วัดพลังภายในสินเชื่อเงินสด เจอแข่งเดือด-กดดอกเบี้ยต่ำ – กรุงเทพธุรกิจ

25 พฤษภาคม 2564 | โดย รมย์รัมภา เริ่มรู้

3,622

ประกาศออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าการทำ “สงคราม” ในตลาดสินเชื่อเงินสดเกิดขึ้นหลัง”ธนาคารออมสิน” ประกาศร่วมมือกับ  “เงินสดทันใจ” หั่นดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์เหลือ 0.49 % (หรือ 11 % ต่อปี) 

ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ถูกที่สุดเป็นประวัติการณ์สำหรับอุตสาหกรรมนี้เลยก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้หลังออมสินได้ลงทุนในเงินสดทันใจ ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD  ด้วยการถือหุ้น 49%  ด้วยเม็ดเงิน 1,500 ล้านบาท นั้น ก็มาพร้อมการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในอัตราดอกเบี้ย 18 % ต่ำกว่าท้องตลาดที่คิดในอัตราดอกเบี้ย 20 % จากเกณฑ์กำหนดไม่เกิน 24 %  และหากเป็นบริษัทนอกตลาดหุ้นบางรายมีสิทธิ์ได้เห็นดอกเบี้ยไปถึง 30-35 %

หลังจากนั้นเริ่มทยอยประกาศกลยุทธ์ใหม่อีกสเต็ปด้วยการรับจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ อัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่น 3 เดือนแรกที่ 0.69% ต่อเดือน  หรือ 14.99% ต่อปี   จนล่าสุดลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ลงชั่วคราว เหลือเพียง 0.49% (หรือเท่ากับ 11% ต่อปี)

โดยมีเงื่อนไขโปรโมชั่น 2 เดือนนี้ (พ.ค.-มิ.ย.)จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษนี้ตลอดอายุสัญญา ซึ่งให้ลูกค้าที่ต้องการปลอดภาระหนี้ และรีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระดอกเบี้ยสัญญาเดิม   แน่นอนว่าการประกาศรอบล่าสุดจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเพราะออมสิน มีนโยบายชัดเจนตั้งแต่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้จะขยายบริการไปสู่จำนำทะเบียนรถยนต์ และสนใจจำนำทะเบียนบ้าน ที่ดิน อีกด้วย

เมื่อมีผู้เล่นรายใหม่แต่กลับมีพลังกำลังด้านฐานทุนที่สูงเข้ามาในตลาดพร้อมกับประกาศกดดันดอกเบี้ยให้ต่ำลงต่อเนื่อง   ย่อมหวังผลคือสามารถเพิ่มฐานลูกค้าเข้ามาอยู่ในพอร์ตให้ได้มากที่สุด แม้จะทำให้กำไรหายไปแต่การเพิ่มฐานลูกค้าทำให้บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น ที่สำคัญแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาปล่อยกู้ยังมีดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการรายอื่น

ทั้งนี้เปรียบเทียบกับ  3 รายใหญ่ในตลาดสินเชื่อเงินสดแล้วมีความได้เปรียบเสียเปรียบ จากการแข่งขันนี้ไม่น้อย รายแรกคือ SAWAD ที่ถือว่าอยู่ในจุดได้เปรียบมากกว่า 2 ราย เพราะเป็นผู้ร่วมทุนกับออมสิน   ซึ่งพอร์ตส่วนใหญ่จะเน้นไปที่จำนำทะเบียนบ้านและที่ดิน และรถยนต์ ส่วนรถจักรยานยนต์ถือว่ามีประมาณ 20 %  ของพอร์ต ทำให้ผลกระทบมีแต่ไม่มากและยังได้ลูกค้าใหม่ที่ร่วมกับออมสิน   

ขณะที่บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC  เป็นรายใหญ่เทียบกับ  2 รายจำนวนสาขา  4,798 สาขา แต่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากประเด็นดังกล่าว เนื่องจากปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ คือมอเตอร์ไซต์ รองลงมารถยนต์  ซึ่งหากเทียบกับฐานต้นทุนย่อมเสียเปรียบจากการออกหุ้นกู้ล่าสุดดอกเบี้ยอยู่ที่  2.9-3.5 %  

รวมทั้งการเป็นสแตนอโลนไม่มีสถาบันการเงินเข้ามาเป็นพันธมิตรทำให้มีความเสียเปรียบกว่ารายอื่น ดังนั้นต้องดูว่าจะกดดันทำให้ MTC ยอมลดดอกเบี้ยลงมาแข่งขันอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่เพราะจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM)ที่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 19 % ต้องลงมาอีก 

แต่ทั้งนี้กลยุทธ์การแข่งขันยังมีช่องทางให้ MTC สู้ได้อยู่เพราะการกดดอกเบี้ยลงมาของออมสินและเงินสดทันใจ เน้นลูกค้าที่มีเอกสารการเงินที่ดีและหากผิดนัดชำระเกิน 1 เดือน ดอกเบี้ยกลับไปอยู่ที่ 18 %  ทำให้คู่แข่งใช้ช่องทางนี้ทำกลยุทธ์ตอบโต้ได้

สำหรับรายสุดท้าย บริษัทเงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ที่พึ่งเข้าตลาดหุ้นมาได้ไม่นานพร้อมเม็ดเงินที่ระดมทุนไป 33,105 ล้านบาท  บวกกับมีสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จึงทำให้ไม่น่ากังวลใจในด้านต้นทุนแข่งขันกับรายอื่นไม่ได้ 

รวมทั้งพอร์ตลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถส่วนใหญ่ประมาณ  75-76% ของสินเชื่อทั้งหมด 50,000 กว่าล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มีทั้งรถยนต์  รถจักรยานยนต์   รถบรรทุก รถแทรกเตอร์และรถไถ  และที่เหลือโครงสร้างรายได้ยังกระจายไปยังสินเชื่อเช่าซื้อหรือลิสซิ่งรถบรรทุกมือสอง   และบริการนายหน้าประกันวินาศภัยรายใหญ่ในตลาด 

สิ่งที่น่ากังวลคือการขยายพอร์ตลูกค้าจะเป็นไปตามเป้าหมายได้แค่ไหนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง  และการกดกันดอกเบี้ยให้ลงมาต่ำให้ได้ ซึ่งสุดท้ายถ้ามีการปรับดอกเบี้ยลงมาจริงทั้งอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดผลต่อการคาดการณ์เติบโตเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย