่งถูกว่าราคาเนื้อน้ำมันเบนซิน (ULG) ที่อยู่ที่ลิตรละ 34 บาท หากผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นราคาเบนซินก็ถูกลง และหากลดค่าการตลาดลง ซึ่งปัจจุบันแก๊สโซฮอล์ E20 ค่าการตลาดอยู่ที่ลิตรละ 4 บาทกว่า ราคาแก๊สโซฮอล์ E20 จะลดลงได้อีก และกองทุนน้ำมันฯไม่ต้องไปชดเชย จากปัจจุบันที่กองทุนฯชดเชยลิตรละ 0.82 บาท ส่วนน้ำมันดีเซลปัจจุบันราคาไบโอดีเซล บี100 ลิตรละ 56.13 บาท ยิ่งนำไบโอดีเซลไปผสมในน้ำมันดีเซลมากเท่าไหร่ราคาจะยิ่งแพง อาจจะลดส่วนผสมของไบโอดีเซลเป็นศูนย์ หรือลดลงเหลือ 2-3% แนวทางดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มเดือดร้อน เพราะราคาปาล์มมีราคาสูงและส่งออกไปต่างประเทศได้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องไปยุ่งกับค่าการกลั่นแต่อย่างใด 

“การที่รัฐบาลไปยุ่งกับค่าการกลั่น ผิดกติกาหรือไม่ ซึ่งกติกาเดิมรัฐบาลเป็นผู้กำหนด และจะมาเปลี่ยนกติกา  ทำให้เกิดการขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งผมมองว่าเราจะขอความร่วมมือได้เพียงครั้งเดียว ครั้งต่อไปจะเกิดความยากขึ้นในการให้ความร่วมมือ”  

 

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าราคาน้ำมันแพงทั่วโลก  อังกฤษเติมน้ำมันเต็มถึง 4,000 บาท บ้านเรา 3,000 บาท ซึ่งภาครัฐมีกองทุนมาช่วยสารพัดที่จะช่วยพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ไปไกล ซึ่งทำได้ดีแล้วในวันนี้ ระบบมันทำให้อยู่ได้และเชื่อมั่นว่าบ้านเราทำดีมาก ๆ  

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง เพราะน้ำมันหายาก และถ้าดูในกราฟจะพบว่าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงหนึ่ง จากนั้นราคาจะปรับลดลง เพียงตอนนี้ราคาน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากยังมีสงครามอยู่ แต่หากเจรจากันได้ราคาน้ำมันก็จะลดลง อย่างล่าสุดราคาน้ำมันดิบลงมาที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะเดียวกันการกลั่นน้ำมันต้องใช้พลังงานความร้อน เมื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่น ก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ เช่น ราคาวัตถุดิบ ค่าบำรุงรักษา เงินลงทุน ค่าเสื่อมต่างๆ และเงินเดือน  

การที่รัฐบาลขอความร่วมมือจากโรงกลั่นให้นำกำไรบางส่วนไปอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ เชื่อว่าโรงกลั่นพร้อมให้ความร่วมมือ เพียงแต่ว่าการนำกำไรออกมาจากบริษัทฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การนำออกมาในรูปของเงินปันผล หรือภาษีกำไรนิติบุคคลที่ภาครัฐจะได้รับปลายปี ไม่ใช่ว่าเอากำไรของบริษัทฯเหล่านั้นมาเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล  


“มีหลายวิธีที่จะดึงเงินจากโรงกลั่นฯ วิธีแรกเลย ให้รัฐบาลรอปันผล อีกไม่กี่วันก็จบครึ่งปีแล้ว จากนั้นก็ให้โรงกลั่นที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ คือ โรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. ปันผลระหว่างกาลออกมา แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเมื่อได้เงินปันผลมาแล้ว รัฐจะเอาไปลดราคาน้ำมันได้”   

  

ศิรัถยา อิศรภักดี กล่าวปิดท้ายสรุปการเสวนา ว่า  ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไร แต่ว่าเป็นการวัดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดของโรงกลั่นแต่ละแห่ง ซึ่งค่าการกลั่น ไม่มีใครกำหนดได้และไม่สามารถประเมินได้ แต่เกิดขึ้นจากการคำณวน หัวใจหลักที่วิทยากรทั้ง 3 ท่านพูดตรงกัน โรงกลั่นมีผลต่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศไทย และโรงกลั่นกำลังถูกล้วงกระเป๋า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คืออะไร จะยินยอมให้ความร่วมมือหรือเปล่า อาจจะยินยอมให้ความช่วยเหลือในระยะสั้นเท่านั้น  แต่ในระยะกลาง และระยะยาวความเชื่อใจ ความโปร่งใส ธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจการที่จะดึงดูดต่างชาติ เข้ามาลงทุนของภาครัฐ หรือแม้แต่ความมั่นคงทางด้านพลังงานจะอยู่ตรงไหน ซึ่งทั้ง 3 ท่านฝากไว้ว่าอาจจะเป็นผลกระทบต่อพลังงานบ้านเราหรือไม่ และได้เสนอทางออกของพลังงานหลายแนวทางด้วยกัน แต่สิ่งที่สำคัญจะต้องบูรณการทุกภาคส่วนและปรับกลไกลการตลาดให้เกิดขึ้น