ม้าแฝดสายโหด FERRARI 812 COMPETIZIONE และ 812 COMPETIZIONE A – ไทยรัฐ

ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ถูกพัฒนาระบบควบคุมการทำงานขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากกว่าเดิม มีการปรับไทม์มิ่งและปริมาณการจ่ายน้ำมัน ตลอดจนเพิ่มแรงดันในการฉีดเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อลดมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กให้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เครื่องยนต์ยังมีความร้อนไม่ถึงอุณหภูมิทำงาน ระบบจุดระเบิดถูกควบคุมอย่างแม่นยำจาก ECU ซึ่งมีระบบตรวจวัดไอออนเพื่อควบคุมจังหวะจุดระเบิด โดยระบบ มีทั้งฟังก์ชั่นจุดระเบิดครั้งเดียวหรือหลายครั้ง เพื่อทำให้แรงบิดมีความต่อเนื่องและราบรื่น นอกจากนั้น ECU ยังควบคุมการเผาไหม้ในกระบอกสูบการตรวจวัดค่าออกเทนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกนำมาใช้กับเครื่องยนต์ช่วยทำให้เครื่องยนต์ทำงานเต็มสมรรถนะ เพื่อคงไว้ซึ่งเสียงเครื่องยนต์ V12 ในขณะที่จำเป็นต้องติดตั้ง GPF (Gasoline Particulate Filter – ตัวกรองฝุ่นละอองน้ำมันเบนซิน) เข้าไปยังระบบไอเสีย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎระเบียบล่าสุดของการควบคุมมลพิษ ทีมวิศวกรจึงใช้ท่อไอเสียแบบใหม่ล่าสุด ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงย่านความถี่ กลาง-สูง ที่ดร็อปลงเนื่องจากการใช้ GPF พลังเสียง, ประสิทธิภาพ และสุนทรียภาพที่ยอดเยี่ยม ปลายท่อไอเสียถูกติดตั้งให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ติดตั้งเรโซเนเตอร์หนึ่งคู่ที่ท่อไอดี เพื่อเพิ่มความถี่เสียงของเครื่องยนต์ให้ไพเราะยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นการหลอมรวมอย่างสมบูรณ์แบบระหว่างเสียงจากปลายท่อไอเสียและระบบไอดี

ทั้ง 812 Competizione และ 812 Competizione A ติดตั้งระบบส่งกำลังที่มีการตอบสนองได้เร็วมาก ชุดเกียร์ 7 สปีด แบบคลัตช์คู่ ยกระดับสมรรถนะด้านการเทแรงบิดถึงขีดสูงสุด มอบสัมผัสขณะเปลี่ยนเกียร์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในรถ V12 การปรับระบบควบคุมใหม่ช่วยลดระยะเวลาขณะเปลี่ยนเกียร์ลง 5% แม้จะใช้อัตราทดเกียร์เท่ากับ 812 Superfast แต่รถรุ่นใหม่ทั้งสอง ต่างก็มีความเป็นสปอร์ตมากกว่า จากรอบเครื่องที่เร่งได้สูงขึ้นอีก 500 รอบ/นาที ด้วยเครื่อง V12 ที่ได้รับการปรับแต่งใหม่

การปรับปรุงเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ด้วยระบบ HELE พร้อมกับฟังก์ชั่น on-the-move Start & Stop และการปรับระบบควบคุมเครื่องยนต์เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ขณะที่ยังรักษาเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ Ferrari V12 แม้ขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ และเมื่อปิดระบบ HELE เครื่องยนต์จะกลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพพร้อมกับการเปลี่ยนเกียร์ที่ฉับไวอีกครั้ง เพื่อการตอบสนองทันใจ ระบบระบายความร้อนได้รับการปรับปรุงเพื่อรับมือกับความร้อนซึ่งเกิดจากพลังที่เพิ่มขึ้น 30 แรงม้า ของเครื่องยนต์ ด้วยการใช้ช่องรับอากาศแบบเดี่ยวที่ด้านหน้าเป็นครั้งแรกใน Ferrari V12 ช่วยเพิ่มปริมาณอากาศเย็นที่จะถูกส่งไปยังแผงระบายความร้อนได้มากขึ้น วงจรระบายความร้อนทั้งหมดก็ถูกพัฒนาใหม่ ประสิทธิภาพในการลดความร้อนเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 812 Superfast นอกจากนั้น ช่องรับอากาศแบบเดี่ยวยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของอากาศไปยังท่อร่วมไอดีของเครื่องยนต์ ลดการสูญเสียแรงดันอากาศในท่อไอดี

อ่างน้ำมันเครื่องออกแบบใหม่เพื่อรับมือกับอัตราการไหลเวียนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น (สูงขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์) และแรงเหวี่ยงของรถขณะเร่งความเร็ว การปรับปรุงห้องกั้นและปริมาณการเก็บน้ำมัน อ่างน้ำมันเครื่องใหม่ช่วยลดน้ำมันเครื่องลงได้มากกว่า 1 กิโลกรัม เทียบกับที่ใช้ใน 812 Superfast ส่งให้ทั้ง 812 Competizione และ 812 Competizione A ใช้น้ำมันเครื่องน้อยที่สุดในบรรดาขุมพลัง V12 ด้วยกัน นอกจากนั้น ยังช่วยลดน้ำหนักของรถลงอีกเล็กน้อย 

AERODYNAMICS

กำลังและรอบเครื่องยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นของ 812 Competizione ทั้งสองรุ่น ส่งผลให้มีความร้อนเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ การไหลเวียนของระบบระบายความร้อน มีการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดและน้ำหนักของแผงระบายความร้อนต่างๆ ท่อดักอากาศของ 812 Superfast ถูกจัดวางขนาบสองข้างของกระจังหน้า ขณะที่ 812 Competizione ใช้แบบช่องเดียวซึ่งช่วยให้สามารถขยายขนาดของหม้อน้ำให้ใหญ่ขึ้นเท่าที่ตัวรถจะอำนวย ไม่เพียงช่วยลดน้ำหนัก แต่ยังลดการสูญเสียอากาศที่จะเข้าไปยังห้องเผาไหม้ได้ด้วย นั่นหมายถึง ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้น

การระบายอากาศร้อนที่ออกมาจากหม้อน้ำได้รับการปรับปรุง โดยจะถูกปล่อยออกมาจากทั้งช่องระบายอากาศที่ฝากระโปรงทั้งสองฝั่งของ “ครีบ” กลาง และช่องระบายอากาศที่อยู่บนปีก พื้นที่บริเวณนี้ให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนที่ดี และยังเปิดทางให้ทีมออกแบบสามารถลดช่องระบายอากาศใต้ท้องรถลงได้ด้วย ทั้งหมดนี้จึงส่งผลดีต่ออากาศพลศาสตร์ส่วนหน้าของรถ เพิ่มประสิทธิภาพการลดความร้อนเครื่องยนต์ได้มากกว่าใน 812 Superfast ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ รูปทรงของช่องระบายอากาศจากเครื่องยนต์ทั้งสองฝั่งของครีบบนฝากระโปรง ออกแบบมาเพื่อรับประกันว่าจะสามารถจัดการการไหลของอากาศได้อย่างถูกต้อง แม้จะอยู่ใน 812 Competizione A ที่ผู้ขับมักขับแบบเปิดหลังคาก็ตาม เส้นทางการไหลของอากาศร้อนจะเบี่ยงออกจากห้องโดยสารและวิ่งแยกไปตามแนวด้านข้าง จนกระทั่งสุดตัวถังรถ

การทำให้รถไปได้เร็วขึ้นในโค้ง จำเป็นต้องมีการปรับปรุงในส่วนของพลังเบรก ระบบระบายความร้อนให้กับเบรกต้องระวังไม่ให้ส่งผลกระทบกับทั้งการสร้างแรงกดที่ด้านหน้าของรถ หรือเพิ่มน้ำหนักให้ระบบเบรกเอง เมื่อเทียบกับ 812 Superfast แล้ว ระบบระบายความร้อนแบบ “Aero” ด้านหน้าของคาลิเปอร์เบรกได้รับการออกแบบใหม่ เป็นแบบเดียวกับที่ได้เปิดตัวไปในรุ่น SF90 Stradale ซึ่งมีช่องดักอากาศรวมเป็นชิ้นเดียวกับคาลิเปอร์

การระบายอากาศให้กับคาลิเปอร์และผ้าเบรกเกิดขึ้นจากการถ่ายเทอากาศซึ่งรับมาจากช่องด้านข้างของกันชนไปยังช่องดักอากาศ จากนั้นกระจายอากาศให้ไหลเข้าไปยังอุปกรณ์ทั้งสองชิ้น โดยธรรมชาติแล้ว วิธีนี้จะให้ผลดีก็ต่อเมื่อเส้นทางการไหลของอากาศวิ่งไปยังพื้นที่ของคาลิเปอร์บริเวณด้านหลังของล้อ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปรับปรุงทั้งในส่วนของช่วงล่างหน้ารอบๆ ดุมล้อ, การจัดวางท่อทางเดิน และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องอื่นๆ การปรับแต่งใหม่เหล่านี้ ส่งให้อุณหภูมิน้ำมันเบรกลดลงอย่างมาก โดยเมื่อเทียบกับ 812 Superfast แล้ว อุณหภูมิทำงานลดลงถึงราว 30 องศาเซลเซียส การเบรกจึงมีความแม่นยำและให้ความรู้สึกขณะเหยียบเบรกที่สม่ำเสมอแม้จะใช้งานต่อเนื่องหนักหน่วงในสนามแข่งก็ตาม การถอดชุดกังหันและท่อดักอากาศของ 812 Superfast ออกไป ตัดน้ำหนักรวมของรถลงได้กว่า 1.8 กก. จึงหักลบกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคาลิเปอร์แบบแอโรได้

ช่องรับอากาศด้านข้างทั้งสองช่องที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์สำหรับระบบเบรก ติดตั้งอยู่ข้างกระจังหลัก ทำหน้าที่ส่งอากาศเย็นไปยังเครื่องยนต์และห้องโดยสาร ช่องทั้งสองนี้เป็นทรงเหลี่ยมและแยกส่วนระหว่างระบายความร้อนเบรกและช่องดักอากาศแบบคู่ ซึ่งช่องดักอากาศจะแบ่งการไหลของอากาศที่เข้ามาจากข้างกันชนเพื่อลดความผันผวนของกระแสลมที่เกิดขึ้นจากด้านนอกของดอกยาง จึงได้แรงกดส่วนหน้ามาจากขอบฝั่งนอกของกันชนอีกทางหนึ่ง ถัดจากช่องดักอากาศด้านหน้าเป็นส่วนของ Splitter ที่ยื่นออกมาตลอดแนวขอบล่างของกันชน โพรงทั้งสองที่ซุ้มล้อ (ด้านบน และด้านหลัง) ทำหน้าที่ลดแรงดันและช่วยให้แผ่นปิดใต้ท้องรถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระแสอากาศจะถูกแยกส่วนและปล่อยออกไปทางช่องด้านหลังของครีบบนฝากระโปรง การเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของอากาศร้อนเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ใช้พัฒนาส่วนใต้ท้องรถด้านหน้าของ 812 Competizione ครีบระบายอากาศที่มีอยู่ทั้งบนฝากระโปรงและช่องต่างๆ ที่ปีกหน้า ช่วยให้สามารถลดขนาดช่องระบายลมร้อนที่ส่งมาจากหม้อน้ำที่ใต้ท้องรถด้านหน้าลงได้ ทำให้พื้นที่ใต้ท้องรถบริเวณที่ส่งผลกระทบให้เกิดแรงกดด้านลบนี้ มีขนาดเล็กลง ผลลัพธ์ปลายทางที่ได้ก็คือระดับแรงกดส่วนหน้ารถที่สูงขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการไหลของอากาศบริเวณท้ายรถมากกว่าเดิม

การปรับเปลี่ยนระบบเบรกยังช่วยให้วิศวกรสามารถออกแบบแผ่นปิดใต้ท้องรถด้านหน้าให้ขยายเข้าไปในซุ้มล้อได้ดียิ่งขึ้น การจัดวางแบบใหม่ช่วยเพิ่มที่ว่างรอบๆ ปีกนกล่างด้านหน้า ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่สำหรับสร้างแรงกดได้ ทั้งยังช่วยให้มีพื้นที่สำหรับติดตั้งตัวเรียงอากาศด้านข้างแบบใหม่ทรงตัว S ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษจากการทดสอบในอุโมงค์ลม เพื่อเพิ่มการไหลของกระแสอากาศตามแนวด้านข้าง และทำงานได้สอดคล้องกับดิฟฟิวเซอร์หน้า มิติของดิฟฟิวเซอร์ได้รับการขยายให้ใหญ่ขึ้น และสร้างแรงกดได้มากกว่า 812 Superfast ทั้งยังลดความร้อนคาลิเปอร์ได้ดีขึ้นอีกด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ช่วยเพิ่มสมรรถนะอย่างมีนัยยะสำคัญ : การเพิ่มประสิทธิภาพช่องระบายอากาศช่วยเพิ่มแรงกดด้านหน้าโดยรวม 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเรียงอากาศด้านข้างช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงกดขึ้นอีกถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับ 812 Superfast ดิฟฟิวเซอร์ด้านหน้าประกอบด้วยระบบแอโรปรับได้แบบ Passive ซึ่งจะทำงานเมื่อความเร็วสูงกว่า 250 กม./ชม. ขึ้นไป เมื่อแผงดังกล่าวปรับดิฟฟิวเซอร์ไปจนสุดจะช่วยให้รถสามารถไต่ขึ้นไปยังความเร็วสูงสุดได้ บั้นท้ายที่โดดเด่นของ 812 Competizione มาพร้อมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลย์เอาต์ของระบบไอเสีย, รูปทรงของดิฟฟิวเซอร์, ขนาดของสปอยเลอร์, แผงหลัง และดีไซน์ของกันชน ดิฟฟิวเซอร์หลังได้รับการขยายออกไปจนเต็มพื้นที่ความกว้างของรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลอากาศของแอโรไดนามิกใต้ท้องรถ และยังสร้างความแตกต่างจาก 812 Superfast อย่างเห็นได้ชัด


หม้อพักไอเสียและปลายท่อได้รับการปรับเปลี่ยนทางวิศวกรรมเช่นกัน: จากปลายท่อทรงกลมคู่แบบคลาสสิกในแต่ละฝั่งของกันชน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นปลายเดี่ยวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน สิ่งนี้มีผลเชิงบวกสองประการ : ช่วยให้สามารถขยายความกว้างของดิฟฟิวเซอร์ออกไปจนเต็มพื้นที่ และเปิดทางให้สามารถนำโซลูชั่นที่มีอยู่ในรถแข่ง F1 ตั้งแต่ปี 2010 มาใช้กับโร้ดคาร์ได้ – การปฏิสัมพันธ์แบบไดนามิกส์ระหว่างก๊าซไอเสียและอากาศจากดิฟฟิวเซอร์ด้วยรูปแบบนี้ การไหลของก๊าซร้อนที่ออกมาจากปลายท่อไอเสียจะทำปฏิกิริยากับส่วนโค้งด้านนอกของครีบบนดิฟฟิวเซอร์ เกิดเป็นกระแสอากาศเพิ่มเติมที่ขอบด้านท้ายของครีบ ช่วยกระตุ้นการไหลของอากาศที่เย็นกว่าซึ่งออกมาจากดิฟฟิวเซอร์ จึงได้แรงกดเพิ่มมากขึ้นอีกระดับ

โดยรวมแล้ว ดิฟฟิวเซอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ เพิ่มแรงกดได้อีก 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 812 Superfast และจะพุ่งสูงขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ หากนับรวมการเข้ามามีส่วนร่วมของก๊าซไอเสีย ในขณะที่ใต้ท้องรถส่วนท้ายช่วยสร้างแรงกดด้านหลังเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ การพัฒนารูปทรงของดิฟฟิวเซอร์ตามหลักแอโรไดนามิก ช่วยให้พื้นที่ต่างๆ ของรถทำหน้าที่สร้างแรงกดขยายออกไปตามแนวขวางได้ สปอยเลอร์ไม่เพียงสูงกว่าใน 812 Superfast แต่ยังเพิ่มความกว้างออกไปจนเกือบเต็มพื้นที่ความกว้างของตัวรถ ให้แอโรไดนามิกที่สมบูรณ์แบบเมื่อทำงานร่วมกับดิฟฟิวเซอร์เพื่อรับประกันว่าจะได้แรงกดสูงสุดที่ส่วนท้ายรถ ปีกหลังที่ได้รับการออกแบบใหม่ยังได้เปรียบในเรื่องของประสิทธิภาพแอโรไดนามิก: รูปทรงแบบนี้ทำให้เกิดเป็นช่องแอโรไดนามิกที่ด้านข้าง ส่งไปยังขอบด้านนอกของสปอยเลอร์ เกิดเป็นการไหลของอากาศที่มีพลังงานสูงแต่จุดที่สะดุดตาจริงๆ ก็คือแผงด้านท้ายที่ปิดทึบเต็มพื้นที่ เป็นครั้งแรกที่นำมาใช้กับรถแบบโปรดักชั่น ทั้งยังช่วยเปิดทางให้ทีมออกแบบได้นำการออกแบบด้านแอโรไดนามิกที่แปลกใหม่มาใช้ได้ แผ่นปิดนี้ติดตั้งครีบที่ยกตัวสูงขึ้นมาจากพื้นผิวจำนวน 3 คู่ ทำหน้าที่เป็นตัวเรียงกระแสอากาศ โดยตั้งแต่รุ่น LaFerrari เป็นต้นมา ตัวเรียงกระแสอากาศแบบนี้ถูกนำมาใช้กับรถแบบโปรดักชั่นเพื่อสร้างแรงกดให้กับแผ่นปิดใต้ท้องรถแบบแผ่นเรียบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โซลูชั่นนี้ถูกปรับมาใช้กับแผงด้านท้ายของ 812 Competizione เพื่อเบี่ยงทิศทางการไหลของอากาศและจัดสรรการกระจายแรงดันซึ่งเกิดขึ้นที่ท้ายรถ

ตัวเรียงกระแสอากาศนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสปอยเลอร์และดิฟฟิวเซอร์ โดยสร้างพื้นที่ไล่ระดับแรงดันอากาศที่ไหลมาอย่างรุนแรงทันทีที่อยู่เหนือแผ่นปิดด้านท้าย กำเนิดเป็นกระแสอากาศอยู่บนระนาบขวาง ด้วยวิธีการนี้ ส่วนหนึ่งของการไหลจะเบี่ยงไปทางด้านข้างของสปอยเลอร์ ช่วยเพิ่มการสร้างแรงกดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพของดิฟฟิวเซอร์ เฉพาะตัวเรียงกระแสอากาศเพียงอย่างเดียวก็สามารถสร้างแรงกดด้านท้ายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 812 Superfast

ร่องแนวนอนสามช่องในแต่ละข้างของกันชนหลังเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นสะดุดตา นอกจากชวนให้หวนนึกถึงรุ่น F12tdf แล้ว พวกมันยังซ่อนระบบแอโรไดนามิกส์ไว้ด้วย เนื่องจากบริเวณที่มีแรงดันต่ำซึ่งเกิดจากตัวถังรถ ส่วนหนึ่งของการไหลอากาศจากล้อหลังมีแนวโน้มที่จะวิ่งเข้าหาจุดศูนย์กลางของรถ อย่างไรก็ตาม ด้วยทางออกใหม่นี้ อากาศจะไหลเข้าไปในกันชนผ่านร่องแนวนอนทั้งสาม จากนั้นจะเบี่ยงขึ้นด้านบนด้วยแรงดีดภายใน เกิดเป็นแรงกดที่ท้ายรถ ในรุ่น 812 Competizione A เพื่อหักลบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่มีตัวเรียงกระแสอากาศ องค์ประกอบแบบสะพานเชื่อมถูกนำมาใช้ระหว่างเสาหลังคาทั้งสองฝั่ง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างพิถีพิถัน การไหลของอากาศจึงเบี่ยงทิศทางไปยังสปอยเลอร์หลังอย่างมีประสิทธิภาพ คืนค่าแรงกดให้กลับมาให้อยู่ในระดับเดียวกับ 812 Competizione การใช้สะพานเชื่อมนี้ยังช่วยลดแรงต้านที่ปกติจะเกิดขึ้นกับรถแบบ Targa ให้น้อยลงอีกด้วย: ตามหลักอากาศพลศาสตร์แล้ว สะพานเชื่อมจะทำหน้าที่เหมือนกับปีกหลัง ดังนั้น แรงดันที่พื้นผิวส่วนบนจึงช่วยสร้างสนามแรงดันเชิงบวก ซึ่งจะเร่งความเร็วของการไหลอากาศไปยังแผงหลัง และช่วยลดแรงต้านได้

ผู้โดยสารจะรู้สึกสบายขณะขับขี่เปิดหลังคา จากการใช้แผ่นกั้นอากาศที่ติดตั้งไว้ด้านบนของกระจกหน้า ซึ่งจะเบี่ยงทิศทางของอากาศให้สูงขึ้นด้านบน ป้องกันไม่ให้กระแสลมเข้าไปรบกวนในห้องโดยสาร นอกจากนั้น แผ่นกั้นยังช่วยขยายช่องว่างที่ครอบคลุมตลอดแนวยาวของห้องโดยสาร เพื่อไม่ให้เกิดแรงดันบริเวณด้านหลังศีรษะของผู้โดยสาร ช่องแอโรไดนามิกส์สองช่องถูกรังสรรค์ขึ้นระหว่างเสาหลังคาทั้งคู่ เพื่อจัดการกับอากาศที่ไหลผ่านกระจกหน้าต่าง และเพื่อบังคับให้วิ่งไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ ประเด็นหลักคือการลดแรงดันทั้งภายในห้องโดยสารและเพื่อความเสถียรของการไหลอากาศ ด้วยกลยุทธ์นี้จึงได้ผลลัพธ์ถึงสองชั้น เพราะนอกจากได้ความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางแอโรไดนามิกส์จากการไหลของอากาศที่เสถียรแม้ขณะขับขี่เปิดหลังคาก็ตาม

VEHICLE DYNAMICS

แนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพของ 812 Competizione คือการเพิ่มระดับสมรรถนะโดยรวม, มอบความสนุกในการขับขี่ยิ่งขึ้น และโฟกัสเป็นพิเศษที่บุคลิกของแฮนด์ลิ่งที่ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสมกับความเป็นรถรุ่นพิเศษ 812 Competizione เปิดตัวพร้อมกับหลากหลายนวัตกรรม เพื่อให้แน่ใจว่ารถจะมอบประสิทธิภาพทางไดนามิกส์ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการนำระบบเลี้ยวอิสระสี่ล้อมาใช้เป็นครั้งแรก, ระบบ Side Slip Control (SSC) เวอร์ชัน 7.0 และยาง Michelin Cup2R ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ ระบบเลี้ยวอิสระที่ล้อหลังมาพร้อมกับระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ที่สามารถสั่งการให้ล้อฝั่งซ้ายและขวาทำงานแยกอิสระจากกันแทนที่จะเลี้ยวไปพร้อมๆ กัน ความก้าวหน้านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการควบคุมองศาการเลี้ยวได้ตรงตามความต้องการของแต่ละล้ออย่างเป็นเอกเทศ ทั้งยังให้การตอบสนองที่ฉับไวยิ่งขึ้น ระบบนี้มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองของล้อคู่หน้าต่อคำสั่งที่ได้รับจากพวงมาลัย ทว่ายังคงไว้ซึ่งสัมผัสของแรงยึดเกาะจากล้อหลัง ซึ่งตอบสนองต่อแรงกระทำจากล้อหน้าได้ทันที และยังช่วยจัดการกับแรงเหวี่ยงด้านข้างของรถได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามความถี่ในการสั่งงานจากพวงมาลัย

ระบบ SSC รวมเอาระบบควบคุมทั้งหมดที่พัฒนาขึ้นโดย Ferrari เข้าไว้ด้วยกัน และใช้การควบคุมแบบไดนามิกส์ร่วมกัน ระบบจึงทำงานได้เป็นหนึ่งเดียวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม Side Slip Control 7.0 ระบบควบคุมเฟืองท้ายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Diff 3.0), ระบบควบคุมการยึดเกาะ (F1-Trac), ระบบควบคุมช่วงล่าง SCM-Frs, ระบบควบคุมแรงเบรกขณะขับขี่บนขีดจำกัดสูงสุดของรถ (FDE) ซึ่งจะทำงานเมื่อปรับสวิตช์ Manettino ไปที่โหมด Race และ CT-Off, และ Virtual Short Wheelbase 3.0 ซึ่งรวมเอาระบบบังคับเลี้ยวด้วยไฟฟ้าและระบบควบคุมการเลี้ยวอิสระของล้อหลังเข้าไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของการทำให้รถเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้น้ำหนักโดยรวมลดลงถึง 38 กก. เมื่อเทียบกับ 812 Superfast ส่วนที่ได้รับการโฟกัสที่สุดก็คือระบบขับเคลื่อน, เกียร์ และตัวถังภายนอก มีการนำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้กับหลายชิ้นส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กันชนหน้า, กันชนหลัง, สปอยเลอร์ และช่องรับอากาศ

ระบบขับเคลื่อนมีน้ำหนักลดลงได้จากการใช้ก้านสูบไททาเนียม ร่วมกับเพลาข้อเหวี่ยงที่เบายิ่งขึ้นและแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน 12 โวลต์ นอกจากนั้น ดีไซน์ภายในห้องโดยสารก็ได้รับความใส่ใจอย่างยิ่ง ด้วยการใช้ชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์, ผ้าที่ผลิตขึ้นด้วยเทคนิคพิเศษทำให้มีน้ำหนักเบา และลดฉนวนป้องกันเสียงรบกวนลง ในขณะที่ล้อเป็นฟอร์จอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา และใช้นอตล้อผลิตจากไททาเนียม ล้อที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ มีให้เลือกติดตั้งเป็นครั้งแรกในรถเฟอร์รารี่ V12 และทำให้น้ำหนักรวมลดลงอีกถึง 3.7 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับล้อฟอร์จน้ำหนักเบาใน 812 Superfast ด้านในของช่องและก้านล้อเคลือบด้วยสีขาวประเภทเดียวกับที่ใช้ในยานอวกาศเพื่อสะท้อนและกระจายความร้อนที่เกิดจากระบบเบรกประสิทธิภาพสูงของรถ รับประกันได้ว่าจะยังคงใช้งานได้อย่างแม่นยำ แม้ถูกใช้งานอย่างหนักหน่วงในสนามแข่ง

STYLING EXTERIOR

812 Competizione ที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ทำให้ดูแตกต่างจาก 812 Superfast อย่างสิ้นเชิงทั้งในเรื่องรูปทรงและดุลยภาพ การปรับแต่งทางด้านวิศวกรรมต่างๆ เปิดโอกาสให้ Ferrari Styling Centre ได้ใส่นิยามใหม่ลงไปในตัวรถ ด้วยการเลือกสไตล์ที่ช่วยขับให้ดีไซน์ของสถาปัตยกรรม, รูปทรงของประติมากรรม และความเป็นสปอร์ตคาร์ขนานแท้ โดดเด่นยิ่งขึ้น หนึ่งในฟีเจอร์ที่โดดเด่นที่สุดของ 812 Competizione ก็คือฝากระโปรงซึ่งคาดด้วยแถบครีบแนวขวางทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ นี่เป็นสไตล์ซึ่งจำลองช่องระบายอากาศออกจากห้องเครื่องแบบดั้งเดิม จากมุมมองด้านดีไซน์การเลือกที่จะใช้องค์ประกอบแนวขวางแทนที่จะเป็นครีบระบายอากาศทรงปกติที่เห็นได้จากเฟอร์รารี่รุ่นอื่นๆ ทำให้ฝากระโปรงดูสะอาดตายิ่งขึ้นและมีมิติกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังทำให้ดูเป็นการตกแต่งแบบสามมิติ และชวนให้รำลึกถึงแถบคาดแนวขวางบนฝากระโปงของรถแข่ง Ferrari ในอดีต

แอโรไดนามิกส์ด้านหน้าที่ได้รับการปรับแต่งขึ้นใหม่ ช่วยให้ทีมออกแบบใส่ความดุดันเข้าไปในรถได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สมกับความเป็นยนตรกรรมสุดพิเศษที่มีจำนวนจำกัด จมูกของรถเผยให้เห็นความทรงพลังด้วยกระจังหน้าที่กว้างเต็มพื้นที่ ขนาบข้างด้วยช่องดักอากาศของระบบเบรกที่โดดเด่นสะดุดตา Splitter คาร์บอนไฟเบอร์เน้นย้ำให้เห็นถึงความกว้างและหมอบต่ำของรถ บ่งบอกเป็นนัยถึงประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนที่ไม่ธรรมดา จุดที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดของความงดงามใน 812 Competizione คือการเปลี่ยนมาใช้แผงด้านหลังแบบอะลูมิเนียมทั้งชิ้นแทนกระจกหลัง ตัวเรียงกระแสอากาศที่ส่วนบนของแผงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกให้กับรถ ขณะที่เอฟเฟกต์แบบโครงกระดูกสันหลังส่งให้ภาพรวมของประติมากรรมการออกแบบเฉิดฉายยิ่งขึ้น

เมื่อรวมกับแถบครีบคาร์บอนไฟเบอร์ที่พาดขวางบนฝากระโปรงหน้า การปรับแต่งเหล่านี้เปลี่ยนภาพรวมของมิติรถไปโดยสิ้นเชิง: ดูทะมัดทะแมงยิ่งกว่า 812 Superfast, ขับภาพลักษณ์อันทรงพลังของรถทรงฟาสต์แบ็กให้โดดเด่นชัดเจน การไร้ซึ่งกระจกหลังยังช่วยสร้างมิติที่ต่อเนื่องลื่นไหลระหว่างหลังคาและสปอยเลอร์ ทั้งยังเปิดให้ผู้เป็นเจ้าของได้เลือกตกแต่งรถให้มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครยิ่งขึ้นด้วยลายกราฟิกที่คาดยาวจากหัวจรดท้ายรถ แม้กระทั่งสปอยเลอร์ก็ยังดูสง่างามม มีความสูงเพิ่มขึ้นทว่าดีไซน์ยังคงทำให้ท้ายรถดูแบนกว้างอย่างยิ่ง ช่วยให้มุมมองด้านหลังดูเตี้ยลงอย่างมาก ขอบของสปอยเลอร์ที่เชื่อมต่อเนื่องไปด้านข้างตอกย้ำถึงความกำยำทั้งยังมีสไตล์ที่ชวนให้นึกถึงรถระดับตำนานของเฟอร์รารี่อย่างรุ่น 330 P3/P4 อีกด้วย

ชุดไฟท้ายส่งให้รถมีภาพลักษณ์ดุดันยิ่งขึ้น ทั้งหมดถูกติดตั้งไว้อย่างแนบเนียนใต้สปอยเลอร์เพื่อให้ความรู้สึกเป็นแนวนอนเมื่อมองจากท้ายรถ กันชนหลังออกแบบขึ้นเป็นพิเศษและโดดเด่นด้วยช่องระบายอากาศขนาดใหญ่สองช่อง ร่องแอโรไดนามิกส์ทั้งสามที่คาดยาวตลอดแนวด้านข้างของกันชน มีสไตล์ที่โดดเด่นและสอดคล้องกับรูปทรงของตัวเรียงกระแสอากาศที่อยู่บนแผงหลัง

COCKPIT

ในส่วนของสถาปัตยกรรมภายในห้องโดยสาร 812 Competizione ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของ 812 Superfast เก็บรักษาความพิเศษต่างๆ เอาไว้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นแดชบอร์ดและแผงประตูแบบ “เล่นระดับ” อันเป็นซิกเนเจอร์ของรถ ตัวแผงประตูถูกปรับให้เบาขึ้นทั้งในส่วนของรูปแบบและน้ำหนัก เพื่อเน้นความเป็นสปอร์ตของห้องโดยสารให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ช่องเก็บของบนแผงประตูออกแบบให้ยื่นออกมาจากโครงสร้างหลักจนดูราวกับเป็นองค์ประกอบที่ลอยตัวอยู่ ช่วยสร้างสัมผัสที่ดูเบาและดูลื่นไหลต่อเนื่องไปกับส่วนอื่นๆ ในห้องโดยสาร มีเพียงส่วนเชื่อมต่อเล็กๆ บริเวณมือเปิดประตูที่ยังคงเหลือไว้เป็นที่วางแขน แต่ก็ช่วยสร้างไดนามิกส์ที่กำยำให้กับแผงประตูได้เป็นอย่างดี ร่องเกียร์ที่เป็นเอกลักษณ์อันโด่งดังบนพื้นที่กลางห้องโดยสารคือส่วนที่เชื่อมโยงอดีตและอนาคตของเฟอร์รารี่เข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นครั้งแรกที่ถูกนำมาใช้กับยนตรกรรม V12 และยังสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของ 812 Competizione และประวัติศาสตร์ของแบรนด์ได้ชัดเจน


812 Competizione A

812 Competizione A เปิดโอกาสให้ Ferrari Styling Center นำส่วนท้ายรถที่ได้รับการปรับแต่งใหม่ มาสร้างสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำอย่างแท้จริง เสาหลังคาแบบลอยตัวซึ่งได้รับความนิยมอย่างยิ่งในรถเฟอร์รารี่ ดูผสมผสานกลมกลืนกับหน้ารถทรงลูกศรที่เกิดจากการใช้ครีบบนฝากระโปรง ทั้งยังให้ความรู้สึกราวกับรถกำลังพุ่งไปข้างหน้า และช่วยให้ภาพรวมของรถดูแตกต่างจากรุ่นตัวถังคูเป้อย่างชัดเจน จุดศูนย์ถ่วงของรถที่ดูเตี้ยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากด้านข้าง ไม่เพียงเพราะหลังคาและกระจกหน้าทรงโอบโค้งที่ลื่นไหลต่อเนื่องไปยังกระจกข้างเท่านั้น แต่ยังเนื่องมาจากเสาหลังคาแบบลอยตัวที่ต่ำกว่าในรุ่น 812 Competizione อีกด้วย เมื่อเปิดหลังคาส่วนหนึ่งของโรลบาร์จะยื่นขึ้นมาเหนือส่วนอื่นๆ ของตัวรถ แต่เนื่องจากเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ โรลบาร์นี้จึงกลายเป็นองค์ประกอบเสริมอันงดงามและไม่ลดทอนภาพลักษณ์ที่หมอบต่ำของเสาหลังคาลงแม้แต่น้อย เมื่อปิดหลังคา โรลบาร์จะเชื่อมต่อแนบเนียนไปกับโครงสร้างของหลังคาจนดูราวกับเป็นชิ้นเดียวกัน ตัวแผ่นหลังคาผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อให้ดูกลมกลืนไปกับโรลบาร์ และเมื่อเปิดหลังคาออก ตัวหลังคาสามารถเก็บไว้ในช่องที่มีรูปทรงแบบเดียวกับตัวหลังคาพอดี การจัดเก็บที่ง่ายดายนี้ หมายถึงสามารถเพลิดเพลินกับการขับขี่ได้ในทุกสภาพอากาศโดยไม่ต้องกังวลใดๆ

7 YEARS MAINTENANCE

โปรแกรมการบำรุงรักษาขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 7 ปี สำหรับ 812 Competizione และ 812 Competizione A โปรแกรมนี้ครอบคลุมการบำรุงรักษาตามปกติทั้งหมดในช่วง 7 ปีแรกของรถ การบำรุงรักษาตามกำหนดเวลานี้เป็นบริการพิเศษที่ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่ารถของท่านจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยตลอดเวลา บริการพิเศษนี้มีให้สำหรับผู้ที่ซื้อ Ferrari มือสอง การบำรุงรักษาตามปกติ (ตามระยะทาง 20,000 กม. หรือปีละครั้ง ไม่จำกัดระยะทาง), อะไหล่แท้ และการตรวจเช็กอย่างพิถีพิถันโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมโดยตรงที่ศูนย์ฝึกอบรมของเฟอร์รารี่ในมาราเนลโล โดยใช้เครื่องมือวินิจฉัยที่ทันสมัยที่สุด บริการนี้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้งหมด โปรแกรมการบำรุงรักษานี้ จะขยายขอบเขตของบริการหลังการขายที่เสนอโดย Ferrai เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของรถ ที่ต้องการรักษาประสิทธิภาพและความเป็นเลิศ อันเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ทุกคันที่สร้างขึ้นจากโรงงานในมาราเนลโล

ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค – 812 COMPETIZIONE*

เครื่องยนต์

ประเภท V12 – 65°

ความจุกระบอกสูบ 6496 ซีซี

กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94 มม. x 78 มม.

กำลังสูงสุด** 610 กิโลวัตต์ (830 แรงม้า) ที่ 9,250 รอบ/นาที

แรงบิดสูงสุด** 692 นิวตันเมตร ที่ 7,000 รอบ/นาที

ความเร็วรอบเครื่องยนต์สูงสุด 9,500 รอบ/นาที

อัตราส่วนกำลังอัด 13.5:1

มิติและน้ำหนัก

ความยาว 4,696 มม.

ความกว้าง 1,971 มม.

ความสูง 1,276 มม.

ความยาวฐานล้อ 2,720 มม.

ความกว้างฐานล้อหน้า 1,672 มม.

ความกว้างฐานล้อหลัง 1,645 มม.

น้ำหนักรถเปล่า*** 1,487 กก.

น้ำหนักต่อแรงม้า 1.79 กก./แรงม้า

การกระจายน้ำหนัก 49% ด้านหน้า – 51% ด้านหลัง

ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 92 ลิตร


ล้อและยาง

หน้า 275/35 ZR20; 10” J x 20”

หลัง 315/35 ZR20; 11.5” J x 20”

เบรก

หน้า 398 x 223 x 38 มม.

หลัง 360 x 233 x 32 มม.

ระบบส่งกำลังและเกียร์

7-speed F1 DCT

ระบบควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์

PCV 3.0 (Passo Corto Virtuale – Virtual Short Wheelbase) พร้อมระบบเลี้ยวอิสระ 4 ล้อ, ESC, ABS/EBD แบบสมรรถนะสูง, F1-Trac, E-Diff3, SCM-E คอยล์คู่, SSC (Side Slip Control) 7.0

สมรรถนะ

ความเร็วสูงสุด > 340 km/h

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 2.85 วินาที

อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. 7.5 วินาที

สถิติเวลาต่อรอบสนาม Fiorano 1 นาที 20 วินาที


อาคม รวมสุวรรณ

E-Mail chang.arcom@thairath.co.th

Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/