น็อนแบงก์ไม่กังวล “ล็อกดาวน์” แข่งชิงตลาด “จำนำทะเบียนรถ” ครึ่งปีหลัง – ประชาชาติธุรกิจ

รถยนต์
Photo by Mladen ANTONOV / AFP

น็อนแบงก์จ้องชิงตลาดจำนำทะเบียนรถครึ่งปีหลัง สบโอกาสแบงก์กังวลเอ็นพีแอลเข้มปล่อยสินเชื่อ “MTC” ประเมิน “ล็อกดาวน์” ไม่ฉุดความต้องการสินเชื่อ คาดทั้งระบบปีนี้โต 15% ขณะที่ “KTC” คาด “น็อนแบงก์” แข่งดอกเบี้ยเดือด ฟาก “เงินเทอร์โบ” รุกขยายสาขาเพิ่มอีก 120 แห่ง ชะลอให้กู้ “กลุ่มเปราะบาง”

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) กล่าวว่า ประเมินว่าความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในช่วงไตรมาส 3 จะขยายตัวต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4 เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอมและฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ซึ่งปกติแล้วในครึ่งปีหลัง การเติบโตของสินเชื่อจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 60% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งปี ทั้งนี้ ประเมินสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทั้งระบบปีนี้จะขยายตัวที่ 15% จากยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปี 2563 อยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท

“โดย MTC ยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตอยู่ที่ 25% คิดเป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท คาดภายในสิ้นปีนี้ ยอดคงค้างจะอยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการประกาศล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วน แต่มองว่าลูกค้ายังคงมีความต้องการสภาพคล่องไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจอยู่ จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อแต่อย่างใด” นายชูชาติกล่าว

ส่วนกระแสการปรับลดเพดานดอกเบี้ยนั้น นายชูชาติกล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งหากปรับลดเพดานดอกเบี้ยลง 1-2% บริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานประมาณ 3-5% อยู่แล้ว

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังไปได้ เพราะยังมีความต้องการสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจและความต้องการเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพราะกังวลแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จึงทำให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) มีโอกาสขยายตัวสินเชื่อนี้ได้มากขึ้น

สะท้อนจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2564 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถภาพรวมเติบโตที่ 2.3% โดยน็อนแบงก์เติบโตค่อนข้างสูงที่ 5.5% ส่วนแบงก์พาณิชย์หดตัว -9.4% ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อแบงก์ หันมาขอสินเชื่อกับน็อนแบงก์มากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างน็อนแบงก์ค่อนข้างรุนแรง และมีการบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แบงก์พาณิชย์หันไปเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น

“การแข่งขันในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า คงจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่าลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย เช่น ลูกค้าที่ต้องการใช้เงินด่วน อาจจะไม่ห่วงเรื่องดอกเบี้ย แต่จะเน้นความเร็วในการเข้าถึงสินเชื่อ ขณะที่ลูกค้าบางกลุ่มสามารถรอได้จะเน้นใช้บริการแบงก์ เนื่องจากดอกเบี้ยค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับน็อนแบงก์ โดยหากเป็นจำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม จะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยต่ำกว่า

10% หรือกรณีไม่โอนเล่มก็จะอยู่ที่ 10% ต้น ๆ ส่วนน็อนแบงก์จะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยตั้งแต่ 18-24% ตามความเสี่ยงของลูกค้า วงเงินสินเชื่อ และหลักประกัน”

ทั้งนี้ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ยังคงตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรวมปีนี้ที่ 1,000 ล้านบาท แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีจะสะดุดจากโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้การหาลูกค้าใหม่และการปล่อยสินเชื่อเพื่อบุกตลาดได้รับผลกระทบ แต่เชื่อว่าทั้งปีจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยบริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ขยายพื้นที่ไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย และปรับแผนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“ปีนี้ค่อนข้างท้าทาย จะเห็นว่าในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ยังเห็นการเติบโต พอเข้าเดือน เม.ย.ที่มีโควิดระลอก 3 ทำให้กระทบต่อแผนรุกตลาดไปบ้าง แต่เรายังเชื่อว่าสินเชื่อมีหลักประกันยังไปได้ เพราะยังมีความต้องการอยู่ และแบงก์เองก็ปล่อยสินเชื่อน้อยลง ทำให้ดีมานด์มาที่น็อนแบงก์ ซึ่งจะเห็นว่าน็อนแบงก์ยังขยายสาขาเพื่อบุกตลาดอยู่” นางสาวเรือนแก้วกล่าว

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) กล่าวว่า สัญญาณเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น แบงก์น่าจะเพิ่มความระมัดระวังและปล่อยสินเชื่อน้อยลง เมื่อเทียบกับความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 50% แต่ระบบสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพียง 10-20% เท่านั้น

โดยบริษัทเองก็เพิ่มความระมัดระวังและเลือกกลุ่มลูกค้ามากขึ้น จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้มีการประกาศล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งนี้ บริษัทจะพิจารณาจากรายได้และความสามารถในการชำระหนี้เป็นสำคัญ และจะชะลอปล่อยสินเชื่อในกลุ่มเปราะบาง หรือบางกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นต้น

“ตอนล็อกดาวน์ครั้งแรก ยอดการขอสินเชื่อใหม่หายไป 70% โดยปีนี้เดิมเราคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ราว 6,000-7,000 ล้านบาท แต่ถึงตอนนี้น่าจะทำได้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากในช่วงวิกฤต มีลูกค้าบางกลุ่มหันมาปิดบัญชี รวมถึงเราคัดเลือกลูกค้ามากขึ้น ทำให้พอร์ตคงค้าง ณ พ.ค. 2564 อยู่ที่ราว 4,000 ล้านบาท ส่วนด้านสาขา ปีนี้เราตั้งใจจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 650 แห่ง จากปัจจุบัน

มีอยู่ 530 แห่ง” นายสุธัชกล่าว

  • ศบค. พบผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้(12 ก.ค.) พุ่ง 8,656 ราย ตายเพิ่มอีก 80 คน