จะว่าไป การซื้อขายรถแบบ “โอนลอย” ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ใครๆ ก็ทำกัน สาเหตุเพราะมันสะดวกสบาย โดยใช้เอกสารไม่กี่อย่าง
เอกสารโอนลอย
- หนังสือสัญญาซื้อขาย
- เล่มทะเบียนรถตัวจริง
- สำเนาบัตรประชาชน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
- สำเนาบัตรประชาชน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของผู้ซื้อ (ในกรณีที่เจ้าของรถขายต่อกับผู้ซื้อโดยตรง)
- สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
- แบบคำขอโอนและรับโอนจากกรมการขนส่งทางบก พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด
- หนังสือมอบอำนาจจากกรมการขนส่งทางบก พร้อมลายเซ็นถูกต้องของเจ้าของรถคนล่าสุด (ในกรณีที่เจ้าของรถไม่ได้ไปทำเรื่องโอนที่กรมขนส่งเอง สามารถให้บุคคลอื่น หรือบุคคลที่ซื้อรถต่อไปทำเรื่องโอนแทนได้)
แต่แท้ที่จริงแล้ว นอกจากข้อดี ข้างต้นแล้ว มันยังมี “ข้อเสีย” อาจจะตามมาด้วย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ทนายฐิติวัชร์ ปิ่นคำ กรรมการบริหารสภาทนายความจังหวัดธัญบุรี ได้มาให้ความรู้เรื่อง “การโอนลอย” ในทางกฎหมาย
ทนายฐิติวัชร์ อธิบายว่า การซื้อขายรถยนต์ จักรยานยนต์ ก็ถือเป็นการซื้อขาย “อสังหาริมทรัพย์” ทั่วไป จะคล้ายกับการซื้อขายที่ดิน บ้าน การมีชื่อ หรือ เปลี่ยนแปลงทะเบียนรถ การมีชื่อใช่ว่าคนที่อยู่ในทะเบียน จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอไป
ทนายฐิติวัชร์ กล่าวว่า การ “โอนลอย” แม้จะไม่มีการไปโอนชื่อกับนายทะเบียน แต่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ รถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ ก็ถือว่าเป็นการโอนให้กับผู้ซื้อแล้วอัตโนมัติ ส่วนจะไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนกับเจ้าหน้าที่เมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องของผู้ซื้อ
ฉะนั้น หากมองในเรื่อง “ความรับผิดทางอาญา” เป็นเรื่องความผิดเฉพาะตัวบุคคล ใครเป็นคนทำผิดก็ต้องรับในส่วนนั้น ยกเว้นว่า “เป็นตัวการร่วมกัน” ก็อาจจะต้องร่วมรับผิดด้วย
ยกตัวอย่าง การขับรถยนต์ที่มีการโอนลอย แล้วไปขับรถชนคนตาย ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จราจร และกฎหมายอาญา เรื่องประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฉะนั้น ความผิดจะอยู่ที่ตัวบุคคลๆ นั้น จะไม่มีผลย้อนไปถึงเจ้าของรถเดิม เพราะเขาไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย
ในทางกฎหมาย ถือว่า “ชัดเจน” ว่าเราไม่ต้องรับผิดทางอาญา หากเราโอนลอยไปให้ใครสักคน แล้วเขาไปขับรถชนคนตาย… แล้วในทาง “แพ่ง” ล่ะ ทนายฐิติวัชร์ อธิบายว่า อาจจะต้องมีการสืบเสาะดูว่า คนที่ขายรถ กับคนที่ขับรถชน มี “ความเกี่ยวพัน” กันอย่างไร เช่น หากเป็น นายจ้าง ลูกจ้าง หรือไม่ขณะที่เกิดเหตุ หรือ ผู้กระทำความผิดเป็น “ผู้เยาว์” บิดา มารดา ปล่อยให้ลูกขับรถยนต์จนเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ซึ่งกรณีแบบนี้ ก็อาจจะต้องรับผิดในทางแพ่งด้วย
ฉะนั้น หากมีการสืบเสาะ ว่าไม่เกี่ยวข้องในประเด็นเหล่านี้ เขาก็จะไม่ต้องรับผิดในส่วนทาง “คดีแพ่ง” ด้วย
ข้อดี – ข้อเสีย โอนลอย
ข้อดี ของการโอนลอย คือ ง่าย ไม่จำเป็นต้องไปโอนที่ขนส่งฯ มีแค่เอกสารไม่กี่อย่างก็โอนให้ได้เลย ข้อดีคือสะดวกสบาย
ข้อเสีย…
มีความสุ่มเสี่ยงที่เกิดปัญหาตามมา เช่น จะรู้ได้อย่างไรจะไม่เอาทรัพย์ไปกระทำความผิด เช่น ขนยาเสพติด คุณอาจจะถูกตำรวจเรียกมาสอบปากคำ เพราะตำรวจจะต้องตรวจสอบว่า “รถคันนี้” เป็นชื่อ “ใคร..?” คุณก็จะถูกตรวจสอบด้วย ความเสี่ยงอีกประการ คือ นำรถสวมทะเบียนมาหลอกขาย มักเกิดขึ้นกับการซื้อขายรถมือสองด้วย “วิธีการโอนลอย”
สิ่งที่ควรทำหลังการซื้อขายรถด้วยวิธี “โอนลอย”
ในมุมคนขาย : เป็นไปได้ ควรจะไปเปลี่ยนแปลง ทางทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน ในทางผู้ขาย ก็จะเป็นการโอนภาระทั้งหมดให้พ้นตัว อาจจะต้องยอมเสียเวลานิดหนึ่ง เพื่อไปทำเรื่องโอนที่ขนส่งฯ
ในมุมคนซื้อมือสอง : สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้เป็นชื่อของผู้ซื้อ เพราะเราจะได้ทราบข้อมูลว่า คนที่เซ็นโอนให้ “เป็นเจ้าของรถ” จริงหรือไม่ เป็น “นอมินี” หรือไม่ ซึ่งมีโอกาสที่เราอาจจะโดนตามทรัพย์สินคืน มันจะเกี่ยวข้องกับความ “สุจริตในการรับโอน”
ที่ผ่านมาการ “โอนลอย” ที่กลายเป็นคดีอาญา ส่วนมากเป็นลักษณะไหน กรรมการบริหารสภาทนายความจังหวัดธัญบุรี เผยว่า จากประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมาย พบว่า การ “โอนลอย” แบบนี้จะเคส “นายจ้าง-ลูกจ้าง” เยอะ ซึ่งมีผู้เสียหายหลายฝ่าย ทั้ง ลูกจ้าง นายจ้าง ผู้เสียหาย บริษัทประกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว หากเป็น “โอนลอย” ประกันจะสอบถามว่าเรามี “กรรมสิทธิ์” หรือไม่
หากมีการโอนลอย มา เจ้าของรถจะทำประกันได้ไหม ทนายฐิติวัชร์ โดยมาก ประกันจะไม่รับทำ เพราะเขาจะถามว่าเกี่ยวข้องกับทรัพย์หรือไม่ ซึ่งจะพิสูจน์โดยชื่อทางทะเบียน แม้จะมีชื่อจากการ “โอนลอย” แต่สุดท้ายเขาจะดูที่เอกสารทะเบียน เพราะเขาต้องใช้หลักฐานในการรับประกันภัย นี่คือหลักการ “รับประกันภัย” คือต้องมีชื่อในทะเบียน และหลักฐานการครอบครองทรัพย์ ส่วนเรื่องการต่อ พ.ร.บ.หรือ ทะเบียน แค่ยื่นเอกสาร ก็สามารถต่อได้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ