‘NCAP’ผนึก’COM7’ ปี65จ่อลุยบริการสินเชื่อใหม่ – กรุงเทพธุรกิจ

“เน็คซ์แคปปิตอล” แย้มเตรียมจับมือคอมเซ่นคลอดบริการสินเชื่อใหม่ ณ จุดขาย ในต้นปี 65 ด้านรายได้ปีนี้มั่นใจโตตามเป้า 15% ดันพอร์ตสินเชื่อแตะ 4,800 ล้าน คุมหนี้เสียไม่เกิน 2% แม้โควิดฉุดความสามารถลูกค้าชำระหนี้และรถมอเตอร์ไซด์ขาดตลาด

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าราว 75,000 – 80,000 ล้านบาท ถือเป็นตลาดใหญ่และ มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต ที่สามารถหาโอกาสต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติม

ล่าสุด บริษัทได้ขยายความร่วมกับบริษัทคอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ในรูปแบบให้บริการสินเชื่อใหม่ ณ จุดขาย ผ่านช่องทางสาขาของคอมเซเว่นที่มีกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ ทำให้เข้าถึงลูกค้าหลากหลายขึ้นและช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนกลยุทธ์ร่วมกัน คาดชัดเจนในต้นปี 2565

affaliate-1

พร้อมกันนี้ จะเดินหน้าเข้าสุ่ธุรกิจฟินเทคอย่างเต็มตัว มุ่งเจาะฐานลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ที่มีอยู่กว่า 200,000 ราย เพื่อขยายไปยังธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ถึง 7 เท่า  และมีแผนขยายไปยังธุรกิจไฟแนนซ์อื่นๆ คาดชัดเจนภายในปี 2565 เจาะฐานะลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบกว่า 15 ล้านคน

นอกจากนี้ บริษัทมีโอกาสตั้งบริษัท ย่อย ติดตามทวงถามหนี้  ซึ่งปัจจุบันมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนี้อยู่แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจบริหารหนี้ (AMC) ว่าจะก้าวไปเต็มตัวได้หรือไม่ เพราะมีผู้เล่นในระดับหนึ่แล้ว  ส่วนผลกระทบจากพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ใหม่ที่คิดค่าทวงถามหนี้ลดลง จะเริ่มในไตรมาส 4 ปีนี้  ซึ่งปัจจุบันบริษัทเก็บอยู่ค่อนข้างต่ำแล้ว ทำให้ส่งผลกระทบกับรายได้ของบริษัทจำกัด คาดไตรมาส 4 ปีนี้เทียบปีก่อนจะกระทบรายได้ลดลงไม่ถึง 1% และทั้งปีคาดลดลงไม่ถึง 0.2% เท่านั้น 

นายปุณณมาศ กล่าวว่า บริษัทมั่นรายได้ปีนี้ยังคงเติบโต 15% ตามเป้า จากปีก่อนมีรายได้ที่ 1,141.40 ล้านบาท โดยมีพอร์ตสินเชื่อรวมที่ 4,700-4,800 ล้านบาทในปีนี้ จากครึ่งแรกปีนี้อยู่ที่ 4,400  ล้านบาท เติบโตได้ดี  

ถึงแม้แนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ ได้ส่งผลกระทบการผลิตและส่งมอบในตลาดรถจักรยานยนต์ล่าช้า คาดจะกระทบยอดปล่อยสินเชื่อของบริษัทบ้างในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่เชื่อว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะกลับมาเร่งตัวได้หากการแพร่ระบาดโควิด-19ดีขึ้น

ขณะเดียกันบริษัท คาดว่าในปีนี้จะมีลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือตามมาตรการของธปท. โดยเฉพาะการชำระหนี้บางส่วน ซึ่งมีระยะเวลา 3 เดือน (เดือน ส.ค.-ต.ค.2564) ในระดับเดียวกับปีก่อนราว 6,000 ราย อีกทั้งบริษัทใช้ระบบเอไอมาช่วยพิจารณาสินเชื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งให้ยอดอนุมัติสินเชื่อสูงขึ้นมากกว่า 10% และยังมีความเสี่ยงที่รับได้ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้ปัจุบันบริษัทหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับกว่าตลาดที่ 1.4% ยังอยู่ในแผนคุมไว้ไม่เกิน 2% ในปีนี้

affaliate-3