ระหว่างทางมีเรื่องเล่า 12 ชั่วโมงบนรถทัวร์สาย 522 บุรีรัมย์-จันทบุรี – ผู้จัดการออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่อยากทำ คือการ “นั่งรถทัวร์ข้ามภาค” โดยหนึ่งในนั้นคือการนั่งรถทัวร์ระหว่างภาคอีสานกับภาคตะวันออก โดยไม่ผ่านกรุงเทพมหานคร

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน มีโอกาสมาเยือนจังหวัดจันทบุรีเพียงช่วงสั้นๆ ขากลับสังเกตเห็นรถทัวร์ข้ามภาค อาทิ สาย 340 จันทบุรี-นครราชสีมา, สาย 522 จันทบุรี-บุรีรัมย์ หรือสาย 638 แม่สอด-ตราด และ พิษณุโลก-ระยอง-ตราด

เลยมีความคิดว่า สักวันหนึ่งก็อยากนั่งรถเมล์ข้ามภาคอยู่บ้าง เผื่อว่าเส้นทางที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น จะได้บอกเล่า เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับคนที่จะเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ หรือคนที่ไม่มีรถส่วนตัว

ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมา รถทัวร์สาย 522 บุรีรัมย์-จันทบุรี มีรถให้บริการวันละ 3 เที่ยว ต่อมามีรถเพียงวันละ 2 เที่ยว ทราบว่าเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คนเดินทางน้อยลง อีกทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

แนะนำว่าก่อนวันเดินทาง โทร. สอบถามที่เบอร์ 095-623-8984 หรือเช็กที่เฟซบุ๊ก “รถบุรีรัมย์-จันทบุรี”

ปกติการเดินทางจากบุรีรัมย์ไปจันทบุรีโดยรถทัวร์ ใช้เวลาประมาณ 8-9 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 280 บาท แต่เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล การจราจรติดขัด โดยเฉพาะช่วงบุรีรัมย์ถึงนางรอง และช่วงละหานทรายถึงตาพระยา

กลายเป็นว่าเมื่อถึงปลายทาง พบว่ากินเวลาถึง 12 ชั่วโมง แต่ระหว่างทางย่อมมีเรื่องเล่า เพราะฉะนั้นจะเล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมาว่าได้พบเห็นอะไรบ้าง โดยเฉพาะเส้นทางที่ไม่เคยไป ไม่เคยพบเห็นมาก่อน



เนื่องจากว่าการเดินทางครั้งนี้ เราแวะไปที่จังหวัดศรีสะเกษก่อน เพราะฉะนั้นจะต้องมาที่บุรีรัมย์ เพื่อไปขึ้นรถอีกครั้ง เส้นทางอีสานใต้ ระหว่างตัวเมืองนครราชสีมา ถึงตัวเมืองอุบลราชธานี เร็วที่สุดคือทางรถไฟ

ขบวนรถเร็วที่ 136 อุบลราชธานี-กรุงเทพ มาถึงสถานีศรีสะเกษเวลา 08.07 น. ถือว่าล่าช้าเล็กน้อย แอปพลิเคชัน D-Ticket การรถไฟแห่งประเทศไทย ช่วยแก้ปัญหาไม่มีเวลาซื้อตั๋วรถไฟที่สถานี แม้การใช้งานจะสับสนไปบ้าง

ในวันนั้นมีรถโดยสารต่อพ่วงหลายคัน เพื่อรองรับคนที่เดินทางกลับกรุงเทพฯ รถที่เรานั่งคือคันที่ 16 ซึ่งต้องไปขึ้นเกือบถึงปลายสถานี จากศรีสะเกษถึงบุรีรัมย์ ค่าโดยสาร 59 บาท วันนั้นผู้โดยสารถือว่าหนาแน่นพอสมควร

ตอนนั้นเกือบเส้นยาแดงผ่าแปด เพราะรถไฟมาถึงสถานีบุรีรัมย์ 10.25 น. อีกเพียง 5 นาที รถทัวร์รอบ 10.30 น. จะออกจากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ตอนนั่งรถไฟทำใจไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว ถ้ารอบนี้ไม่ทัน ต้องไปรอบบ่ายสองโมง

ลงจากรถไฟไม่รอช้า รีบขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปสถานีขนส่ง ปรากฎว่าถึงสถานีขนส่งแล้ว รถกำลังจะออกพอดี มอเตอร์ไซค์ช่วยโบกรถให้ เลยขึ้นรถได้ทัน คนขับรถให้เราเอากระเป๋าเดินทางไว้ใต้ท้องรถ แล้วขึ้นไปนั่งข้างบนให้เรียบร้อย

รถออกจากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ 10.33 น. ด้วยความรู้สึกคอแห้งและปวดปัสสาวะ เพราะไม่ได้เข้าห้องน้ำเลย สักพักคนขับรถจอดรถข้างทาง และเก็บเงินค่าโดยสาร ถ้าจะลงจันทบุรี จ่าย 280 บาท

แม้ระยะทางจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ไปยังสถานีขนส่งนางรอง จะไม่ถึง 60 กิโลเมตร แต่การจราจรติดขัดบนถนนบุรีรัมย์-นางรอง ก่อนถึงแยกถนนหัก ยาวหลายกิโลเมตร และต้องฝ่ารถติดที่ตัวอำเภอนางรอง สรุปเสียเวลาไป 2 ชั่วโมง

ศาลารอรถแยกตะโก อ.เฉลิมพระเกียรติ คนที่มาจากสุรินทร์รอขึ้นรถที่นี่

รถออกจากสถานีขนส่งนางรอง กับจำนวนผู้โดยสารพอสมควร รู้สึกแปลกใจตรงที่กลับรถแล้วตรงไปทางเดชอุดม นึกในใจว่าขึ้นรถผิดคันหรือเปล่า ก่อนที่จะพบว่ารถเลี้ยวขวาที่ “แยกตะโก” ไปทาง อ.เฉลิมพระเกียรติ

ตอนนั้นมีเพื่อนร่วมทางมานั่งข้างเราด้วย ถามว่ามาจากไหน เขาตอบว่ามาจากสุรินทร์ ขึ้นรถมาลงที่แยกตะโกเพื่อรอรถจันทบุรี จะไปลงที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นทางผ่านก่อนที่รถจะลงไปยังจันทบุรี

จากแยกตะโก ผ่านตัวอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ก่อนเข้าทางหลวงชนบท ตรงไปยังอำเภอละหานทราย ถนนสองเลนทำความเร็วไม่มากเท่าไหร่ ผ่านไป 45 นาที ถึงอาคารที่จอดรถรับส่งผู้โดยสาร เทศบาลตำบลละหานทราย

จุดนี้นอกจากจะมีรถทัวร์บุรีรัมย์-จันทบุรีมาจอดแล้ว ยังมีรถทัวร์สาย 579 นครราชสีมา-ครบุรี-ละหานทราย มาจอดรับ-ส่งผู้โดยสารอีกด้วย รถจะผ่านปะคำ เสิงสาง ครบุรี โชคชัย สิ้นสุดที่สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา (บขส.ใหม่)

ทีแรกไม่รู้ว่า “ละหานทราย” หมายถึงอะไร แห้งแล้งเป็นทะเลทรายหรือเปล่า ด้วยความสงสัยจึงไปค้นหาดู พบว่ามาจากคำว่า “ละหาน” หมายถึงสภาพที่ราบลุ่ม และ “ทราย” คือเนื้อทราย เป็นสัตว์จำพวกกวางชนิดหนึ่ง

ว่ากันว่าเมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะเนื้อทราย แต่ปัจจุบัน มีการรวมถนนสายรองมารวมกันเป็นถนนสาย 224 จาก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ไปยังแยกหินโคน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์

รถออกจากละหานทราย มุ่งหน้าไปทาง ถนนสาย 2120 ส้มป่อย-ละหานทราย ซึ่งบางช่วงกำลังขยายเป็นถนน 4 เลน ระยะทาง 6 กิโลเมตร เพื่อรับรถจากละหานทรายไปยังอำเภอโนนดินแดง ทำให้รถมากเคลื่อนตัวช้า

ถนนสายนี้ก่อสร้างช่วงบ้านส้มป่อย-บ้านหนองกราด 6 กิโลเมตร สิ้นสุดสัญญาเดือนพฤศจิกายน 2565 เทศกาลปีใหม่ปีหน้า รถที่มาจากทางสุรินทร์ กาบเชิง พนมดงรัก บ้านกรวด ละหานทราย จะไปโนนดินแดง คงจะสะดวกขึ้นมาบ้าง

มาถึง อ.โนนดินแดง รถจอดส่งผู้โดยสารที่หน้าเซเว่นอีเลฟเว่น โนนดินแดง ก่อนที่จะตรงไป ผ่าน “อนุสาวรีย์เราสู้” และบึงหนองบอน ก่อนจะถึงบ้านหนองเสม็ด ซึ่งเป็นด่านตรวจ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาคตะวันออกที่ช่องเขาตะโกต่อไป

อนุสาวรีย์เราสู้

จากประวัติ ถนนสายตาพระยา-ละหานทราย ระยะทาง 57 กิโลเมตร โครงการเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2513 เพื่อเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา

แต่สมัยนั้นมี “ฝ่ายคอมมิวนิสต์” ต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งถนนสายนี้ตัดผ่าน “เขตอิทธิพล” ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่อต้านขัดขวาง ทั้งวางทุ่นระเบิด ดักซุ่มยิง โจมตีหน่วยทหารที่คุ้มกันแคมป์ก่อสร้าง

ในปี 2517-2521 ฝ่ายคอมมิวนิสต์โจมตีอย่างรุนแรง ทำให้พลเรือน ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เสียชีวิต ชาวบ้านในพื้นที่ทนไม่ไหวจึงรวมพลต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์จนสำเร็จ

เหตุการณ์นี้มีประชาชน เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร รวม 108 คน บาดเจ็บ 222 คน พิการ 25 คน ยานพาหนะและเครื่องมือก่อสร้างเสียหาย 23 คัน การก่อสร้างผ่านไป 5 ปี 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ

27 สิงหาคม 2522 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง “อนุสาวรีย์เราสู้” โดย กอ.รมน.บุรีรัมย์ ร่วมกับข้าราชการและชาวบุรีรัมย์ร่วมกันจัดสร้างขึ้น ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” มาใช้เป็นชื่ออนุสาวรีย์แห่งนี้ ซึ่งวันที่ 27 สิงหาคมของทุกปี จะเป็นวันรำลึกและบำเพ็ญกุศล



ปัจจุบันมีการรวม ถนนนางรอง-ปะคำ, ถนนปะคำ-โนนดินแดง มารวมกันกับ ถนนอรัญประเทศ-ตาพระยา กลายเป็น “ถนนสาย 348” ทางหลวงแผ่นดินสายรองประธาน ระยะทางรวม 140 กิโลเมตร

กว่า 40 ปีที่ถนนสายนี้รับใช้คนบุรีรัมย์ จังหวัดอีสานใต้ และภาคตะวันออก โดยไม่ต้องไปอ้อมไกลถึง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ช่วงที่มีปริมาณการจราจรมากที่สุดคือ “ช่องเขาตะโก” ปี 2563 มียานพาหนะเฉลี่ยกว่า 12,000 คันต่อวัน

ที่ผ่านมาถนนช่วง อ.นางรอง (บริเวณวัดหัวสะพาน) ถึง อ.ปะคำ ส่วนใหญ่เป็นถนน 4 เลน ก่อนที่จะลดเหลือ 2 เลน ถึงแยกส้มป่อยเลี้ยวขวา เข้าเขตเทศบาลตำบลโนนดินแดง ถนนเริ่มเป็น 4 เลน ก่อนจะกลับมาเป็น 2 เลนอีกครั้ง

เมื่อผ่านบ้านลำนางรอง ก่อนถึง ด่านตรวจหนองเสม็ด ถนนเริ่มเป็น 4 เลน ถึง กม. 80+700 จะเป็นจุดพักรถ ในช่วงเทศกาลรถติดมาก เจ้าหน้าที่จะแบ่งแถวออกเป็น 4-5 แถว เพื่อทยอยปล่อยรถเข้าสู่ด่านช่องตะโก

ช่วงนั้นติดอยู่ตรงนั้นนานเกือบ 1 ชั่วโมง กระทั่งเจ้าหน้าที่ให้แถวของเราเข้าด่านช่องตะโกได้ ถนนหดตัวเหลือ 2 เลนแคบๆ เข้าเขตจังหวัดสระแก้ว ต้องเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ เนื่องจากเป็นทางลงเขา ด้านขวาจะมีเหวลึก

หนำซ้ำในวันนั้น ระหว่างทางมีรถทัวร์เลนตรงข้ามจอดเสีย โดยมีเจ้าหน้าที่กำลังให้ความช่วยเหลือ ทำให้รถติดไปถึงด่านโคกอีโด่ย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ยาวเหยียด 3-4 กิโลเมตร

ที่ผ่านมาช่องเขาตะโกเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงและเป็นข่าวบ่อยครั้ง เพราะเป็นเส้นทางลงเขา ไม่มีไหล่ทาง คันทางแคบ ลาดชัน คดเดี้ยว ส่วนใหญ่รถโดยสารและรถบรรทุกเบรกแตก มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

และเนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา ซึ่งเป็นหนึ่งใน “พื้นที่มรดกโลก” ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ การขยายถนนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย



เลยช่องเขาตะโกมาแล้ว จะเจอกับวงเวียนเล็กๆ ถ้าจะขับรถไปจังหวัดสระแก้ว เลี้ยวขวาไปตามป้ายบอกทาง อีก 94 กิโลเมตร จากนั้นถนนยังคงเป็น 2 เลน แต่ก่อนถึงแยกบ้านโคกเพร็ก อ.ตาพระยา ก็เจอรถติดอีก

สาเหตุเพราะในช่วงเทศกาล หน่วยงานด้านความมั่นคงจะเปิด “ด่านช่องตากิ่ว” จาก อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ลงมายังบ้านทับทิมสยาม 03 ผ่านตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา บรรจบที่ แยกโคกเพร็ก เพื่อระบายรถจากภาคอีสานลงมา

ถนนสายนั้นเคยเป็น สนามทุ่นระเบิดสมัยสงครามกัมพูชา อยู่ระหว่างการเก็บกู้ของเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 เพราะฉะนั้น ระหว่างทางจึงห้ามลงจากรถ เพราะพื้นที่ตรงนั้นมีทุ่นระเบิดตกค้าง

ผ่านแยกโคกเพร็กไปแล้ว จะเข้าเขตตัวอำเภอตาพระยา แวะส่งผู้โดยสารก่อนออกจากตัวอำเภอ ช่วงนี้ยังเป็นถนน 2 เลน จากนั้นเมื่อเข้าเขต อ.โคกสูง กำลังก่อสร้างเป็นถนน 4 เลน ยาวไปถึง อ.อรัญประเทศ ที่จะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้

17.50 น. รถแวะส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งอรัญประเทศ จุดนี้จะได้เห็นรถทัวร์และรถตู้จากกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง ก่อนหน้านี้เคยคึกคักเพราะใกล้ตลาดโรงเกลือ แต่หลังจากโควิด-19 บรรยากาศก็ซบเซา

ออกจากตัวอำเภออรัญประเทศ ไปตามถนนสุวรรณศร สักพักรถทัวร์แวะเติมน้ำมัน ด้วยความที่ไม่ได้ทานอะไรมาเลย 7 ชั่วโมง จึงทำธุระส่วนตัวและคว้าขนมรองท้องไปก่อน เพราะการเดินทางยังไม่สิ้นสุด



รถทัวร์แวะจอดส่งผู้โดยสารที่ อ.วัฒนานคร ก่อนเข้าสถานีขนส่งสระแก้วตอน 1 ทุ่ม ได้เห็น รถทัวร์สาย 340 ราชสีมา-จันทบุรี-ตราด อยู่ข้างๆ แต่รถสายนี้จะไปเส้นกบินทร์บุรี ปักธงชัย ช่วงนั้นคนเริ่มเงียบลงบ้างแล้ว

จากนั้นรถจะเลี้ยวขวาไปตาม ถนนสาย 317 สระแก้ว-จันทบุรี ท่ามกลางความมืด แต่ถนนช่วงนี้ 4 เลน จึงทำความเร็วได้เรื่อย ๆ ผ่าน อ.เขาฉกรรจ์ อ.วังน้ำเย็น ผ่านวงเวียนสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น (ชาวบ้านเรียกว่า สี่แยกคลองหาด)

เมื่อผ่านโรงพยาบาลวังสมบูรณ์ ถนนก็เริ่มก่อสร้างขยายเป็น 4 เลน เมื่อเข้าสู่บ้านแม่น้ำ จะมีทางขนานด้วย ก่อนที่ถนนจะเหลือ 2 เลนขึ้นเขาแหลม เข้าเขต อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ถึงด่านตรวจเขาแหลม ตอนนั้นเวลา 20.20 น.

ช่วงนี้กำลังก่อสร้างยาวไป ตั้งแต่บ้านเขาแหลม ยัน อ.โป่งน้ำร้อน ยาวกว่า 40 กิโลเมตร รถทัวร์ทำความเร็วได้ไม่ดีนัก ต้องคอยระวังทางเบี่ยงเป็นระยะ ขณะที่เวลาก็มืดค่ำแล้ว อาหารมื้อหนัก ๆ ก็ยังไม่ตกถึงท้อง

ถนนสาย 317 จันทบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 147 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างชายฝั่งทะเลตะวันออกไปดินแดนอีสานใต้ มีปริมาณการจราจรช่วง “เขาแหลม” ปี 2563 มียานพาหนะเฉลี่ย 16,000-18,000 คันต่อวัน

ปัจจุบันเป็นถนน 4 เลน ช่วงสามแยกปากแซง-โป่งน้ำร้อน 44 กิโลเมตร ช่วงโรงพยาบาลวังสมบูรณ์-สระแก้ว 50 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง 3 ช่วง คือ ช่วงโป่งน้ำร้อน-สอยดาว 21.15 กิโลเมตร ขยายสัญญาถึงเดือนมีนาคม 2566

ช่วงสอยดาว-เขาแหลม ตอน 1 ยาว 16.65 กิโลเมตร สิ้นสุดสัญญาเดือนเมษายน 2566 และช่วงสอยดาว-เขาแหลม ตอน 2 ยาว 6 กิโลเมตร สิ้นสุดสัญญาเดือนกันยายน 2565

ผ่าน อ.โป่งน้ำร้อนไปแล้ว ถนนเริ่มดีขึ้นมาหน่อย อีก 36 กิโลเมตรจะถึงถนนสุขุมวิทแล้ว ระหว่างทาง จะเป็นทางขึ้นเขา ลงเขา ช่วงเขาเกลือ ต้องใช้ความระมัดระวังอยู่บ้าง ผ่าน อ.มะขาม กระทั่งถึง สามแยกปากแซง ถนนสุขุมวิท

ตอนนั้นยามค่ำคืนเงียบสงัด ห้างค้าส่งอย่างแม็คโครก็ปิดแล้ว ทุกอย่างอยู่ในความเงียบงัน รถเลี้ยวขวาแยกเกาะรงค์ เข้าถนนท่าหลวง ข้ามคลองภักดีรำไพ แม่น้ำจันทบุรี เข้าสู่สถานีขนส่งจันทบุรี เวลา 22.10 น.

สถานีขนส่งจันทบุรีช่วงสี่ทุ่มเงียบมาก ตัวสถานีปิดไฟทั้งหมด แต่โชคดีที่สนามกีฬาฝั่งตรงข้ามจัดงานกาชาดพอดี เกือบ 12 ชั่วโมงในวันนั้น อาหารมื้อแรกจบลงที่ส้มตำ ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ให้หายหิวไปข้าง



การเดินทางในวันนั้นทำให้รู้ว่า เส้นทางเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกกับอีสานใต้ กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และจังหวัดพื้นที่อีอีซี (EEC)

โดยเฉพาะ ถนนสาย 317 ที่หากแล้วเสร็จตลอดสายในเดือนเมษายน 2566 จะช่วยให้การเดินทางจากจันทบุรีถึงสระแก้ว ตลาดโรงเกลือ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเป็นถนน 4 เลน จะช่วยทำความเร็วได้ดีระดับหนึ่ง

ส่วนช่วงที่ยังรอการพัฒนาต่อไป คือ ถนนสาย 348 ช่วงสระแก้ว-ช่องเขาตะโก-บุรีรัมย์ ซึ่งที่ผ่านมามียานพาหนะเข้ามาใช้เส้นทางจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ที่คนแถบภาคตะวันออกนิยมใช้เส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด

ปัญหาก็คือ “ช่องเขาตะโก”อยู่ในพื้นที่มรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ผ่านมากรมทางหลวงมีโครงการขยายถนน 4 เลน ตั้งแต่วงเวียนบ้านใหม่ไทยถาวร ถึงเขื่อนลำนางรอง ซึ่งต้องผ่านเขาช่องตะโก

น่าเสียดายที่ชาวสระแก้วทวงถามแล้ว ปรากฏว่า “คณะกรรมการมรดกโลก”มีมติไม่เห็นชอบให้ขยายถนนช่วงช่องเขาตะโก 3 กิโลเมตร เพราะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัทที่ปรึกษาอาจจะยังไม่สมบูรณ์

โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า-ป่าไม้ และระบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และให้ทบทวนการก่อสร้างด้วยการพิจารณาเส้นทางอื่นแทน ซี่งคนสระแก้วมองว่า อย่าว่าแต่ตัดถนนใหม่เลย ขยายถนนเดิมก็ไม่ได้แล้ว

อ่านข่าวประกอบ : กมธ.สระแก้วชี้ข้ออ้างมรดกโลกทำช่องเขาตะโกหมดโอกาสขยายถนน จนเป็นที่มาฉายา “ถนน 100 ศพ”

ไม่รู้ว่ากรมทางหลวงพอจะมีทางออกเรื่องนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการทำ “ทางเชื่อมผืนป่า” ซึ่งเคยทดลองทำมาแล้วบนถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ไม่รู้ว่าพอจะนำมาประยุกต์ใช้กับช่องเขาตะโกได้หรือเปล่า?

หากปล่อยให้ช่องเขาตะโกยังเป็นเช่นนี้ โดยที่ไม่ขยับขยายอะไรเลย นอกจากจะต้องเจอรถติดในช่วงเทศกาลแล้ว อุบัติเหตุที่นำมาซึ่งความสูญเสียก็จะไม่มีวันจบสิ้น