แบงก์หวั่นลดเพดานดอกกู้ดันยอดรีเจ็กต์เรตพุ่ง คนกลุ่มเสี่ยงหันหน้าพึ่งหนี้นอกระบบ – TNN24

คลัง-ธปท.นัดถกหน่วยงานแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสัปดาห์หน้า หวั่นลดดอกกู้ดันยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง คนกลุ่มเสี่ยงหันหน้าพึ่งหนี้นอกระบบเพิ่ม

รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศนโยบายให้เร่งแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน หรือหนี้ครัวเรือน ทั้งระบบ ประกอบด้วยกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา 3.6 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่น ๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชีนั้น ในสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังและ ธปท.จะมีการเรียกประชุมสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะประกาศมาตรการช่วยเหลือออกมาอีกครั้ง

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า หากธปท.มีนโยบายออกมาพร้อมปฏิบัติตาม เพราะสภาพคล่องในระบบแข็งแกร่งในการช่วยลูกหนี้แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยจะลดลง และสถาบันการเงินสามารถปรับตัวได้ในการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่าย และการตั้งสำรอง แต่ออาจทำให้กลุ่มเสี่ยงจะถูกปฏิเสธสินเชื่อ หรือรีเจ็กต์เรตเพิ่มสูงขึ้น ตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้กลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้อาจต้องพึ่งหนี้นอกระบบ โดยธปท.และภาครัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

” กลไกดอกเบี้ยเป็นตัวควบคุมความเสี่ยง ซึ่งจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดอยู่ที่ 15% แต่สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตเพดานดอกเบี้ยสูงกว่าระดับ 15% เช่นเดียวกับเพดานสินเชื่อจำนำทะเบียนอยู่ที่ 22% เพื่อให้สามารถอำนวยสินเชื่อในกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น ดึงคนอยู่นอกระบบเข้ามาในระบบ แต่หากปรับลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้จะทำให้คนกลุ่มเสี่ยงถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้นตามระบบการตัดกรองความเสี่ยงอาจจะไปพึ่งเงินกู้นอกระบบได้”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแบงก์ได้ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ เช่น ซอฟต์โลนที่ธปท.คิดดอกเบี้ย 0.01% ทำให้แบงก์คิดดอกเบี้ยลูกค้าได้ถูกลง หรือการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟี้นฟูและพัฒ

นาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.46% เหลือ 0.23% ซึ่งทำให้แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงเฉลี่ย 0.40% อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจจะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยด้วย เช่น การลดค่าครองชีพ หรือการสร้างรายได้ให้ประชาชน ซึ่งการเปิดประเทศภายใน 120 วัน จะช่วยสร้างรายได้ให้ภาคประชาชน ขณะที่ลูกหนี้อาจต้องลดการใช้สินเชื่อเงินผ่อนลง ส่วนธนาคารก็ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล. กสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อจำนำทะเบียน บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังสามารถลดเพดานดอกเบี้ยได้ ถ้าดูจากอัตราการทำกำไร ธุรกิจจำนำทะเบียนรายใหญ่ ๆ เช่น บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC), บมจ.ศรีสวัสดิ์คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ระดับอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงกว่า 20% และอัตรากำไรสุทธิสูงกว่า 20-30%

ขณะที่ปัจจุบันเพดานดอกเบี้ยจำนำทะเบียนอยู่ที่ 24% ต่อปี ซึ่งภาครัฐส่งธนาคารออมสินลงมาแข่งดอกเบี้ยอยู่ที่ 18% ต่อปี ทำให้ผู่ประกอบธุรกิจต้องลงมาแข่งดอกเบี้ย โดย MTC คิดดอกเบี้ย 15% SAWAD 18% และ TIDLOR 17-18%

สำหรับธุรกิจบัตรเครดิต เพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 16% และสินเชื่อส่วนบุคคลไม่เกิน 25% ต่อปีต้นทุนเงินทุนของผู้ให้บริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 1-2% ดังนั้นยังมีมาร์จิ้นกว่า 10%

ส่วนบริษัทที่ประกอบธุรกิจการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือนอนแบงก์ที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) และ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ซึ่งปัจจุบันเก็บดอกเบี้ยตามเพดาน ดังนั้นถ้าปรับลดเพดานดอกเบี้ยจะโดนผลกระทบมากสุด ซึ่งถ้าลดลงมาทำให้ ROE เหลือแค่ 20% ก็ยังถือว่าเป็นธุรกิจให้ผลตอบแทนที่ดี แต่จะเป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาจากการปรับลดดอกเบี้ยนั้น สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าเกรด C เกรด D ที่เมื่อก่อนปล่อยกู้ดอกเบี้ย 28% แต่ปัจจุบันไม่ปล่อย เพราะมีความเสี่ยงลูกค้ากลุ่มนี้ต้องหันไปกู้นอกระบบ