หัวหน้า ศอฉ.(เศรษฐกิจ) คัมแบ็ก We all gonna die?



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ลุ้นระทึกยิ่งกว่าเรื่องไหนๆ สำหรับประชาชนคนไทยในเวลานี้ เห็นทีจะไม่มีเรื่องไหนน่าหวาดหวั่นยิ่งกว่า “ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ” ที่ดูทรงแล้วมีแต่ “หนักไปข้างหน้า” โดยต้นตอมาจาก “วิกฤตพลังงาน” ที่ฉุดรั้งให้เกิดปัญหาตามมาเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าไฟฟ้าจะปรับขึ้นเป็น 6 บาทต่อหน่วยจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ขึ้นเอาๆ กระทั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ติดหนี้เป็นแสนล้าน ขณะที่กองทุนน้ำมันก็ติดลบบานเบอะพอกัน รวมถึงมรสุมอื่มๆ ที่โหมกระหน่ำมาเป็นระลอก ทั้ง “เงินฟ้อ-ค่าเงินบาทอ่อน-หนี้ครัวเรือน” และพอร์ตลูกหนี้เอ็นพีแอลกว่า 1.8 ล้านราย เม็ดเงินรวม 2 ล้านล้านบาท

แน่นอน ผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ก็คือประชาชนที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าที่ขยับปรับราคา “แพงทั้งแผ่นดิน” สวนทางกลับค่าเงินในกระเป๋าลดลงจากภาวะเงินเฟ้อ ไหนจะต้องแบกดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และอีกไม่น้อยต้อง “ตกงาน” ซ้ำเติมให้ชีวิตข้นแค้นไปอีก กระทั่งต้องบากหน้าไปบนบานศาลกล่าว พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และหนึ่งในทางออกก็คือการซื้อหวยดังจะเห็นได้จากยอดขายสลากดิจิทัลที่พิมพ์ออกมาเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน

ใช้คำว่า ประชาชนเต็มไปด้วยความมืดมนอนธการและมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็คงไม่เกินเลยจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

แต่ปัญหาซึ่งเสมือน “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” นี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับแก้ปัญหาแบบพิลึกพิลั่น และจะว่าไปก็พิลิกพิลั่นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มอบหมายให้ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)” เข้ามาเป็นแกนหลัก และตามต่อด้วย “คำสั่งล่าสุด” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ด้วยการตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ” จำนวน 27 คน และ “คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ” อีก 16 คน

การระดมสรรพกำลังครั้งล่าสุดในการตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจ” และคณะอนุกรรมการ ขึ้นมาแก้ไขปัญหาเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ดูเหมือนจะมีคำตอบกันล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะองค์ประกอบของชุดเฉพาะกิจก็ล้วนเป็น “คนหน้าเดิม” ทั้งนั้น ประกอบด้วย 1 นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเป็น “ประธาน” 10 รัฐมนตรี 7 ปลัดกระทรวง และอีก 9 ตัวเทนจากหน่วยงานที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ทั้งสภาพัฒน์ แบงก์ชาติ ฯลฯ เสริมด้วยหน่วยงานความมั่นคงอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยพุ่งเป้าไปที่ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงาน เงินเฟ้อ และการควบคุมราคาสินค้าและอาหาร เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ 10 รัฐมนตรีที่เข้าร่วมวงประกอบด้วย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายดอน ปรมัตถ์วินัย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

สิ่งที่ต้องถามก็คือ ตั้งขึ้นมาแล้วจะเป็นประโยชน์กับประเทศแค่ไหน เนื่องจากดูจากรายชื่อแล้วเป็นรายชื่อที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) อยู่แล้ว ซึ่งทุกคณะฯ เกือบจะเป็นกรรรมการชุดเดียวกันทั้งหมด และมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นการผลักดันเรื่องใดอออกมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

ทั้งๆ ในความเป็นจริงแล้ว การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับนี้ควรมี “ภาคเอกชน” เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และนักวิชาการ เช่น นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าไปร่วมทีมด้วย

ขณะที่เมื่อไปไปย้อนดูก็พบ “ข้อเท็จจริง” ประการสำคัญว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีการประชุมครม.เศรษฐกิจเท่าไหร่ เช่นเดียวกับการประชุมศบศ. ที่มีเอกชนร่วมเป็นคณะทำงาน และถ้าจะว่าไปแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้ ศบศ.ให้เป็นประโยชน์ เพราะยังใช้วิธีการทำงานแบบรัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักเสียมากกว่า หรือพูดง่ายๆ หรือไว้ใจที่จะใช้บริการระบบ “รัฐราชการ”

แน่นอน คนที่ได้รับการแต่งตั้ง “ไม่ผิด” และคนที่สมควรจะถูกตั้งคำถามมากที่สุดก็คือ “คนที่เซ็นคำสั่ง

นอกจากนั้น เมื่อดูแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังมองไม่เห็นว่าจะแก้ไปในทิศทางไหน โดยเฉพาะเรื่องพลังงานที่ยังย่ำวนอยู่กับที่ ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันในการตรึงราคา โดยที่ไม่เห็นความพยายามอื่นๆ แต่ประการใดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ยกตัวเช่น ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่มียุทธศาสตร์พลังงานชนิดต้องยกนิ้วให้ กล่าวคือ ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้น้ำมันดิบสำหรับก่อกำเนิดไฟฟ้า แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาใช้มาตรการต่างๆ ลดปริมาณการใช้ ด้วยการเพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติและปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าสู่พลังงานก๊าซ เพื่อที่จะเหลือน้ำมันดิบมากขึ้นสำหรับการส่งออก ซึ่งจากข้อมูลของรอยเตอร์ ระบุว่าซาอุดีอาระเบียนำเข้าน้ำมันเตาของรัสเซีย ราว 647,000 ตัน ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นจากระดับ 320,000 ตัน ของหนึ่งปีก่อนหน้านี้

ยิ่งไปกว่านั้น ซาอุฯ ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เพิ่มการนำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซีย โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า บรรดาประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางนำเข้าเชื้อเพลิงรัสเซียราวๆ 155,000 บาร์เรลในเดือนมิถุนายน สูงสุด อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016

การบริหารวิกฤตเป็นโอกาสหลายเด้งของบรรดาประเทศเศรษฐีน้ำมันตะวันออกกลาง ต่างกันกับประเทศไทยที่ยังสาละวนสาละวันเตี้ยลง ท่ามกลางความซับซ้อนของปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระดับโลกที่รุมเร้า ทำเอาภาคเอกชนและประชาชนหัวจะปวดไปตามๆ กัน

“นายปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ที่กล่าวในงานสัมมนาของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) หัวข้อ “แนวโน้มธุรกิจยุคแรงกดดันสูง คาดการณ์เติบโตแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม กลยุทธ์หลักในการแข่งขัน” เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในเวลานี้คาดเดาได้ยาก เป็นผลกระทบจากข้างนอก อย่างราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมากเป็นต้นทุนส่งผ่านเป็นลูกโซ่ ที่กระทบแน่ๆ แล้วก็คือ “เงินเฟ้อ” ส่วนที่จะกระทบต่อไปคือ “ดอกเบี้ยและหนี้สินครัวเรือน” ซึ่งก่อนโควิด-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 78% ของ GDP แต่ตอนนี้ขึ้นมา 91% หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ 14.3 ล้านล้านบาท สิ่งที่น่ากังวลและต้องจับตาคือรายได้ลดลงเพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

“แบงก์ชาติพยายามไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงแต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่ขึ้น เงินก็จะไหลออก ค่าเงินก็ร่วงลงไปเรื่อยๆ แล้วจะทำให้เงินเฟ้อขึ้นอยู่ดี ตอนนี้เป็นอะไรที่เรียกว่า ขว้างงูไม่พ้นคอ ทำด้านหนึ่ง ก็เจ็บอีกด้านหนึ่ง” ซีอีโอทีทีบี กล่าวและเชื่อมั่นว่าเดือนหน้าดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นแน่นอนเพราะสัญญาณมาชัดเจนแล้ว ต้องมาดูว่าจะช่วยลดภาระให้คนกลุ่มล่างนี้ได้อย่างไรไม่เช่นนั้นอาจเกิดวิกฤตหนี้ครัวเรือนขึ้นมาได้

หากครัวเรือนเจอวิกฤต คืนหนี้ไม่ได้ แบงก์ก็มีหนี้เสียหรือลูกหนี้เอ็นพีแอลมากขึ้น เจ้าหนี้ก็เป๋ ลูกหนี้ก็เป๋ สิ่งที่สมาคมธนาคารไทยกำลังผลักดันคือแก้หนี้ครัวเรือน เพราะหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงสุดคือหนี้นอกระบบ หรือสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือนอนแบงก์ โดยพยายามทำโครงการรวมหนี้ให้ภาระผ่อนจ่ายของลูกหนี้ต่อเดือนลดลง

ด้าน “นายผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงพอร์ตลูกหนี้ที่อยู่ตรงหน้าผาเอ็นพีแอล หรือ NPL Cliff ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของแบงก์ชาติปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1.8 ล้านราย หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท ว่ามีทั้งที่แย่ลงและปรับตัวดีขึ้นภายใต้พายุที่เข้ามาหลายระลอก ถือว่ายังมีความเสี่ยงและเปราะบาง โดยหากดูข้อมูลคุณภาพหนี้ของระบบแบงก์พาณิชย์ไตรมาสที่ผ่านมาในกลุ่มสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan : NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 2.93% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) ที่ระดับ 6.09% ซึ่งตัวเลขทั้งสองกลุ่มตัวยังอยู่ระดับสูงรวมกันราว 10% ภาพรวมหนี้เสียของระบบธนาคารโดยรวมยังไหลต่อต้องเร่งประคองและต้องเฝ้าระวัง

“…. เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างซอฟท์แลนดิ้ง แต่ในกระบวนการต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านการดำเนินนโยบายการเงินจะสะเทือนกับผู้ประกอบการ และภาคธนาคารพอสมควร… ดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบกับกลุ่มลูกหนี้เปราะบางแน่นอน” ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวและพูดถึงสิ่งที่แบงก์ต้องทำคือเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้รายได้ลูกหนี้เหมาะกับภาระหนี้ที่ต้องชำระ

ทั้งนี้ ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ข้อมูลของ ธปท. ณ วันที่ 11 ก.ค. 2565 พบว่า การแก้หนี้เดิมผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีจำนวนบัญชีที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.87 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นลูกหนี้ของแบงก์รัฐ 2.26 ล้านบัญชี และนอนแบงก์กับธนาคารพาณิชย์ที่ 1.61 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.82 ล้านล้านบาท มาจากแบงก์พาณิชย์และนอนแบงก์ 1.86 ล้านล้านบาท และแบงก์รัฐ 9.6 แสนล้านบาท

ส่วนการให้สินเชื่อใหม่ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการ Soft loan พบว่า มีจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือมีทั้งสิ้น 132,096 ราย คิดเป็นยอดอนุมัติสินเชื่อ 320,394 ล้านบาท ส่วนโครงการช่วยเหลือผ่านมาตรการคลินิกแก้หนี้ ปัจจุบันมีบัญชีที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ 84,698 บัญชี

อย่างไรก็ตาม หากดูข้อมูลลูกหนี้บนระบบข้อมูลของเครดิตบูโร ทั้งข้อมูลจากระบบธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของ ธปท. พบว่า มีทั้งหมด 79.24 ล้านบัญชี โดยมีหนี้ที่ต้องเฝ้าระวังถึง 25 ล้านบัญชี โดยกลุ่มที่ค้างชำระตั้งแต่ 31-90 วัน มีจำนวน 1.7 ล้านบัญชี มากที่สุดคือสินเชื่อบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล 8.18 แสนบัญชี ถัดมาคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 3.84 แสนบัญชีและสินเชื่อรถจักรยานยนต์ เครื่องจักร 2.97 แสนบัญชี สินเชื่อบัตรเครดิตที่ 1.63 แสนบัญชี สินเชื่อบ้าน 7.1 หมื่นบัญชี

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว มีทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบัญชี มากที่สุดคือ สินเชื่อบัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล มี 3.95 ล้านบัญชี ถัดมาคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เครื่องจักร 2.2 ล้านบัญชี และบัตรเครดิต 1 ล้านบัญชี สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6.28 แสนบัญชี ที่อยู่อาศัย 1.42 แสนบัญชี ส่วนลูกหนี้ที่อาจตกชั้นจากลูกหนี้กลุ่มปกติที่มีความเสี่ยงอีกราว 15 ล้านบัญชี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะภาระที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ แต่นี่เป็นเหมือนไฟท์บังคับที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะหากปล่อยให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ ต่างกันมากเกินไป เงินก็ไหลออกไปหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าซึ่งจะซ้ำเติมภาวะเงินบาทอ่อนค่าในเวลานี้ ดันต้นทุนนำเข้าพุ่งขึ้น

“นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการนำเข้าสินค้า ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานในปริมาณสูงมาก โดยเฉพาะน้ำมัน รวมถึงสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ ชิ้นส่วน สินค้าคงทนอย่างเครื่องจักร ทำให้ธุรกิจการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องชั่งน้ำหนักให้เกิดความสมดุลว่าส่วนที่ได้ประโยชน์ อย่างผู้ส่งออกและกลุ่มท่องเที่ยว เพราะการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถตัดสินใจมาเที่ยวไทยได้มากขึ้น แต่อีกส่วนที่เสียประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าคือกลุ่มนำเข้าสินค้า จะสามารถทำให้เกิดความเหมาะสมได้อย่างไร



สำหรับภาวะเงินเฟ้อทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ผ่านการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มข้นขึ้น คือการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2565 สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 4% เพื่อชะลอการขยายตัวของเงินเฟ้อ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการคิวที หรือการดึงเม็ดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจในภาพรวม แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ที่ระดับ 0.75% ยังเห็นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ระดับ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อยังทวีความรุนแรง เป็นสาเหตุที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แต่เงินสกุลอื่นๆ จะอ่อนค่าลง ซึ่งประเทศไทยก็เช่นกัน แต่ค่าเงินบาทยังถือว่าอ่อนค่าลงเป็นอันดับท้ายๆ เทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หากสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐและไทยขยายกว้างมากขึ้น ดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอีก และค่าเงินบาทก็มีโอกาสในการอ่อนค่าลงมากกว่าเดิม แตะที่ระดับ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเร็วๆ นี้ และหากช่องว่างดอกเบี้ยยังกว้างแบบนี้ ก็จะขยับลงไปแตะที่ 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอ่อนค่าลงต่อเนื่อง” นายเกรียงไกร กล่าว

ถึงตรงนี้ คงต้องสรุปว่า การที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะดูแลเรื่องพลังงาน เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทั้งหมดมาในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเรื่องตลาดทุน แต่อุปสรรคในตอนนี้ คือ ความเชื่อมั่นลดลง อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่ามาก อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาพลังงาน ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลสะท้อนกลับไปยังตลาดเงินตลาดทุนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่พูดกันมากว่าจะเป็นทางรอดสายหนึ่งก็คือการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมองว่ามีศักยภาพและเป็นกลุ่มที่ซัพพลายเชนเยอะ เช่น เหล็ก หิน ทราย อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ควรออกมา เช่น การลดค่าธรรมเนียม และลดค่าจดจำนองลง วันนี้ต้องเน้นคนที่มีกำลังซื้อออกมาจับจ่ายใช้สอยกันให้มากๆ เพื่อให้กำลังซื้อในประเทศกลับมาดีขึ้น เช่นเดียวกับการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว รัฐบาลควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอีเว้นท์ใหญ่ๆ ระดับโลกโดยเร็วที่สุด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ส่วนปัญหาที่ต้องการการตัดสินใจอย่างเร่งด่วนในเวลานี้ ก็คือ  การขึ้นราคาค่าไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชงเรื่องเสนอขึ้นมารอการเคาะจากรัฐบาลว่าจะเอาตามสูตรไหน แบบเจ็บแล้วจบ คือขึ้นพรวดเดียว 6 บาทต่อหน่วยตามข้อเสนอของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น

หากปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นั่นหมายถึง กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ต้องแบกรับภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงซึ่งตอนนี้ทะลุหลักแสนล้านไปแล้ว เช่นเดียวกันกองทุนน้ำมัน ที่เป็นปัญหางูกินหางอยู่ในเวลานี้ และเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งยากซับซ้อนส่งผลกระทบรอบด้าน

สำหรับสูตรการปรับค่าไฟฟ้ารอบใหม่ ตามที่ “นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการ กกพ. เปิดเผยหลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบการพิจารณาและจัดทำกรณีศึกษาเสนอให้บอร์ด กกพ. พิจารณาในวันที่ 27 ก.ค. นี้ และประกาศค่าเอฟทีงวดใหม่เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนก.ค.หรือต้นเดือน ส.ค.นี้

ไล่ตั้งแต่การปรับเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย, ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาทต่อหน่วย, ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หรือจะเอาแนวทางตามที่ กฟผ.เสนอ คือ ขึ้นค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้กฟผ.ได้เงินคืนจากการรับภาระค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนทั้งหมด จำนวน83,010 ล้านบาท ภายในเดือน ธ.ค. 2565

เลขาธิการ กกพ. ยังชี้ประเด็นว่าจะต้องมาพิจารณาว่าตอนนี้หนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.รับภาระไว้ใกล้จะถึงแสนล้านบาท กฟผ.มีเงินไม่พอจ่ายก็ต้องติดหนี้ ปตท. ขึ้นอยู่กับว่า ปตท.จะยอมให้ กฟผ.ค้างชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงต่อไปได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ “นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการการ กฟผ.เผยว่า กฟผ.ได้บริหารจัดการค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดค่า Ft เดือนก.ย. 2564 จนถึงปัจจุบันไปรวมแล้วเกือบ 100,000 ล้านบาท และได้กู้เสริมสภาพคล่องไปแล้ว 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อภาระค่าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กฟผ.จึงเรียกร้องรัฐบาลให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ที่ ปตท.สผ. เข้ามาผลิตแทนเชฟรอน ไม่เป็นไปตามแผนโดยล่าช้าไป 2 ปี และส่งมอบก๊าซได้เพียง 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเป้าหมาย 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

อีกปัจจัยคือต้นทุนการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศในส่วนของสัญญาจร (LNG spot) พุ่งไปแตะ 1,100-1,200 บาท/ล้าน BTU และปัจจุบันราคายังทรงตัวสูงถึง 877-991 บาท/ล้าน BTU ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เพิ่มขึ้นจากการคำนวณเดิม 30% และมีแนวโน้มว่าไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนก๊าซจากเมียนมาที่จะปิดซ่อมแหล่งก๊าซในเดือนต.ค.นี้ ไม่นับค่าเงินบาทอ่อนทุบสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี ที่ 36.50 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ดันต้นทุนนำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปอีก

การปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบนี้ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนซึ่งรับภาระค่าครองชีพสูง รายได้หดหาย ค่าเงินลดน้อยลงตามเงินเฟ้อ และการทำมาหาได้ยังฝืดเคือง ดังนั้น การตัดสินของรัฐบาลจึงไม่ได้ดูเพียงแค่ต้นทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องดูผลกระทบรอบด้านที่จะตามมา เป็นจังหวะการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐบาลในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะอยู่จะไปรอมร่อ

สุดท้าย ประชาชนคนไทยจะสามารถลืมตาอ้าปากจาก “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” ที่ “คัมแบ็ก” ในร่าง “คณะกรรมการเฉพาะกิจชุดใหม่” หรือ “We all gonna die? “ คงต้องติดตามพิสูจน์ฝีไม้ลายมือของ “หัวหน้าทีม” ที่ชื่อ “ลุงตู่” กันต่อไปว่าจะ “ต๊าซ” เพียงใด.