สรุป15ประเด็น’พี่โทนี่’ถกคลับเฮาส์ แนะรัฐไม่ใช่ให้เงินแล้วจบ

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย สรุปประเด็นการสนทนา หัวข้อ “SMEs มีปัญหาปรึกษาพี่โทนี่” เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 2 มี.ค. ที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือ Tony Woodsome กลับมาสร้างความฮือฮาใน Clubhouse (คลับเฮาส์) อีกครั้ง และเพจเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย อีกครั้ง แบบม้วนเดียวจบ สำหรับคนที่พลาดไม่ได้รับฟัง

โดยระบุว่า สรุปประเด็นสำคัญ “…CARE Clubhouse | SMEs มีปัญหา ปรึกษาพี่โทนี่ !!!…” ใครที่พลาดรับฟังเมื่อวานนี้ หรือขี้เกียจฟังย้อนหลัง วันนี้เราได้สรุปเนื้อหาแบบเน้น ๆ แต่ยังคงความมันสไตล์โทนี่ มาให้ทุกคนได้อ่านแบบจุใจกันไปเลยยย

1. เริ่มต้นทำธุรกิจ


พี่โทนี่เริ่มต้นด้วยการเล่าธุรกิจของตัวเอง ตั้งแต่ทำร้านผ้าไหมแต่ก็ขายไม่ได้ จึงหันมาทำธุรกิจภาพยนตร์ โดยเอารถยนต์ของตัวเองไปจำนำได้เงินมา 1 ล้านบาท ไปซื้อภาพยนตร์เรื่องบ้านทรายทองมาฉาย แต่สุดท้ายทำไปทำมาก็หมดตัว หลังเจ๊งจากธุรกิจภาพยนตร์ก็เลยหันมาจับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทน แต่ด้วยความเคยชิน ทำอะไรแบบเดิม ๆ ไม่มีวิสัยทัศน์ สุดท้ายก็ขาดทุนและเป็นหนี้ สิ่งสำคัญในการธุรกิจ คือ ต้องมีไอเดีย ค่อย ๆ สร้าง ค่อย ๆ เรียนรู้ ต้องรู้จักคบเพื่อน เรียนรู้จากประสบการณ์และหาความรู้ตลอดเวลา “คนเราโง่มาก่อนฉลาดเสมอ” นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด

2. ล้มแล้วต้องลุก


มีคนถามพี่โทนี่ว่าเวลาล้มเอาแรงที่ไหนลุกกลับมาได้ พี่โทนี่เลยเล่าว่าเคยจะต้องไปขึ้นศาลวันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้นก็หลับสนิทดี ไม่ได้เครียดจนนอนไม่หลับ เพราะต้องรู้จักปล่อยวาง ตื่นมาค่อยคิดใหม่ ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้แบก ฉะนั้นเวลานอนอย่าแบกปัญหา จะทำงานใหญ่ต้องใช้เวลาและสมาธิ ถ้านอนไม่เต็มที่แล้วจะเอาสติที่ไหนไปจัดการปัญหา

3. ใช้คนให้ถูกกับงาน


“ช่วงหนึ่ง AIS จากเบอร์หนึ่งร่วงมาเบอร์ 2 ผมพบว่าผมเอาคนจากรัฐวิสาหกิจ ทำให้คนเอากฎหมายเป็นใหญ่ ไม่มีใครกล้าทำอะไร ผมเลยบอกว่า ใครทำผิดกฎแล้วทำบริษัทเจริญ ผมขึ้นเงินเดือนให้ ปรากฏว่ากฎหดตัวลง และแป๊บเดียวขึ้นมาที่ 1”


สิ่งหนึ่งที่พี่โทนี่บอก คือ ดูให้รู้ว่าอะไรคือปัญหาและแก้ไขตรงนั้นให้ถูกจุด บางทีกฎเกณฑ์ที่มากไปก็ทำให้พนักงานรีดความสามารถตัวเองออกมาได้ไม่เต็มที่


นอกจากยังต้องเลือกใช้คนให้ถูก ใครมีศักยภาพก็ดึงขึ้น ใครศักยภาพลดก็ดึงลง ต้องเปิดโอกาสให้คนเก่งได้ทำงาน อย่างสมัยเป็นนายกฯ ก็ปรับ ครม. ทุก 6 เดือนเพื่อสร้างคนเก่ง เพราะคนเก่งต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา


ที่สำคัญคือต้องเซฟลูกน้อง ถึงเศรษฐกิจจะแย่ แต่พี่โทนี่ไม่เคยจ่ายเงินให้พนักงานช้า เพราะพวกเขาก็ต้องเลี้ยงครอบครัว ถ้าเราจนก็อย่าให้ลูกพนักงานจนด้วย อย่าให้พนักงานรู้ว่าเราแย่ ค่าใช้จ่ายมันอาจจะสูง แต่ถ้าเราเลี้ยงดูพนักงานดี ๆ ร่วมหัวจมท้ายไปด้วย ยังไงเราก็พึ่งเขาได้แน่นอน

4. หลังโควิดโลกจะไปทางไหน


โควิดทำให้คนได้รับบทเรียนหลายอย่าง พี่โทนี่เลยมองว่าหลังโควิด หลังล็อกดาวน์ คนจะอยากชอปปิงล้างแค้นเพราะไม่ได้ช้อปกันมานานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แต่แบบออฟไลน์จะลดลง ออนไลน์จะมาแรง


คนได้เรียนรู้และชินกับพฤติกรรมจากการ Work from Home แล้ว ทำให้เราเรียนรู้ที่จะ Buy from Home เพราะสะดวก ดังนั้นต่อไปนี้ใครที่เปิดร้านขาย ถ้าไม่ทำออนไลน์ด้วยจะลำบาก

5. ไม่ใช่แค่แจกเงิน


ประเทศเรามีรายได้จากการท่องเที่ยว 10% ของ GDP ถ้าไม่ช่วยท่องเที่ยวประเทศก็ไม่รอด ฉะนั้นประเทศต้องเปิด ต้องให้คนทำมาหากินได้มากกว่านี้ แจกเงินให้ SMEs ก็แค่ต่อลมหายใจ ไปเป็นค่าเช่าบ้าน เงินเดือนลูกน้อง แต่สุดท้ายคนก็ค้าขายไม่ได้เหมือนเดิม


พี่โทนี่แนะนำว่ารัฐบาลต้องสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ให้เงินแล้วจบ มีคนตัวเล็กตัวน้อยเยอะ รัฐต้องคิดว่าทำอย่างไรให้คนได้สะดวกสบายได้รวยมากขึ้น เช่น ชาวบ้านขายข้าว เราจะสร้างแพลตฟอร์มให้คนทั้งประเทศหรือทั้งโลกเป็นลูกค้าได้ไหม

6. ไอเดียสำคัญกว่าเงิน


อะไรล่ะที่ทำให้เราได้เงิน? พี่โทนี่ตอบเลยว่าคือไอเดีย เราต้องมีไอเดียในการทำธุรกิจ ดู Business Model ดี ๆ อย่าเพิ่งเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันดีที่สุดแล้ว อย่าไปหลงรักไอเดียตัวเอง แล้วต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าที่ทำอยู่ทำเงินกับเราจริงไหม ไอเดียเราถูกไหม ถ้าไม่ดีต้องทำให้ดีขึ้น ถ้าดีแล้วต้องทำให้ดีขึ้นไปอีก


ต้องอัพเดทตามโลกให้ทัน เพราะเราต้องศึกษาปัจจุบันแล้วทำธุรกิจเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่ทำธุรกิจของเมื่อวาน แล้วเราก็จะต้องแข่งกับคนอื่นไปตลอด แต่ SMEs ต้องอดทน วันนี้ทั่วโลกลำบากหมด เหมือนกับการดำน้ำถ้าเราดำได้นานกว่าเราก็ชนะ สำคัญคือรัฐต้องสนับสนุนให้ธุรกิจอยู่ได้และเติบโต

7. หัวหน้าต้องลุยไปกับลูกน้อง


วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ามันใช้ไม่ได้องค์กรก็แย่ หัวหน้าต้องลุยไปด้วยกันกับลูกน้อง หัวหน้าต้องทำเอง และเรียนรู้ไปกับลูกน้อง พี่โทนี่ยอมรับว่าแรก ๆ ก็ไม่ค่อยมีความรู้ แต่เรียนรู้จากลูกน้องตลอด ไม่มีใครเก่งที่สุดในทุกด้าน เราต้องทำงานด้วยกัน เรียนรู้ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน แล้วจะทำให้การทำงานเป็นทีมเกิดขึ้น


นอกจากนี้ต้องยุติธรรมกับลูกน้อง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เลือกคนให้ถูกกับงาน ใครเก่งด้านไหนก็ทำด้านนั้น บางคนไม่เก่งแต่เป็นคนดี ก็หาที่ที่เขาอยู่ได้แล้วใช้ความสามารถที่มีได้เต็มที่

8. ทำธุรกิจต้องกล้า


จะทำธุรกิจต้องกล้าหน่อย ต้องกล้าลงทุน กล้าเสี่ยง ยิ่งเสี่ยงยิ่งได้เงิน แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่เราคำนวณแล้วว่าเรารับไหว บางที SMEs มักจะเป็นธุรกิจความเสี่ยงสูง ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้เพราะกลัวความเสี่ยง ฉะนั้นถ้าอยากให้เศรษฐกิจเดินหน้า รัฐจะให้แค่เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องประกันความเสี่ยงด้วย เช่น ถ้าทำเจ๊งรัฐจะรับประกันให้ 25% เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจกล้าเสี่ยง แล้วรัฐต้องกล้ารับความเสี่ยงและช่วยกระจายความเสี่ยงด้วย

9. เศรษฐกิจจะดี เวทีต่างประเทศก็สำคัญ


เวทีเศรษฐกิจในต่างประเทศสำคัญมาก เราต้องคุยต้องแลกเปลี่ยนต่อรองกับต่างประเทศ แล้วประเทศเราเล็กกว่าก็ต้องตอดเล็กตอดน้อยเอา เพราะฉะนั้นการทูตในเวทีต่างประเทศสำคัญ รัฐมีหน้าที่เป็นคนดูแลเจราจา อะไรปิดอะไรเปิดต้องคอยดู ไม่อย่างงั้นเราจะเสียเปรียบประเทศอื่น


แล้วเราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนกล้ามาลงทุน กล้ามาเที่ยว ตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง วันนั้นตลาดมีแต่คนขายไม่มีคนซื้อ เราเลยต้องสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจมันคึกคัก ให้คนกล้าเสี่ยง พี่โทนี่ใช้คำว่า “ต้องขิงหน่อย” เพื่อดึงความเชื่อมั่นกับความมั่นใจกลับมาให้คนมันกล้า แต่อย่าเป็นคนตาบอดไม่กลัวเสือ

10. การสร้างคนคือการสร้างชาติ


“เราต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาเราแย่มานาน” เราไม่สอนให้เด็กคิด ปัจจุบันเราควรให้เด็กหัดเขียนโปรแกรมมากขึ้น แล้วจะทำให้เด็กเก่งขึ้น เราชอบสอนให้เรียนเพื่อเอาใบปริญญา แต่จริง ๆ ควรสอนให้เด็กสามารถวิเคราะห์ Data มากขึ้น ซึ่งเป็นทักษะในอนาคตที่โลกต้องการ จะช่วยให้เด็กรู้ว่าควรทำธุรกิจอะไรได้มากขึ้นด้วย


โลกนี้เป็นโลกของ Lifelong learning เพราะฉะนั้นพัฒนาตัวเองตลอดเวลาจำเป็นมาก โลกมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา แล้วจะได้สนุกไปกับชีวิตด้วย


พี่โทนี่บอกว่าคนไทยต้องทันโลก ไม่อยากให้เราตามโลกไม่ทัน เพราะฉะนั้นถ้าตอนนี้เป็นนายกฯ พี่โทนี่จะสนับสนุนให้คนไทยตามโลกให้ได้ การสร้างคนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะหมายถึงอนาคตของประเทศ


11. ปัญหา Generation gap


ตอนนี้คนตัดสินใจมักเป็นคนรุ่น Analog ส่วนคนรุ่น Digital มักไม่มีอำนาจ แต่นับวันคนรุ่น Baby Boomer ก็จะเกษียณลงเรื่อยๆ ดังนั้น คนรุ่น Gen X, Y น่าจะพอคุยกันได้รู้เรื่อง แต่ที่สำคัญคือ ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็ช่าง ต้องมี Mindset ที่เข้าใจเสมอว่า ต้องรับฟังกัน คนรุ่นเก่าต้องยอมรับว่าโลกนี้ไม่ใช่ของพวกเขาอีกแล้ว ต้องฟังคนรุ่นใหม่ จะได้อัพเดทตัวเราเองตลอดเวลา


12. การเกษตร


รัฐต้องเป็น E-government ที่สมบูรณ์แบบ ต้องมีข้อมูลครบถ้วน ไม่ต้องรอให้คนมาลงทะเบียน นอกจากนี้รัฐต้องทำ 2 อย่าง คือ


1. ให้มีเจ้าภาพ เช่น ตั้งมิสเตอร์ทุเรียน มิสเตอร์ลำไย จะได้มีคนรับผิดชอบดูแลที่ชัดเจน


2. ต้องดูแลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร (ชลประทาน ข้อมูลดินฟ้าอากาศ) ทำศูนย์เช่ายืมเครื่องมือการเกษตร รวมทั้งดูเรื่องของ การระบาย การปลูก และตลาดสินค้าเกษตร ทำยังไงให้ทั้งโลกเป็นตลาดของเรา

13. เทคโนโลยีสุขภาพ รัฐหรือเอกชน ใครจะเป็นคนเปลี่ยนเกม


รัฐไม่เคยนำเอกชนได้อยู่แล้ว เพราะรัฐมีนักกฎหมายเยอะ ใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ แบบนี้ยังไงก็ไม่รอด ตอนนี้เอกชนยังไงก็นำ โรงพยาบาลเอกชนเอาเทคโนโลยีมาใช้เยอะมาก เช่น AI เรื่องการแพทย์ หรือเครื่องฟังเสียงเต้นของหัวใจที่ตอนนี้ทำงานเหมือนอัลตราซาวด์ไปในตัว ดังนั้นถ้าเอกชนมีศักยภาพก็เอามาใช้เลย เอกชนต้องนำรัฐ


14. ตอนนี้เราจะไปทางไหน


ความไว้ใจ (Trust) ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลก็เป็นแบบนี้ บรรยากาศของความคึกคักทางเศรษฐกิจก็ไม่มี ทำให้จุดแข็งของเรากลายเป็นจุดอ่อน คือ เรามี Creativity Skill แต่เราจะทำอย่างไรให้มันกลายเป็น Global Skill อีกเรื่อง คือ เกษตร เราจะเอา AI Robot เขาไปหาชาวบ้าน อาจทำ Robot การเกษตรประจำหมู่บ้าน เรามีคนรุ่นใหม่เก่งมากมาย ต้องเอามาสุมหัวคิดในทางสร้างสรรค์ จะทำแบบเดิมไม่ได้

15. แก้ปัญหาปลาใหญ่กินรวบปลาเล็ก


สมัยก่อนเศรษฐีไทยมีเงินแต่ไม่มีความรู้ พี่โทนี่เลยเป็นมดที่ลอดขายักษ์มาได้ ดังนั้นเราควรจะทำตัวเป็น “Low Profile High Profit” ที่สำคัญคือ รัฐต้องเข้ามาช่วยสร้างความเป็นธรรม ต้องปกป้องธุรกิจขนาดเล็ก มีนโยบายปกป้องตนเองในเวทีโลก ต้องต่อรองเป็น ตอดเล็กตอดน้อยอย่าไปโลภ ประเทศใหญ่จะได้ไม่รู้สึกเสียอะไรมากแต่เราได้ อย่างจีนเราสู้เขาเรื่องการผลิตไม่ได้ ถ้าเราจะสู้ เราต้องใช้ Creativity เข้าสู้ รัฐต้องช่วยคนไทย อย่ามัวเกรงใจจีน เพราะตลาดเราเล็กกว่าเขา


#มีปัญหาปรึกษาโทนี่


#คิดเคลื่อนไทย

ขอบคุณข้อมูล เพจเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย