ฟอร์ด ฟันธงตลาดรถฟื้น ปิกอัพแข่งดุ วางเป้าขาย โต30%

เผยแพร่:
  ปรับปรุง:
  

ฟอร์ด มองภาพบวกตลาดรถยนต์เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 คาดปีนี้ตลาดรวมแตะ 820,000-850,000 คัน ระบุตลาดปิกอัพยังไปได้สวย แม้การแข่งขันดุเดือดรุนแรง ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 40,000 คัน เติบโต 30% หลังจากปีที่แล้วหดตัวหนัก พร้อมเปิดตัวรถใหม่ FX4 MAX เจาะตลาดออฟโรด ด้านส่งออกเริ่มฟื้นตัว

นายวิชิต ว่องวัฒนาการ (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย

นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2563 นั้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มียอดขายลดลงไปอยู่ที่ระดับ 790,000 คัน จากระดับ 1,000,000 คัน ในปีก่อนหน้าอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า ตลาดรถยนต์นั่งนั้นได้รับผลกระทบมากกว่า โดยมียอดขายลดลงถึง 31% ขณะที่ตลาดรถปิกอัพหดตัวลงไปประมาณ 16% ซึ่งรถปิกอัพและพีพีวีของฟอร์ด ยอดขายรวมลดลงไปถึง 40% ปิดที่ 29,900 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 6.7%

“แม้ว่าตลาดเมื่อปีที่แล้วจะหดตัวอย่างรุนแรง แต่ช่วงปลายปีมีสัญญาณที่เป็นบวกมากขึ้น รวมถึงการที่ฟอร์ดเปิดตัวรถปิกอัพรุ่นใหม่กระตุ้นตลาดทำให้ยอดขายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้วและ 2 เดือนแรกของปีนี้มีการเติบโตดีขึ้น โดยมีแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 7.6% ในเดือนมกราคม และขยับเป็น 8% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เราตั้งเป้าหมายการขายทั้งแบรนด์ปีนี้ 40,000 คัน เติบโตราว 30% หรือครองส่วนแบ่งตลาดปิกอัพราว 10%” นายวิชิตกล่าว



สำหรับทิศทางของตลาดรถยนต์ แม้จะมีการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 แต่ผลกระทบน้อยกว่ารอบแรกอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการที่วัคซีนเริ่มกระจายฉีดแล้วทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงคาดหมายว่าตลาดรถยนต์รวมของไทยในปีนี้จะเติบโตขึ้นได้ราว 3-5% มาอยู่ที่ระดับ 820,000-850,000 คัน

นายวิชิตกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดปิกอัพยังสามารถเติบโตและครองส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับสูงได้ มาจากการที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ เปิดตัวรถปิกอัพรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกระตุ้นตลาดด้วยการอัดแคมเปญส่งเสริมการขายที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลดพิเศษและของแถม รวมถึงการขยายการรับประกัน

ทั้งนี้ ฟอร์ด มีการเปิดตัวรถปิกอัพรุ่นใหม่ เรนเจอร์ FX4 MAX ราคา 1,1890,000 บาท เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชื่นชอบรถสไตล์ออฟโรด เน้นการขับขี่แบบลุยๆ พร้อมกับช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์เรื่องของความแข็งแรงทนทาน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีส่วนช่วยให้ยอดขายเติบโตขึ้นได้ราว 10%



“การแข่งขันในตลาดปิกอัพเวลานี้ถือว่าดุเดือดที่สุด โดยเงื่อนไขของสถาบันการเงินยังคงปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อยอดขายมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก แม้ผู้บริโภคบางส่วนมีความต้องการใช้งาน แต่เมื่อเงื่อนไขทางการเงินไม่ผ่าน ทำให้ไม่สามารถออกรถใหม่ได้ ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่รอเวลาผ่อนคลายอยู่” นายวิชิตกล่าว

อนึ่ง สัดส่วนการขายของฟอร์ด แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือปิกอัพระดับบน ตั้งแต่รุ่นไวลด์แทร็ค ไฮ-ไรเดอร์ขึ้น มีสัดส่วนราว 23% ปิกอัพระดับกลางแชร์ราว 45% และส่วนที่เหลือเป็นระดับล่าง โดยมีการทำแคมเปญส่งเสริมการขายปรับราคารุ่น โอเพ่น แค็บ สปอร์ต จาก 689,000 บาท เหลือเพียง 599,000 บาท

ส่วนการกลับมาทำตลาดรถยนต์นั่งของฟอร์ด ในเวลานี้ยังไม่มีแผน แต่ถ้ามองไปที่ยุโรปจะเห็นรถยนต์นั่งของฟอร์ดมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหลากหลายรุ่น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ฟอร์ด มีความพร้อมในแง่ของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เพียงแต่รอเวลาและความพร้อมของตลาดเมืองไทย



“ฟอร์ด มีเทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้าพร้อมอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว หากตลาดเมืองไทยมีความพร้อมเมื่อใด รับรองว่า รถยนต์ไฟฟ้าของฟอร์ดมาแน่นอน ส่วนจะพร้อมได้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเพียงพอ ซึ่งยังไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ ดังนั้นหากต้องตอบคำถามเรื่องรถยนต์นั่ง ขอตอบว่า เวลานี้ยังไม่มีแผน” นายวิชิต กล่าว

ด้านการส่งออก ตลาดออสเตรเลียเริ่มฟื้นตัวส่งออกได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถระบุตัวเลขได้ โดยกำลังการผลิตทั้งหมดนอกเหนือจากการขายในประเทศจะเป็นการส่งออกทั้งสิ้น ซึ่งฟอร์ด ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์รุ่น เรนเจอร์ เพื่อส่งออกไปขายยัง 180 ประเทศทั่วโลก

ปัจจุบัน ฟอร์ด ประเทศไทย มีโรงงานผลิต 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานเอเอที มีกำลังการผลิตสูงสุด 135,000 คัน ต่อปี ส่วนอีกหนึ่งแห่งคือ เอฟเอ็มที มีกำลังการผลิตสูงสุด 180,000 คันต่อปี ผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศไทย และตลาดส่งออก โดยมีการผลิตปีละเกือบ 300,000 คัน