1.Mazda Cosmo 110S Sport Coupe 1968
Mazda ได้สร้างโมเดลรถสปอร์ตที่น่าประทับใจเอาไว้มากมายในช่วงอายุ 100 ปีของแบรนด์ที่เพิ่งจะผ่านการเฉลิมฉลองอันเงียบเหงาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่ายซูมซูมสร้างรถที่ดีมากมาย แต่มี Mazda เพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่มีความสวยงามเท่ารถสปอร์ตรุ่น Cosmo ดีไซน์และระบบขับเคลื่อนของมันสร้างเอกลักษณ์ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายๆ ด้าน ด้วยการออกแบบล้ำยุค เรือนร่างสุดคลาสสิกที่ทำให้รู้สึกหลงรักตั้งแต่แรกเห็น Cosmo 110S coupe ถือเป็นรถรุ่นแรกในสายการผลิตเครื่องยนต์โรตารี เปิดตัวในรูปแบบรถสปอร์ตแนวคิดหนึ่งปีเต็ม มียอดการผลิตมากกว่า Toyota 2000GT ในงาน Tokyo Motor Show ปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2507) Cosmo ฉายแววดังออกมาให้เห็นจากเสียงตอบรับของสื่อมวลชน หลังงานแสดงรถที่โตเกียว รถตัวอย่างก่อนการผลิต 80 คัน ถูกนำไปใช้ในตัวแทนจำหน่าย Mazda เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการขับ ในช่วงปี ค.ศ. 1967-1968 (พ.ศ. 2508-2509) เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องยนต์สูบหมุน Wankel ที่ Mazda บอกว่า เป็นขุมกำลังที่เข้ามาปฏิวัติวงการ สามารถพิสูจน์ตัวเองว่าใช้งานได้จริงและมีความน่าเชื่อถือเมื่ออยู่ในมือลูกค้า หลังจากทดสอบ วิศวกรของ Mazda มั่นใจในด้านความทนทานของเครื่องโรตารี่ตัวใหม่แล้ว รถรุ่นแรก Cosmo 110S ก็ออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2510) โดยมีการผลิตประมาณหนึ่งคันต่อวัน การผลิตรวมตลอดระยะเวลาห้าปีมีจำนวนเพียงแค่ 1,176 คัน เยอะกว่า 2000 GT แต่หายากพอๆ กัน
เครื่องยนต์โรตารี่ 998cc ขนาดกะทัดรัดของ Cosmo มีกำลังแค่ 112 แรงม้าในรถรุ่นแรกสุด รุ่นต่อมาตั้งแต่กลางปี 1968 เป็นต้นไป เบ่งบานพลังงานได้กำลังถึง 130 แรงม้า ส่งผลให้ความเร็วสูงสุดเพิ่มขึ้นอีก 8 กิโลเมตร เป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเร่งที่เฉียบคมขึ้นเล็กน้อย หลังจากพักไปสามปี Mazda ได้ฟื้นชื่อรุ่น Cosmo สำหรับรถเก๋งครอบครัว เครื่องยนต์โรตารี่ เบาะนั่งแบบ 2+2 ที่หรูหราและแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในปี 1975 โดยมีการกำหนดชื่ออย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเลิกจำหน่ายด้วย Eunos Cosmo coupe เครื่องโรตารี่สามโรเตอรี่ รุ่นที่สี่ในปี 1996
Cosmo รุ่นดั้งเดิมเป็นรถสปอร์ตคูเป้ขนาดกะทัดรัด โมเดลนี้ถือเป็นรุ่นเรือธงของ Mazda ในปี 1967-1996 เมื่อ Cosmo รุ่นที่สี่และถือเป็นรุ่นสุดท้าย (ภายใต้แบรนด์ Eunos ในญี่ปุ่น) ถูกผลิตออกขาย เครื่องยนต์โรเตอร์คู่ขนาด 1 ลิตร และมันไม่มีลูกสูบ แต่มีกระบอกสูบหรือโรเตอร์สามเหลี่ยมหมุนอยู่ภายใน ซึ่งสามารถผลิตกำลังได้เพียงแค่ 110 แรงม้า กับแรงบิด 131 นิวตันเมตร นอกจากประสิทธิภาพการทรงตัวและความเร็วที่ยอดเยี่ยมแล้ว Cosmo ยังสร้างความประทับใจด้วยงานออกแบบตกแต่งภายในและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอุปกรณ์ใช้งานครบครัน ตั้งแต่วิทยุพร้อมลำโพง Clarion ที่มีเบสทุ้มลึก ไปจนถึงไฟอ่านแผนที่บนแดชบอร์ดที่สะดวกสบาย ทุกอย่างใน Cosmo ให้ความรู้สึกเหมือนฝันย้อนเวลาไปในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน ในยุคที่รถยนต์ยังรักษาสไตล์อันคลาสสิกเอสไว้อย่างครบถ้วน
รูปลักษณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ ผสมผสานกับการตกแต่งภายในที่สะดุดตา และความรู้สึกในการขับขี่ที่ตอบสนองได้ดี ผู้ที่ชื่นชอบรถที่เคยขับ Cosmo Sport ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตนี้ยังคงให้คำชื่นชมอย่างจริงใจและจริงใจมาเป็นเวลาหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน
2. Honda NSX 1991
ความงามของรถ JDM แห่งศตวรรษที่ 20 นี่คือหนึ่งในรถยนต์ยุค 90 ที่สวยสุดๆ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะหาดูได้ยากแล้วก็ตาม Honda NSX ปี 1991 ยังคงสามารถดึงดูดความสนใจได้มากกว่า Ferrari บางรุ่นซะอีก เนื่องจากรูปลักษณ์ที่ดูสปอร์ตกับสไตล์ที่ปราศจากการลอกเลียนใดๆ ทั้งสิ้นของสำนักออกแบบชื่อก้องโลกอย่าง Pininfarina
NSX ซึ่งถูกนับเป็นซุปเปอร์คาร์รุ่นแรกของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Honda ได้รับการพัฒนาเพื่อแข่งขันกับรถสปอร์ตชั้นนำของโลกในยุคนั้นอย่าง Porsche 911 และ Ferrari 348 TB โดยได้รับการออกแบบตามแนวคิดของ Honda HP-X Concept (Honda Pininfarina eXperimental) ก่อนการเปิดตัว Honda บริษัท ที่ไม่มีประเพณีการผลิตรถสปอร์ต สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั้งโลกด้วยการสร้างโมเดลรถสปอร์ตเครื่องวางกลางราคาถูกและขับง่าย ซึ่งสามารถเอาชนะคู่แข่งราคาแพงจากฝั่งตะวันตกได้ Honda NSX ปี 1991 มีการออกแบบที่แข็งแกร่ง คมชัด และเป็นเอกลักษณ์ ด้วยโครงสร้างตัวถังอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา ไฟหน้าที่สะดุดตามีความงามตามแบบฉบับของซุปเปอร์คาร์แห่งศตวรรษที่ 20 ชุดไฟหน้ายังปรับความสามารถตามหลักอากาศพลศาสตร์ของรถให้เหมาะสมเมื่อไม่ได้ใช้งาน
สำหรับพื้นที่ภายใน Cockpit ของ NSX ได้รับแรงบันดาลใจจากรถแข่ง F1 และเครื่องบินขับไล่ F-16 Falcon ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วยการออกแบบที่เรียบง่าย แต่มีความโดดเด่นด้าน ตำแหน่งนั่งขับที่ดีเยี่ยม ให้ทัศนวิสัยที่ดีในทุกมุมมอง นอกจากนี้ รายละเอียดต่างๆ เช่น พวงมาลัยแบบ 3 ก้านหุ้มด้วยหนังแท้ คันเกียร์ธรรมดา 6 สปีด มาตรวัดความเร็วแบบอนาล็อก อุปกรณ์มาตรฐานของรถยนต์แห่งอนาคตคันนี้ดูเรียบง่ายและเข้ากับยุคสมัยของปี 1991 ภายใต้โครงสร้างส่วนกลางของตัวถัง NSX 1991 ประจำการด้วยเครื่องยนต์เบนซิน V6 DOHC ความจุ 3.2 ลิตร ไม่มีระบบอัดอากาศ รวมกับเทคโนโลยี VTEC ที่พัฒนาโดย Honda และพาคุณทะยานผ่าน 8,600 รอบด้วยความเร้าใจ
3.Honda S2000 1999
หลังจากพิสูจน์ให้เห็นว่าวิศวกรของบริษัทสามารถสร้างซุปเปอร์คาร์ระดับโลกด้วยรถสปอร์ตแห่งตำนานรุ่น NSX วิศวกรของ Honda ยังคงแสดงความสามารถด้วยรถคลาสสิกอีกรุ่นหนึ่ง นั่นคือรถสปอร์ตโรสเตอร์สองที่นั่งหลังคาผ้ารุ่น S2000 หลังจากการเปิดตัว โรสเตอร์รุ่นนี้ก็ได้รับความนิยมในทันที นักขับรถเปิดหลังคาหลายคนชื่นชอบไดนามิกและความเร้าใจในการลากรอบสูงของเครื่องยนต์ VTEC การวางเครื่องยนต์ตามยาว โดยใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ทำให้อัตราส่วนการกระจายน้ำหนักดีพอๆกับ Mazda MX-5 เพียงแต่ S2000 ถูกดีไซน์ให้มีขนาดที่ใหญ่กว่าและมีกำลังมากกว่า
S2000 ที่ผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1999 เป็นหนึ่งในรถเปิดประทุนที่ดูดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศญี่ปุ่น รถสปอร์ตเปิดหลังคารุ่นนี้ ใช้การออกแบบที่ดึงดูดสายตา สืบทอดตำนานรถเปิดหลังคาในอดีตอย่าง S600 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นความภาคภูมิใจของ Honda ในวาระครบรอบ 50 ปี การสร้าง S2000 คือการเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จและประวัติศาสตร์ของรถเปิดประทุนแบรนด์ Honda สิ่งแรกที่ต้องสังเกตคือไฟหน้าของ S2000 นั้นใช้สไตล์ที่เฉียบคม เพื่อเพิ่มความโดดเด่นให้กับส่วนหน้าของรถ ตำแหน่งของการนั่งขับออกแบบมาสำหรับผู้ขับที่ต้องการสัมผัสกับความสนุกตื่นเต้นหลังพวงมาลัยและอยู่ใกล้ชิดกับผิวถนนมากกว่าเดิม ในฐานะที่เป็นรถสปอร์ต 2 ประตูขนาดกะทัดรัด Honda S2000 มีเพียง 2 ที่นั่ง แม้ว่าโรสเตอร์รุ่นนี้จะอายุมากกว่า 20 ปีแล้ว แต่หน้าจอควบคุมตรงหน้าคนขับติดตั้งหน้าจอภาพมาตรวัดขนาดใหญ่ซึ่งดูทันสมัยและใช้งานได้จริง มันมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่าง กระจกไฟฟ้า หลังคาผ้าพับเก็บไฟฟ้า เบรก ABS และระบบรักษาเสถียรภาพ สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ S2000 ก็คือหัวใจของการขับเคลื่อน ด้วยเครื่องยนต์ VTEC DOHC 4 สูบ ความจุ 1,997cc. เครื่องยนต์วางตามยาวด้านหน้า ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ให้กำลังสูงสุด 237 แรงม้า พร้อมแรงบิด 220 นิวตันเมตร กระโปรงหน้าทำจากอะลูมิเนียม ขุมพลังที่ถูกวางไปที่ด้านหลังสุดติดกับผนังห้องเครื่องยนต์เพื่อกระจายน้ำหนัก จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำและสมดุล รวมถึงตัวเลขอัตราส่วนการกระจายน้ำหนัก 50:50 ที่เหมาะสมสำหรับรถสปอร์ตพลังสูง
ฝาครอบเครื่องยนต์สีแดงและสีดำซึ่งมีตัวอักษร DOHC VTEC ด้วยความแม่นยำทางวิศวกรรม กำลัง 240 แรงม้า ที่รอบจัดถึง 8,300 รอบต่อนาที มาตรการลดน้ำหนักทำให้มีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนัก 5.26 กิโลกรัมต่อหนึ่งแรงม้า ส่งผลให้ S2000 มีสมรรถนะที่โดดเด่น อัตราเร่งจาก 0 ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเพียง 6.2 วินาที อัดจาก 0-400 เมตร ทำได้ในเวลาเพียง 14.5 วินาที ในขณะที่ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 241 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงเครื่องยนต์พื้นฐานที่ยังไม่ได้ปรับแต่งนั้นมีความไพเราะใช้ได้ เมื่อความเร็วรอบของเครื่องยนต์สร้างระดับเสียงของท่อระบายท้ายที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้กับ S2000 ซึ่งสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมในหลายทศวรรษของ Honda กับการผลิตเครื่องยนต์รถแข่ง Formula 1 และ CART ChampCar ในขณะที่เครื่องยนต์หมุนรอบสูง S2000 จะให้ความรู้สึกสปอร์ตและมีลักษณะเฉพาะตัว การขับขี่ที่ตอบสนองเร็ว ด้วยระบบ VTEC รุ่นล่าสุดของเครื่องยนต์ที่ได้รับการปรับแต่งอย่างประณีต เมื่อลดความเร็วเพื่อไปสู่ความผ่อนคลายด้วยการเปิดหลังคาขับที่ความเร็วต่ำ นั่นเป็นอีกหนึ่งความสามารถของโรสเตอร์รุ่นนี้ที่ทำให้S2000 เข้าสู่ทำเนียบรถญี่ปุ่นที่น่าสะสม
4. Lexus LC500 2017
ตัวสุดรุ่นต่อไปที่อยากจะแนะนำในรายชื่อของรถสปอร์ตพรีเมียมแบรนด์ญี่ปุ่นที่หรูหราสุดๆ ในปัจจุบันคือ Lexus LC500 ในฐานะตัวแทนของกลุ่ม Luxury Sport Car จากประเทศญี่ปุ่น สปอร์ตคาร์ LC500 รวบรวมแก่นสารทางเทคโนโลยีของระบบขับเคลื่อนและการวางแนวทางของผลิตภัณฑ์ในอนาคตจากแบรนด์หัวลูกศร Lexus
Lexus LC500 ใหม่ดูใหญ่กว่าสปอร์ตคูเป้รุ่นเล็กอย่าง Lexus RC เป็นรถคูเป้คันโตระดับเรือธงของผู้ผลิตรถยนต์สุดหรูของญี่ปุ่นที่สามารถแข่งขันโดยตรงกับคู่แข่งที่เหนือชั้นอย่าง BMW 650i
ด้านหน้า ไฟรูปเบ็ดตกปลาที่ออกแบบได้อย่างน่าประทับใจ ไฟหรี่ในเวลากลางวัน DLR สร้างรูปลักษณ์อันทรงพลังและสวยงาม รูปลักษณ์โดยรวมมีส่วนที่คล้ายกับ Lexus LFA ทำให้ LC500 ดูทันสมัยและมีราคาแพง (มาก) เพื่อสร้างสมรรถนะแบบสปอร์ตที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าคู่แข่งจากเยอรมัน Lexus ได้ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินไซส์ยักษ์แบบ V8 ขนาด 5.0 ลิตร กำลัง 471 แรงม้า แรงบิด 530 นิวตันเมตร ที่มีอัตราเร่งสูงตอบสนองเร็ว เนื่องจากเครื่องยนต์ไม่มีระบบอัดอากาศ เป็นขุมกำลังบิ๊กบล็อกที่หายใจเองโดยธรรมชาติ เครื่องยนต์บล็อกอะลูมิเนียม 4 วาล์วต่อสูบ 32 วาล์ว มาพร้อม Redline ที่ 7,300 รอบต่อนาที เป็นคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมสำหรับการสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ตัวรถมีน้ำหนักเบา เนื่องจากส่วนประกอบอะลูมิเนียมที่เบากว่า เสริมด้วยโครงค้ำยันเพิ่มเติม น้ำหนัก 2,035 กิโลกรัม ทำให้มีมวลจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนในทุกสถานการณ์การขับ โดยเฉพาะทางบนภูเขาที่วกไปวนมา แต่คุณแทบจะไม่รู้สึกอะไรเลยนอกจากความมั่นคงและความสะดวกสบายซึ่งเป็นสไตล์ที่ยากจะลอกเลียนแบบของ Lexus
V8 5.0 ลิตร ไม่มีระบบอัดอากาศนั้นเป็นอัญมณีหรือเพชรเม็ดงานในวงการรถสปอร์ตเครื่องโต เสียงท่อและเสียงเครื่องภายใต้อัตราเร่งในรอบสูง ทำให้แฟนรถมัสเซิลอเมริกันถึงกับตื่นตะลึง โหมด Sport หรือ Sport+ กลไกของวาล์วบายพาสในท่อไอเสียจะถูกเปิดออกจนสุด อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 4.7 วินาที ระบบเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีดนั้นไหลลื่นและออกแบบอัตราทดในแต่ละเกียร์เพื่อเน้นการทำความเร็ว เป็นชุดส่งกำลังที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดของ Lexus กระปุกเกียร์ของ LC นั้นตอบสนองอย่างยอดเยี่ยม ออกแบบมาเพื่อการขับขี่ที่มีทั้งนุ่มนวลบนถนนสาธารณะและดุดันเกรี้ยวกราดในสนามแข่ง ซอฟต์แวร์ในระบบจะคุมเกียร์ต่ำขณะเข้าโค้งจะรักษารอบให้สูงไว้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สนเรื่องของอัตราสิ้นเปลือง ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ลดเกียร์ทันที 2 ตำแหน่งเมื่อคนขับใช้เบรกหนักต่อเนื่อง โหมดแมนนวลที่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์นั้นทำงานได้ดี LC ยังเปิดโอกาสให้คนขับปรับแต่งความรู้สึกของพวงมาลัยได้ตามต้องการ ช่วงล่างรับมือกับความคดเคี้ยวของถนนในหุบเขาลึกโดยแทบไม่มีอาการโคลงตัวนั่นถือว่ายอดเยี่ยมเลยทีเดียว
5. Toyota Supra A80 MK4 1993
ในบรรดายักษ์ใหญ่ที่กำลังมองหาสปอร์ตมิวส์ในตำนาน อดไม่ได้ที่จะพูดถึง Toyota โดยเฉพาะ Toyota Supra MK4 ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Supra Mk4 เป็นหนึ่งในรถสปอร์ตญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการมากที่สุด ด้วยเครื่องยนต์ Toyota 3.0L 2JZ-GE ที่ให้กำลัง 220 แรงม้า มันกลายเป็นความฝันของนักเล่นรถเก่าหลายคน เมื่อปรากฏตัวในหนังก็ยิ่งทำให้มูลค่าของรถเพิ่มสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดูดอากาศเองตามธรรมชาติโดยปราศจากเทอร์โบซึ่งออกขายในญี่ปุ่น ส่วนเครื่องยนต์เทอร์โบคู่นั้นวางขายในสหรัฐอเมริกา มีกำลังสูงกว่าเกือบ 100 แรงม้า 2JZ-GTE ให้กำลังสูงสุด 321 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 427 นิวตันเมตร ที่น่าประทับใจยิ่งกว่านั้นก็คือประสิทธิภาพด้านความบันเทิง MK4 Supra สามารถเร่งความเร็วจาก 0 ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาเพียง 4.9 วินาที และวิ่งคอว์เตอร์ไมล์ใน 13.1 วินาที ที่ความเร็วสูงสุด 175.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากตัวเลขที่น่าประทับใจดังกล่าว รถยนต์ญี่ปุ่นที่สวยงามคันนี้ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในรถ Supra ที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา นั่นมันนานมาแล้วและตอนนี้ก็มี Supra ที่เร็วกว่า A80 อย่าง A90
The Fast and the Furious ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนมีส่วนในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับโพเดียมอันสูงส่งของ Toyota Supra A80 ในหอเกียรติยศด้านรถยนต์สมรรถนะสูง สำหรับใครก็ตามที่สนใจเรื่องรถยนต์ เจ้า Supra ได้ก้าวขึ้นเป็นดาราก่อนพอล วอล์คเกอร์ และวิน ดีเซล จะดังซะอีก A80 เปิดตัวในปี 1993 เป็นรถยนต์สมรรถนะสูงของญี่ปุ่น ด้วยเครื่องยนต์หกสูบเรียง 3.0 ลิตร เทอร์โบ ให้กำลัง 326 แรงม้า ถ่ายแรงบิดลงไปที่ล้อหลัง สามารถเร่งความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาเพียง 4.9 วินาที Supra 3.0 Turbo ประกบกับรถสปอร์ต Ferrari F355 และ Porsche 911 Turbo สำหรับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพโดยรวม นี่ไม่ใช่แค่รถสปอร์ต แต่เป็นซุปเปอร์คาร์รุ่นแรกๆ ของ Toyota เครื่องยนต์หกสูบ ‘JZ’ มีชื่อเสียงในด้านการใช้กำลังที่อลเวง มันน่าตลกจากการดัดแปลงปรับแต่งนับไม่ถ้วนของซัพพลายเออร์ที่ผลิตของแต่งออกขาย และคนที่ครอบครองเจ้า A80 มักจะทำเช่นนั้น ทำให้รถสภาพเดิมๆ หายากเต็มทน
Toyota Supra A80 MK4 เน้นไปที่การลดน้ำหนักและออกแบบความปลอดภัยของตัวรถโดยคำนึงถึงคนขับและผู้โดยสารเป็นหลัก Toyota เลือกใช้วัสดุน้ำหนักเบา เช่น ฝากระโปรงหน้าอะลูมิเนียมและถังเชื้อเพลิงพลาสติก เพื่อลดน้ำหนักทั้งคัน สำหรับคุณสมบัติด้านความปลอดภัย MK4 กลายเป็นรุ่น Supra รุ่นแรกที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านคนขับและผู้โดยสารอย่างครบครัน ส่วนคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ของ Supra MK4 ได้แก่ เบรกป้องกันล้อล็อกสี่ช่องสัญญาณแบบตรวจจับด้านข้าง ตำแหน่งท่านั่งที่ทำให้รู้สึกได้ถึงความเตี้ย กับแรงกระชากของเครื่อง 2-J ที่ทำให้มันกลายเป็นตำนานรถซิ่งยุค 90
6. Toyota 2000GT 1967
Toyota 2000GT เทียบเท่ากับ Aston Martin DB5 ในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตอน “You Only Live Twice” แม้จะปรากฏตัวเพียงแวบเดียวในหนัง และต้องมีการดัดแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะการหั่นหลังคาออก เพื่อให้ ฌอน คอนเนอรี ลงไปนั่งขับได้อย่างไม่อึดอัดมากนัก Toyota 2000GT ออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 1967 ถือเป็นรถสปอร์ตตัวจริงคันแรกที่พัฒนาโดยชาวเอเชีย และเป็นซุปเปอร์คลาสสิกคาร์ที่บรรดานักวิจารณ์ปากกล้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ปลายยุค 60 กล่าวยกย่อง รถรุ่นแรกปรากฏขึ้นในปี ค.ศ 1965 (พ.ศ.2508) อีก 57 ปีต่อมา 2000GT ยังคงเปล่งประกายความงามและความภาคภูมิใจในการครอบครอง มันเป็นรถที่เร็ว งดงาม และหายากมาก การออกแบบและปรับแต่งรถรุ่นนี้ ถือเป็นยุคใหม่ของ Toyota ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ที่มีการขับขี่ง่ายๆ ราคาถูกแข็งแรงทนทาน 2000GT ได้รับคำชื่นชมในด้านเทคนิคของระบบส่งกำลังและความสวยงามของการออกแบบ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบรถยนต์ในยุคนั้น ด้วยระบบกันสะเทือนแบบอิสระ 4 ล้อ ล้อแมกนีเซียมอัลลอยด์ขนาด 15 นิ้ว วิทยุค้นหาสัญญาณแบบใหม่ นาฬิกาจับเวลาสำหรับการแข่งขัน พร้อมด้วยรายละเอียดภายนอกและภายในที่ได้รับแรงบันดาลใจจากยานยนต์คลาสสิกในยุค 60 เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบเรียง ความจุ 2.0 ลิตร พร้อมคาร์บูเรเตอร์ Solex สามตัว ผลิตกำลังสูงสุด 152 แรงม้า กำลังเครื่องยนต์ถูกส่งไปยังล้อผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ช่วยให้รถมีความเร็วเกือบ 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในแง่มุมของประสบการณ์การขับขี่ 2000GT นั้นเทียบได้กับ Porsche 911 ของเยอรมันด้วยซ้ำ Toyota ไม่เคยอ้างว่านี่เป็นรถที่โดดเด่นที่สุดในบรรดารถยนต์ญี่ปุ่น แต่ในความจริง 2000GT เป็นความปรารถนาที่ไม่มีวันสิ้นสุดของผู้เล่นรถยนต์คลาสสิกทั่วโลก
2000 GT Coupe เปิดตัวครั้งแรกในฐานะรถต้นแบบที่มีรูปทรงน่าตื่นตะลึง ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 12 เมื่อปลายปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ.2508) เป็นรถที่ Toyota พัฒนาร่วมกับ Yamaha ลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่ร่ำรวย ต่างก็ส่งเสียงโห่ร้องด้วยความยินดีที่ Toyota ลงมือผลิตจริง แม้จะผลิตออกขายในจำนวนเพียงน้อยนิด ก็ยังดีกว่าเป็นได้แค่รถต้นแบบ เครื่องยนต์ 6 สูบ กำลัง 152 แรงม้า ของ 2000GT วิ่งจากโรงงานออกสู่ตลาดรถหรูในประเทศญี่ปุ่นด้วยรถยนต์รุ่นพิเศษของ Toyota ในฤดูใบไม้ผลิปี 1967 การประกอบแบบแฮนด์เมค เครื่องยนต์ถูกส่งตรงไปยัง Yamaha เพื่อปรับตั้งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และกำลังจากกระบอกสูบทั้งหกตัว แคมชาร์ปคู่ DOHC ซึ่งยกเครื่องยนต์รุ่นนี้มาจากเครื่องรุ่นท็อปของ Toyota Crown
เกียร์และส่วนประกอบระบบขับเคลื่อนอยู่เหนือความล้ำสมัยในยุค 60 แต่ในยุคนั้น Toyota มีแค่เกียร์เดียวที่สามารถรองรับแรงบิดได้ดีก็คือ FA 4 สปีด จากรถบรรทุกเล็กของ Toyota แต่เมื่อมาถึงสายการผลิต เกียร์ของ 2000GT กลับกลายเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีดที่ซิงโครไนซ์กำลังจากเครื่องยนต์ได้อย่างเต็มที่ มันเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับเครื่องยนต์ที่จูนโดย Yamaha ซึ่งลากได้ถึง 7,000 รอบต่อนาที เฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปที่ติดตั้งเข้ามา ถือเป็นรถยนต์คันแรกของญี่ปุ่นที่ติดตั้งเฟือง differential โดยมีอัตราส่วน 4.38:1 2000GT เป็นรถยนต์คันแรกของ Toyota ที่ใช้ดิสก์เบรกสี่ล้อ บริษัท Dunlop รับผิดชอบเรื่องการทำระบบเบรก
ตัวเลขสมรรถนะของ Toyota 2000 GT เร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 8.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพของ 2000GT อยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับรถสปอร์ตฝั่งยุโรป มันเป็นรถที่มีชีวิตชีวา ด้วยมาตรฐานร่วมสมัยของงานประกอบ แม้ว่าห้องโดยสารแบบสองที่นั่ง (ออกแบบมาสำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่มีรูปร่างเล็ก) จะมีขนาดกะทัดรัดเกินไปสำหรับหุ่นของเศรษฐีในอเมริกาและยุโรปที่หนักถึงร้อยกว่ากิโล และเพื่อถ่ายทำหนังเจมส์บอนด์ จึงมีการดัดแปลงเป็น 2000GT ให้กลายเป็นรถเปิดประทุนเพื่อใช้ประกอบฉากในภาพยนตร์ 007 ตอน You Only Live Twice ซึ่งถ่ายทำในญี่ปุ่น ปัจจุบัน Toyota 2000 GT เป็นรถญี่ปุ่นระดับสะสมขึ้นหิ้ง มันถูกสร้างขึ้นมาแค่เพียง 351 คันเท่านั้น และมีมูลค่าการขายเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐในการประมูล
2000GT สมกับชื่อ Grand Turismo เนื่องจากช่างฝีมือที่มีชื่อเสียงระดับโลกของ Yamaha ได้สร้างคุณภาพระดับมาสเตอร์พีซในส่วนของเครื่องยนต์ สำหรับช่างฝีมืออีกกลุ่มของ Toyota สร้างสรรค์แผงหน้าปัดและคอนโซลด้วยไม้โรสวูด รวมถึงการหุ้มรอบวงพวงมาลัยและหัวเกียร์ด้วยไม้มะฮอกกานีคุณภาพสูง งานตกแต่งภายในทั้งหมดถูกยกระดับด้วยโครเมียม ไม่เว้นแม้แต่กรอบมาตรวัดต่างๆ ทำให้ดูเหมือนนาฬิการาคาแพงที่ประดับประดาบนแผงหน้าปัด เบาะนั่งแบบสปอร์ตสไตล์ Tex-Mex แบบเจาะรูสีดำในยุคนั้น มันเทียบเท่ากับอุปกรณ์ในรถสปอร์ตรุ่นใหม่ของอิตาลีเลยทีเดียว
7. Nissan Skyline GT-R R34 1999
Nissan Skyline GT-R R34 ก็อตซิลล่าในตำนาน (ค.ศ. 1999-2002) เป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้คำว่า Skyline ก่อนที่ Nissan GT-R ในปัจจุบัน (R35 – รุ่นที่ 6) จะใช้แค่คำว่า GT-R การปรากฏในหนังรถซิ่งอย่าง Fast & Furious คู่กับดารานำที่กลายเป็นตำนานอย่าง Paul Walker ทำให้ Skyline GT-R R34 เป็นรถคูเป้สายแรงของญี่ปุ่นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น สำหรับโลกของการปรับแต่งรถและการแข่งรถบนถนนในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ทำให้มูลค่าของ R34 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันซื้อ-ขายกันในราคาสูงถึงกว่า 10 ล้านบาท
Skyline R34 ไม่ได้เป็นเพียงไอคอนของรถสปอร์ตจากแดนปลาดิบเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการของผู้ที่ชื่นชอบความเร็วทั่วโลกอีกด้วย ในสหรัฐอเมริกามีการนำเข้ารถ R34 มือสองจำนวนมาก ด้วยราคาที่ฟังแล้วสะดุ้ง รถรุ่นนี้เป็นตัวแทนของ GT-R ตัวสุดท้ายที่มีตราสัญลักษณ์ “Skyline” และเป็นโมเดลที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อตำนานของ GT-R เอกลักษณ์ของรถรุ่นนี้ก็คือ ทรงแบบคูเป้ที่ดูยาวแต่ลงตัว ไฟท้ายทรงโดนัทที่สวยงาม วิงหลังขนาดกะทัดรัด และท่อระบายท้ายที่พร้อมจะพ่นไฟอยู่ตลอดเวลา ภายในมีเบาะซิ่งนั่งกระชับตัว กลิ่นของรถในยุค 2000 มาพร้อมมาตรวัดพารามิเตอร์การขับ แสดงในแผงหน้าปัดหลังพวงมาลัยแบบสามก้าน มาตรวัดรอบต่อนาทีพร้อมเกจวัดแรงดันน้ำมันเครื่องอยู่ข้างมาตรวัดความเร็ว มาตรวัดขนาดเล็กแสดงอุณหภูมิของน้ำและเชื้อเพลิงในถัง
เครื่องยนต์หกสูบเรียง เทอร์โบคู่ RB26DETT ที่รองรับการรีแมปทุกอย่าง สามารถเอาไปทำต่อได้อีกเพียบ เนื่องจากชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องยนต์ที่ต้องรับภาระหนักๆถูกปรับแต่งให้รองรับการทำงานต่อเนื่องในรอบสูง Skyline GT-R R34 เป็นหนึ่งในรถยนต์ที่เป็นมิตรกับเครื่องรับสัญญาณมากที่สุดในปัจจุบัน เครื่องยนต์ของรถเดิมๆ จาก 276 แรงม้า สามารถปรับจูนไปจนถึง 400 แรงม้า ด้วยการรีแมปง่ายๆ และวันนี้ มี R34 GT-R บางคันตามท้องถนนมีม้า 800 ตัวหรือแม้แต่ 1,000 ตัวอยู่ใต้กระโปรงหน้ารถ นั่นหมายถึงพลังงานในรูปของแรงบิดที่มากเกินพอสำหรับซิ่ง Skyline GT-R ใช้เครื่องยนต์หกสูบเรียง วางตามยาวขับเคลื่อนสี่ล้อ ความจุ 2.6 ลิตร กำลัง 276 แรงม้า แรงบิด 400 นิวตันเมตร เกียร์ธรรมดา 6 สปีด และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ช่วยให้รถเร่งความเร็วจาก 0 ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 5.2 วินาที ก่อนจะทะยานถึงความเร็วสูงสุดที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่อง RB26 มีศักยภาพที่เหลือเชื่อ โครงสร้างของ Skyline GT-R R34 ถูกปรับปรุงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อรองรับแรงบิด ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อที่ล้ำสมัย ล้อขนาด 18 นิ้วที่หล่อเหลา
เครื่องยนต์ RB26 ความจุ 2.6 ลิตร วิศวกรญี่ปุ่นได้เพิ่มเทอร์โบชาร์จเจอร์แกนเซรามิก 2 ตัว เพื่อบูสพลังให้กับปีศาจความเร็วรุ่นนี้ ส่งผลให้รถมีกำลัง 276 แรงม้า แน่นอนว่ามันโดนล็อกเอาไว้ไม่ได้แรงกระฉูดมากจนเกินไป ตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 330 แรงม้า เนื่องจากกำลังแรงม้า ถูกจำกัดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างง่ายในการปลดมันออกด้วยการรีแมปแค่ไม่กี่นาที เทอร์โบชาร์จเจอร์เซรามิกที่ทำงานตามลำดับขั้น ส่งกำลังไปยังล้อทั้งสี่ผ่านระบบ ATTESA ET-S (Advanced Total Traction Engineering System for All-Terrain with Electronic Torque Split) เกียร์ธรรมดา 6 สปีด เบาะนั่ง Recaro เบรก Brembo ระบบ AWD นั้นเมื่อศึกษาวิธีการทำงานจะพบว่า ในการขับปกติทั่วไปไม่ได้ซิ่งในโค้ง ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อจะทำงานกระจายแรงบิดไปยังทุกล้อ ผ่าน transfer case ที่อยู่ด้านหลังของชุดเกียร์ แต่กำลังจะถ่ายลงล้อหลังบางจังหวะ ในสถานการณ์ที่รุนแรงเช่นการขับแบบดริฟต์ อันที่จริงแล้ว ATTESA ET-S นั้นขับเคลื่อนแบบ RWD โดยทำงานทันทีเมื่อขับในสถานการณ์ที่รุนแรง
8. Mazda RX-7 FD 1992
Mazda RX-7 เจเนอเรชันที่สาม มาจากยุคที่ Mazda ต้องต่อสู้กับรถเจ๋งๆ อย่าง Toyota Supra A80, Nissan 300ZX Z32, Mitsubishi 3000GT Z16A และ Honda NSX NA1 จากสถานะเครื่องยนต์วางกลางและทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Ayrton Senna ซึ่งกลายเป็นตำนานในปัจจุบัน RX-7 FD3 มีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า ไฟหน้าแบบ pop-up (Mitsubishi 3000GT และ Honda NSX ใช้ไฟหน้าแบบนี้เหมือนกัน) เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ไม่มีลูกสูบ ใช้โรเตอร์ ‘สามเหลี่ยม’ หมุนในรอบสูงปรี๊ด เพื่อส่งกำลัง เครื่องยนต์โรตารี่ที่ไม่ธรรมดานี้ ทำงานด้วยความนุ่มนวลอย่างไม่น่าเชื่อ มีแรงสั่นสะเทือนน้อย การส่งแรงบิดที่สม่ำเสมอตลอดช่วงรอบเครื่อง และความสามารถในการอัปเกรดหรือปรับจูนเพื่อเพิ่มแรงม้า เครื่องยนต์โรตารี่ของ FD3 มีขนาดกะทัดรัด เล็กกว่าเครื่องยนต์สูบเรียงหรือเครื่องยนต์สูบวี และเบากว่าเครื่องยนต์ทั่วไป แต่เครื่องยนต์โรตารี่ยังเป็นที่รู้จักในเรื่องความไม่เสถียรและการใช้เชื้อเพลิงมากเกินไป
เครื่องยนต์โรตารี่ของ RX-7 FD3 มีการปรับปรุงด้านระบบไอดี ท่อระบายไอเสีย การระบายความร้อน ระบบหล่อลื่น ระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์ความจุ 654cc x 2 มาพร้อมเทอร์โบชาร์จเจอร์คู่ ลดอุณหภูมิไอดีด้วยอินเตอร์คูลเลอร์ เทอร์โบสองตำแหน่ง ทำงานเรียงตามลำดับตัวแรกของโลก ตัวแรกจะเริ่มบูสในช่วง 1,800 รอบต่อนาที ไปจนถึง 4,000 รอบต่อนาที จากนั้น เทอร์โบตัวที่สองจะเข้ามารับหน้าที่ต่อจาก 4,200 รอบต่อนาทีไปจนถึง 7,000 รอบต่อนาที ซึ่งช่วยลดอาการกระตุกของเทอร์โบได้อย่างมาก FD3 มีแรงบิดสูงที่ความเร็วต่ำและปานกลาง กำลังสูงสุด 240 แรงม้า (176kW) ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 294 นิวตันเมตร ที่ 5,000 รอบต่อนาที เทอร์โบหลักหมุนขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อลดความล่าช้าและทำงานในช่วงกลาง เมื่อเทอร์โบตัวที่สองเข้ามาแทนที่ เร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาน้อยกว่าเจ็ดวินาที ทำเวลาคอร์เตอร์ไมล์ 0-400 เมตร ในเวลาน้อยกว่า 15 วินาที
เมื่อคุณได้สัมผัสกับเครื่องยนต์โรตารี่ของ Mazda ที่หมุนไปจนถึง Red Line ในแบบที่ลื่นไหล น่าขนลุก และเหนือธรรมชาติ คุณจะเพลิดเพลินไปกับมัน โรเตอร์คู่ในเครื่อง 13B คือความรุ่งโรจน์ในยุคของจักรกลยานยนต์สันดาปภายในอย่างแท้จริง มันยังฟังดูยอดเยี่ยม แม้ว่าจะไม่เหมือนเครื่องยนต์สันดาปภายในตัวอื่นที่คุณคุ้นเคย การเปลี่ยนเกียร์ธรรมดาห้าสปีดแสดงให้เห็นว่า Mazda มีพรสวรรค์อย่างเหนือชั้นในการออกแบบและปรับอัตราทดของระบบส่งกำลัง เพื่อส่งประสิทธิภาพสูงสุดของรถยนต์มาโดยตลอด เมื่อยัดเกียร์ธรรมดา ขึ้น-ลง ในระบบเกียร์ที่ต้องการความแม่นยำเป็นพิเศษ เกียร์ของ FD3 ให้สัมผัสดีกว่าชุดเกียร์หลายรุ่นในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา เหมาะสมกับการตอบสนองของเครื่องยนต์ 13B รวมถึงการจัดวางแป้นเหยียบในตำแหน่งที่สมบูรณ์แบบ เครื่องยนต์มีคาแรกเตอร์ที่มีลักษณะเฉพาะ คลัตช์มีน้ำหนักเบา คันเกียร์ที่แข็งกระด้างบวกระยะยัดเกียร์ที่สั้นกระชับ บ่งบอกถึงการเปลี่ยนเกียร์ระยะสั้นที่รวดเร็วและแม่นยำ
ในแง่มุมทางวิศวกรรม RX-7 เป็นเพชรเม็ดงามในยุค 90 อย่างแท้จริง เบรกซึ่งมักจะเป็นจุดอ่อนที่เห็นได้ชัดเจนใน RX-7 รุ่นเก่านั้นพัฒนาให้ก้าวหน้าและสื่อสารได้ดีขึ้น ในขณะที่การบังคับเลี้ยวมีน้ำหนักพอเหมาะและแม่นยำ FD3 เป็นรถที่จูนช่วงล่างมาดี มีรูปทรงที่สวยงาม เหมาะสำหรับการปรับแต่ง ส่วนความสบายในการขับนั้นถือว่าทำได้ดี เมื่อกดคนเร่ง FD3 ก็ยังพุ่งทะยานลิ่วๆ ไปข้างหน้าอย่างไม่ลดละ เกาะโค้งได้ดี โดยมีอาการโอเวอร์สเตียร์บางๆ ตามประสาของรถขับหลังคันเล็กน้ำหนักเบาพลังสูง ชุดกันสะเทือนถูกปรับตั้งให้หน้ายางสัมผัสกับพื้นถนนตลอดเวลา ช่วยเพิ่มการยึดเกาะและทำให้พวกนักขับสุดยอดฝีมือดริฟต์ได้อย่างสวยงาม! ความยาว 4,295 มิลลิเมตร กว้าง 1,760 มิลลิเมตร และเตี้ยเหมือนรถแข่งโดยมีความสูงแค่ 1,230 มิลลิเมตร นี่คือรถคูเป้ขนาดกะทัดรัดที่มีด้านข้างตัวถังทรงขวดโค้กและบั้นท้ายแบนคอดอย่างลงตัว
9.Datsun 510 Bluebird 1968
Datsun 510 เป็นอีก Series ของ Datsun Bluebird ออกขายมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) จนถึงปี ค.ศ. 1973 เป็นรถส่งออกไปขายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในชื่อ Datsun 1600 นี่คือเก๋งขนาดเล็กที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับตำนานด้าน Motor Sport ของ Datsun และ Nissan ด้วยกำลัง 96 แรงม้า จากเครื่องยนต์แถวเรียงสี่สูบ ซึ่งออกแบบให้ดัดแปลงได้ง่ายเพื่อเพิ่มพลัง 510ทั้งแบบซีดานสี่ประตูและคูเป้สองประตู นับเป็นรถสปอร์ตที่มีการจัดการดีเป็นพิเศษ โดยมีระบบกันสะเทือนหลังแบบอิสระที่ซับซ้อน ช่วยทำให้รถรุ่นนี้สามารถเข้าโค้งได้อย่างยอดเยี่ยม 510 ถูกขับโดยเจ้าของกิจการส่วนตัวและทีมแข่งรถที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโรงงานมาหลายปีจนประสบความสำเร็จ แม้ว่า Datsun 610 จะประสบความสำเร็จในปี 1973 แต่ชื่อ Datsun 510 ก็กลับมาปรากฏอีกครั้งในฐานะหนึ่งของรถยนต์ตระกูล Nissan Violet ในปี 1977
Datsun พยายามทำตามผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันอย่าง BMW ซึ่งในห้วงเวลานั้นแบรนด์ตราใบพัดยังคงล้มลุกคลุกคลาน และอยู่ในตำแหน่งที่คล้ายกับแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Datsun เป็นการต่อสู้ทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ของพวก BMW ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเยอรมันพยายามปรับเปลี่ยนจากการผลิตรถแมสราคาถูกอย่าง Isetta ไปสู่รถยนต์ที่มีอนาคตดีกว่า การสร้างโมเดลรถยนต์ “New Class” (Neue Klasse) ด้วยรถ BMW 1600 ตามด้วยการยอมรับของสาธารณชนที่ทำให้ BMW ประสบความสำเร็จในการรีแบรนด์ บทเรียนสำคัญที่คนของ Datsun ได้เรียนรู้ก็คือ ผู้ซื้อรถยนต์ในยุโรปและอเมริกา ตอบสนองต่อรถที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อมอบความเป็นเลิศในการจัดการตลอดจนความประหยัดและความน่าเชื่อถือ ในขณะที่แนวความคิดแบบอนุรักษนิยมของแบรนด์ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังมุ่งไปสู่การสร้างรถยนต์ที่เรียบง่าย ราคาถูก และเชื่อถือได้ ทำให้การเดินทางขั้นพื้นฐานราคาไม่แพง Datsun รวบรวมข้อมูลและวางแผนงานผลิตรถยนต์ที่จะเป็นรถขาย และมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับ Ford Cortina มันจะต้องเป็นรถที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้มากกว่าเดิม BMW Neue Klasse 1600 คือรถที่ทำสำเร็จมาก่อน มันมีกลไกที่เรียบง่ายและทนทาน ว่องไว และให้ความสนุกในการขับขี่
BMW Neue Klasse นั้นโดดเด่นด้วยระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระแมคเฟอร์สัน สตรัท ด้านหลังใช้คอยล์สปริงแบบเทอร์ลิ่งอาร์มอิสระ ช่วงล่างแบบนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ทีมออกแบบของ Datsun ได้นำระบบรองรับแบบเดียวกันนี้มาใช้กับรถซีดาน 510 รุ่นใหม่ ใช้เพลากลางแบบธรรมดา สำหรับระบบรองรับแหนบด้านหลัง เป็นระบบกันสะเทือนหลังที่รองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากกว่า มีความคงทนสูงกว่า แต่ทรงตัวได้ไม่ดีเท่าแบบแรก เพื่อประจำการในรถยนต์ที่ส่งออกขายในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ใน 510 ตัวถังซีดานสี่ประตูและสเตชั่นแวกอนห้าประตู เนื่องจากลักษณะของตลาดและสภาพภูมิประเทศรวมถึงถนนหนทางในยุคนั้นที่ยังคงย่ำแย่อยู่มาก
รูปลักษณ์ที่คล้ายกับรถสปอร์ตต้นตระกูลของ Nissan GT-R (C10) คือรถที่มีชื่อว่า “BMW เพื่อคนจน” Datsun 510 Bluebird ใช้ไฟหน้าทรงกลม ตัวถังสื่อให้เห็นถึงเทคนิคของการออกแบบในยุคที่คาร์บูเรเตอร์ยังคงยิ่งใหญ่ โดยภาพรวม มันเป็นรถที่โฉบเฉี่ยวใช้ได้ หลายคนยังคงปักใจเชื่อว่าแรงบันดาลใจในการออกแบบของรถคันนี้ก็คือ BMW 2002 tii รุ่นดั้งเดิมที่อยู่ในใจผู้ที่ชื่นชอบความเร็วในยุค 70 ด้วยความงามที่เรียบง่ายแต่ซับซ้อน 510 ได้รับความนิยมจากไดนามิกที่สมดุลของมัน เครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียง 1.6 ลิตร ให้กำลัง 96 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมอีกอย่างของ Datsun 510 Bluebird คือตัวเลขการกระจายน้ำหนักที่สมดุล 50-50 ซึ่งซีดานสมัยใหม่จำนวนมากในปัจจุบันโดยเฉพาะพวกรถขับหน้าก็ยังไม่สามารถทำตัวเลขที่สมมาตรแบบนั้นได้ กว่าห้าสิบปีที่ผ่านมา รถญี่ปุ่นที่น่ารักรุ่นนี้ ได้กลายเป็นไอคอนของนักเลงรถเก่า ด้วยรูปลักษณ์แบบกล่องสี่เหลี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์ 510 Bluebird นำความสำเร็จมาสู่แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นด้วยประสิทธิภาพที่ดีพอและราคาที่คนทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
10. Lexus LFA 2009
LFA ผลงานชิ้นเอกของ Lexus เปิดตัวต้นแบบครั้งแรกในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ในงาน Detroit Auto Show เมื่อเวลาผ่านไป โปรเจกต์ LFA มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างเพื่อเข้าสู่สายการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ 2009 (พ.ศ. 2552)
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว Lexus ประกาศความเป็นตัวตนของแบรนด์หรูจากญี่ปุ่น และท้าทายรถซุปเปอร์คาร์จากฝั่งยุโรปด้วยความสดใหม่ผนวกเทคนิคล้ำยุคจากทีมแข่ง F1 ของ Toyota กับราคาที่แพงมหาศาล ทะลุเพดานรถยนต์จากแดนปลาดิบทุกคันที่ว่าแพงแสนแพง โครงการออกแบบและผลิตรถสปอร์ตสมรรถนะสูงของค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota เริ่มขึ้นในปี 2005 หลังจากนั้นก็เริ่มปรากฏโฉมของ Concept Sport Car ในปี 2007 เพื่อแสดงให้เห็นว่า Toyota ตั้งใจที่จะผลิตมันออกขายอย่างจริงจัง ตามมาด้วยรถ Concept Roadster ที่นำออกโชว์ในงาน Tokyo Motor Show ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ท่านประธานบริษัทหัวใจสปอร์ตอย่าง Akio Toyoda ซึ่งก้าวเข้ามารับบทบาท CEO ของ Toyota เป็นบุคคลที่มีส่วนในการทำให้โครงการผลิตรถซุปเปอร์คาร์คันแรกของ Toyota เป็นจริงขึ้นมา Akio มีลักษณะคล้ายกับ Enzo Ferrari และ Ferdinand Piech คือหลงใหลในกีฬา Motorsport และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการส่งทีมแข่งของ Lexus โดยใช้รถต้นแบบ LFA ลงทำการแข่งขันในรายการ Nurburgring การบริหารทีมแข่ง F1 ของ Toyota และอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการแข่งรถทั่วโลกของบริษัท Toyota ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ถึงแม้ทีม Toyota จะถอนตัวจากการแข่งขัน F1 ในปี 2009 ไปแล้วก็ตาม แต่การผลิตซุปเปอร์คาร์ให้ดีที่สุดทั้งๆ ที่ Toyota ไม่เคยผลิตรถสปอร์ตประสิทธิภาพสูงมาก่อน นับว่าเป็นภารกิจที่ประธานบริหาร และทีมงาน Lexus ต้องเตรียมการและใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจจนเกิดผลสำเร็จ LFA ถูกส่งออกขายทั่วโลกในจำนวนการผลิตเพียง 500 คัน ด้วยงบลงทุนในโครงการมหาศาล จนอาจยากที่จะมีรถโมเดลใดในค่ายของ Toyota ที่ใช้เงินลงทุนสูงจนเป็นประวัติการณ์เท่ากับโครงการสร้างรถ Lexus LFA เพื่อเข้ามาเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ Lexus ให้มีความมั่นคง
หลังจากเดินหน้าโครงการจนสายการผลิตจำนวน 500 คันของ Lexus LFA ครบจำนวนที่ผู้บริหารได้กำหนดไว้แล้ว ที่โรงงาน Miyoshi ของ Toyota – Lexus ในญี่ปุ่น มาตรฐานการผลิตซุปเปอร์คาร์คันแรกของค่ายหัวลูกศรเต็มไปด้วยความละเอียด ประณีต จากอะลูมิเนียมเหลวในขั้นตอนการหล่อบล็อกเครื่องยนต์แบบ V10 ส่วนที่เป็นแม่พิมพ์แบบสามมิติทรายถูกทาเอาไว้ด้วยเรซิน บล็อกเครื่องยนต์ทำจากทราย 37 ส่วน ใช้เวลาและขั้นตอนต่างๆ สำหรับการขึ้นรูปนานประมาณ 1 อาทิตย์ เมื่อบล็อกเครื่องยนต์ทั้งหมดถูกประกอบเข้าด้วยกัน แม่พิมพ์หล่อบล็อกเครื่องยนต์จะถูกเทลงไปด้วยอัลลอยหลอมเหลวอุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส สิ่งปนเปื้อนต่างๆ จะถูกตักออกมาในขั้นตอนของการหล่อบล็อกเครื่องยนต์ โลหะอัลลอยหลอมเหลวจะไหลลงไปตามแม่พิมพ์ ขณะเดียวกัน ตัวดูดสุญญากาศจะทำการดูดสิ่งที่ปนเปื้อนออกมาทั้งหมด สองชั่วโมงหลังจากอัลลอยเหลวเย็นตัวลง แม่พิมพ์ที่เป็นทรายจะถูกแกะออกมาและเผยให้เห็นบล็อกเครื่องยนต์ที่อยู่ด้านใน หลังจากนั้นบล็อกเครื่องยนต์ดังกล่าวจะถูกส่งไปที่แผนกผลิตเครื่องยนต์ของรถสูตรหนึ่งของ Toyota ซึ่งเป็นแผนกที่มีความลับระดับสูงสุดของบริษัท
พื้นที่ในโรงงานที่เป็นส่วนประกอบเครื่องยนต์ของ LFA เป็นเขตหวงห้ามที่ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมแต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษมาแล้วที่ Toyota พยายามทุ่มเทให้กับการแข่งรถสูตรหนึ่ง แต่เมื่อไปประสบความสำเร็จเท่าที่ควร Toyota Motorsport GmbH หรือ TMG จึงถอนตัวออกมาในปี 2009 จนโรงงานไฮเทคแห่งนี้ไม่มีงานทำ สำหรับทีมช่างของ LFA แล้ว เป็นโอกาสอันดีที่วิศวกรและช่างเครื่องยนต์ของ Toyota-Lexus จะได้กลับมาสำแดงฝีมือในการผลิตเครื่องยนต์กำลังสูงอีกครั้ง โรงงานผลิตเครื่องยนต์รถสูตรหนึ่งของ Toyota จึงมีความเหมาะสมในการประกอบเครื่องยนต์ V10 ของ Lexus LFA บล็อกเครื่องยนต์ที่เพิ่งจะผ่านกระบวนการผลิตด้วยการหล่อจะถูกขัดแล้วเจาะรูตามแบบ ด้วยเครื่องขัดเจาะซึ่งผ่านการคำนวณอันแม่นยำของคอมพิวเตอร์ ก่อนจะเสร็จออกมาเป็นบล็อกเครื่องที่ถูกต้องตามแบบ หลังจากนั้นหุ่นยนต์จะส่งบล็อกเครื่องให้กับมนุษย์ ในห้องที่ถูกปิดผลึกไว้เป็นอย่างดี ช่างเครื่องจะใช้เครื่องมือลบส่วนที่มีความแหลมคมที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการหล่อออกไปจนหมด เป็นการใช้เครื่องมือขัดที่มีความแม่นยำสูง หลังจากนั้นมันจะถูกประกอบขึ้นเป็นบล็อกเครื่องยนต์เพื่อตรวจดูว่าชิ้นส่วนและรูที่ทำการเจาะทั้งหมดเข้ากันได้ตามแบบหรือไม่ บล็อกเครื่องและส่วนที่เป็นนอตยึดจะถูกประกบเข้ากันเป็นครั้งแรก เมื่อถูกถอดอีกครั้ง เครื่องยนต์จะถูกนำไปยังโรงงาน Iwata City ของ Yamaha ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ห่างออกไป 90 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโรงงาน Toyota
ห้องผลิตเครื่องยนต์ใน Iwata City ของ Yamaha มีความเข้มงวดสูงมากสำหรับขั้นตอนในการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ห้องเหล่านี้มีการป้องกันฝุ่นละอองอย่างสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ หลุดรอดเข้าไปในห้องอย่างเด็ดขาด ห้องประกอบเครื่องยนต์ของ LFA ยังถูกควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรับประกันการขยายตัวของโลหะจากความร้อนให้มีค่าตามที่กำหนด ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ 2,200 ชิ้น ถูกแบ่งออกเป็น 61 ชุดเพื่อประกอบตามหมายเลข วิศวกรที่มีทักษะสูง 4 คน แต่ละคนรับผิดชอบเครื่องยนต์ 1 ตัวที่จะประกอบชิ้นส่วนตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนแล้วเสร็จ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดช่างเครื่องเหล่านี้ต้องทำตามคำสั่งบนหน้าจอ ควบคุมอย่างเคร่งครัด เครื่องยนต์ของ LFA แต่ละตัวจะใช้เวลาประกอบนานประมาณ 3 วัน เครื่องยนต์ที่ถูกประกอบด้วยมือจึงเป็นผลงานชิ้นเอกของช่างเครื่องแต่ละคนที่ลงมือประกอบ ก่อนที่จะถูกวางลงในห้องเครื่องของ LFA เครื่องยนต์จะถูกทดสอบอย่างหนักในห้องทดสอบที่อยู่ใกล้ๆ กับห้องประกอบ เครื่องยนต์ในโรงงาน Yamaha Iwata City เครื่องยนต์ขนาด 4.8 ลิตร V10 สูบตัวนี้ มีการออกแบบให้ตอบสนองต่อการเร่งความเร็วในทุกระดับ ใช้เวลาเพียงครึ่งวินาทีในการพุ่งทะยานไปถึง 9,000 รอบต่อนาที หมายรวมถึงการเร่งความเร็วแบบกะทันหันไม่ว่าผู้ขับจะอยู่ในเกียร์อะไรก็ตาม
เครื่องยนต์ V10 ของ LFA มีการตอบสนองที่ยอดเยี่ยมตามแบบอย่างของขุมกำลังซุปเปอร์คาร์เทคนิคของรถแข่ง F1 ทำให้เครื่อง V10 มีความเร็วรอบมากกว่าเครื่องยนต์ทั่วไป ระยะเวลาในการตอบสนองที่รวดเร็วและมีการทำงานที่แม่นยำ จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรวัดแบบดิจิตอลในการวัดรอบเครื่องยนต์ที่กวาดไปมา อย่างรวดเร็วตามระดับของการกดคันเร่ง หากใช้มาตรวัดแบบเข็มซึ่งเป็นมาตรวัดแบบเก่า รอบเครื่องยนต์ที่ขึ้นเร็วมากของ LFA ไม่สามารถใช้ระบบการวัดรอบเครื่องยนต์แบบเก่าได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรวัดแบบดิจิทัล TFT LCD ส่วนเสียงความถี่สูงอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องแบบ V10 หายใจเองโดยไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศ ถูกปรับแต่งในแผนกพิเศษของ Yamaha เพื่อที่จะสร้างเสียงของเครื่องยนต์อันเป็นเอกลักษณ์นี้ ค่าย Lexus ต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของช่างปรับแต่งเสียงจาก Yamaha บริษัทแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญระดับแนวหน้าในการผลิตฝาสูบ รถจักรยานยนต์พลังสูง เครื่องยนต์ของรถแข่งและเครื่องดนตรี สำหรับการปรับแต่งเสียงแล้ว บริษัท Yamaha คือผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริง ความสำคัญระหว่างรถซุปเปอร์คาร์และคนขับเหมือนกับความสัมพันธ์ของนักดนตรี และเครื่องดนตรีที่ใช้เล่น เมื่อนักดนตรีเล่นเพลงออกไป พวกเค้าจะฟังเสียงของเครื่องดนตรีที่ใช้เล่น และใช้เสียงนั้นพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญก็คือเสียงเครื่องยนต์ของ LFA มีความแตกต่างกันถึงสองรูปแบบ คือ ท่อไอเสียที่จะทำให้คนทั่วไปรู้ว่ากำลังได้ยินอะไร และเสียงจากท่อไอดีที่คนขับจะได้ยินไปตลอดการขับขี่ LFA และเพื่อที่จะให้เสียงทั้งหมดออกมามีความสมบูรณ์แบบอย่างสูงสุด ผู้จัดการทั่วไปของแผนกปรับแต่งเสียงเครื่องยนต์ Maruyama Haji ของ Yamaha Motor ต้องปรับแบบส่วนประกอบของท่อไอดีที่อยู่ด้านบนของเครื่องยนต์ V10 ที่ถูกเรียกว่า Surge Tank Yamaha Sound Engine หลักการทำงานของ Surge Tank คือการส่งอากาศให้มีปริมาณเท่าๆ กันไปยังสูบทั้งสิบของเครื่องยนต์ V10 ใน LFA เสียงทั้งหมดนี้จะเข้าไปลดเสียงของชุดดูดอากาศเข้าท่อร่วมไอดี วิศวกรเสียงของ Yamaha พยายามคิดค้นรูปแบบของเสียงที่มีความแตกต่างกันออกไป อุปกรณ์ Surge Tank เข้ามาช่วยในการขยายเสียงเพื่อที่จะส่งต่อเสียงที่ถูกปรับแต่งแล้วมายังคนขับโดยตรง
Maruyama Haji ปรับแต่งช่อง Surge Tank ด้วยการปรับพื้นผิวด้านบนทั้งหมด โดยเพิ่มความสั่นสะเทือนที่อยู่ด้านบนของ Surge Tank การทำแบบนี้คล้ายกับการผลิตเครื่องดนตรีที่มีเอกลักษณ์ทางเสียงที่ไม่เหมือนใคร ทีมวิศวกรของ Yamaha ได้ส่งเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนกลับไปยังห้องโดยสารด้วยการใช้ช่องเสียงสองช่อง คลื่นเสียงความถี่ต่ำจะถูกส่งไปยังบริเวณส่วนเท้าของคนขับใกล้กับคันเร่ง ส่วนคลื่นเสียงความถี่สูงจะถูกส่งตรงไปยังหูของคนขับตามลักษณะของการออกแบบ ช่องเสียงใน LFA ผู้ขับขี่จึงกำลังฟังเสียงแบบ Surround Sound ไปตลอดเวลาที่กำลังขับขี่ เครื่องยนต์ที่ปรับแต่งแล้วเสร็จจะถูกยกขึ้นไปวางลงในห้องเครื่อง เพื่อที่จะส่งต่อไปยัง LFA Work ที่นี่ เมื่อชิ้นส่วนของระบบขับเคลื่อนทั้งหมดถูกประกอบเสร็จสิ้นแล้ว มันจะถูกประกอบเข้ากับตัวถังโดยใช้สายตาของมนุษย์ในขั้นตอนของการยึดขันนอต เมื่อขุมกำลังทั้งหมดเข้าที่ ของเหลวที่ใช้ในการหล่อลื่นเครื่องยนต์เช่น น้ำมันเครื่องและน้ำมันไฮดรอลิกต่างๆ จะถูกท่อปั๊มเข้าไปยังระบบ ปั๊มอัตโนมัติจะฉีดจ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก น้ำหล่อเย็นลงไปในเครื่องยนต์ เมื่อทุกอย่างถูกเติมลงไปในปริมาณที่ถูกต้องแล้ว แผ่นไฟเบอร์กลาสที่ถูกผลิตจากภายในสำหรับใช้ประกอบเป็นตัวถังด้านข้างและบานประตู (สาเหตุที่ต้องใช้ไฟเบอร์กลาสเนื่องจากคาร์บอนไฟเบอร์ไม่สามารถทำสีแบบ 4 ชั้นได้ตามมาตรฐานของ Lexus) วัสดุชนิดนี้ แม้จะมีราคาต่ำกว่าคาร์บอนคอมโพสิตแต่มันมีความแข็งแรงและมีน้ำหนักที่เบามาก หากรถประสบอุบัติเหตุการซ่อมบำรุงจะมีราคาที่ต่ำกว่าชิ้นงานคาร์บอนไฟเบอร์มาก
โรงพ่นสี LFA ตั้งอยู่ที่เดียวกันกับโรงงานประกอบของ Lexus ห้องพ่นสีของ LFA Work มีขั้นตอนส่วนใหญ่ผ่านการทำงานอันละเอียดซับซ้อนของหุ่นยนต์พ่นสี วิศวกรของ Lexus เชื่อว่าการใช้หุ่นยนต์พ่นสีจะมีความสม่ำเสมอมากกว่ามือมนุษย์ แต่มนุษย์ก็ยังคงทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์พ่นสีในการควบคุมดูแลฝุ่นละอองที่เป็นศัตรูอันร้ายกาจของห้องพ่นสีจะถูกกำจัดออกไปทั้งหมดจากห้องที่ปิดผลึกอย่างดี หากฝุ่นติดลงไปในพื้นผิวขณะทำการพ่น เมื่อถูกความร้อนในขั้นตอนของการอบ สีจะบวมพองขึ้นมาทันที บรรยากาศภายในโรงพ่นสีของ LFA Work จึงต้องสะอาดอยู่เสมอ พนักงานทุกคนจะถูกทำความสะอาดชุดก่อนเข้าไปทำงาน สีจำนวน 5 ชั้นจะถูกพ่นลงไปบนตัวถังของ LFA และจุดใดที่หัวพ่นของหุ่นยนต์เข้าไปไม่ถึง มนุษย์จะเข้าไปทำงานแทนเพื่อเก็บรายละเอียดทั้งหมดของการพ่นสีให้มีความสมบูรณ์สูงสุด เมื่อขั้นตอนการพ่นสี 4 ชั้นแล้วเสร็จ รถ LFA จะถูกนำเข้าไปยังเตาอบ แล้วอบสีด้วยอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นตัวถังจะถูกยกไปที่แผนกตรวจสอบคุณภาพสี หัวฉีดน้ำจะพ่นละอองน้ำไปในอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองตกลงไปยังเนื้อสี ผู้ตรวจสอบใช้แสงแบบพิเศษเพื่อตรวจหาริ้วรอยต่างๆ หากพบก็จะทำการขัดให้เรียบร้อยอีกครั้ง รถ LFA ที่พ่นสีเสร็จเรียบร้อยจะถูกลากออกไปจากโรงพ่น ไปยังโรงประกอบชิ้นงานส่วนที่ 3 เพื่อติดตั้งชิ้นส่วนที่เป็นคาร์บอนคอมโพสิตซึ่งเป็นโซนสุดท้าย ภายในของห้องโดยสารพวกคอนโซล เบาะและพรมจะถูกติดตั้งที่นี่ทั้งหมด รวมถึงล้ออัลลอยและยาง Bridgestone RE070 ล้อหน้าขนาด 265/35/ZR 20 95Y และล้อหลังขนาด 305/30/ZR 20 99Y เป็นยางชนิดพิเศษที่ Bridgestone ออกแบบให้กับ Lexus LFA
ปี 2011 รถ LFA รุ่นพิเศษถูกเปิดตัวภายใต้ชื่อ Nurburgring Edition เพื่อเป็นเกียรติแก่สนามแห่งนี้ สนามแข่ง Nurburgring ในเยอรมนีคือจุดกำเนิดของรถสปอร์ตสมรรถนะสูง LFA Nurburgring เครื่องยนต์ V10 ที่ถูกปรับแต่งให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น แรงม้าเพิ่มเป็น 571 แรงม้า พลังที่เพิ่มขึ้นนี้ต้องอาศัยแรงกดตัวถังหรือ downforce มากยิ่งขึ้นเพื่อให้รถยึดเกาะกับผิวถนนได้ดีขึ้นกว่ารุ่นปกติ สปอยเลอร์หลังหรือวิงหลังขนาดใหญ่จึงถูกนำมาติดตั้ง ปีกที่ด้านหน้ากันชนซ้ายและขวาเข้ามาช่วยเพิ่มแรงกดให้มากขึ้นโช้คอัพที่เตี้ยลงอีก 10 มิลลิเมตร (จากสปริงแบบพิเศษ) และมีค่าที่แข็งกว่าสปริงของ LFA รุ่นมาตรฐาน ช่วยทำให้ LFA Nurburgring มีความเหมาะสมกับการขับในสนามแข่งความเร็วสูง เมื่อรถรุ่นพิเศษคันนี้มีแรงบิดเพิ่มขึ้น ระบบส่งกำลังซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัติควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าจึงถูกปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นตามไปด้วย การปรับแต่งเพื่อลดระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายอัตราทดขึ้น-ลงให้เหลือน้อยที่สุด ชุดเกียร์ของ LFA Nurburgring มีการทำงานที่ว่องไวมาก การปรับเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ ขึ้น-ลงได้ในเวลาเพียง 0.2 วินาที (ในรุ่น Nurburgring เกียร์จะเปลี่ยนไวขึ้นอีก 0.15 วินาที) การผลิตรุ่น Nurburgring เพียงแค่ 50 คันเท่านั้น แต่ละคันมีราคาสูงกว่า LFA รุ่นมาตรฐาน 70,000 เหรียญ
เบาะหนังในรุ่นมาตรฐานถูกยกออกไปแล้วแทนที่ด้วยเบาะแข่งของ Recaro ยาง Bridgestone Potenza RE070 มีขนาดใหญ่ขึ้นและถูกออกแบบมาสำหรับลงทำการแข่งขัน ความสูงของช่วงล่างลดลง 10 มิลลิเมตรจากโช้คอัพเดิมและสปริงแบบใหม่ แผ่นสปลิตเตอร์ที่ใหญ่ขึ้นและปีกเล็กที่ด้านข้างของกันชนหน้าที่เรียกว่า Canard ทำจากคาร์บอน ทั้งหมดทำให้น้ำหนักตัวของ LFA Nurburgring ลดลงอีก 10 กิโลกรัม เกียร์เปลี่ยนได้เร็วขึ้นจาก 0.20 วินาที มาเป็น 0.15 วินาที เร็วพอๆ กันกับเกียร์ของ Ferrari FF
อากาศที่ไหลผ่านตัวถังด้านบนทั้งหมด ถูกทำให้เคลื่อนที่ช้าลงเพื่อนำมาสู่แรงกดของตัวรถ ซึ่งเป็นหน้าที่ของครีบและท่อดักอากาศที่ทำเป็นพอร์ตอยู่ในบริเวณทั่วทั้งคัน เช่น สปอยเลอร์หน้าขนาดใหญ่และมีช่องทางนำอากาศเข้าถึงสามช่อง ช่องตรงกลางที่มีขนาดใหญ่สุดใช้ในการนำเอาอากาศเข้าไประบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์และนำส่วนหนึ่งไปที่ท่อไอดี ส่วนสองช่องทางด้านซ้ายและขวาทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับ Oil Cooler ของระบบหล่อลื่นแบบ Dry Sump และเป่าลมเย็นให้กับจานดิสแบบคาร์บอนเซรามิก ชายล่างของประตูและมุมขอบเสาหลังมีปล่องดักอากาศที่ใช้ทั้งการเพิ่มแรงกด และการระบายความร้อนให้กับชุดเบรกหลังและหม้อน้ำที่อยู่ในตำแหน่งประหลาดที่สุด (หม้อน้ำทั้งคู่อยู่หลังซุ้มล้อหลัง) วิงหลังอัตโนมัติที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างมอเตอร์ขนาดจิ๋วและตัวตรวจจับสปีดของรถ ในสภาวะการวิ่งปกติที่ใช้ความเร็วต่ำ วิงหลังหรือ Active Rear Wing ของ Lexus LFA ในรุ่นปกติจะถูกพับเก็บอยู่บนขอบของฝาท้าย และจะทำงานด้วยการยกตัวขึ้นทันทีที่ความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมการทำงานในระบบอัตโนมัติด้วยการแปรผันองศาของ Wing ไปตามความเร็วของตัวรถเพื่อเพิ่มหรือลดค่าแรงกดของอากาศด้วยการใช้งานอย่างสูงสุดในทุกย่านความเร็ว ส่วนวิงหลังของรุ่นพิเศษ LFA Nurburgring ซึ่งทำจากคาร์บอนคอมโพสิต จะถูกยึดติดตายกับฝาท้ายแบบของรถแข่ง
เครื่องยนต์วางด้านหน้าตามยาว V10 สูบ ขนาด 4.8 ลิตร 4,805 ซีซี. ตำแหน่งของเครื่องยนต์ถูกร่นให้เข้าหากึ่งกลางของตัวรถมากที่สุดเพื่อการกระจายน้ำหนักที่ดี เครื่องตัวนี้เลียนแบบเครื่องยนต์ V10 ของรถแข่ง F1 โดยไม่มีระบบอัดอากาศ เครื่องยนต์จะหายใจด้วยตัวเองโดยนำเทคโนโลยีที่ใช้ในรถแข่ง F1 ของทีม Toyota เข้ามาผนวกกับการออกแบบชิ้นส่วนทั้งภายนอกและภายในตัวเครื่อง รวมถึงระบบนำอากาศเข้าสู่ไอดี แคมชาร์ป วาล์วไอดีระบบแปรผันแบบใหม่ล่าสุดทั้งสองฝั่ง Dual VVT-i และระบบระบายความร้อนที่ใช้หม้อน้ำสองใบที่ติดตั้งอยู่ใกล้กับซุ้มล้อหลัง ระบายพร้อมกันทั้งสองฝั่ง ต้นกำลังของ LFA Nurburgring Edition สร้างแรงม้าได้ถึง 571 ตัวพร้อมแรงบิด 500 นิวตันเมตร แรงบิดของมันยังคงด้อยกว่า Ferrari California อยู่เล็กน้อย ทั้งที่ความจุของเครื่องยนต์วี 8 ใน Ferrari California ต่ำกว่า Lexus LFA อยู่ถึง 300 ซีซี. ระบบส่งกำลังเกิดจากเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ASG ที่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ขึ้น-ลงได้ในเวลาเพียง 0.2 วินาที (ในรุ่น Nurburgring เกียร์จะเปลี่ยนไวขึ้นที่ 0.15 วินาที) เกียร์ทั้งยวงถูกนำไปรวมอยู่กับชุดเฟืองท้ายเหมือนกับ Aston Martin DBS โดยมีเพลากลางคาร์บอนเชื่อมต่อกับเครื่องยนต์ที่ด้านหน้าเพื่อเหตุผลของการเฉลี่ยและลดน้ำหนักให้มีความสมดุลทั่วทั้งคัน หม้อน้ำอะลูมิเนียมทั้งสองใบมีพัดลมไฟฟ้าขนาดใหญ่เมื่อบวกกับดีไซน์ประหลาดใน การนำมันมาไว้ด้านหลังเนื่องจากการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โครงสร้าง และการนำเอาอากาศความเร็วสูงที่ไหลมายังส่วนบนช่วยระบายความร้อน ในขณะเดียวกัน ท่อเพื่อปลดปล่อยกระแสลมให้ออกไปทางด้านหลังสามารถถ่ายเทลมได้อย่างไร้ขีดจำกัด น้ำหนักรวมทั้งคันประมาณ 1,580 กิโลกรัม ตามระดับของการตกแต่งที่สามารถเลือกออปชันระบบอำนวยความสะดวกได้อีกเพียบ โครงสร้างรอบห้องโดยสารประกอบขึ้นจากวัสดุ CFRP หรือ Carbon Fiber Re-Inforced Plastic โดยนำเส้นใยเหล่านั้นมาถักทอขึ้นเป็นรูปทรงของชิ้นส่วนตามต้องการ มีคุณสมบัติในการรับแรงไม่แตกต่างไปจากเหล็กกล้า จากนั้นจึงนำเอาชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปมาเชื่อมต่อกันเป็นโครงรถด้วยการประกอบด้วยมือของช่าง แทนที่การประกอบด้วยหุ่นยนต์เพื่อความละเอียดและแม่นยำประณีตสูงสุด
ชุดบังคับเลี้ยวมีการพัฒนาพวงมาลัยที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสมองกลไฟฟ้าถูกนำเข้ามาติดตั้งในรถทดสอบ และสามารถทำได้ตามค่าที่วิศวกรของ Toyota ตั้งไว้ Lexus LFA จึงใช้มันแทนพวงมาลัยพาวเวอร์ที่ใช้ระบบน้ำมันไฮดรอลิกแรงดันสูง เนื่องจากปัญหาของการกินกำลังจากเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่อเชื่อมรวมถึงน้ำหนักที่มากกว่าพวงมาลัยไฟฟ้า การทำงานของพวงมาลัยไฟฟ้าในรถ LFA แบบอัตราทดคงที่สื่อสารกับผู้ขับได้ในระดับที่ดีสามารถถ่ายทอดความรู้สึกและสัมผัสจากผิวถนนได้ดีกว่า เนื่องจากมันมีระบบช่วยทรงตัว ESP ที่จะทำงานในระดับสูงสุดทุกครั้งที่ตัวรถเสียอาการ ทำให้พวงมาลัยพาวเวอร์แบบเก่าหมดความหมายไปโดยปริยาย ส่วนระบบกันสะเทือน ด้านหน้าของ Lexus LFA ใช้แบบปีกนกคู่อะลูมิเนียมดับเบิ้ลวิชโบนพร้อมเหล็กกันโคลงที่มีการปรับตั้งให้ทำงานประสานไปกับ พวงมาลัยไฟฟ้าได้ดี ส่วนด้านหลังจะใช้แบบมัลติลิงก์ โดยชิ้นส่วนของช่วงล่างจำนวนมากใน Lexus LFA จะทำจากอะลูมิเนียมและสามารถปรับตั้งได้ถึงสามระดับ
งานประกอบที่เน้นความละเอียดประณีตสูงสุด ทำให้เกิดความล่าช้า แต่ไม่ได้ก่อปัญหาใดๆ ในขั้นตอนของการทำงาน หัวหน้าวิศวกรของ Lexus Mr. Yamanaka อบรมพนักงานและช่างทุกคนให้ทำงานช้าๆ ด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความแม่นยำเป็นหลัก เนื่องจากพนักงานทุกคนในโรงงานแห่งนี้กำลังประกอบจักรกลที่มีคุณภาพ และเพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพของงานที่ออกมาจึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ซึ่งหมายถึงการทำงานล่วงเวลาเพื่อให้สายการผลิตเป็นไปตามที่ผู้บริหารกำหนดคือ รถ LFA หนึ่งคันต่อหนึ่งวันที่จะต้องวิ่งออกจากโรงงานไปยังบ้านของลูกค้า การผลิตออกมาเพียงแค่ 500 คัน ทำให้รถ Lexus LFA ต้องยุติสายการผลิตลงเมื่อครบสองปี และทำให้มันกลายเป็นรถที่มีความพิเศษมาก ผู้บริหารของค่ายหัวลูกศรไม่มีแผนที่จะผลิตเพิ่ม ราคาของ LFA อยู่ที่ 375,000 เหรียญยูเอส หรือคิดเป็นราคารวมอัตราภาษีของประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 53 ล้านบาท (เมื่อ 15 ปีก่อน) เป็นเรื่องยากหากคิดจะหากำไรจากการผลิตรถยนต์ในรูปแบบลิมิเต็ดอิดิชั่นเพียงแค่ 500 คัน และแต่ละคันมีต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาสูงกว่ารถ Lexus ทั่วไปหลายสิบเท่า ซุปเปอร์คาร์ LFA ถือเป็นรถถนนที่แพงที่สุดของญี่ปุ่น แม้จะมีราคาแพงระยับ แต่เมื่อคิดต้นทุนของการวิจัย พัฒนา และสร้างขึ้นมาทั้งคันแล้ว งานนี้ขอบอกว่า Lexus ขาดทุนย่อยยับแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกันเลยทีเดียว แต่การผลิต LFA ออกมาได้ยกระดับแบรนด์ Lexus ให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ตำนานของ LFA จะทำให้ลูกค้าพึงพอใจอย่างมากกับรถทุกคันของ Lexus ที่ผลิตออกขาย.