“ปณท”เปิดแผนปี 66 สู้ตลาดขนส่งแข่งดุ! | เดลินิวส์

ต้องยอมรับว่า ธุรกิจขนส่งในไทยมีการแข่งขันกันเดือด “เลือดสาด” เมื่อมีผู้เล่นจากต่างประเทศเข้ามาช่วงชิงขอ “แบ่งเค้ก” กันหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่มีบริษัทยักษ์ใหญ่อี- คอมเมิร์ซระดับโลกคอยหนุนหลังอยู่!!

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ บริษัทขนส่งของชาติ อย่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ที่เป็นผู้นำในตลาดมานานต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่ง “ขนส่งต่างชาติ” ที่มาในรูปแบบ “สตาร์ทอัพ” คิดเร็ว ทำเร็ว ให้ได้!?!

“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ยอมรับว่า ตลาดขนส่งและโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และที่ผ่านมาก็ถูกคู่แข่งแย่งส่วนแบ่งไป ด้วยกลยุทธ์ดัมพ์ราคาค่าส่ง จากเดิมก่อนโควิด-19 ปณท มีพัสดุส่งอยู่ประมาณ 7 ล้านชิ้นต่อวัน ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 5 ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้ต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์

“การจะลงไปเล่นเรื่องราคาคงไม่สามารถทำได้ตลอดเพราะปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าต้นทุนแล้ว จึงต้องเอาเรื่องคุณภาพ เข้าสู้ จะเห็นว่า ไม่เคยมีของตกค้างในโกดัง แม้ของชิ้นเดียวพื้นที่ห่างไกลก็ไปส่ง และได้ปรับแบรนด์ให้ดูวัยรุ่น เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ยังอายุไม่มากมองว่า ปณท เป็นราชการ จึงขยายช่องทางใช้บริการให้เข้าถึงง่าย และบางสาขาใช้บริการส่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นที่ ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ฯลฯ”

ผู้บริหารของ ปณท บอกต่อว่า ที่ผ่านมาจึงเห็น ปณท ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ทั้งการการจับมือกับพาร์ทเนอร์ เช่น สถาบันการเงิน บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ในการเปิดแบรนด์ขนส่งพัสดุใหม่ คือ “Post Sabuy” ด้วยจุดรับ กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 17,000 ร้าน ฯลฯ จับกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อให้แข่งขันได้

นอกจากนี้ยังมีการเซ็นเอ็มโอยูกับ รัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (ปนล) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเตรียมเปิดเส้นทาง การขนส่งระหว่างสามประเทศ คือ ไทย-ลาว-จีน ผ่านรถไฟความเร็วสูง “เวียงจันทน์-คุนหมิง”เพื่อสร้างเครือข่ายด้านขนส่งระหว่างประเทศ ดันไทยให้เป็นฮับด้านขนส่งในภูมิภาคนี้ในอนาคต

“เป้าหมายในปี 66 เน้นการทำงานเชิงรุก เข้าหาลูกค้า พัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน พร้อมทั้งปรับบทบาทองค์กร เป็น ผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ครบวงจร-ยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”  

“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” บอกถึงแผนปี 66 ว่า จะมีการพัฒนา 4 โซลูชันใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกธุรกิจ และคนไทย คือ โซลูชั่น Global Cross Border Service ที่มุ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โซลูชั่นด้านการขนส่งด้วยดาต้า ที่จะนำข้อมูลที่ไหลเวียนทั้งหมดในองค์กรมาเสริมศักยภาพบริการ

โซลูชั่นด้านการขนส่งที่สร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ Zero Complain เมื่อมีการร้องเรียน ด้านบริการ ต้องรีบแก้ไขให้ผู้ใช้บริการรู้สึกพอใจในระดับสูงสุด มีการจัดทีมรับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาในทุกช่องทาง เช่น บนโซเซียลมีเดีย เมื่อลูกค้า Complain จะเข้าไปสอบถามและช่วยแก้ปัญหาทันที

และสุดท้าย คือ โซลูชั่นเสริมแกร่งเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นการนำจุดแข็งที่มีขององค์กร เข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรพันธมิตรในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน

“สิ่งที่ ปณท ต้องเร่งทำเพื่อชดเชยรายได้ที่ถูกคู่แข่งแย่งไป คือ แผนการหารายได้ใหม่จาก New S -Curve อาทิ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มขนส่ง-ค้าปลีก กลุ่มไปรษณียภัณฑ์เดิมที่ผ่านการทรานส์ฟอร์มด้วยเทคโนโลยี การเพิ่มรายได้จากอีมาร์เก็ตเพรส คือ เว็บ thailandpostmart.com ที่จะเพิ่มสินค้าที่มีชื่อเสียงของ สปป.ลาว มาขาย ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกสินค้า เช่น งานคราฟต์ กาแฟ สินค้าหัตถกรรมจากไม้ และผ้า ฯลฯ ปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 15,000 รายการ มีร้านค้าราว 7,000 แห่ง ทำรายได้ 500 ล้านบาทต่อปี”

สำหรับรายได้องค์กรในปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่  20,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 47.62% กลุ่มไปรษณียภัณฑ์ 31.26% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 15.94% กลุ่มธุรกิจการเงิน 1.78% กลุ่มธุรกิจค้าปลีก 2.78% และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ 0.66% ซึ่งมั่นใจเมื่อถึงสิ้นปี ผลประกอบการจะขาดทุนน้อยลง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ปณท จะมีการลดต้นทุนด้านอื่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดโครงการเกษียณก่อนกำหนด คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 1,000 ราย การนำรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี จำนวนกว่า 600 คัน มาวิ่งในบางเส้นทาง เพื่อลดต้นทุนน้ำมัน ทดแทนรถเดิมที่หมดอายุใช้งานในปี 66 ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญคือ โครงการ Digital Post ID เปลี่ยนระบบการระบุตำแหน่ง ที่อยู่บนกล่องซองจากแบบเดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล ในรูปแบบ QR Code โดยทุกภาคส่วนจะได้รับการรักษา ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย โดยคาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 66  

รวมถึงการนำ บิ๊กดาต้า ในด้านขนส่งจำนวนมาก ในองค์กร มาเสริมศักยภาพบริการ เช่น พัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Prompt Post) บริการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamp) บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) พัฒนาระบบซีอาร์เอ็ม ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว ผู้บริหาร ปณท ยืนยันว่า การปรับตัวขององค์กรในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อคนไทย และภาคธุรกิจที่จะได้รับบริการที่หลากหลายครอบคลุมการขนส่งทุกประเภท และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์