Public communication skills
การตระหนักรู้ว่าตนไม่รู้อะไร คือ ความรู้ที่สำคัญไม่น้อยกว่า รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยความเชื่อนี้ ผมจึงเพียรพัฒนาจุดอ่อนด้านการสื่อสารสาธารณะ ผ่านการเขียนบทปัจฉิมพากย์ประจำเดือนใน “วารสารคลินิก” ต่อเนื่องกันนานกว่าสิบปี โดยผมได้รับโอกาสนี้จากท่าน อ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ในฐานะบรรณาธิการวารสารคลินิก และ อ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อท่านวางมือจากหน้าที่เขียนบทปัจฉิมพากย์ฯ แล้วส่งมอบให้ผม ซึ่งตอนแรก ผมแบ่งรับแบ่งสู้เพราะไม่มั่นใจในตนเอง แต่ได้รับกำลังใจประกอบการท้าทายด้วยประโยคว่า “คุณไม่รู้หรอกว่าขีดจำกัดของคุณอยู่ตรงไหน จนกว่าจะได้ลอง”
นอกจากการพัฒนาทักษะการสื่อสารสาธารณะผ่านตัวอักษร โอกาสฝึกทักษะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเริ่มเข้มข้นเมื่อผมอยู่ในบทบาทเลขาธิการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Foundation/NHF )…เวอร์ชั่นสองของ NEBT ที่จำต้องยุติบทบาทเพราะความขัดแย้งระหว่างประธาน NEBT กับ รมว.สธ.ในประเด็นนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ ประจวบกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ยุติการให้ทุน เพราะเห็นว่าประเทศไทยพึ่งตนเองด้วยทุนวิจัยภายในประเทศได้มากขึ้น
จังหวะเดียวกันนี้ มูลนิธิเมาไม่ขับได้ถือกำเนิดและมีบทบาทคึกคักสอดคล้องกับความสนใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจร ซึ่งอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ศูนย์นเรนทร (หนึ่งในที่มาของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน) รายงานตัวเลขคนเจ็บตายช่วงเทศกาลสงกรานต์บนพาดหัวหน้าแรกหนังสือพิมพ์ยอดนิยมหลายฉบับต่อเนื่อง สะท้อนบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนต่อการรับรู้ทางการเมือง ส่งผลต่อการแปลความบริบทของฝ่ายการเมืองว่า ฐานเสียงของตนกำลังสนใจอะไร
ความหมายเชิงบริบทเช่นนี้ ยกระดับอุบัติเหตุจราจรเป็นวาระทางการเมืองในเวลานั้น และเป็นอานิสงส์ให้ สกว.สนใจให้ทุนวิจัยด้านอุบัติเหตุจราจร ผมจึงได้โอกาสร่วมมือกับ อ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์วิจัยประเมินผลการรณรงค์เมาไม่ขับแบบสหสถาบันโดยให้พยาบาลอีอาร์สอบถาม/ดมกลิ่นหายใจคนไข้ที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรว่า ก่อนเกิดเรื่อง ดื่มสุรามั้ย ดื่มยี่ห้ออะไร เมื่อได้ผลวิจัยก็ต้องสื่อสารสาธารณะตามข้อตกลงกับ สกว. (ที่มาของข้อตกลงนี้คือภาพสะท้อนสไตล์การจัดการทุนวิจัยของ สกว.ในสมัย อ.วิจารณ์ พานิช เป็น ผอ. ซึ่งผมอนุมานว่าเป็นบทเรียนที่ท่านได้จาก NEBT) ส่วนหนึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็น long term portfolio ที่ผมได้ใช้ในอีก 3 ปีต่อมา และทำให้ผมเชื่อว่า การลงทุนเพื่อการวิจัยก็ไม่ต่างจากการเล่นหุ้นตรงที่ต้องมี portfolio: short term, long term
บทเรียนต่อตนเองที่ผมได้จากการพัฒนาทักษะสื่อสารสาธารณะ คือ นักวิชาการผู้สนใจขับเคลื่อนสังคมต้องพร้อมเสมอที่จะตอบคำถามหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยไม่เลือกวันเวลาสถานที่ (เพราะธุรกิจสื่อมวลชนแข่งกันเสนอข่าวสดใหม่) การสื่อสารต้องกระชับชัดเจน ใช้ภาษาชาวบ้าน และระมัดระวังที่จะไม่พาดพิงตัวบุคคลหรือสถาบันให้มากที่สุด จะทำเช่นนี้ได้แปลว่าต้องเกาะติดกับเรื่องนั้นๆ จนช่ำชอง….ย้ำเตือนคติว่า “โอกาสเป็นใจให้กับผู้มีความพร้อมเท่านั้น”
การเตรียมพร้อมของผมอาศัยความรู้จากหลายแหล่ง ช่วงเวลานั้นซึ่งอินเทอร์เน็ตยังเพิ่งตั้งไข่ แหล่งความรู้ของผมคือ จุลสารจากสถาบันวิชาการด้านอุบัติเหตุจากประเทศกลุ่มนอร์ดิค และตำราหลายเล่ม เช่น Injury Epidemiology จากกัลยาณมิตรในเครือข่าย NEBT ซึ่งรู้ว่าผมสนใจเรื่องนี้ ตลอดจนการติดตามข่าวเพื่อเตรียมประเด็นไว้ตอบสนองสื่อมวลชน
Research as portfolio investment
ดังที่ได้กล่าวถึงผลวิจัยประเมิน “เมาไม่ขับ” ว่าเป็น short-term & long-term portfolio ผลผลิตในส่วน long-term คือ การค้นพบว่า ลำดับความถี่ (%) ของยี่ห้อสุราที่ผู้บาดเจ็บรายงานชัดเจนกับปริมาณการลงทุนโฆษณาสุรา โดยลำดับ
เมื่อโอกาสเปิดคือ รัฐบาลทักษิณ (๑) สนใจใช้การแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรสร้างผลงานทางการเมือง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (road safety policy platform หรือ วอร์รูม) ซึ่งเป็นไอเดียของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คุยหลังฉากกับรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง ผมได้รับเชิญให้เล่นบทหัวหน้าทีมสนับสนุนทางวิชาการโดยทุน สสส. (สองร้อยล้านบาทในสองปี) เพราะได้ทำงานวิชาการด้านนี้มาสิบปีตั้งแต่สมัย NEBT ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวสังคม สหสถาบัน สหสาขาทั่วประเทศ
การทำงานบน platform นี้เป็นไปแบบสายฟ้าแลบตามสไตล์การทำงานของรัฐบาลทักษิณ ที่เน้นความฉับไว เป็นฝ่ายรุก และสร้างภาพลักษณ์ (visibility) ให้ประจักษ์แจ้งต่อสังคม นับเป็นสไตล์บริหารรัฐกิจที่แหวกแนวโดดเด่นกว่าทุกรัฐบาลก่อนหน้านั้น สร้างคะแนนทางการเมืองได้มหาศาลอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นต้นแบบให้รัฐบาลภายหลังสืบทอดมาจนปัจจุบัน
ในทางปฏิบัติเมื่อเปิดประชุมวอร์รูมครั้งแรก ผมและทีมวิชาการจึงได้รับมอบหมายให้เสนอยุทธศาสตร์ภายใน 7 วัน เมื่อผ่านวอร์รูมก็ให้เสนอ ครม.ตัดสินใน 3 วันต่อมา การตอบสนองเช่นนี้ยากจะเป็นไปได้ถ้าทีมวิชาการไม่ได้ทำการบ้านมาต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งก็คือ การสะสม long term portfolio นั่นเอง
ยุทธศาสตร์หนึ่งคือ public empowerment รูปธรรมของการดำเนินยุทธศาสตร์นี้อาศัยข้อค้นพบลำดับความถี่ยี่ห้อสุราสัมพันธ์กับปริมาณการลงทุนโฆษณาสุราดังกล่าว ส่วนการสื่อสาร ผมเตรียมชุดสไลด์ ใส่มือคุณดำรง พุฒตาล นำเสนอวอร์รูม กลายเป็นจุดตั้งต้นของละรอกคลื่น “Talk of the Town” หลายช่องทางรวมทั้งสื่อมวลชนติดต่อกัน 7 เดือน จนในที่สุด ครม.มีมติห้ามการโฆษณาสุราทางสื่ออีเลกทรอนิกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ทำไมนักวิชาการไม่เสนอซะเอง ทำไมอาศัยคุณดำรง พุฒตาล
ใช้หลักการอะไรในการพัฒนาข้อเสนอห้ามโฆษณาสุรา ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญของธุรกิจสุรา
เรื่องราวนี้ชวนให้คิดถึงปฏิบัติการ “แจ๊คล้มยักษ์” เมื่อเปรียบทุนสองร้อยล้านบาทที่ สสส.อุดหนุนทีมวิชาการถนนปลอดภัย กับมูลค่าของธุรกิจสุราปีละหลายแสนล้านบาท ไอเดียผลักดันมติ ครม. “ห้ามการโฆษณา” ดังกล่าวนับเป็นการแทรกแซงกลไกสำคัญยิ่งยวดทางการตลาด เท่ากับ “แจ๊คท้าดวลกับยักษ์” ถ้าคิดแบบเส้นตรง คงไม่มีเหตุผลที่จะเปิดเกมล้มยักษ์เช่นนี้ แต่ทีมวิชาการมองว่าในแข็งมีอ่อน ในอ่อนมีแข็ง (หยินหยาง/paradoxical thinking) จึงใช้ข้อค้นพบนั้นทะลวงจุดอ่อนในด้านแข็งของธุรกิจสุรา การเลือกคุณดำรง พุฒตาล อาศัยหลักการสื่อสารที่ว่า คนส่งสารมีอิทธิพลต่อผู้รับสาร คุณดำรง พุฒตาล สะสมทุนสังคมมามากในฐานะนักจัดรายการทีวี และผู้นำการรณรงค์เมาไม่ขับอยู่หลายปีก่อนหน้าวอร์รูมถือกำเนิดจนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว. (สมัย ส.ว.เลือกตั้งไม่ใช่ลากตั้ง)
คำว่า “โอกาสเปิด” บ่งชี้ว่า บริบทสังคมเป็นพลวัตร หรือ complex systems (ระบบซับซ้อน) แม้ยากจะคาดเดาว่าเมื่อใดหน้าต่างโอกาสจะเปิดออก แต่ความพร้อมขององค์ประกอบย่อยในระบบซับซ้อน นับเป็นตัวแปรสำคัญต่อการปรับตัวของระบบ อ.ประเวศ วะสี เปรียบเปรยพลังทางวิชาการว่า คือ ค่าคงที่ในปฏิกิริยาเคมี หรือในทางการเมืองที่ตัวแปรอื่นผันผวนตลอดเวลา ถ้าไม่มีค่าคงที่นี้อันเปรียบเหมือน continuing wisdom สังคมก็จะปั่นป่วนไร้ทิศทางหรือหลงทาง ท่ามกลางความปั่นป่วนทางนโยบายรับมือโควิดของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ Antony Fauci คือ ค่าคงที่นี้อันเป็นที่พึ่งทางสติปัญญาแก่สังคม ตอนโรคหวัดนกระบาดเข้ามาในประเทศไทย ท่าทีแรกของรัฐบาลทักษิณคือ ปฏิเสธความจริงนี้เพราะไม่รู้จะรับมืออย่างไรจึงจะไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ นักไวรัสวิทยาอาวุโสก็เล่นบทคล้าย Fauci
คำถามคือ จะออกแบบกลไกทางสถาบันวิชาการอย่างไรให้ฟูมฟัก หล่อเลี้ยง “ค่าคงที่” นี้ได้อย่างมั่นคง NEBT ให้บทเรียนอะไรในแง่นี้
Realization of political naivety
แม้มีประสบการณ์ทำงานวิชาการเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใต้ร่ม NEBT และเครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่มาราวสิบปี ผมก็ยังอ่อนหัดในทางการเมืองเกินกว่าจะประคองนาวาทีมวิชาการถนนปลอดภัยให้รอดพ้นคลื่นลมไปได้อย่างยั่งยืน ทีมวิชาการนี้จึงมีอายุงานเพียง 15 เดือน
ผมมาทบทวนภายหลังจึงค่อยตระหนัก ถึงการใช้วิชาการเป็นเครื่องมือกลั่นกรองงบประมาณสนับสนุนปฏิบัติการระดับจังหวัดแบบเถรตรงโปร่งใส ตัวเลขเงินอุดหนุน 200 ล้านของ สสส.ดังกล่าว สะท้อนคติธรรมว่า “ที่ใดมีผลประโยชน์มากแรงดึงดูดผู้แสวงหาก็มากตาม…แล้วความยอกย้อน ช่วงชิง ก็ตามมา”
การสนับสนุนงบประมาณให้จังหวัด เป็นไปตามหลักการกลั่นกรองทุนวิจัย และติดตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งอาศัยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้หลายจังหวัดไม่ได้รับทุน บางจังหวัดถูกยุติทุนสนับสนุนเมื่อผลงานไม่เป็นไปตามแผนโดยขาดคำอธิบายที่สมเหตุสมผล แม้ว่าก่อนการรับข้อเสนอได้มีการติวทีมงานจังหวัดว่าควรเขียนแผนอย่างไร เมื่ออนุมัติทุนก็มีการติดตามนิเทศเพื่อช่วยให้จังหวัดสามารถดำเนินการตามแผนโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ความจริงที่ผมตระหนักในภายหลังคือ การไม่ได้รับทุนหรือถูกยุติทุนของจังหวัด มีนัยทางการเมืองเพราะจังหวัดคือฐานเสียงของฝ่ายการเมือง
คลื่นลูกใหญ่สุดที่ล้มคว่ำนาวาวิชาการลำนี้ ก่อตัวขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างบิ๊กในบอร์ดบริหาร สสส. ซึ่งเกิดภายใต้เงื่อนไขตามคติธรรมในย่อหน้าก่อน ขั้วตรงข้ามกับฝ่ายที่ถูกมองว่าสนับสนุนทีมวิชาการฯ จึงมองหาโอกาสทำลายคู่ต่อสู้ หนึ่งในโอกาสนั้นคือ กระบวนการจัดหา เครื่องมือตรวจวัดแอกอฮอล์ในลมหายใจ และเครื่องมือวัดความเร็วของรถยนต์ให้ตำรวจทั่วประเทศได้ทำงานตอบสนองนโยบาย ครม.ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2004 โดยให้เวลาดำเนินการเพียง 3 สัปดาห์ ทีมวิชาการฯ ซึ่งไม่น่าจะต้องรับผิดชอบหน้าที่นี้ (การซื้อของแจก) ได้ดำเนินการตามขั้นตอนพัสดุ (ตั้งกรรมการ สืบราคา ประกวดราคา ทดสอบตัวอย่างสินค้า ก่อนตัดสินใจ)
ส่วนการทำลายอาศัยเพียงการปล่อยข่าว “ซื้อของแพง” ตามด้วย คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา หลังจากมีการชี้แจงด้วยตัวหนังสือพร้อมหลักฐานประกอบการให้ปากคำ ก็ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาซ้ำเดิมอีกหลายรอบ ตีความได้ว่า เป็นการใช้กลไกทางนิตินัย และจิตวิทยา เพื่อบั่นทอนทุนทางสังคมนั่นเอง 7 ปีหลังจากวงจรทำลายล้างนี้ทำการ ผมได้รับหนังสือจากคณะกรรมชุดใหญ่ของ ป.ป.ช.แจ้งว่า คดีไม่มีมูล จึงปิดคดี Risk management จึงเป็นศาสตร์ที่ทุกคนควรเรียนรู้เพราะในโอกาสย่อมมีความเสี่ยง และกลับกัน ไม่ว่าเราจะข้องเกี่ยวกับปริมณฑลเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ….“ตถตา”.
“36 ปี” ที่มาที่ไป ของครูแพทย์คนหนึ่ง (1)
36 ปี ที่มาที่ไปของครูแพทย์ คนหนึ่ง (2)
………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด