ชาวศรีสะเกษปลื้มใจ ! ล้งชาวจันทบุรีชม “ทุเรียนภูเขาไฟ” อร่อยโดดเด่นเป็นที่ต้องการของชาวไทย ต่างประเทศ – สยามรัฐ

สยามรัฐออนไลน์ 15 มิถุนายน 2564 09:56 น. ภูมิภาค

วันที่ 15 มิ.ย.64 ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ และประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน เปิดเผยว่า ได้นำนักท่องเที่ยวและสื่อมวลชนไปที่ บ้านซำขี้เหล็ก ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เพื่อแนะนำช่องทางการขายทางออนไลน์ให้เจ้าของสวนในสภาวะโควิด-19 และดูตลาดทุเรียนภูเขาไฟที่จำหน่ายตามสวนต่างๆ ซึ่งมีราคาทุเรียนในพื้นที่แตกต่างกัน ดังนี้ ทุเรียนอำเภอกันทรลักษ์กำหนดราคาขายกิโลละ160-190 บาท ที่อำเภอศรีรัตนะ กำหนดราคาขายกิโลละ150-180 ที่อำเภอขุนหาญ กำหนดราคาขายกิโลละ160-200 บาท ราคาเฉลี่ยทั่วไป กิโลละ 170 -180 บาท (ข้อมูล เกษตรจังหวัด)

เมื่อคณะขับรถเข้าไปในเส้นทางสวนทุเรียนของบ้านซำขี้เหล็ก อำเภอขุนหาญ ได้พบกับ พ่อค้าเหมาสวน 3 พี่น้องที่มาจากจังหวัดจันทบุรีคือ นายชูเกียรติ ฮายีมา นำทีมมา ซึ่งถือว่าเป็นล้งรายใหญ่ ที่เดินทางมาเหมาสวนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษทุกปี โดยเหมาสวนแบบตั้งราคาสวนละ2-3 ล้าน จ่ายเงินให้และเข้าไปตัดทุเรียนภูเขาไฟในสวนเองแล้วนำมาคัดเกรด แยกลงในเข่งแต่ละเข่ง แยกเข่งเป็นประเทศด้วยว่าเข่งไหนจะจัดส่งไปประเทศไหนบ้าง รวมทั้งแยกไว้สำหรับจำหน่ายให้คนไทยด้วย ต้องโยนทุเรียนจากรถที่ไปเก็บในสวนแต่ละลูกลงมาชั่งน้ำหนักก่อนค่อยใส่เข่งแล้วนำไปไว้บนรถบรรทุกอีกครั้งเพื่อเตรียมส่งต่อไปปลายทาง

นายชูเกียรติ ฮายีมา กล่าวว่า ปีนี้ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณกิโลละ 20 บาท อาจเป็นเพราะว่ามีผู้นิยมรับประทานทุเรียนภูเขาไฟมากขึ้นและทุเรียนบางสวนได้รับผลกระทบจากพายุพัดร่วงเสียหาย แต่ถือว่าปีนี้ชาวสวนก็ยังจำหน่ายทุเรียนได้ราคาดี เพราะมีล้งเกิดขึ้นอีกหลายราย ปริมาณทุเรียนภูเขาไฟไม่เพียงพอกับล้ง เขาจึงมีการแข่งราคากัน ทำให้เกิดผลดีกับชาวสวนทุกสวน ซึ่งแม้มีสภาวะโควิด-19 ก็ไม่มีผลกระทบต่อการจำหน่ายแต่อย่างใด เพราะผู้บริโภคยังต้องการทุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษจำนวนมาก ตนเป็นพ่อค้าคนกลางที่รักษามาตรฐานต้องคัดเลือกทุเรียนที่มีคุณภาพดี และเมื่อส่งสินค้าไปถึงปลายทาง ต้องได้ขนาดตามที่ลูกค้าต้องการ โดยเฉพาะ ตลาดต่างประเทศ จะต้องคำนวณว่าส่งไปกี่วันถึงจะถึงปลายทาง ต้องเลือกให้ดีหากส่งแบบสุกเกินไปจะระเบิดแตกระหว่างทางเพราะต้องใช้เวลาเดินทางเป็นสิบวัน แต่การตัดทุเรียนจะต้องตัดทุเรียนที่มีอายุครบทุกลูก ไม่ตัดทุเรียนอ่อนเด็ดขาด ถ้าลูกไหนไม่ดีก็จะเลือกทิ้งไปไม่ให้เสียชื่อ เราส่งออกต้องไม่ให้มีทุเรียนที่มีเชื้อราเด็ดขาด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะชอบทุเรียนที่ลูกมีรูปทรงสวยงามขนาดกำลังพอดี ต้องดูว่าลูกทุเรียนที่ส่งไปสวยหรือไม่ซึ่งจะต้องคัดอย่างดีเพราะทุเรียนที่ส่งออกมีมูลค่ามหาศาล สำหรับปีนี้คณะต้องอยู่ซื้อทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษต่อไปอีกจนถึงเดือนสิงหาคม คือทุเรียนหมด เพราะยังต้องรอส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และประเทศออสเตรเลียที่สั่งซื้อ รวมทั้งประเทศไทยอีกจำนวนมาก ถ้าเปรียบเทียบทุเรียนภูเขาไฟของศรีสะเกษ เราจะคัดเลือกทุเรียนแบบสไตล์ขายให้คนชอบรับประทานทุเรียนให้ได้ทานแบบถูกใจทุกลูก แต่ทุเรียนที่จันทบุรี มีสไตล์ขายแบบส่งออกนอกประเทศ คือที่จันทบุรีมีทุเรียนเป็นพันๆสวน ชาวสวนไม่ได้รอจนทุเรียนแก่จัดค่อยตัดพร้อมกันทั้งหมด เพราะจะทำให้ทุเรียนล้นตลาดมาก ที่จริงต้องขอบคุณชาวจีนที่นิยมทานทุเรียนและสั่งซื้อเข้ามามาก และขอบคุณพวกตัดกล่องที่มาช่วยทะยอยซื้อด้วย ทำให้ทุเรียนไม่ล้นตลาดหากตัดขายพร้อมกัน ตัดกล่องคือเปอร์เซ็นต์ในเมืองนอกเขาไม่เอาแก่จัดถ้าแก่จัดขึ้นตู้ก็จะระเบิดแตกเสียหาย

ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ กล่าวว่า รู้จักล้งรายนี้ดีเพราะสามพี่น้องคือ นายชูเกียรติ ฮายีมา , นายวรเชษฐ์ ฮายีมา และ นาย ชวลิต ฮายีมา เป็นชาวจันทบุรีที่มาเหมาทุเรียนภูเขาไฟของศรีสะเกษหลายปีแล้ว อยู่ซื้อทุเรียนโดยเช่าสวนของนางหม่อนอาศัยอยู่และนางหม่อนก็ให้สามพี่น้องเป็นลูกชายของตนด้วย สิ่งที่ทำให้ดีใจคือล้งรายนี้เหมาสวนโดยให้ราคาดีเป็นที่พอใจของชาวสวนศรีสะเกษ เขาบอกว่าแม้เป็นพ่อค้าที่มีโอกาสเลือกทานทุเรียนหลายแห่ง แต่ชอบทานทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มาก เพราะอร่อยกว่าที่อื่น กรอบนอก นุ่มใน ไม่มีกลิ่นแรง โดดเด่นต่างจากแหล่งอื่น ล้งรายนี้มีทีมคนงานนำรถยนต์เข้าไปเลือกตัด ทุเรียนในสวนและคัดเฉพาะทุเรียนที่มีคุณภาพดีเท่านั้นในการส่งออก ทุเรียนลูกไหนที่ไม่สวยก็ยอมขายราคาถูกๆ เช่นวันนี้ขายกิโลละ100 บาท ก็มีนักท่องเที่ยวแย่งกันซื้อเพราะอร่อยเท่ากันแม้ลูกไม่สวย มาเห็นแล้วรู้สึกดีใจแทนชาวสวนทุกสวนที่ได้ขายทุเรียนในราคาเป็นที่พึงพอใจทั้งผู้ซื้อผู้ขาย ไม่ต้องประสบปัญหาจากโควิด-19 จนทำให้ขายไม่ได้ อยากขอให้สวนอื่นๆรักษาคุณภาพทุเรียนอย่าตัดทุเรียนอ่อนให้เสียชื่อทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษจะได้ขายได้ยาวนานต่อไป