พลังเพจ..คนข่าว สายธารน้ำใจไทย – ไทยรัฐ

คนที่พูดก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูด ตรงนี้จะค่อยๆสร้างภูมิของสังคมในการรับสื่อเพราะวันนั้นเราคงไม่สามารถปฏิเสธการพูดของผู้คนได้อีกต่อไป แต่เราจะจัดการการกรอง การรับรู้อย่างไร ซึ่งก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว”

การใช้โซเชียลมีเดียของหมอก็ถือว่าหมอเป็นปุถุชนธรรมดาและแต่ละคนควรเอาความรู้ทางวิชาการของตัวเองมาบอกกล่าวสังคมอย่างกลั่นกรอง แน่นอนความเห็นเหล่านั้นย่อมมีมุมมองที่แตกต่าง แต่ใครนำเสนออะไรก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าเผยแพร่แล้วผิด ใส่ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง สังคมก็จะจัดการกับความเห็นนั้นเอง สำหรับ “เพจชมรมแพทย์ชนบท”…กว่าจะเขียนข้อมูลลงสักชิ้นต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างหนัก

เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สุด เราไม่ได้ปล่อยทุกวันเพื่อต้องการยอดไลค์ ไม่งั้นเราจะเสียหาย เราต้องการให้ข้อมูลที่ออกคือความจริงที่ใช่และสอดคล้องกับสถานการณ์ ตัดตอนมาจากบทสัมภาษณ์ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เรื่อง “หมอวิพากษ์บทบาทสื่อในภาวะวิกฤติ สิ่งที่ต้องถามในสถานการณ์โควิด ?” 30 ก.ค.64 “จุลสารราชดำเนิน” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ยุคโลกออนไลน์เบ่งบานเช่นนี้ แน่นอน “คนข่าว (ตัวจริง)” ไม่น้อยก็มีช่องทางสื่อสารในโลกออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ โดยมีเหตุผลเหมือนและต่างกันออกไปตามประสบการณ์ มุมมอง และข้อจำกัด

สื่อหลัก…ออนไลน์…ทีวี พุ่งเป้าเจาะประเด็นเล่นข่าวตามกระแส โดยเฉพาะเรื่องราวต่างๆในโลกโซเชียลมากเกินไป ผลทำให้ข่าวสารในพื้นที่ภูมิภาคไม่มีสนามให้ปล่อยของ ไม่มีช่องทางเผยแพร่สู่สาธารณะ

ครั้งหนึ่ง “ฉลาด สุ่มมาตย์” ผู้สื่อข่าวภูมิภาค ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบันอายุกว่า 70 ปีแล้ว ส่งข่าวเข้ามายังส่วนกลางแล้วไม่ได้ลง…เผยแพร่ เลยอัปลงเฟซส่วนตัว ปรากฏว่า…มีคนติดตามเพียบ หลังจากนั้นก็เริ่มใช้ช่องทางนี้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมาอย่างต่อเนื่อง นำเสนอทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ

คนข่าวลองผิดลองถูก ประสบความสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างตามเหตุปัจจัย แต่…ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วคือเพจ “คนข่าวบางปะกง” โดดเด่นเน้นเรื่องข่าวอุบัติเหตุ สังคมคนรากหญ้า

วันนี้เพจ “คนข่าวบางปะกง” มีผู้ติดตามกว่า 1.1 ล้านคน อานนท์ วานิชพงษ์พิเชฐ ผู้ก่อตั้งเล่าให้ฟังว่า เมื่อช่วงปลายปี 2558 รุ่นพี่ที่ทำงานของภรรยานั้นเกิดประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์แล้วทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่ต่างจังหวัด พอเราทราบข่าวก็พยายามเปิดเพจข่าวในจังหวัดที่เกิดเหตุหาเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งเพจของหน่วยกู้ภัย แต่ก็หา

ไม่เจอ ไม่มีใครลงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น กว่าจะหาเจอก็ผ่านไปสองวันแล้ว

แต่…ที่สำคัญคือรายละเอียดชื่อของคนเจ็บที่ลงผิดทั้งชื่อและนามสกุลมีเพียงรูปสภาพรถและทะเบียนที่พอจำได้ ทำให้ช่วงเดือนมกราคม 2559 ก็มานั่งปรึกษากับภรรยาว่าเราน่าจะทำเพจข่าวขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราว เน้นเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีทุกวัน ทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บ…บางครั้งระบุตัวตนไม่ได้ และตามหาญาติไม่เจอ อยากจะให้คนตายที่ไม่มีญาติได้กลับไปที่บ้านเพื่อทำพิธี ไม่อยากให้เป็นศพไร้ญาติ

ทว่า…การเปิดเพจไม่ใช่เรื่องง่าย ยังต้องมีการปรึกษาหารือเรื่องชื่อเพจ ที่จะตั้งใช้เวลาเกือบ 1 อาทิตย์กว่าจะได้ชื่อคนข่าวบางปะกงขึ้นมาเพราะในจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นมีเพจใหญ่อยู่แล้ว 2 เพจ คือ เรารักแปดริ้ว กับ ที่นี่แปดริ้ว…เราคงไม่ได้ไปแข่งอะไรกับเขา เพราะเราทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน

“สมาชิกเพจส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งแต่ก่อนไม่ค่อยมีใครรู้จักเรา และไม่เป็นที่สนใจ แต่พอเพจเริ่มโตขึ้น คนเริ่มรู้จัก เริ่มอยากรู้ว่าเราเป็นใคร เราได้รับความสุขที่เราได้ช่วยเหลือทั้งคนเจ็บ…เสียชีวิตทำให้ ได้เจอญาติ หรือจะเป็นการช่วยเหลือคนหลงทางจนได้กลับบ้าน ล้วนแต่ทำให้ใจเราอยากจะช่วยเหลือมากขึ้นๆ”

ตอนนี้มีทีมงานสนับสนุนตลอดเวลาหากพบเจอเคสที่อยากกลับบ้าน รถเสีย พลัดหลง เราสามารถส่งเขากลับบ้านได้ทันที ทั้งไลฟ์สดช่วยพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของไม่ได้ช่วงโควิด-19 ก็ทำให้เขากลับมาขายดี

ย้ายไปจังหวัดชายแดนใต้เพจ “@ชายแดนใต้” ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อทางเลือกหนึ่ง สะท้อนเสียงคนในพื้นที่ บอกเล่าเรื่องราว มุมมองอีกด้านหนึ่ง ที่พิสูจน์ข้อเท็จจริง ความสวยงาม ความเคลื่อนไหวและความเป็นไปในทุกมิติที่เป็นอยู่ ในดินแดนวัฒนธรรมอันหลากหลายและผู้คนหลากชาติพันธุ์

เน้นไปที่ข้อมูลความเป็นจริง ถูกต้อง เที่ยงตรง รวดเร็ว โดยมีพลังผลักดันจากกลุ่มนักสื่อสารมวลชนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่มานานทั้งจังหวัดปัตตานี, นราธิวาส และยะลา

สุไลมาน แวมามะ บอกว่า สื่อโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำสื่อสารยุคปัจจุบัน การสื่อสารยุคออนไลน์นั้นกว้างขึ้น และมากขึ้น ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ แต่ด้วยอาชีพสื่อมวลชน ต้องเป็นการถ่ายทอดในฐานะข้อมูลจากพื้นที่จริง มีความน่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมา คำนึงถึงสาระอันเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้รับสารทั้งหมด

ที่สำคัญ “นักสื่อสารมวลชน” ต้องตระหนักรู้ ตระหนักถึงผลลัพธ์ ผลกระทบในการสื่อสารข่าวสารข้อมูลในทุกๆด้านที่สื่อสารออกไปต้องเป็นประโยชน์และเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย

อีกเพจคนข่าวที่ดูแล้วให้อารมณ์อมยิ้ม “Boon Tuam” @ PhotoByKunjumpa หลากหลายเหตุการณ์เราๆท่านๆแม้ว่าจะได้ซึมซับผ่านภาพข่าวกระแสหลักไปแล้ว แต่อาจได้เห็นมุมมองอื่นๆแปลกตาแปลกใจได้อีกมาก สะท้อนเหมือนกับว่าสิ่งที่เห็นนั้นมองได้หลายมุม ก็จะทำให้รู้สึกถึงผลที่ออกมาต่างมุมเช่นกัน…

แคปชัน “ขนมกุยช่าย” กับหญิงชราคนหนึ่ง : ท่ามกลางการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการค้าขายสร้างรายได้ของคนที่ #ถนนเยาวราช : 20 กรกฎาคม 2564 #ล็อกดาวน์ #โควิด19 #BoonTuam #KunJumpa ย้ำว่า…ใครสนใจลองติดตาม เข้าไปดูกันได้ เพจ “Boon Tuam” ข่าวว่าเจ้าของเพจเป็นพ่อหนุ่มอารมณ์ดี นิสัยเรียบร้อย น่ารัก…ที่สำคัญโสดสนิทนะจ๊ะ

ปิดท้ายด้วยเพจ “สำนักข่าวนนท์” การันตีความจี๊ดด้วยสโลแกน “ไม่มีใครรู้เรื่องเมืองนนท์มากกว่าพวกเรา” สุรชัย ส้มฉุน แอดมินและผู้ร่วมก่อตั้ง เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาทำข่าวในพื้นที่มานาน 25 ปี มีแหล่งข่าวเป็นตำรวจ กู้ภัย และชาวบ้านคอยแจ้งเหตุไม่ชอบมาพากลให้ตลอด เรียกว่า…ชีวิตติดข่าว 24 ชั่วโมงแรงบันดาลใจในการทำเพจมาจากเห็นว่าเมืองนนท์เป็นปริมณฑล จึงมีลักษณะประชากรและความเป็นอยู่เหมือนใน กทม. ที่คนส่วนใหญ่หรือแทบจะทุกคนมีมือถือสามารถเป็นนักข่าวภาคพลเมืองได้

ที่สำคัญ…ทุกคนสนใจข่าวสาร จึงอยากเป็นสื่อกลาง ใครมีข่าวอะไร ก็แจ้งมาเราไปทำให้ ใครเดือดร้อนเราก็ช่วยประสานงาน ตำรวจหรือฝ่ายปกครองทำคดี เราก็นำเสนอให้ชาวบ้านได้รับรู้

“สำนักข่าวนนท์” เน้นข่าวอาชญากรรม กับทุกความเคลื่อนไหวในจังหวัดนนทบุรี ช่วงนี้ก็มีข่าวสถานการณ์โควิด ซึ่งมีคนอ่านติดตามพอสมควร ย้อนไปเมื่อหลายเดือนมาแล้ว ช่วงที่เพิ่งจะเปิดเพจได้แค่เดือนกว่าก็จริง…ยังไม่มีสปอนเซอร์ หรือผู้สนับสนุน แต่ควักเงินส่วนตัวรวมกับพี่ๆนักข่าวอาวุโส ช่วยกันออกค่าใช้จ่าย แต่ที่เราไม่ทำและไม่เคยคิดที่จะทำเลยก็คือ…“จ่ายเงินซื้อยอดไลค์ ยอดวิว” ให้เฟซบุ๊กถ้า “สำนักข่าวนนท์” จะได้รับความนิยมก็อยากให้นิยมด้วยตัวของเพจเอง อยากได้คนอ่านคนติดตามแบบธรรมชาติ…เราเริ่มมีคนติดตามแค่หลักพัน แล้วตัวเลขขยับขึ้นเรื่อยๆทุกวันจนขยับเป็นหลักหมื่น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลัง “สื่อออนไลน์”…พลังแห่งเทคโนโลยีมีผลกับสังคมปัจจุบัน.