“ไม่ออกกำลังกาย” หมอเตือนระวังหัวใจเหี่ยวลีบ ควร”เดิน”วันละกี่ก้าว?

นพ.ธีระวัฒน์ เตือน “ไม่ออกกำลังกาย” ระวังหัวใจเหี่ยวลีบ-เล็ก-วาย พร้อมแนะวิธีป้องกันควร “เดิน” อย่างน้อยวันละกี่ก้าว

นพ.ธีระวัฒน์ เตือน “ไม่ออกกำลังกาย” ระวังหัวใจเหี่ยวลีบ-เล็ก-วาย พร้อมแนะวิธีป้องกันควร “เดิน” อย่างน้อยวันละกี่ก้าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอธีระวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ  “ขาดการออกกำลัง… หัวใจเหี่ยวลีบ เล็ก วาย หมอดื้อ”

โดยระบุว่า ปกติแล้ว เราสนใจแต่การที่มีหัวใจโต ไม่ว่าจะตรวจจาก การเอกซเรย์ปอดซึ่งดูรูปพรรณสัณฐานของหัวใจได้ จวบจนกระทั่งการดู เอคโค่ หัวใจ (echocardiogram) ที่บอกขนาด ความหนาของผนังหัวใจ และแรงดันในช่องต่างๆจนกระทั่ง ความผิดปกติของการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ

ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้นำไปสู่สภาวะหัวใจวาย โดยที่การบีบตัวของหัวใจห้องล่างไม่เพียงพอ หรือน้อยเกินไปที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายได้ทำให้เกิด อาการเหนื่อย น้อยๆ ก่อน จนมากเหลือเกิน ที่อยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย และมีน้ำคั่ง เกิดน้ำท่วมปอด รวมถึงหัวใจห้องขวาอ่อนแอและเกิดการบวมกดบุ๋มตามขา ตามแข้ง นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวไม่ดีด้วย

ทั้งหมดนี้ แต่ก็เป็นเพียงผลตามที่สะสมมาเนิ่นนานจากโรคเมตาบอลิค อ้วนลงพุง ความดันสูง ไขมัน และมลพิษ ทั้งหลาย จนเกิดมีเส้นเลือดตีบในอวัยวะต่างๆรวมทั้งหัวใจและสมอง เป็นต้น แต่เรื่องที่จะเล่าวันนี้ ดูจะเป็นเรื่องที่พบมานานแล้ว แต่อาจไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ จนกระทั่งมีรายงาน ในวารสารของวิทยาลัย โรคหัวใจของอเมริกา (Journal of the American College of Cardiology) เมื่อวันที่ 5 กันยายนปี 2022 นี้เอง

ผู้รายงาน มาจากสถาบันวิจัยทางหัวใจของออสเตรเลีย และชี้ให้เห็นประเด็น ของหัวใจวายอีกกลุ่มที่ดูเหมือนว่าการบีบตัวของหัวใจห้องล่างทางด้านซ้ายจะยังดูปกติ แต่ขนาดของหัวใจเล็กลง ดังนั้น เมื่อหัวใจเล็กลง แต่ละครั้งที่หัวใจบีบตัว ก็จะส่งเลือดได้ น้อยลงมาก เช่น เหลืออยู่เพียง 60 ซีซี ดังนั้นการที่จะทำให้ได้ปริมาณถึงนาทีละ 9 ลิตร เพื่อทำให้ทั้งมีชีวิตอยู่ได้และต้องสามารถออกกำลังได้ไม่หอบมาก หัวใจดวงนั้น ก็ต้องเต้นเร็วขึ้นมาก กลายเป็น เต้นนาทีละ 150 ครั้ง แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เปรียบเสมือนกับรถบรรทุก แต่ใช้เครื่องมอเตอร์ไซค์ขนาด 50 ซีซี และทนงานไม่ไหว

ประเด็นสำคัญก็คือ การที่มีหัวใจเล็ก เกิดเนื่องจากการขาดการออกกำลังเรื้อรัง หรือ ที่เรียกว่า chronic exercise deficiency และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มหัวใจวายที่สัดส่วนของการบีบตัว ของหัวใจห้องล่าง ยังดูเหมือนปกติ ที่ชื่อ heart failure with preserved ejection fraction (HFpEF) และทำให้ความฟิตความอึด เวลาที่ออกแรงหรือออกกำลังกาย เริ่มน้อยถอยลงตามลำดับ

ในปัจจุบัน มีข้อพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า การออกกำลังจะช่วยประสิทธิภาพ ที่เมื่อมีการเคลื่อนไหว ออกแรง จะเพิ่มความอึดขึ้น (cardiorespiratory fitness) โดยที่การออกกำลัง จะทำให้เนื้อเยื่อหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม การบีบตัวแต่ละครั้ง (stroke volume) จะได้ปริมาณเลือดที่ดี และเมื่อคิดปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายในเวลา 1 นาที ก็เพียงพอ และแถมยังมี อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายในขณะออกกำลังสูงขึ้น จึงทำให้อึดขึ้น ทนขึ้น เป็นเงาตามตัวไป

และแน่นอนเมื่อขาดการออกกำลังเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน ผลที่ได้จะเป็นตรงกันข้าม หน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งนี้ เมื่ออายุมากขึ้น หัวใจจะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมและแข็งขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งไม่ได้ออกกำลังมาเลย ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่วัยกลางคน ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้ากลับตัวแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถปรับสภาพได้

การศึกษาในปี 1968 ที่ชื่อว่า Dallas Bed Rest Studies ได้ทำการทดสอบผลของการที่นอนอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ 21 วันหลังจากนั้น ตามด้วยการออกกำลังสองเดือน ที่มีรูปแบบและแบบแผนชัดเจน รวมทั้งมีการประเมินความสมบูรณ์ของหัวใจและระบบหายใจในการใช้ออกซิเจนสูงสุด

หลังจากที่ไม่ทำอะไรนอนเฉื่อยอยู่บนเตียง พบว่าส่งผลกระทบ ทำให้การทำงานของหัวใจลดน้อยถอยลง และประสิทธิภาพขณะออกกำลังด้อยลงอย่างน่าใจหาย อย่างไรก็ตามการออกกำลังแบบแอโรบิค สามารถที่จะทำให้การทำงานในระบบที่กล่าวมาทั้งหมด กลับมาคืนดีได้ภายในระยะเวลา 15 ถึง 30 วัน โดยเป็นที่สังเกตว่าอาสาสมัครที่ไม่ค่อยจะมีลักษณะของนักกีฬาเท่าไหร่ กลับมีประสิทธิภาพเพิ่มพูนขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ออกแนวนักกีฬาด้วยซ้ำ

และต่อมาอีก 30 ปี ได้มีการทดสอบอาสาสมัครเหล่านี้อีก ผลปรากฏว่า ลักษณะการด้อยลงของการใช้ออกซิเจนสูงสุดขณะออกกำลังมีระดับเหมือนกับตอนที่ให้นอนอยู่บนเตียงสามอาทิตย์ แสดงให้เห็นว่าความเฉื่อยแฉะ นิ่งเฉยไม่ค่อยเคลื่อนไหว แม้เพียงเป็นระยะเวลาสั้นๆ กลับส่งผลอย่างใหญ่หลวง

กลุ่มอาการหัวใจเล็กเนื้อหัวใจแข็ง น่าจะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ  ไปพร้อมๆ กับ กลุ่มที่มีหัวใจโต อ่อนตัว ฟลอปปี (floppy)

ทั้งนี้ ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างมีรากฐานมาจากพฤติกรรมเฉื่อยชา ทอดหุ่ย และเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว และแน่นอน สุขภาพกายที่ย่ำแย่ส่งผลไปอย่างแน่นอน ถึงสมองทำให้สมองเสื่อมเร็วกว่ากำหนดที่เคยเห็นกันที่อายุ 60

อย่างที่หมอเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า มีปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวเช่น พุงโต หรือ ความดัน หรือไขมัน หรือมีเส้นเลือดตีบ ทำให้สมองเสื่อมก่อนวัยได้อย่างแน่นอน

อ่านมาถึงตอนนี้ ลุกยืนและเริ่มออกกำลังเลยครับ เดินให้ได้ถึง 10,000 ก้าว ต่อวันอยู่ในที่ทำงาน เดินไปได้ประมาณ 4000 – 5000 ก้าว เดินต่อให้ครบ ตากแดดด้วยจะยิ่งดีใหญ่ และใกล้มังสวิรัติ ลดแป้ง ทานปลาได้จะเยี่ยมที่สุด

สบายสมอง ธีระวัฒน์

YouTube EP6 รอดชะตากรรมจากสมองเสื่อมต้องทำอะไรบ้าง”

ที่มา ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

ภาพจาก AFP