“บิ๊กเด่น” กำชับตำรวจทั่วประเทศป้องกันปราบปรามเด็กแว้นอย่างเด็ดขาด – สยามรัฐ

วันที่ 14 ม.ค.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ได้จัดให้มีการประชุมศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ระดับ รอง ผบก. – สว. ในหน่วยต่างๆ จึงต้องสร้างความเข้าใจและกำชับการปฏิบัติกับผู้ที่มารับหน้าที่ใหม่ทุกนาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการแข่งรถในทาง การขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น และมอบนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก้ไขปัญหาการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและนโยบายการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางฯ ให้มีประสิทธิภาพ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะการจับกุมเท่านั้น ยังเน้นการป้องกันเหตุและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ของกลุ่มเด็กแว้น หรือเด็กที่ยังมีทัศนคติ หรือมีค่านิยมที่ผิดๆ ให้เลิกพฤติกรรมขับขี่แข่งรถ จับกลุ่มแว้น ขับขี่กวนเมือง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังคมรังเกียจ ให้กลับกลายมาเป็น ทรัพยากรบุคคล ที่มีค่าของสังคมและประเทศชาติ

จากการขับเคลื่อนนโยบายของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ตร.(ศปข.ตร) ได้รับความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนในการแจ้งเบาะแส ผ่านช่องทางต่างๆ เป็นจำนวนมาก ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งป้องกันเชิงรุก ปราบปราม ขยายผล และเฝ้าระวัง ส่งผลให้การปฏิบัติมีสถิติลดลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยสถิติการรับแจ้งเหตุของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191, 1599 และศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. จากเดิมมีสถิติการรับแจ้งเหตุทั่วประเทศมากกว่า 1,000 รายต่อเดือน ณ ปัจจุบันเหลือการรับแจ้งเหตุทั้งประเทศไม่ถึง 500 รายต่อเดือน โดยล่าสุดเดือนธันวาคม 2564 ล่าสุดเหลือยอดการรับแจ้งเหตุเพียง 350 ราย และส่วนใหญ่จะเป็นการแจ้งเหตุขับรถส่งเสียงดังก่อความเดือดร้อนรำคาญ การรับแจ้งเหตุจากประชาชนในเรื่องการรวมตัวเพื่อแข่งรถในทางแทบจะไม่มีแล้ว

ในส่วนของการแข่งรถบนทางด่วนเฉลิมมหานคร เมื่อวันที่ 10 ม.ค.64 ที่ปรากฏตามสื่อ Social Media ว่ามีการแข่งกันจำนวน 100คัน ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 อยู่ในอำนาจสอบสวนของ บก.จร. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด ขณะนี้ พนักงานสอบสวน บก.จร. ได้รับรายงานสืบสวนจาก บก.สส.บช.น ซึ่งทำการสืบสวนทางโซเชียล เก็บภาพจากกล้อง CCTV และสืบสวนจากพยานข้างเคียงในที่เกิดเหตุแล้ว พบว่ามีการขับรถแข่งกันบนทางด่วนจริงๆ ประมาณ 20 กว่าคัน อยู่ระหว่างออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี โดยในวันนี้ (14 ม.ค.64) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามตัวผู้ที่ร่วมกระทำความผิดจาก 11 รายที่มีข้อมูลจากการสืบสวน มาดำเนินคดีได้แล้ว จำนวน 1 ราย โดยได้แจ้งข้อหา “แข่งรถในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น และขับรถประมาทหวาดเสียว” ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ร่วมกระทำผิดทั้งหมดนอกจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบแล้ว จำนวน 11 ราย และรวมถึงการดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 9(2) ซึ่งห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะทำการยึดรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำผิด เพื่อเสนอให้ศาลสั่งริบรถยนต์ของกลางทั้งหมด และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน นอกจากนี้แอดมินเพจที่โพสต์ชักชวน และผู้ที่มารวมกลุ่มมาดูการแข่งขัน จะมีความผิดฐานสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทางด้วย ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากับผู้ที่ทำการแข่งรถในทาง และหากผู้กระทำผิดเป็นเด็กหรือเยาวชน บิดามารดาหรือผู้ปกครองจะถูกเรียกตัวมาเพื่อว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บนและวางข้อกำหนด หากเด็กหรือเยาวชนมากระทำผิดซ้ำบิดามารดา หรือผู้ปกครองจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2556 มาตรา 26(3), 78 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งรัดติดตามตัวมาดำเนินคดีทั้งหมด

ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าผู้ที่ร่วมกันกระทำผิดในครั้งนี้จะถูกเรียกมาดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งหมด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สั่งการให้ บช.น. รับไปดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางมาตรการป้องกันเหตุแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพยายาม ให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปจากสังคมไทย จึงยังต้องการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว คนใกล้ชิด และสถาบันการศึกษา ต้องค่อยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในการแจ้งข้อมูลเบาะแสเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสได้ทางสายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 และส่งคลิปวิดีโอแจ้งข้อมูลเบาะแสที่เกี่ยวข้องให้ตำรวจทราบ ในช่องทางเพจ เฟซบุ๊ก ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร

โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงมีนโยบายมอบเงินค่าตอบแทนการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดให้แก่ประชาชน ผลการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนบุคคลภายนอกผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร ประชาชนส่งข้อมูลเบาะแสการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง รวม 7,897 ราย ประสงค์ขอรับเงินค่าตอบแทนและเข้าข่ายได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวน 1๙ ราย ซึ่งเบิกจ่ายค่าตอบแทนฯ ให้กับผู้แจ้งเบาะแสทั้ง 19 รายแล้ว เป็นเงิน 57,000 บาท