'ไทยซัมมิท' ยักษ์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โหมลงทุน ตปท. มองตลาดอีวีไทย ยังต้องใช้เวลา

‘ไทยซัมมิท’ ยักษ์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โหมลงทุน ตปท. มองตลาดอีวีไทย ยังต้องใช้เวลา

น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิทฯ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผยถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีว่า สำหรับประเทศไทยคงต้องใช้เวลา 4-6 ปี ถึงจะเห็นการเพิ่มขึ้นของตัวเลขรถอีวีอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้น ซึ่งปี 2565 ยอดมีแล้วจากผู้ผลิตที่ใช้สิทธิลดภาษีนำเข้าจากรัฐบาล และต้องเริ่มผลิตในปี 2566 อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2566 ยังคงมีเพิ่มขึ้น และคาดหวังจะมีหลายยี่ห้อเข้ามาผลิตในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ปัจจุบันยังมีปัญหาคนไม่มีเงินซื้อซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดรถอีวีเติบโต

ตลาดรถอีวีไทยยังต้องใช้เวลา

“การที่รถอีวีในไทยจะบูม สัดส่วนของยอดขายรถไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะตัวเลือกมากขึ้น มันเพิ่มขึ้นจากกำลังซื้อในกระเป๋าเรา การที่สัดส่วนรถอีวีจะมากขึ้น จนทำให้สัดส่วนรถสันดาปน้อยลงนั้น มองว่าต้องใช้เวลา 4 ปี เพราะรถยนต์ 1 รุ่น จะใช้เวลาขาย 4 ปี เพราะรถอีวียังไม่ใช่สัดส่วนหลักของไทย ซึ่งรถอีวีจะมีการแข่งขันเหมือนรถปิกอัพที่บ้านเราเริ่มขายกันช่วงแรกๆ และมีแบรนด์เยอะ” น.ส.ชนาพรรณกล่าว

น.ส.ชนาพรรณกล่าวว่า ในส่วนของตลาดรถอีวีเมื่อแต่ละแบรนด์เข้ามาเมืองไทย จะต้องการชิงความเป็นเจ้าตลาด หลังมีการทำตลาดไปสักระยะหนึ่งจะรู้ตัวผู้เล่นแล้วว่าผู้เล่นตัวไหนเป็นกองหน้า กองกลาง กองหลัง พอตลาดหายฝุ่นตลบจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น คนที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากเป็นใคร ตอนนี้เพิ่งเริ่มออกสตาร์ตแต่เชื่อว่าตลาดประเทศไทยเติบโตได้ดีในอนาคต

แฟ้มภาพ

เปิดแผนบุกตลาดทั่วโลก

“ไทยซัมมิทเรามีการผลิตชิ้นส่วนรถอีวีมากอยู่แล้วทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาและจีน ถ้าเกิดไทยมีเรื่องของการผลิตรถอีวีจำนวนมากๆ จริงๆ บริษัทสามารถนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาผลิตที่ไทยได้” น.ส.ชนาพรรณกล่าว

น.ส.ชนาพรรณกล่าวว่า โดยที่ประเทศอเมริกาบริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับเทสล่า ริเวียน (RIVIAN) และค่ายรถต่างๆ ซึ่งอเมริกามีความต้องการจะผลิตรถอีวีมากขึ้น ล่าสุดมีข้อเสนอมาให้บริษัทเสนอราคาและเตรียมตัวในการผลิตชิ้นส่วนให้บ้างแล้ว และบริษัทเพิ่งเริ่มขยายโรงงานอีกด้วย ส่วนที่ประเทศจีนเป็นตลาดมีรถอีวีหลายยี่ห้อมาก และมีหลายยี่ห้อที่เข้ามาให้บริษัทเสนอราคา ซึ่งก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ เพราะตลาดมันเยอะมาก บางรายอาจจะไม่คุ้มที่จะผลิตให้ จะเลือกรายที่มีความมั่นคง ซึ่งบริษัทเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ที่หลายผู้ผลิตมาจีบ

“การทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเราจะทำทั้งรถสันดาปและรถอีวี คงไม่จำเป็นว่าเราต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เพราะในลักษณะของตลาดรถยนต์ คนที่ชอบเครื่องยนต์ก็ชอบใช้รถยนต์ต่อไป เนื่องจากไทย เช่น รถปิกอัพยังเป็นฐานการผลิตเครื่องยนต์อยู่ดี แต่ว่ายี่ห้อใหม่ๆ อาจจะเป็นไฟฟ้าหรือไฮบริด ดังนั้น การทำตลาดก็ไม่จำเป็นต้องเลือก” น.ส.ชนาพรรณระบุ

น.ส.ชนาพรรณกล่าวว่า สำหรับแผนการทำตลาดรถอีวีในระยะสั้นในประเทศไทย ขณะนี้เริ่มมีค่ายรถยนต์ที่ใช้สิทธิลดภาษีนำเข้าเริ่มทำการผลิต และบริษัทกึได้เริ่มเข้าเสนอราคาและพูดคุยกับหลายค่ายแล้ว ส่วนต่างประเทศเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างจะได้รับความสนใจอย่างมาก โดยสหรัฐอเมริกาเริ่มคุยโมเดลใหม่ๆ ที่จะจัดตั้งโรงงาน ส่วนที่ประเทศอินเดียเริ่มจะคุยเรื่องมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ขณะที่ประเทศเวียดนามกับอินโดนีเซียตลาดยังเติบโตในส่วนของรถที่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งกลยุทธ์ในการไปทำตลาดต่างประเทศค่อนข้างหลากหลาย ไม่ได้จะไปมุ่งอีวีทุกประเทศ เพราะบางประเทศไม่ได้มีตลาดรองรับ แต่ก็ยังสามารถให้ไทยซัมมิทเข้าไปทำตลาดได้

“เราไม่ได้แยกเรื่องพอร์ตรถสันดาปกับรถอีวี แต่เราแยกในเรื่องของยอดขายที่มาจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นยอดขายอีวี เราไปอเมริกาเพื่อที่จะได้อีวีและเทคโนโลยี แต่เราไปบางประเทศที่อาจจะค่อนข้างช้ากว่าไทย เช่น อินเดีย เวียดนาม เพราะเราจะได้เอาเทคโนโลยีที่อาจจะเก่าแล้วสำหรับไทย เข้าไปทำตลาด เพราะอาจยังใหม่อยู่สำหรับประเทศเหล่านั้น” น.ส.ชนาพรรณกล่าว

น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิทฯ (แฟ้มภาพ)

ลุยตลาดมอ’ไซค์อินเดีย-เวียดนาม

น.ส.ชนาพรรณกล่าวว่า เนื่องจากถ้าเลือกไปแต่ประเทศที่มีอีวี สุดท้ายพอร์ตของบริษัทอาจจะไม่โตขนาดนี้ก็ได้ จึงต้องมีมิกซ์โปรดักส์ โดยคนอาจจะมองว่าไปลุยตลาดมอเตอร์ไซค์แล้วอาจจะไม่ว้าว แต่ในความไม่ว้าว อย่าลืมว่าเวียดนาม อินเดีย มีตัวเลขที่ว้าวมาก ซึ่งอินเดียมียอดผลิตรถมอเตอร์ไซค์ถึง 17 ล้านคัน ขณะที่ไทยผลิตอยู่ที่ 2 ล้านคัน หากบริษัทได้ส่วนแบ่งตลาด 1-2% ของเขาก็เท่ากับได้ตลาดไทยทั้งประเทศแล้ว สิ่งสำคัญคือเทคโนโลยีการผลิตก็ไม่ยาก ขณะที่อีวีกว่าจะผลิตได้แต่ละชิ้นก็แสนสาหัส

แนะรัฐดูแลต้นทุนการเงินเอสเอ็มอี

น.ส.ชนาพรรณยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในเรื่องนโยบายที่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในหลายๆ ธุรกิจที่ยังไม่เห็นความชัดเจน และความต่อเนื่องของการที่จะสนับสนุนภาคเอกชนไทย ถ้าวันที่ต่างชาติเข้ามามากอาจจะเป็นปัญหาถ้าเอกชนไทยไม่แข็งแกร่งพอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่น่าเป็นห่วงมาก

ขณะเดียวกันขอให้รัฐบาลดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่แม้จะหาเงินทุนได้แต่ต้นทุนยังสูง ดังนั้น รัฐบาลอาจจะต้องดูแลให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต่ำ ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ มีนโยบายการเงินออกมาก็จริง แต่มีกฎระเบียบมาก จนต้องถอดใจ หรือบางแห่งมีเงินกู้ซอฟต์โลนให้แต่มีจำนวนน้อยและหมดเร็ว

จี้ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเท่ากันทุกกลุ่ม

น.ส.ชนาพรรณกล่าวว่า ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ในส่วนของภาคธุรกิจไม่จำเป็นต้องให้ในอัตราที่เท่ากันหมด บริษัทขนาดใหญ่ที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ก็ให้มีต้นทุนการเงินที่สูง ส่วนเอสเอ็มอีต้องหาต้นทุนพิเศษให้ ซึ่งเวลาที่แบงก์มาบอกว่ายังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะมีบริษัทใหญ่ๆ ที่เอ็นจอยเพราะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ แถมแบงก์ยังนำเสนอให้ก่อน ส่วนเอสเอ็มอีต้องรอคิว ซึ่งรัฐบาลสามารถออกมาตรการที่ซับซ้อนและฉลาดกว่านี้ได้ ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องได้เท่ากัน