เดินหน้า'ชุมชนจักรยาน'


การรณรงค์ให้คนใช้จักรยานมากขึ้นแทนการขับขี่ยานพาหนะ นอกจากดีต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นต้นเหตุใหญ่ของสภาพอากาศที่แปรปรวน จนทำให้กรุงเทพฯ น้ำท่วมหนักในทุกวันนี้

มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อมเปิดโครงการ ”ชุมชนจักรยาน ลด CO2 ที่ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ติดกับสวนรถไฟ พื้นที่สีเขียวปอดคนเมือง เมื่อวันก่อน  ได้ทดลองให้คน 50 คน  ปั่นจักรยานในสวนรถไฟและเส้นทางโดยรอบ คนละ 4.5 กิโลเมตร  รวมระยะทาง 225 กิโลเมตร  พบว่า สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้เกือบ 37 กิโลกรัมคาร์บอน

จำรูญ  ตั้งไพศาลกิจ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย  กล่าวว่า กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองจักรยานในยุโรปอย่างโคเปนเฮเกน หรือเนเธอร์แลนด์เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นชุมชนจักรยานมีความเป็นไปได้มากกว่า ใช้พื้นที่แค่ 9 ตารางกิโลเมตร แต่ละวันเดินทางระยะสั้นด้วยจักรยานสบายๆ ปั่นไปตลาด ปั่นไปวัด ปั่นไปใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ชุมชนจักรยานในกรุงเทพฯ มีแล้ว เช่น ชุมชนบางใหญ่ที่มีความต้องการเดินทางด้วยจักรยานไปใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ชุมชนเตาปูน บางซื่อ บางซ่อน วงศ์สว่าง ชุมชนคลองสามวาตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว  ยังไม่รวมชุมชนคอนโดมีเนียมทำเลใกล้รถไฟฟ้า  เพราะปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ปั่นไกลๆ

นอกจากนี้ มีการวิจัยในเนเธอร์แลนด์ พบว่า คนใช้ระยะทางปั่นเฉลี่ย 3 กิโลเมตรต่อคนต่อวัน ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีในการปั่น  ฉะนั้น ถ้าจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นชุมชนจักรยาน จะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า

อย่างไรก็ตาม จะขับเคลื่อนไปให้ถึงจุดนั้นได้ ประธานมูลนิธิฯ แสดงทัศนะว่า ผู้บริหาร กทม. ต้องปรับปรุงและพัฒนาระบบจักรยาน ผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เฉพาะแค่ทำทางจักรยาน แต่ต้องมีจุดจอดจักรยานใกล้สถานที่สำคัญในชุมชน ตลาด สถานที่ราชการ สถานศึกษา หรือป้ายรถประจำทางใหญ่ๆ   รวมถึงคำนึงเรื่องความปลอดภัย ทำทางเท้าและผิวการจราจรให้ดี สนับสนุนการเดินทางด้วยจักรยาน ช่วยเพิ่มความปลอดภัยการสัญจร ตลอดจนติดตั้งกล้อง CCTV ป้องกันจักรยานหาย  มีการจัดทำทางลัด ทางเชื่อมต่อเพื่อที่ไม่ต้องขับไปไกล

“ ผลวิจัยชี้คน กทม.ไม่ใช้จักรยาน เพราะพื้นผิวจราจรไม่เรียบ รวมถึงกลัวจักรยานหาย  ชุมชนจักรยานจะเกิดขึ้นได้ต้องสร้างความตระหนักให้ผู้ขับขี่รถยนต์ใส่ใจผู้ใช้ถนนในรูปแบบอื่นๆ  รวมถึงจำกัดความเร็วการขับขี่ในเขตชุมชน เขตหมู่บ้าน เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ ไทยควรมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิคนใช้จักรยาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า กลุ่มล้อเดียว พาหนะทางเลือกเชื่อมการเดินทางในชุมชน เพื่อความปลอดภัยทุกคน เพราะอนาคตแนวโน้มคนใช้พาหนะทางเลือกเพิ่มขึ้น นายศานนท์ หวังบุญสร้าง รองผู้ว่าฯ กทม. เห็นด้วย  ถือเป็นเรื่องที่ดี “ จำรูญ กล่าว

การส่งเสริมชุมชนจักรยานทั้งใน กทม. และท้องถิ่นต่างๆ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า  ถ้าคนใช้จักรยานจำนวนมาก ไม่ใช่แค่มีสุขภาพดี ลดมลพิษอากาศ ลดโลกร้อน ลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมัน ค่าบริการมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ยังช่วยลดความแออัดการจราจร  ทุกวันนี้งานวิจัยระบุคน กทม.  มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ออกกำลังกาย ส่งผลเสียต่อร่างกาย เสี่ยงป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมมาปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน ส่งผลดีต่อหัวใจ สมอง ลดโอกาสป่วย

“ เราชวนใช้จักรยานในชุมชน ในย่าน พื้นที่เล็กๆ เริ่มด้วยจักรยานทั่วไป หรือจักรยานแม่บ้าน (City Bike) ในการปั่น ไม่ต้องหรูหรา จากนั้นค่อยขยายให้เต็มเมือง นอกจาก กทม. เรามี MOU  กับ  10 ท้องถิ่น ก่อนหน้านี้ รณรงค์การปั่นในชีวิตประจำวัน  อย่างอบต.ดงกลาง จ.พิจิตร ใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์มีการใช้จักรยานเดินทางในชุมชน แต่ละท้องถิ่นขับเคลื่อนจักรยานชุมชนในบริบทต่างกัน  เมื่อคุ้นชินกับการปั่นระยะใกล้แล้ว ก็จะปั่นในระยะไกลและระยะเวลานานขึ้น “ จำรูญ กล่าว

สำหรับโครงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชน ลดมลพิษ รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นการส่งเสริมให้ชุมชน เมือง เลือกการเดินทางระยะสั้น ในแต่ละวัน ด้วยจักรยาน ซึ่งเป็นบทบาทของท้องถิ่นที่จะต้องจัดการเรื่องการเดินทางและขนส่งเพื่อเมืองน่าอยู่และยั่งยืน เป้าหมายมุ่งลดปริมาณ CO2 ให้ได้มากกว่า 500,000 KgCO2e จาก 35 ชุมชนที่เข้าร่วม  ประกอบด้วย เทศบาลเมืองแกนพัฒนา จ.เชียงใหม่,เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย,เทศบาลตำบลปง เทศบาลตำบลเชียงม่วน จ.พะเยา จ.พะเยา,เทศบาลตำบลบัลลังก์ จ.นครราชสีมา,เทศบาลตำบลโพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด,เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์,เทศบาลตำบลพระแท่น จ.กาญจนบุรี,เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี และอบต.ดงกลาง จ.พิจิตร

10 ชุมชนจักรยานนำร่องต้องจัดทำแผนปฏิบัติการลด CO2  ปลายทางจะต้องนำไปสู่  “ระบบจักรยาน” ที่ต้องครอบคลุมการสร้างสภาพแวดล้อม/กายภาพที่เอื้อ ส่งเสริมให้เกิดกรบะวนการทางสังคม สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และตระหนัก เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล และมีกลไกความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาของแต่ละท้องถิ่นประมาณ 12 เดือน ดีเดย์แผนเดือนตุลาคมนี้

ระหว่างทางการทำงานของแต่ละท้องถิ่น สถาบันฯ จะทำหน้าที่เป็นทีมพี่เลี้ยง มีการเก็บข้อมูลและแสดงผลปริมาณ CO และระยะทางสะสมของแต่ละท้องถิ่น แข่งกันท้องถิ่นจะลด COได้มากที่สุด  ภารกิจชวนท้องถิ่นและชุมชนให้ใช้จักรยานลดมลพิษนี้ ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย     

ถือเป็นการเริ่มจากจุดเล็กๆ จากชุมชน หรือย่านขนาดเล็ก ซึ่งจะมีโอกาสสำเร็จและเป็นไปได้มากขึ้น ที่สำคัญช่วยจุดดกระแสให้คนกทม. ชุมชน ย่าน และท้องถิ่นอื่นๆ ตื่นตัวเดินทางด้วยจักรยานในระยะสั้น

เพิ่มเพื่อน