10 รถเด่นที่ถูกเปิดตัวในปี 2564 – ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2563 มอเตอร์โชว์ทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นเวทีหลักในการเปิดตัวรถยนต์ใหม่ สำหรับผู้ผลิตต่างเจอกับปัญหาของการแพร่ระบาด โควิด-19 ที่ทำให้การจัดงานบนพื้นที่จริงไม่สามารถทำได้ และในปี 2564 แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมของการแพร่ระบาดจะเริ่มดีขึ้น แต่ทว่าหลายงานก็ยังเลือกที่จะปิดเทอมยาวต่อไป มีแค่บางงานเท่านั้นที่ยังจัดงานแบบผสมผสานในสไตล์ O2O คือมีทั้งการจัดบนพื้นจริงและมีการถ่ายทอดสดผ่านทางออนไลน์ เช่น IAA Mobility ที่เข้ามาแทนที่ Frankfurt Motorshow รวมถึงมอเตอร์โชว์ในประเทศจีน

แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร โลกของรถยนต์ก็ยังหมุนต่อไป และถึงไม่มีเวทีให้เปิดตัว แต่ก็เชื่อว่าบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลายต่างมีแผนในการเปิดตัวรถยนต์ของตัวเองผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ตัวเองมีอยู่ และเชื่อว่าตรงนี้อาจจะกลายเป็นกระแสหลักที่พวกเขาเลือกที่จะทำต่อไป แม้ว่าการแพร่ระบาดจะยุติลงแล้วและโควิด-19 กลายเป็นคนทั่วโลกคุ้นเคยกับไข้หวัดใหญ่

นั่นคือเรื่องที่ถูกคาดหมายว่าอาจจะเป็นจริงในอนาคต ส่วนปี 2564 ที่ผ่านมา มาสรุปดูกันว่า รถยนต์ใหม่ที่ถูกเปิดตัวนั้นมีรุ่นไหนที่น่าสนใจและเข้าตากันบ้าง



1.Honda HR-V / Vezel : เป็น SUV กลุ่ม B-Segment ที่ลูกค้าในบ้านเราเฝ้ารอกัน ซึ่งในญี่ปุ่นมีการเปิดตัวให้เห็นหน้าตากันตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนบ้านเราต้องรอกันหน่อย เพราะกว่าจะมาให้สัมผัสต้องรอกันนานถึงช่วงปลายปี เพราะต้องเปิดคิวให้ซีวิค (Civic) ใหม่ทำตลาดก่อน

รถยนต์รุ่นนี้เป็นเจนเนอเรชันที่ 3 ถ้านับตั้งแต่รุ่นแรกที่ใช้ชื่อ HR-V และเปิดตัวออกสู่ตลาดเมื่อปี 2541 ก่อนยกเลิกการทำตลาดไปนานและกลับมาอีกครั้งในปี 2556 โดย HR-V ใหม่มีชื่อในการทำตลาดสำหรับญี่ปุ่นว่า Vezel ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจสำหรับรุ่นใหม่คือ นอกจากรุ่นเครื่องยนต์สันดาปภายในแล้ว ตลาดบางแห่ง เช่น ไทย จะจำหน่ายด้วยเครื่องยนต์ไฮบริดภายใต้ชื่อ e:HEV ขณะที่ตลาดจีนจะมีการปรับสเป็กและหน้าตา พร้อมกับแปลงเป็นเวอร์ชันพลังไฟฟ้า พร้อมจำหน่ายในปีหน้าด้วยชื่อ e:NP1 และ e:NS1



2.Toyota BZ4X : เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า ในช่วงที่ผ่านมาโตโยต้าอาจจะไม่ได้มีความเคลื่อนไหวออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนนัก แต่ทว่าในปีนี้ พร้อมๆ กับคำประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีโตโยต้าได้ส่งรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ที่ชื่อว่า BZ4X ออกสู่ตลาด และถือว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่วางขายนับจากที่พวกเขาเคยเปิดตัวรุ่น RAV4 EV เมื่อปี 2539

รถยนต์รุ่นนี้ถูกพัฒนาบนพื้นตัวถัง e-TNGA ที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ในอนาคตของโตโยต้า ตัวรถมาในแนว Cross-Over แบบ 5 ประตูที่มีความยาวใกล้เคียงกับ SUV ในระดับ C-Segment อย่าง RAV4 รุ่นปัจจุบัน แถมระยะฐานล้อยังยาวกว่าถึง 160 มิลลิเมตร

มอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 71.4 kWh ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถยนต์รุ่นนี้ และว่ากันว่าจากการทดสอบตามาตรฐาน WLTP ตัวรถสามารถแล่นทำระยะทางได้ถึง 450 กิโลเมตรเมื่อชาร์จจนเต็ม และยังสามารถขับเคลื่อนด้วยระบบ AWD ได้อีกด้วย



3. BMW i4 : จากต้นแบบที่เปิดตัวมาพร้อมกับสัญลักษณ์ใหม่ ในที่สุดบีเอ็มดับเบิลยูก็จัดการเปิดตัวรุ่นจำหน่ายจริงของ i4 ออกสู่ตลาด และถือเป็นรถยนต์แบบสปอร์ตซีดาน 4 ประตูรุ่นแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยตัวรถเป็นผลผลิตที่เกิดจากต้นแบบซึ่งเปิดตัวปี 2560 และอีกครั้งปี 2563

i4 มากับรหัสตัวถัง G26 และจะถูกผลิตที่โรงงานในมิวนิกที่ทางบีเอ็มดับเบิลยู ลงทุนจำนวน 200 ล้านยูโรเพื่อปรับปรุงไลน์ผลิตในการรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตัวรถมีความยาว 4,785 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,856 มิลลิเมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบ eDrive ที่พัฒนามาเป็นเจนเนอเรชันที่ 5 ของบีเอ็มดับเบิลยูโดยมีแบตเตอรี่ขนาด 81.5 kWh สำหรับรุ่นธรรมดา และ 83.9 kWh เมื่อเป็นรุ่นพิเศษ M50 ทำให้สามารถขับเคลื่อนด้วยระยะทางในระดับ 590 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้งจนเต็ม ส่วนรุ่นที่จำหน่ายนั้นจะมีทั้ง eDrive35 ที่ใช้มอเตอร์ 272 แรงม้า eDrive40 ที่ใช้มอเตอร์ 340 แรงม้า และตัวแรง M50 ซึ่งมาพร้อมกับกำลัง 544 แรงม้า



4. Mazda CX-50 : เป็นการเปิดตัวทิ้งท้ายช่วงปลายปีในลักษณะของ Virtual World Premier และถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของรถยนต์ที่เป็นผลผลิตใหม่จากการปรับปรุงชื่อรุ่นของมาสด้าและเป็นรถยนต์ที่ถูกพัฒนาจากบนพื้นฐานร่วมกันกับทางโตโยต้า โดยตัวรถจะได้รับการผลิตที่โรงงาน Mazda Toyota Manufacturing ซึ่งตั้งอยู่ในเทนเนสซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

CX-50 จะเป็นเอสยูวีขนาดกลางซึ่งมาพร้อมกับความทันสมัยทั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อรุ่นใหม่ที่เรียกว่า i-Active All-Wheel Drive รวมถึงระบบควบคุมการทำงานของฟังก์ชั่นต่างๆ ในห้องโดยสารที่เรียกว่า MI-Drive ซึ่งตามรายละเอียดที่เปิดเผยออกมาคร่าวๆ ตัวรถจะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซิน Sjyactiv-G 2,500 ซีซี และ Skyactive-D ที่เป็นเทอร์โบดีเซลและมีความจุ 2,500 ซีซี

สำหรับการเปิดตัวคันจริงจะมีขึ้นอีกครั้งพร้อมกับเริ่มทำตลาดในเดือนมกราคม 2565



5. Ferrari 296GTB : รถสปอร์ตเครื่องยนต์วางกลางแบบเสียบปลั๊กรุ่นใหม่ล่าสุดของเฟอร์รารี่ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงจังต่อการปรับตัวในเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดรถยนต์ ซึ่งแม้ว่าเฟอร์รารี่จะยังไม่สนใจที่จะผลิตรถสปอร์ตแบบไฟฟ้าล้วน แต่การเลือกใช้พื้นฐานของ Plug-in Hybrid ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจต่อจากที่พวกเขาเคยเปิดตัวรุ่น LaFerrari

296 GTB คือ รถสปอร์ต 2 ประตูเครื่องยนต์วางกลางลำที่มาพร้อมกับขุมพลังแบบ 6 สูบ 3,000 ซีซี ทวินเทอร์โบที่ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการขับเคลื่อน ตัวเครื่องยนต์มีกำลัง 654 แรงม้า ที่ 8,000 รอบต่อนาที และมีมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 123 กิโลวัตต์ พร้อมกับโหมด EV ที่ขับได้ระยะทาง 25 กิโลเมตร ตัวเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับเกียร์แบบ Dual-Clutch 8 จังหวะ



6. Mercedes-Benz EQS : 2021 ถือเป็นปีที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังด้วยผลผลิตใหม่ๆ ทั้ง EQA, EQB, EQE และไล่มาจนถึงรุ่นท็อประดับหรูอย่าง EQS ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน และในบ้านเรามีนำเข้ามาจัดแสดงในช่วงงานแถลงข่าวที่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ด้วย

ตัวรถมาพร้อมกับความหรูหราตามแบบฉบับ S-Class ของพวกเขามีความยาว 5,216 มิลลิเมตรโดยถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในตระกูล EQ รุ่นแรกที่ถูกพัฒนาบนพื้นตัวถังและชุดขับเคลื่อนที่เรียกว่า MEA แถมตัวถังยังมาพร้อมกับความเพรียวลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านทาน หรือ Cd เพียง 0.20 โดยระบบขับเคลื่อนมีทั้งแบบมอเตอร์เดี่ยวที่มีกำลัง 329 แรงม้า และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวซึ่งผลิตกำลังรวมกัน 516 แรงม้า ส่วนแบตเตอรี่มีขนาด 108 kWh แล่นทำระยะทางสูงสุด 789 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง



7. Nissan Z : โฉมใหม่ของรถสปอร์ตสุดคลาสสิคของค่ายนิสสันมากับรหัส Z34 และถือเป็นเจนเนอเรชันที่ 7 ของรถสปอร์ตรุ่นนี้นับจากเปิดตัวครั้งแรกในทศวรรษที่ 1970 พร้อมกับมียอดขายสะสมรวม 6 เจนเนอเรชันมากกว่า 1.8 ล้านคัน โดยรุ่นใหม่ยังมาพร้อมกับตัวถังสปอร์ตคูเป้ 2 ประตูพร้อมกับดีไซน์ที่วนกลับไปสู่จุดดั้งเดิมด้วยการนำเอาแนวเส้นสายและรูปแบบของ Z Car รุ่นแรกกลับมาประยุกต์ใช้

การขับเคลื่อนเป็นหน้าที่ของเครื่องยนต์เบนซิน V6 3,000 ซีซี ทวินเทอร์โบ รหัส VR30DDTT ให้กำลังสูงสุด 400 แรงม้า (405 PS) แรงบิดสูงสุด 475 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 9 จังหวะ

Nissan Z ในตลาดอเมริกามีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นย่อย ได้แก่ Sport และ Performance เสริมด้วยรุ่นพิเศษ Proto Spec อีก 1 รุ่น ซึ่งถูกเพิ่มเติมด้วยคาลิเปอร์เบรกสีเหลืองพร้อมสัญลักษณ์ Z, ล้ออัลลอยสีบรอนซ์ทอง, เบาะนั่งหุ้มด้วยวัสดุหนังพิเศษตกแต่งด้วยสีเหลือง และห้องโดยสารตกแต่งด้วยตะเข็บสีเหลือง โดยวางจำหน่ายจำกัดเพียง 240 คันเท่านั้น



8.Audi e-Tron GT : ขณะที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังบูมออดี้แทรกเข้าสู่ตลาดกลุ่มนี้เพื่อแข่งกับแบรนด์หรูเพื่อนร่วมชาติของพวกเขาด้วยทางเลือกที่แตกต่างกับความสปอร์ตในแบบ GT 4 ประตูที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์อันทรงสมรรถนะเพื่อทำให้ประสบการณ์ในการขับเคลื่อนแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด

ตัวรถมากับรูปทรงแบบสปอร์ตฟาสต์แบ็ก 5 ประตูเพื่อตอบสนองทั้งความแรงและความโฉบเฉี่ยวเหมือนกับเพื่อนร่วมค่ายอย่าง Porsche Panamera พร้อมกับความกว้างขวางของห้องโดยสารจากระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,900 มิลลิเมตร การขับเคลื่อนเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุดที่จะทำงานร่วมกันในแบบ Quattro แบบขับเคลื่อน 4 ล้อพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 93.4 kWh ซึ่งเมื่อชาร์จจนเต็มจะสามารถแล่นทำระยะทางได้ 425 กิโลเมตร

ออดี้เปิดตัวรถสปอร์ตสุดอเนกประสงค์คันนี้เมื่อต้นปี และบ้านเราก็มีเข้ามาจำหน่ายแล้ว โดยมีราคาอยู่ที่ 6,390,000-6,790,000 บาท



9. Jeep Wagoneer : ชื่อของ Wagoneer ถือว่าคลาสสิคและถูกใช้ในฐานะของตัวแทนเอสยูวีพันธุ์แกร่งจากค่ายนี้มานานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่ทว่าเกิดการขาดช่วงไป เพราะการเข้ามาของ Cherokee ซึ่งในปี 2564 Jeep ปลุกเอาชื่อ Wagoneer กลับมาใช้สำหรับเอสยูวีระดับไฮเอนด์ที่เหนือกว่า Grand Cherokee โดยจะมีทำตลาดทั้งรุ่น Wagoneer และ Grand Wagoneer

เอสยูวี รุ่นนี้ใช้พื้นฐานเดียวกับปิกอัพแบบ Full-Size อย่างรุ่น Ram โดยมีตัวถังที่มีความยาว 5,453 มิลลิเมตร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ทั้งแบบไฮบริดและแบบธรรมดา โดยรุ่นไฮบริดจะเป็นขุมพลังวี8 5,700 ซีซีในตระกูล Hemi ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนรุ่นธรรมดาจะเป็นเครื่องยนต์วี8 6,400 ซีซี



10. Ford Maverick : ฟอร์ดกลับมารุกตลาดปิกอัพระดับ Mid-size ในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง และคราวนี้นำชื่อ Maverick กลับมาทำตลาดแทนที่ Ranger โดย Maverick เคยเป็นชื่อที่ Ford ใช้ในการทำตลาดรถยนต์นั่งเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ Maverick ใช้พื้นตัวถัง C2 แบบเดียวกับ Focus และ Escape รุ่นปัจจุบัน นั่นหมายความว่าปิกอัพรุ่นนี้จะแชร์พื้นฐานในสไตล์เก๋งด้วยตัวถังแบบโมโนค็อกมากกว่าที่จะเป็น Chassis on Frame เหมือนกับปิกอัพทั่วไป และสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ฟอร์ดนำมาสู่ตลาดในการปรับให้ปิกอัพมีความใกล้เคียงกับการใช้งานในสไตล์เก๋งมากกว่าการบรรทุกหนักๆ

การทำตลาดมี 2 รุ่นคือ ไฮบริด เครื่องยนต์เบนซิน Atkinson-cycle แบบ 4 สูบ Duratec iVCT 2,500 ซีซีจับคู่มอเตอร์ไฟฟ้า ส่งกำลังด้วยเกียร์ e-CVT ขับเคลื่อนล้อหน้า กำลังรวมทั้งระบบผลิตได้ 191 แรงม้า (HP) อีกรุ่นเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ Ecoboost 2,000 ซีซี เทอร์โบ ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ระบบขับเคลื่อนเลือกได้ระหว่างขับหน้า หรือ All-wheel drive กำลังสูงสุด 250 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 38.2 กก.-ม.