ผู้ว่าฯกาญจน์ สั่งปิดหลายร้านในตลาดเชลยศึก พบฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี – ผู้ว่าฯ กาญจน์ สั่งปิดร้าน Camp Bar, ร้านสะพานดำ, ร้านเหล้าปั่น และพื้นที่ที่จัดให้มีการแสดงดนตรี ภายในร้านตลาดค่ายเชลยศึก หลังตรวจพบกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ลงนามในคำสั่งจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 1518/2565 เรื่อง สั่งปิดการประกอบการที่กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายร้าน Camp Bar, ร้านสะพานดำ ร้านเหล้าปั่น และพื้นที่ที่จัดให้มีการแสดงดนตรี ภายในร้านตลาดค่ายเชลยศึก ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ

โดยระบุว่า ด้วยอำเภอเมืองกาญจนบุรี รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 23.00 น. ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชนกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้เข้าทำการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิด จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายอัฒฐวุฒิ แก้วทอง ให้การว่าเป็นลูกจ้างของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบร้าน Camp Bar,

นายสายชล ชำนาญกุล ให้การว่าเป็นลูกจ้างของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบร้านสะพานดำ และนางสาวสุวิมล คำเงิน เจ้าของร้านเหล้าปั่น ซึ่งทั้งสามร้านดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่ในพื้นที่ของร้านตลาดค่ายเชลยศึก หมู่ที่ 4 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

โดยแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐาน “ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์, ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการส่งเสริมการขาย, ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด, ยุยงส่งเสริมเหนือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด

จำหน่ายสุราแก่เด็ก, จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุรา หรือบุหรี่แก่เด็ก, จำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต, ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 

ทั้งเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ข้อ 4(3)(2) วรรคสองและวรรคสี่ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2502

จังหวัดกาญจนบุรี พิจารณาแล้วเห็นว่า 1.การที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำการแถลงข่าวรวมทั้งชี้แจงผ่านสื่อโซเชียลว่าพื้นที่ซึ่งใช้เป็นตลาดค่ายเชลยศึกนั้นเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้มีการประกาศเชิญชวนให้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ เมื่อปี 2563 ขณะนั้น บริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยสูงสุด แต่ บริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไม่มาลงนามและชำระค่าเช่าต่างๆ การรถไฟแห่งประเทสไทยมีหนังสือลงวันที่ 5 เมษายน 2565 ให้ยกเลิกการได้ร้บสิทธิ์การเช่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นมา

พร้อมกับแจ้งให้บริษัท วั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ดำเนินการขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน พร้อมกับเรียกเก็บค่าใช้ประโยชน์ตั้งแต่วันใช้พื้นที่ด้วย ดังนั้น เมื่อไม่เคยมีสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ถือว่าบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไม่เคยได้รับสิทธิจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่ประการใด การที่พ่อค้า แม่ค้า รายอื่นๆ จะมีสิทธิในการเข้าไปขายของในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้จังหวัดกาญจนบุรี มิอาจก้าวล่วงอำนาจในการพิจารณาของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้

2.เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในบันทึกแจ้งจับกุม พบว่าสำเนาในอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 เล่มที่ 2565 เลขที่ 7021-64-812-01422 ซึ่งอนุญาตให้ บริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำการขายสุรา ณ ตลาดค่ายเชลยศึก บริเวณเคาน์เตอร์ร้าน Camp Bar โดยไม่พบใบอนุญาตขายสุราของผู้ประกอบการรายอื่นในพื้นที่ของร้านตลาดค่ายเชลยศึก ประกอบกับคำให้การของ นายอัฒฐวุฒิ แก้วทอง ผู้ดูแลรับผิดชอบร้าน Camp Bar และนายสายชล ชำนาญกุล ผู้ดูแลร้านสะพานดำ ให้การว่า ตนเป็นลูกจ้างของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และในกรณีของ นางสาวสุวิมล คำเงิน เจ้าของร้านเหล้าปั่น ซึ่งเข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ตลาดค่ายเชลยศึกโดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่จาก บริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า นางสาวสุวิมล คำเงิน เจ้าของร้านเหล้าปั่น ประกอบกิจการโดยอาศัยสิทธิ ของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของร้านตลาดค่ายเชลยศึก และบริษัทฯ ได้ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการจำหน่วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์จำนวน 46 ราย และจัดให้มีการแสดงดนตรี จึงเป็นสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายสถานบริการของสถานประกอบการดังกล่าวในทำนองเดียวกันกับสถานบริการ ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 เพื่อยับบั้งพฤติกรรมมที่ไม่เหมาะสมของเยาวชน

โดยมิต้องคำนึงถึงว่าจะมีสถานที่ตั้งแน่นอนเหมือนกับสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ดังนั้น ข้อโต้แย้งของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ว่า บริษัทฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ใช้ร้านตลาดค่ายเชลยศึกเพื่อเปิดเป็นสถานบริการ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของร้าน Camp Bar ห้ามจำหน่ายสุราให้แก่เด็กอายุต่ำกว่ายี่สิบปีโดยเด็ดขาดนั้นไม่อาจรับฟังได้

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 วรรคสอง แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ประกอบกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลงวันที่ 15 มกราคม 2502 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี จึงสั่งปิดร้าน Camp Bar ร้านสะพานดำ และร้านเหล้าปั่น และพื้นที่ที่จัดให้มีการแสดงดนตรีในร้านตลาดค่ายเชลยศึก ที่อยู่ในความดูแลของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และห้ามมิให้เปิดสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งให้เป็นที่สุด

ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ข้อ 4 วรรคห้า ทั้งนี้ หากบริษัท วิชั่น อินสเป็ตเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 สั่ง ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565