คำพูน บุญทวี นักเขียนซีไรต์คนแรกที่จนที่สุด (2)

ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

หนังสือบันเทิงคดีเรื่อง “สัตว์พูดได้” คำพูน บุญทวีเขียนคำนำไว้ว่า

“….เป็นแนวใหม่ของผมในชีวิตการเขียน ยิ่งเขียนยิ่งสนุก ทำให้มีไฟในการเขียนแนวนี้มากหลาย นิยายแนวนี้ของฝรั่งเขามีมานานแล้ว คงไม่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้อ่านและก็นิยายแนวนี้ ผมคิดว่าเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะนักเรียนเยาวชนรุ่นใหม่ควรอ่าน”

สองสำนักพิมพ์นั้นปฏิเสธ บอกว่าจะเป็นวรรณกรรมเยาวชนก็ไม่ใช่ วรรณกรรมผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง ผมว่าเป็นได้ทั้งสองประเภทและอ่านได้ทุกเพศทุกวัย ดังที่คำพูน บุญทวีชี้แจงไว้ในคำนำที่พิมพ์ซ้ำ 4 ครั้ง ส่วนที่กล่าวไว้ในคำนำว่า เรื่องแนวนี้ต่างประเทศมีมานาน หมายถึง ให้ตัวละครที่เป็นสัตว์หรือพืชพูดได้นั้น มีมานานแล้วจริง แต่เรื่อง “สัตว์พูดได้”แตกต่างจากเรื่องของต่างประเทศคือ เอาพยัญชนะไทยที่เป็นสัตว์มาเล่าเรื่อง ดังตัวอย่าง…

“เอกอีเอ๊กเอ้ก….เอกอีเอ๊กเอ้ก สวัสดีครับ ผมคือ ก ไก่ ตัวผู้พันธุ์ไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ เสียงขันของผมเพราะพริ้งไหมล่ะ เสียงของผมไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใครหรอก ไม่เหมือนมนุษย์บางคนชอบทำเสียงรบกวนแก้วหูชาวบ้าน แล้วยังทำให้ควันพิษเข้าอยู่ในปอดมนุษย์ เหมือนกันทุกวี่ทุกวัน คุณเคยเห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์เสียงดังบ้างไหม แม้ขี้ของพวกผม ก็ไม่เหม็นเหมือนขี้ของมนุษย์และก็ขี้ของพวกผมยังใช้เป็นปุ๋ยได้ดีกว่าขี้มนุษย์ซะอีก  หรือคุณว่าไม่จริง ที่ผมพูดเช่นนี้ เพราะได้ยินคนแอบนินทากันว่า มนุษย์ขี้เหม็นเคี่ยวเข็ญเทวดา นั่นแหละ….”

บางคนอาจจะเห็นว่าธรรมดา  สำหรับผมคิดในอีกมุมหนึ่ง นั่นก็คือ เป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่งที่คนอื่นไม่คิดกัน คำพูน บุญทวีคิดเป็นคนแรกโดยเอาพยัญชนะไทยที่เป็นสัตว์มาเล่าให้ฟังไม่ว่าจะเป็นไก่ ควาย งู ช้าง เต่า หนู ม้า ลิง ฯลฯ โดยในการเล่านั้นได้สอดแทรกเกร็ดความรู้และมีการเปรียบเปรยในเชิงประชดประชันอย่างมีชั้นเชิง อีกทั้งยังสอดแทรกอารมณ์ขน อ่านแล้วเพลิน เรียกว่า เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี

หนังสือนิทานภาพเรื่อง “ปลาบึกบันเทิง”ก็เช่นเดียวกัน  เห็นแค่ชื่อเรื่องก็ชวนอ่านแล้ว  ขายขาดให้สำนักพิมพ์อะไร พี่คำพูนไม่เปิดเผย แต่รู้ว่าสำนักพิมพ์อะไร เป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่เอาเปรียบนักเขียน นักเขียนเดือดร้อน ขายขาด อ้าแขนรับทันที สำนักพิมพ์นี้คนในวงการพิมพ์บอก ว่าร่ำรวยมาก เพราะพิมพ์งานวิชาการขายให้โรงเรียนเป็นหลัก รองลงมาคือ พิมพ์ซ้ำ โดยไม่บอก

และผลงานที่นักเขียนเอาไปเสนอ แล้วถูกปฏิเสธ  จากนั้นเอามาพิมพ์ภายหลัง โดยไม่ใส่ชื่อคนเขียน พูดง่าย ๆ โกงเก่ง  ภายหลังธุรกิจตก  เมียป่วยเป็นอัมพาต  เรียกว่ากรรมหรือเปล่า คนไม่เชื่อ ไม่เป็นไร

แม้เรื่อง “ปลาบึกบันเทิง” จะเป็นนิทานภาพ แต่ไม่ใช่นิทานภาพทั่วไปที่ให้คติหรือสอนเด็กในเรื่องต่างๆ กว่าคำพูน บุญทวีจะเขียนออกมาได้  ต้องศึกษาค้นคว้าด้านวิชาการด้วย  รวมทั้งลงพื้นที่ภาคอีสาน ไปพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านของปลายักษ์แห่งลุ่มน้ำโขง ดังที่สะท้อนความเชื่อไว้ในเรื่อง ดังตัวอย่าง

“…มันพากันขี่รถเก๋งมา พวกนี้เศรษฐีทั้งนั้น  บางคนมาไม่ทันดูพิธีจับปลาบึก มันจะจ้างนายพรานที่ว่าลงจับเลย ทั้งที่เจ้าแม่วังปลาบึกไม่ให้  เศรษฐีเมืองบางกอกก็เอาเงินตบหัวนายพรานเข้าซี พอได้ปลาบึก มันหามขึ้นรถบรรทุก แต่มันแล่นไปไม่ถึงเมืองบางกอก รถก็คว่ำ พากันตายดิก ๆ เหมือนเขียดเลยแหละ”

นอกจากเรื่อง “ปลาบึกบันเทิง”ให้ความบันเทิงสมกับชื่อเรื่องแล้ว  ยังให้สาระเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขงและชีวิตใต้ท้องน้ำอีกด้วย  ผลงานทุกเรื่องของนักเขียนซีไรท์คนแรกของประเทศไทย ไม่เคยนั่งเทียนเขียน

ยุควงการหนังสือเฟื่องฟู หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กขายได้ตลอด บางเล่มขายได้ร่วมหมื่นเล่มก็มี  อย่างขี้หมูขี้หมายอดขาย 3000-5000 เล่ม ไม่เคยได้ยินว่าสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กขาดทุน เหมือนพิมพ์งานวรรณกรรม ยุคนั้นหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กจึงมีให้เลือกมากมายในตลาดหนังสือ

กว่าจะก่อเกิดเป็นตัวตนของคำพูน บุญทวี จากคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ในเรื่องการเขียนมาก่อนเหมือนนักเขียนส่วนใหญ่ ที่จะบ่มเพาะการอ่านมาแต่วัยเยาว์  เขาผ่านชีวิตมาหลายรูปแบบเพื่อการยังชีพ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าคณะรำวงที่บ้านเกิด  กรรมกร  ถีบสามล้อ รับจ้างเลี้ยงม้าแข่ง รีดนมวัว ครู อาชีพสุดท้ายคือ ผู้คุมนักโทษในเรือนจำ 5 แห่ง อันเป็นที่มาของวัตถุดิบในการเขียนนวนิยายเรื่อง มนุษย์ 100 คุก ,เสียงกระซิบจากโซ่ตรวน,ตะรางบันเทิง ฯลฯ ไม่นับชีวิตครั้งอดีตที่อยู่ชนบทอีสานอันแห้งแล้งของจังหวัดยโสธร  บางวันหากบเขียดกินแทบไม่ได้

ถนนสายนักเขียนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ถึงขั้นหมดตัว คำพูน บุญทวีจึงเข้าห้องสมุดประชาชน ตะลุยอ่านหนังสือ ทั้งเรื่องสั้น นวนิยายและหนังสือประเภทต่าง ๆ มากมาย เขาคิดว่าหนังสือคือสิ่งเดียวที่จะช่วยเยียวยาจิตใจ  อ่านมาก ๆ เข้า เกิดความคิดอยากเป็นนักเขียนกับเขาบ้าง เมื่อเล่าความปรารถนาให้เพื่อนผู้คุมนักโทษฟัง ใคร ๆ พากันหัวเราะในเชิงเยาะเย้ยว่า ไม่มีทางเป็นได้

จากแรงกดดันในชีวิตเป็นทุนเดิม ประกอบกับถูกหัวเราะเยาะ ทำให้คำพูน บุญทวีเกิดพลังในการขับเคลื่อนงานเขียน  จึงเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก “ลูกทุ่งปักษ์ใต้” ส่งไปที่นิตยสารฟ้าเมืองไทย ที่มีอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา จึงมุมานะเขียนเรื่องสั้นยาวเหยียดเรื่อง “ความรักในเหวลึก”ส่งไปอีก อาจินต์ ปัญจพรรค์จึงลงพิมพ์ให้ แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “นิทานลูกทุ่ง” เพราะเป็นเรื่องลูกทุ่งตัดไม้ ไม่ใช่เรื่องรัก 

เรื่อง “นิทานลูกทุ่ง”ผมไม่ได้อ่านในฟ้าเมืองไทย ตอนนั้นยังเรียนอยู่ ไม่มีเงินซื้อ อาศัยอ่านจากญาติ ๆ บ้าง แต่ในภายหลังได้อ่านจากรวมเรื่องสั้นยุคเก่าของนักเขียนรุ่นใหญ่หลายคน จำชื่อหนังสือไม่ได้ น่าจะมีอาจินต์ ปัญจพรรค์ด้วย ยุคนั้นมีหนังสือเรื่องสั้นรวมนักเขียนออกมาเยอะ  โดยเฉพาะของสำนักพิมพ์สยาม แล้วตบท้ายด้วยเรื่องสั้น “นิทานลูกทุ่ง”ของนักเขียนหน้าใหม่ในห้วงเวลานั้นที่ชื่อ คำพูน บุญทวี

เรื่องสั้นได้ลงหนังสือฟ้าเมืองไทยที่เลื่องชื่อเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ทำให้คำพูน บุญทวีเกิดกำลังใจ จึงเขียนเรื่องสั้น “ปล้นควายได้คน”ตามด้วย “เจ้าเข้าแม่หม้าย” สำหรับเรื่องสั้น “นิทานลูกทุ่ง”อาจินต์  ปัญจพรรค์ได้โปรยครั้งที่พิมพ์รวมเล่มว่า

“เรื่องแรกที่สุดในชีวิตการเขียนของคำพูน บุญทวี ลงใน “ฟ้ าเมืองไทย”  เขาเขียนยาวเหยียดด้วยความมุมานะ และแสดงความเพียรอันสุดหล้าที่จะมาเข้าอยู่ในโลกการประพันธ์ให้ได้”

โลกการปะพันธ์อ้าแขนต้อนรับเรื่องสั้นเรื่องแรกของคำพูน บุญทวี เมื่ออายุ 42 ปีแล้ว ส่งให้คำพูน บุญทวีเกิดพลังในการสร้างสรรค์ผลงาน  จึงผลิตงานเขียนหลั่งไหลออกมาอวดโฉมในนิตยสารฟ้าเมืองไทย  เริ่มจากเรื่องชุด “มนุษย์ 100 คุก” ตามด้วย “ไปยิงเสือโคร่ง” เรื่องหลังนี้ได้พิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องแรกโดยสำนักพิมพ์หนอนของนักเขียนรุ่มรวยอารมณ์ขัน-ไมตรี ลิมปิชาติ

จนกระทั่งนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ซึ่งลงในฟ้าเมืองไทย ได้รับรางวัลดีเด่นแห่งปี ซึ่งเรียกกันติดปากว่ารางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและเป็นหนังสืออ่านประกอบในระดับมัธยมตอนปลายด้วย  แล้วนวนิยายเรื่องนี้ก็ครองแชมป์ซีไรท์ในปีแรกที่ก่อตั้งรางวัล

(อ่านต่อในตอนหน้า)

* ขออภัยผู้อ่าน-ในตอนที่แล้ว เขียนว่าคำพูน บุญทวีแสดงเป็นตัวเอกในหนังเรื่อง “ลูกอีสาน”นั้น ที่จริงแล้วแสดงเป็นตัวประกอบในฐานะนักแสดงเกียรติยศรับเชิญชื่อ ลุงกา ส่วนธงชัย ประสงค์สันติ แสดงเป็นบักกาจ ไม่ใช่บักคูน จำผิดจริง ๆ นานมาก 40 ปีมาแล้ว

อีกจุดคือ คำพูน บุญทวีไปรับรางวัลซีไรท์ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปีแรกที่ก่อตั้งรางวัล ไม่ใช่อินโดนีเซีย เพราะไปจำในเรื่อง “ลูกอีสานขี่เรือบิน” ตรงที่ว่า “เตรียมฝึกภาษาอินโดนีเซีย…” มีต่อท้ายว่า “ขอไปฟิลิปินส์ดีกว่า” เป็นความเลินเล่อผู้เขียน  ต่อไปต้องเตือนตัวเองว่าอายุมากแล้ว อย่าเชื่อมั่นในความจำของตัวเองมากเกินไป ต้องเช็คให้ถี่ถ้วน-ต้องขออภัยอีกครั้ง