'เคทีซี' วาง 3 มิติ รับ 'แข่งขัน-เปลี่ยนแปลง' ปี 2566 – The Bangkok Insight

“เคทีซี” เตรียมปรับใหญ่ปี 2566 สู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง “A Transition to the New Foundation” พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และเท่าทันความคาดหวังของลูกค้า ตอกย้ำความเป็น Trusted Organization ตั้งเป้าปี 2566 ทำกำไรนิวไฮต่อเนื่อง ดันพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% เกินแสนล้านบาท 

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเคทีซี ทั้งโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ กระบวนการ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิด “A Transition to the New Foundation”

เคทีซี

โดยเฉพาะการพัฒนา Mindset ของคนในองค์กรให้มีดีเอ็นเอเดียวกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่พยายามดูแล และพัฒนามาตลอด ตั้งแต่เข้ามาร่วมงานกับเคทีซี โดยนอกจาก 3 ค่านิยมองค์กรหลัก (Core Value) ที่คนเคทีซียึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน คือ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อน และ ทำสิ่งที่มีความหมายและเป็นประโยชน์แล้ว  จากนี้จะมุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความไว้วางใจ (Trusted Organization) ภายในองค์กรให้แกร่งยิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อความไว้วางใจนี้ไปสู่สมาชิก องค์กร ผู้ถือหุ้น และสังคม

ในปี 2566 เคทีซีจะเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมองค์กรให้เป็นโครงสร้างแบบแนวราบ และมีหน่วยงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อีกทั้งจะบูรณาการไอทีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 3 มิติ คือ

  • Enterprise Architecture การจัดการโครงสร้างให้สอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านธุรกิจ ด้านไอที และระบบปฏิบัติการ
  • Enterprise Skill Assets ส่งเสริมให้คนเคทีซีได้พัฒนาทักษะสำคัญด้านต่าง ๆ ที่สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเป็นประโยชน์กับองค์กร
  • Enterprise Data Assets บริหารจัดการข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูล ไปจนถึงการทำลายข้อมูล เน้นความปลอดภัย ถูกต้องและโปร่งใส เพื่อให้เคทีซีมีฐานข้อมูลคุณภาพ สนับสนุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
เคทีซี
ระเฑียร ศรีมงคล

การดำเนินธุรกิจเคทีซีจากนี้ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อ ไม่มีหลักประกันที่มีพอร์ตสินเชื่อในระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป กลุ่มธุรกิจใหม่ ที่คาดว่าจะสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด (New SCurve) ได้แก่ สินเชื่อรถแลกเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม และสินเชื่อกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง และกลุ่มโมเดลธุรกิจ ที่อยู่ในระหว่างการบ่มเพาะ (Incubator) เช่น MAAI – Loyalty Platform

นายระเฑียร กล่าวด้วยว่า ธุรกิจบัตรเครดิตยังเป็นธุรกิจหลัก ที่เคทีซีให้ความสำคัญมาตลอด โดยสถานการณ์ตอนนี้เกือบทุกหมวดใช้จ่ายมีการเติบโตสูงกว่าปี 2562 ก่อนที่จะมีการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

สำหรับแผนกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตในปี 2566 จะเน้นแนวคิด Less is MORE หรือการทำสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยปรับกระบวนการทำงานในทีมการตลาดให้กระชับคล่องตัวมากขึ้น บน 5 แกนสำคัญ คือ

1. บริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด ด้วยการสร้างสรรค์โปรแกรมการตลาด เพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการของการบริหารความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตร

2. เน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป ด้วยสิทธิพิเศษด้านไลฟ์สไตล์ที่ตรงใจ

3. จัดโปรแกรมกระตุ้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ฐานสมาชิกบัตรเคทีซี เน้น 3 หมวดใช้จ่ายหลัก คือ หมวดร้านอาหาร และร้านอาหารในโรงแรม หมวดช้อปปิ้งออนไลน์ และหมวดท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้าความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายทางธุรกิจเดียวกัน ทำกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์ทุกหมวดใช้จ่ายสำคัญของสมาชิก และเพื่อสร้างการจดจำและผูกพันกับแบรนด์

4. ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นจัดแคมเปญการตลาด และกิจกรรม ขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด

5. บริหารจัดการการสื่อสารการตลาดให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นการทำคอนเทนท์ มาร์เก็ตติ้ง ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

เคทีซี

ในปี 2566 ตั้งเป้ามีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ และคาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% จากปี 2565 หรือประมาณ 264,000 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจสินเชื่อหลังจากการเปิดประเทศสู่ภาวะปกติ พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการสินเชื่อสูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ลงทุนและใช้จ่าย อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” และ “เคทีซี พราว” ในการเข้าไปเติมเต็มความต้องการของกลุ่มคนเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี ยังต้องสังเกตสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดสินเชื่อเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และแข่งขันรุนแรง จากผู้ประกอบการธนาคาร และนอนแบงค์

ในปี 2566 แผนกลยุทธ์ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” จะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ ทั้งการให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติใน 1 ชั่วโมง รับเงินทันที และเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านเอกสาร และรายได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

ธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางหลักในการรับสมัคร ซึ่งได้ปรับรูปแบบบริการ ให้เจ้าหน้าที่ธนาคารสามารถทำรายการผ่านแทบเล็ตในการรับสมัครสินเชื่อให้กับลูกค้า และอนุมัติแบบครบวงจรภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที

รวมทั้งจะเน้นการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผ่านช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์ไปยังแพลตฟอร์มหลักต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแผนสินเชื่อนี้ ที่วางบทบาทให้เป็นสินเชื่อทางเลือกของคนไม่ท้อ จึงเปิดรับทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะคนทำมาหากินที่สู้ชีวิต และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก้อนใหญ่จากสถาบันการเงินอื่น โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 จะมียอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,100 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้สินเชื่อได้ครบทุกฟังก์ชัน จนวันนี้ บัตรใบเดียวก็สามารถทำได้ทั้งการเบิกใช้วงเงิน รูด โอน กด ผ่อน

เคทีซี

แผนกลยุทธ์ในปี 2566 จะพัฒนาไปในทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับกับ พฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เปิดช่องทางให้ลูกค้าขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ และช่องทางการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ผ่านทางแอป KTC Mobile ให้สะดวกขึ้น

โดยเพิ่มบัญชีพร้อมเพย์ในการโอนเงิน นอกเหนือจากที่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง และเพิ่มช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่ต้องการใช้สินเชื่อด้วยต้นทุนรับสมัครที่ต่ำแต่ได้ผลดี

รวมทั้ง เดินหน้าสร้างความผูกพันระหว่างเคทีซีกับกลุ่มสมาชิก ด้วยการต่อยอดกิจกรรมสัมมนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และการส่งเสริมวินัยในการชำระ ผ่านโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เพราะเป็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า

จากการศึกษาลูกค้าผ่านการทำ Empathy จึงจัดต่อเนื่อง และจะครบ 14 ครั้ง ในปี 2566 และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะเติบโต 7% และมีสมาชิกใหม่ “เคทีซี พราว” 110,000 ราย

นอกจากนี้ เคทีซีจะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยจะระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 4,640 ล้านบาท รวมทั้ง สนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี

เคทีซี

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 เคทีซีจะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) 20:80 และต้นทุนการเงินอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 2.5%-3.0%

เคทีซี ยังเดินหน้าแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างรับผิดชอบ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับองค์กรให้แข็งแกร่ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรคุณภาพ และเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสีย

ควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการดำเนินธุรกรรมในยุคดิจิทัลให้กับสมาชิกและผู้บริโภค ตลอดจนสร้างโอกาสให้คนในสังคมสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน

เคทีซีได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของ THSI (Thailand Sustainability Investment) เป็นปีที่ 4 และติดอันดับ ESG 100 ตั้งแต่ปี 2559 อีกทั้งได้รับการจัดอันดับ MSCI ระดับ A และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก “FTSE4 Good Index Series”

เคทีซี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

  • เริ่ม1 ม.ค.! แบงก์พาณิชย์ ‘ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้’ 0.4% ต่อปี
  • เงินสะพัดช่วงปีใหม่ แบงก์กรุงเทพ แนะ 5 วิธีลดเสี่ยงภัยไซเบอร์
  • สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมพัฒนา ‘ตู้ฝากเงินอัตโนมัติ’ รองรับการยืนยันตัวตน 1 มิ.ย. 66