อุบัติเหตุสะสม ตาย 263 ศพ ตัวเลขปีใหม่ 5 วัน ชนวน “ซิ่ง-เมาขับ”

อุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่ยังเกิดต่อเนื่อง ศปถ. เผยวันที่ 5 ช่วง 7 วันอันตราย ตาย 40 ศพ รวมดับสะสม 263 ศพ บาดเจ็บสะสม 1,938 ราย เชียงรายเป็นแชมป์ตายที่ 13 ศพ ส่วน “นราธิวาส-บึงกาฬ-พังงา-ยะลา-สตูล-สุโขทัย” ยังแข็ง ยอดตายเป็นศูนย์ พบสาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุ ขับรถเร็ว ตามด้วยเมาแล้วขับ อธิบดี ปภ.ย้ำแต่ละจังหวัดคุมเข้มการใช้ความเร็ว ส่วนการดำเนิน คดีเมาแล้วขับ ยอดสะสม 5 วัน พุ่งไป 4,613 คดี “ร้อยเอ็ด-นนท์-เลย” สะสมสูงสุดกว่าสองร้อยคดี

หลังหมดเทศกาลฉลองปีใหม่ 2566 แต่ยังอยู่ในช่วงของการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่กินระยะเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2565-4 ม.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 ม.ค.2566 เป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 294 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 295 คน ผู้เสียชีวิต 40 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.73 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.13 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.40 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 79.59 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.41 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.31 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01-01.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี

นายบุญธรรมกล่าวอีกว่า จากการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,880 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 55,861 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 397,459 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 57,635 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 16,783 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 16,320 ราย ขับรถเร็วเกินกำหนด 7,394 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (17 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ (5 ราย) ขณะที่อุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.65-2 ม.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,960 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,938 คน ผู้เสียชีวิตรวม 263 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช และสกลนคร (จังหวัดละ 65 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (70 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (13 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส บึงกาฬ พังงา ยะลา สตูล และสุโขทัย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเส้นทางสายหลักจะยังคงมีปริมาณการจราจรหนาแน่นในบางจุด ศปถ.เน้นย้ำให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนต่อเนื่อง เข้มงวดควบคุมการใช้ความเร็วที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ทั้งนี้ ศปถ.ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” เพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

ด้านนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ (2 ม.ค.2566) มีจำนวน 316 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 313 คดี คิดเป็นร้อยละ 99.05 และคดีขับเสพ 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.95 เนื่องจากศาลส่วนใหญ่ปิดทำการ สำหรับยอดรวมสะสม 5 วัน ที่มีการควบคุมเข้มตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2565-2 ม.ค.2566 มียอดสะสม จำนวน 4,824 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 4,613 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.63 คดี ขับรถประมาท 11 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.23 และคดีขับเสพ 200 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.14 หากเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติในวันที่ห้าที่มีการคุมเข้ม พ.ศ.2565 และ พ.ศ.2566 พบว่าคดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ.2565 จำนวน 2,425 คดี และ ปี พ.ศ.2566 มีจำนวน 313 คดี ลดลง 2,112 คดี จังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ร้อยเอ็ด 255 คดี นนทบุรี 252 และเลย 245 คดี

ส่วนการเดินทางของประชาชนหลังหมดช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ 2566 จากภูมิภาคต่างๆมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงยังคงมีต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดวันที่ 3 ม.ค. ปริมาณรถบนถนนพหลโยธิน หมายเลข 1 ถนนทางหลวง หมายเลข 117 และถนนเลี่ยงเมืองหมายเลข 122 ยังคงมีมาก เนื่องจากหลายคนต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองนครสวรรค์ ตั้งแต่ทางแยกนวมินทร์ สี่แยกพหลโยธิน สามแยกอุทยานสวรรค์ สี่แยกสะพานเดชาติวงศ์ การจราจรค่อนข้างมาก รถเคลื่อนตัวได้ช้า ตลอดระยะทาง 4 กิโลเมตร ทำความเร็วได้เพียง 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเมื่อพ้นเขตตัวเมืองนครสวรรค์ไปแล้ว สามารถใช้ความเร็วได้ตามปกติ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนครสวรรค์ ยังคงเปิดการเดินรถแบบสามเฟสในจุดทางแยกพหลโยธินและแยกเดชาติวงศ์ พร้อมทั้งเปิดช่องทางพิเศษบนสะพานเดชาติวงศ์เพื่อรองรับการเดินทางให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับบนถนนสาย 304 ตั้งแต่เขตพื้นที่รอยต่อจากพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เข้าพื้นที่ อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ และ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี มีการจราจรหนาแน่นตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงลงเขาโทน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงนาดีต้องเปิดช่องทางพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อระบายรถให้สามารถเดินทางลงเขาได้มากขึ้น จากการเปิดช่องทางพิเศษบนเขาโทน ส่งผลให้ปริมาณรถพื้นที่ด้านล่างมีปริมาณรถมากขึ้นตามไปด้วย แต่ยังสามารถเคลื่อนตัวได้สลับกับหยุดนิ่ง และจะมีรถติดสะสมมากในช่วงแยกสัญญาณไฟแดง ตั้งแต่สีแยกบ้านโคก สี่แยกสามทหาร ไปจนถึงสามแยกคลองรั้งและสามแยกระเบาะไผ่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

สำหรับถนนมิตรภาพ ตลอดวันจนถึงค่ำ ยังมีคนเดินทางกลับต่อเนื่อง ทำให้รถราเต็มถนนเช่นเดิม ช่วงก่อนถึงต่างระดับเขาใหญ่ รถหนาแน่น เคลื่อนตัวได้ช้าสลับหยุดนิ่ง ขณะเดียวกันมีอีกหลายเส้นทาง อาทิ เส้นทางพิเศษ ขามทะเลสอ-หนองสาหร่าย (มอเตอร์เวย์-M6)/เส้นวงแหวนกาญจนาภิเษก (ทล.9) ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก (มอเตอร์เวย์-M9) เส้นบางปะกง-บางนา(ทล.34) เส้นเพชรบุรี-ราชบุรี-นครปฐม (ทล.4)-ตลิ่งชัน (ทล.338) การจราจรคล่องตัว