เกม Racing ในธีมแข่งรถผิดกฎหมาย (illegal Street Racing) เป็นสิ่งที่เกมเมอร์หลายคนชื่นชอบมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่เนื่องจากเกมแนวนั้นเริ่มหาเล่นยากขึ้นทุกที ผู้เล่นชาว Racing จึงเริ่มโหยหาคาดหวังว่าจะได้เล่นเกมแข่งรถแบบใต้ดินดี ๆ เกมหนึ่งในยุคนี้อีกครั้ง
จนกระทั่งล่าสุด เกม Kanjozoku Game レーサー ได้ถือกำเนิดและวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยเกมดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจสำหรับชาว Racing หลายคน เพราะมันคือแข่งรถแบบผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบทความนี้ เป็นการแนะนำเกมแข่งรถใต้ดินสนุก ๆ ที่ราคาไม่แรง ทุกคนซื้อมาลองเล่นได้
เกมแข่งรถที่ชาว Racing อาจโหยหามานาน
Kanjozoku Game レーサー เป็นเกมแข่งรถสไตล์อาร์เคด โดยทีมพัฒนาเกมอินดี้ SGデベロッパー (SG Developer) ซึ่งเกมนี้ วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา แล้วได้รับความสนใจจากชาวเกม Racing ด้วยราคาขายเพียง 119.99 บาท (ตอนนี้ลดเหลือ 89.99 บาท) รวมถึงใช้ธีมการแข่งรถแบบผิดกฎหมายในญี่ปุ่นจากยุคปี 1990
เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนเล่นเกม Racing ในชีวิตจิตใจอยู่แล้ว และการนำเสนอธีมของเกมนี้ ทำให้นึกถึง Tokyo Xtreme Racer เกมแข่งรถสมัย PlayStation 2 ที่มีธีมแข่งรถผิดกฎหมายในญี่ปุ่นเหมือนเกมนี้ เราจึงตัดสินใจลองซื้อเกมนี้มาเล่นแบบขำ ๆ แต่ประสบการณ์ที่ได้รับกลับมานั้น กลับเป็นความสนุกสนานคุ้มราคา 90 บาท
เกมแข่งรถที่สนุกเกินราคา 100 บาท (ในเวลานี้)
เนื่องจาก Kanjozoku Game レーサー คือเกม Racing ที่มีเซตติงเป็นประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1990 รถทั้งหมดของเกมนี้จึงอ้างอิงมาจากรถสปอร์ตสัญชาติญี่ปุ่นในปี 1990 ถึงต้นปี 2000 ที่หมู่คนรักรถ (Car Enthusiast) ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี
สิ่งที่น่าประทับใจอย่างแรกของเกมนี้ และเราเชื่อว่าเกมเมอร์ขา Racing หลายคนน่าถูกใจไม่ใช่น้อย นั่นคือระบบการแต่งรถ ที่ผู้เล่นสามารถเปลี่ยน Part ตั้งแต่กระจังหน้า กระจังหลัง ล้อแม็กซ์ เพิ่มสปอยเลอร์ และล่าสุด ตัวเกมเพิ่งเพิ่มไฟนีออนประดับที่ใต้รถยนต์
ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพรถยนต์ ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนท่อไอเสีย เพิ่มส่วนประกอบเทอร์โบชาร์จเจอร์ สวมอุปกรณ์ ECU (Engine control unit) อัปเกรดเครื่องยนต์ หรือถ้าอยากเพิ่มแรงม้ามากกว่านี้ ก็สามารถสลับเครื่องยนต์ (Engine Swap) ได้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าอุปกรณ์ตกแต่ง และการอัปเกรดทั้งหมด ล้วนต้องใช้เงินในเกมซื้อทั้งสิ้น
หากพร้อมแข่งขันแล้ว ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะลงสนามแข่งไหนระหว่าง “ทางด่วน” หรือ “Track 1 ถึง 3” โดยเมื่อเข้าสนามแข่งแล้ว ตัวเกมจะต่อเข้าระบบออนไลน์โดยอัตโนมัติ (สามารถเปิดโหมด Offline ได้ที่หน้าต่าง Option)
หลังจากเข้าสู่ถนนทางด่วน ผู้เล่นสามารถขับรถ Free Roam ไปเรื่อย ๆ , ตั้ง Matchmaking หรือเข้าร่วมการแข่งขัน PvP ที่สร้างโดยผู้เล่นอื่น
Racing ในทางด่วนญี่ปุ่น มีกฎการเล่นที่เข้าใจง่ายมาก ๆ คือผู้เล่นต้องซิ่งรถให้เข้าถึงเส้นชัย โดยจะได้รับเงินรางวัลมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นว่าคุณเข้าเส้นชัยในอันดับที่เท่าไหร่ แต่ถ้าหากขับรถด้วยความเร็วต่ำกว่าที่กำหนดไว้ หรือชนอย่างรุนแรง ผู้เล่นจะโดนสละสิทธิ์ออกจากการแข่งขันพร้อมกับมือเปล่าโดยอัตโนมัติ
การแข่งขันหนึ่งรอบใช้เวลาราว 1 นาที ตัวเกมสามารถรองรับผู้เล่นได้หลายคน (เคยเจอคนเข้าร่วมการแข่งขันสูงสุดถึง 17 คน) ทำให้บรรยากาศการแข่งขันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีความลุ้นระทึกตามสไตล์เกม Racing ที่เน้นเอาชนะด้วยความเร็วสูงสุด กับการหลบหลีกรถที่สัญจรไปมา แล้วด้วยเกมที่มีจังหวะเร็ว (Fast Paced) จึงทำให้ติดพันอยากเล่นรอบต่อไปเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ตัวเกมได้นำเสนอความรู้สึกของความเร็ว (Sense of Speed) ได้ตรงจุด แถมเสียงรถยนต์แต่ละคัน ก็ถือว่าดุดันใช้ได้เลยทีเดียว (เกมเมอร์บางคน ชี้ว่าเสียงรถในเกมนี้อาจถอดมาจากเกมอื่น แต่ยังไม่มีการคอนเฟิร์มชัดเจน)
ส่วนสนามแข่งแบบ Track มีการดีไซน์ที่เน้นการดริฟต์เป็นอย่างหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เราพบว่าสนามแข่งแบบ Track นั้น ไม่มีจุด Checkpoint ให้เริ่ม Matchmaking ก็หมายความว่า Track เป็นสนามที่ไว้สำหรับขับรถดริฟต์เฉย ๆ ไม่มีการประลองแข่งขันใด ๆ ทั้งสิ้น หรือจะบอกว่าเป็นสถานที่ Car Meets สำหรับอวดสกิลการดริฟต์ อวดรถตัวเอง และพูดคุยกับผู้เล่นหลายคน ก็ว่าได้
ข้อเสียร้อยแปด โชว์ให้เห็นเลยว่าเกมยังต้องพัฒนาอีก
แม้ Kanjozoku Game レーサー เป็นเกมที่เล่นสนุกเพลิน ๆ แต่แน่นอน มันก็มาพร้อมกับจุดบกพร่องสารพัดชนิดร้อยแปด ที่โชว์ให้เห็นเลยว่าตัวเกมยังต้องพัฒนาอีกหลายส่วน
ข้อเสียหลัก ๆ คือตัวเกมขาดฟีเจอร์หลายอย่างที่เกม Racing ควรจะมี เช่น ไม่มีการอัปเกรดยางรถ โช๊คอัพ เบรก และอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสถียรภาพของรถ (ตอนนี้ รถมีให้อัปเกรดเฉพาะความเร็วสูงสุดเท่านั้น) นอกจากนี้ ในเกมไม่มีการโชว์คนขับ เบาะที่นั่ง พวงมาลัยอย่างเห็นได้ชัด รวมถึง Livery หลายลายมีลักษณะเบี้ยวจนไม่สามารถใช้งานได้
จากความรู้สึกส่วนตัว ระบบการควบคุมรถของเกมนี้มีลักษณะลื่นและลอย แม้การควบคุมรถแบบนั้นจะไม่มีปัญหาสำหรับการแข่งรถดริฟต์ แต่มันไม่ค่อยเหมาะสำหรับการแข่งรถบนทางด่วนเท่าไหร่ที่มีเส้นทางตรงเยอะ แม้จะเล่นเกมจนสามารถปรับตัวเข้าใจวิธีควบคุมรถแล้ว มันก็ยังรู้สึก “ไม่ถูกต้อง” อยู่ดี
A.I. รถที่สัญจรไปมา ชอบขับรถแบบจู่ ๆ เปลี่ยนเลน ทำให้เพลเยอร์มักเผลอขับชนรถสัญจรโดยไม่ได้จงใจ ซึ่งสร้างความปวดหัวระหว่างการแข่งขันได้พอสมควร
ตำรวจลาดตระเวนบนทางด่วนในเกมนี้ ก็จัดว่ามีพฤติกรรมโง่เง่า ชอบขับรถชนกำแพงกับรถสัญจรไปมา แถมรถของมันก็ไม่ค่อยเร็วเท่าไหร่ ทำให้สามารถหลบหนีจากการไล่ล่าโดยตำรวจลาดตระเวนได้ง่ายมาก ๆ
นอกจากนี้ แม้เกมมีภาพกราฟิกสวยงามเกินราคา 119 บาท แต่ก็ยังมีปัญหา Performance เฟรมเรตตกเป็นบางช่วง แต่โดยรวมแล้ว เกมยังไม่มีบั๊กร้ายแรงระดับ Game Breaking หรือเล่นไม่ได้เลย
เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง แต่ยังโชว์ศักยภาพเป็นเกมดีได้ในอนาคต
สุดท้าย แม้ Kanjozoku Game レーサー ยังมีหลายส่วนที่สามารถพัฒนาได้ดีกว่านี้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธเช่นกัน ว่าหลังจากลองเล่นเกมนี้ มันทำให้คิดถึงเกมแข่งรถบนทางด่วนญี่ปุ่นสมัย PlayStation 2 และคาดหวังว่าจะมีเกมแนวนี้มากขึ้นในอนาคต
แน่นอน ข้อเสียดังกล่าวสามารถอะลุ้มอล่วยให้ได้ เนื่องจากเกมขายในราคาเท่ากับกาแฟดี ๆ เกือบระดับพรีเมียมหนึ่งแก้ว รวมถึงความสนุกที่ได้รับกลับมา ก็ถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว และตัวเกมยังคงมีการอัปเดตเวอร์ชัน เพื่อเพิ่มฟีเจอร์กับแก้บั๊กต่าง ๆ ณ เวลานี้
สุดท้าย เราแนะนำ Kanjozoku Game レーサー สำหรับคนที่มองหาเกมแข่งรถ JDM จากยุค 1990 ที่ดีในราคาสบายกระเป๋าเพียง 90 บาท ถ้าชื่นชอบก็เล่นต่อ ถ้าไม่ชอบก็คืนเกม หรือเก็บไว้ในคลังเฉย ๆ ก็ได้เช่นกัน
หน้าร้านค้า Kanjozoku Game レーサー ใน Steam