บจ.-ไฟแนนซ์ เปิดสงครามสินเชื่อ.!

ที่ผ่านมาแม้ธุรกิจสินเชื่อนอนแบงก์โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) และลีสซิ่ง (Leasing) จะมีแรงกระเพื่อมจากหน่วยงานภาครัฐกดดันเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่มีไอเดียกระฉูดจะคุมเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 15% ต่อปี เพื่อหวังลดภาระผู้ที่มีรายได้น้อย

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ยังเตรียมคุมเข้มสินเชื่อเช่าซื้อ และลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์รายย่อย เพื่อหวังแก้หนี้นอกระบบมาซ้ำเติมอีก

แต่ในมุมของธุรกิจไม่ได้ทำให้ตลาดนี้วาย หรือลดความน่าสนใจลงแม้แต่น้อย…นั่นอาจเป็นเพราะด้วยความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ทำให้ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ส่งผลให้ตลาดนี้กลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ (มูลค่าตลาดรวมราว 4.81 แสนล้านบาท) ที่ใคร ๆ ก็หมายปองหวังเข้ามาแบ่งเค้ก…

ประกอบกับดอกเบี้ยสินเชื่อนอกระบบค่อนข้างสูง ซึ่งที่ผ่านมามักมีข่าวฉาวการทวงหนี้โหดของเจ้าหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงกระตุ้นให้คนหันหาสินเชื่อในระบบมากขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้เกิดมูฟเมนต์ที่น่าสนใจ..!! อย่างกลุ่มที่ทำอยู่แล้ว ก็ขยับเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC จากเดิมมีแค่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ก็ขยับไปทำจำนำทะเบียนรถ ภายใต้ชื่อ “KTC พี่เบิ้ม” รวมทั้งสินเชื่อลีสซิ่ง ในนามบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด…

ด้านบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ทั้งขยายสินเชื่อใหม่ และต่อเติมสินเชื่อเดิม เช่น จับกับแบงก์ออมสิน เพื่อลุยปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ, แตกไลน์ไปปล่อยกู้เครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ “ศรีสวัสดิ์ เดอะพาวเวอร์” ล่าสุดจับมือกับกลุ่ม ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล เพื่อปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น

ฟากบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ก็ไม่อยู่เฉย แตกไลน์ไปสู่ธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อน “ซื้อก่อน ผ่อนที่หลัง” ในนามบริษัท เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ จำกัด เน้นปล่อยสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์ไอที อาทิ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เป็นต้น

บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK ลีสซิ่งภูธร ซึ่งพอร์ตหลักจะเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อเช่าซื้อรถแลกเงิน ก็ไปจับมือกับพันธมิตรรุกไปปล่อยสินเชื่อโดรนเพื่อการเกษตร

ส่วนบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ของ “กลุ่มพรประภา” จากเดิมมีแค่สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ เมื่อต้นปีมานี้เพิ่งได้ 2 ไลเซนส์ใหม่ เป็นสินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งจะนำร่องด้วยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “ทีเค รถแลกเงิน” เน้นให้ปล่อยกู้กับลูกค้าปัจจุบันของ TK ที่ผ่อนชำระรถจักรยานยนต์ครบแล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีประวัติการชำระที่ดี

ด้านบริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH ก็เพิ่งขยับขยายไปสู่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อว่า “มีรถ มีเงิน”

บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ซึ่งหลัก ๆ โตมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ก็มีแผนจะให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านระบบดิจิทัล (Digital Personal Loan) เช่นกัน

ส่วนกลุ่มที่ไม่เคยทำมาก่อน…ทนความเย้ายวนของตลาดนี้ไม่ไหว ต้องขอร่วมวงแจมด้วย ก็มีบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ซึ่งเดิมขายหมู ขายไก่อยู่ดี ๆ ก็กระโดดสู่สมรภูมินี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยการให้บริษัทลูกในนาม บริษัท มันนี่ ฮับ เซอร์วิส จำกัด รุกปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน “มันนี่ฮับ” วงเงินสูงสุด 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยที่ 2.08% ต่อเดือน สามารถเลือกผ่อนได้ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน

รายล่าสุดเป็นบริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM ซึ่งทำธุรกิจเครือข่าย หรือขายตรง ก็เตรียมแตกไลน์มาสู่ธุรกิจลีสซิ่ง ภายใต้ชื่อบริษัท จัดให้ ลีสซิ่ง จำกัด โดยจะแปรฐานสมาชิกที่กว่า 1.6 แสนคนให้เป็นลูกค้า นำร่องโดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง ก่อนจะขยับขยายไปสู่จำนำทะเบียนรถจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในลำดับถัดไป

เอาเป็นว่า ใครจะเป็นผู้ชนะในสมรภูมินี้..อันนี้ไม่รู้ แต่ที่รู้คงเห็นการแข่งขันที่ดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้น..ซึ่งสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์มากสุด ก็คงเป็นผู้บริโภคนั่นแหละ..!?

…อิ อิ อิ…