9 เรื่องน่ารู้ NCAP หุ้นลิสซิ่งมอเตอร์ไซค์ พร้อมเทรด 9 พ.ย. นี้

1. ธุรกิจของ NCAP

          เน็คซ์ แคปปิตอล หรือ NCAP เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ โดยมุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยที่ต้องการเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์เป็นหลัก ด้วยการซื้อรถจากตัวแทนจำหน่าย (Dealer) แล้วนำมาให้ลูกค้าเช่าซื้อ โดยอาศัยการติดต่อกับลูกค้าในท้องที่ผ่านพันธมิตรที่เป็นตัวแทนจำหน่าย (Dealer) ในพื้นที่ต่างๆ โดยให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ Yamaha Honda, Vespa, Kawasaki และ Suzuki เป็นต้น

          ปัจจุบัน NCAP ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถจักรยานยนต์ โดยแบ่งตามกลุ่มลูกค้าดังนี้ (1) สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่แก่ผู้เช่าซื้อรายย่อย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 99% ของมูลค่าลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรวม (2) สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือสอง (เฉพาะรถที่เคยเป็นกรรมสิทธิของ NEXT) และ (3) สินเชื่ออื่นๆ ที่เป็นโอกาสทางการตลาด

2. โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท

          NCAP เดิมชื่อบริษัท บัฟ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นโดย Mitsui & Co., Ltd โดยในปี 2560 NCAP มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นโดย Mitsui ขายหุ้นให้แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน ได้แก่ COM7 และ SYNEX ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

This image is not belong to us

3. ภาพรวมธุรกิจที่เติบโต และสาขาครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ

          ปัจจุบัน บริษัทฯ มีจำนวนสาขาทั้งหมด 24 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคใต้ที่บริษัทฯ แข็งแกร่ง และมีดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายรถเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ ในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 600 ราย มีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีประมาณ 100,000 ราย และแม้จำนวนบัญชีในปี 2563 ไม่ได้เติบโตขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่กำไรของบริษัทฯ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกระบวนการจัดการภายในที่ดีขึ้นในการอนุมัติ และติดตามสินเชื่อใหม่ที่คล่องตัว รวมถึงใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น

          NCAP มีโครงการในอนาคตในการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด และแผนการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านค้า และตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมหัวเมืองจังหวัดต่างๆ ที่สำคัญ โดยมีแผนจะขยายในปี 2564 จำนวน 1 แห่ง และในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง

4. กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี

          บริษัทฯ มีแผนการลงทุนในระบบสารสนเทศ เพื่อใช้ในการดำเนินงานทุกส่วน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ได้แก่ ระบบ Mobile Application คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 ระบบ Credit Scoring คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 และระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (ERP) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2564 โดยมั่นใจว่า ภายหลังระบบดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ขยายสินเชื่อใหม่ได้อย่างก้าวกระโดดในปี 2564 และคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในระบบสารสนเทศรวมประมาณ 30 – 40 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะใช้กระแสเงินสดจากการประกอบธุรกิจในการลงทุนดังกล่าว ประกอบกับการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้

5. รายได้เติบโตต่อเนื่อง 3 ปี และโตสวนกระแสโควิด-19

This image is not belong to us

          ผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 – 2562) บริษัทฯ มีรายได้รวมเติบโตต่อเนื่อง โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30% ต่อปี (CAGR) เป็นผลจากการขยายพอร์ตสินเชื่อของบริษัท และกระบวนการติดตาม และทวงถามหนี้ที่ดี ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเก็บหนี้สูญ และติดตามทรัพย์สินรอการขายกลับมาขายทอดตลาดได้มากขึ้น ขณะที่ กำไรสุทธิลดลงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการภายในบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นการขยายพอร์ตสินเชื่อให้มากขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

          โดยผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 561.89 ล้านบาท เติบโตขึ้น 18.7% กำไรสุทธิ 70.65 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และคุม NPL ได้ในระดับต่ำเพียง 2% พิสูจน์ฝีมือทีมบริหาร ที่สร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ และเติบโตแม้ในสถานการณ์โควิด-19

6. จุดเด่นในการดำเนินธุรกิจของ NCAP

  • ส่วนแบ่งการตลาดเติบโตต่อเนื่อง และเป็นผู้นำในเขตจังหวัดภาคใต้
  • พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อเติบโตภายใต้นโยบายการขยายสินเชื่อของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ในปี 2560 :


    โดยพอร์ตสินเชื่อเติบโตจาก 2,362 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 เป็น 3,553 ล้านบาท ณ 30 มิถุนายน 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 24.7% ต่อปี
  • มีสัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม :


    ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทมีอัตราส่วน NPL เท่ากับ 2.26% ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อื่น
  • มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารงาน ทั้งกระบวนการอนุมัติ และติดตาม ทำให้ทำงานได้อย่างคล่องตัวรวมถึง ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NCAP ได้แก่ COM7 และ SYNEX เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • การเติบโตของความต้องการใช้รถจักรยานยนต์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค :                                                                                                                                                                                                             ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลต่อความต้องการใช้รถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อการใช้ขนส่ง ธุรกิจขายของ online และธุรกิจให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี (Food Delivery)

7. แผนการระดมทุน

          NCAP เสนอขาย IPO ในครั้งนี้ไม่เกิน 300,000,000 หุ้น คิดเป็น 33.33% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท สนับสนุนให้บริษัทฯ จะมีทุนชำระแล้วหลังเพิ่มทุนจำนวน 900 ล้านหุ้น 

          บริษัทฯ กำหนดราคาเสนอขายในครั้งนี้  2.20  บาท/หุ้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่มีความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ เป็นธุรกิจที่กำลังขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

          โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายคือ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)

          เงินที่ได้จากการระดมทุนหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้เงินประมาณ 660 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นเงินทุนในการลงทุนในระบบสารสนเทศ เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อ และระบบสนับสนุนการทำงานร้อยละ 5 ของเงินที่ได้รับ ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ร้อยละ 15 ของเงินที่ได้รับ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจร้อยละ 80 ของเงินที่ได้รับ

This image is not belong to us

8. ผู้ถือหุ้นใหญ่ติด Silent Period

          ปัจจุบัน NCAP มี COM7 และ SYNEX เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ที่ให้การสนับสนุนในการนำระบบที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการอนุมัติสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ COM7 และ SYNEX ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ยินดีติด Silent Period ทั้งหมด โดยจำนวนหุ้นที่ติด Silent Period ในครั้งนี้สัดส่วน 55% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังไอพีโอ ประกอบด้วย COM7 สัดส่วน 26.67%, SYNEX สัดส่วน 26.67% และ วิสต้า อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด สัดส่วน 1.67% สะท้อนความมั่นใจของกลุ่มผู้ถือหุ้นในการลงทุนใน NCAP ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง

9. นโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40%

          บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่นๆ (ถ้ามี) ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยจะพิจารณาการจ่ายเงินปันผล โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก