หมดปัญหา สี่เท้ายังรู้พลาด นักซิ่งยังรู้พลั้ง

This image is not belong to us

เรื่องราวของเราในวันนี้เป็นเรื่องของ เทคโนโลยีที่โตโยต้าพัฒนาขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ โดยเฉพาะการขับขี่ที่ความเร็วสูง เป็นที่แน่นอนว่าการได้ขับขี่รถยนต์สไตล์สปอร์ตสมรรถนะสูงเป็นความสนุกที่น่าหลงใหล แต่ภายใต้ความสนุกนั้นมันแฝงไว้ด้วยความอันตรายโดยเฉพาะเมื่อพบว่าผู้ขับขี่พบกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน และสถานการณ์นั้นมันฉับพลันเกินกว่าที่ทักษะการขับขี่ของนักขับทั่วไปจะแก้ไขได้ทัน ซึ่งนำมาซึ่งความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิต  

This image is not belong to us

นับแต่อดีตและมาถึงในปัจจุบันระบบเพื่อความปลอดภัยถูกออกแบบเพื่อ “ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ” ด้วยการลดความเร็ว ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดการส่งกำลังของเครื่องยนต์หรือการใช้ระบบห้ามล้อโดยอัตโนมัติซึ่งวิศวกรผู้ออกแบบระบบนั้น ต้องการที่จะ “ลดความเร็วลง” เป็นหลักแต่ในหลาย ๆ สถานการณ์มันก็ยังรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน อาทิ การเสียการยึดเกาะที่ความเร็วสูงได้ไม่ดีนัก  

ดังนั้นทางวิศวกรของสถาบันวิจัยของโตโยต้าในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับหน่วยวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จึงได้พยายามค้นหาวิธีการใหม่ในการลดความเสียหายของเหตุการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้และได้พบว่าในสถานการณ์การลื่นไถลบนถนนที่เคลือบไปด้วยแผ่นน้ำแข็ง ที่ดูเกินจะควบคุมด้วยทักษะของนักขับทั่วไปนั้น กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่ฝึกฝนจนสามารถควบคุมการลื่นไถลนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ใช่แล้วขอรับ นักวิจัยของโตโยต้า ได้ทำการศึกษาวิธีการจัดการแก้ไขปัญหา การลื่นไถลที่ความเร็วสูง จากการศึกษารูปแบบการควบคุมบังคับของนักแข่ง “รถดริฟท์” (Drift Car) 

รถดริฟท์ นั้นเป็นรถแข่งประเภทที่ผู้ขับขี่จะต้องแสดงทักษะการควบคุมบังคับ ให้รถสามารถเข้าโค้งในลักษณะคล้ายคลึงกับการลื่นไถล ถ้าท่านผู้อ่านนึกไม่ออก ก็คงต้องบอกว่าให้นึกถึงภาพยนตร์ฟาสต์แอนด์ฟิวเรียส ภาค 3 “โตเกียว ดริฟท์” หรือไม่ก็ลองเปิดกูเกิล แล้วค้นหาคำว่า “รถดริฟท์” ดูแล้วกันนะขอรับ  

This image is not belong to us

วิธีการแก้ไขการลื่นไถลของเหล่านักแข่งนี้ก็คือการรักษาสมดุลของการลื่นไถลด้วยการเลี้ยงคันเร่งและเบรก ผสมผสานกับการหักพวงมาลัยไปในทิศทางที่อาจจะสวนทางกับสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ แต่ที่สำคัญคือ รถของเหล่านักแข่งเหล่านี้ ติดตั้งระบบควบคุมการทำงานของล็อกเฟืองท้าย หรือลิมิเต็ดสลิป ดิฟเฟอเรนเทียลที่ควบคุมให้ล้อทั้งสองด้านถ่ายทอดกำลังลงพื้นอย่างต่อเนื่อง (ในรถทั่วไปนั้นเครื่องยนต์จะส่งกำลังไปยังล้อที่หมุนง่ายเป็นหลัก ดังนั้นล้อด้านที่เสียการยึดเกาะหรือล้อที่หมุนฟรีจะเอากำลังเครื่องยนต์ไปหมด แต่หากติดตั้งระบบลิมิเต็ดสลิปแล้วล้ออีกข้างก็จะยังมีพลังที่จะควบคุมรถยนต์ได้อยู่)  

ในการวิจัยนั้นเซ็นเซอร์ที่ถูกพัฒนามาใช้กับยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองอย่างอัตโนมัติหรือออโตโนมัสผสมผสานกับซอฟต์ แวร์ที่เรียนรู้มาจากการเก็บข้อมูลของนักขับรถดริฟท์จะถูกใช้เพื่อ “พยากรณ์” และเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์การลื่นไถลที่อาจจะเกิดขึ้นและหากเกิดขึ้นแล้วระบบจะเข้ามาจัดการควบคุมพวงมาลัยและการถ่ายทอดกำลังแทนที่มนุษย์ทันที  

This image is not belong to us

พวกเขาได้ทดลองติดตั้งระบบนี้ลงในรถแข่งดริฟท์ โตโยต้า จีอาร์ ซูปร้าและได้แสดงให้เราได้เห็นว่าแม้จะไม่มีคนควบคุมแต่ระบบก็สามารถทำให้รถเข้าโค้งแบบลื่นไถลได้อย่างสวยงามปลอดภัย (ดูได้จากช่อง Youtube ของ Toyota Research Institute) อ้วนซ่าเชื่อว่าสักวันระบบนี้จะได้รับการติดตั้งลงในรถยนต์สมรรถนะสูงในอนาคตอย่างแน่นอน อย่างน้อยระบบนี้ก็คงจะช่วยให้ค่าประกันภัยลดลงได้บ้างไม่มากก็น้อย จริงไหมขอรับ!.