นอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่กรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรในทุกๆ ปี เพื่อนำงบประมาณที่ได้ไปใช้ประโยชน์ และแก้ไขปัญหาให้กรุงเทพฯ ดีกว่านี้
กรุงเทพมหานครยังมีรายได้ส่วนที่จัดเก็บเอง ซึ่งถือว่าการจัดเก็บรายได้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ท้าทายผู้ที่กำลังจะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ในแต่ละปี กทม.ที่มีพื้นที่ 1,568.737 ตารางกิโลเมตร จัดเก็บรายได้ได้เท่าไร และจัดเก็บจากอะไรบ้าง ไทยรัฐพลัสชวนดูและทบทวนไปพร้อมๆ กัน
ที่มารายได้ กทม.
รายได้ของกรุงเทพมหานคร ในปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1. รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง ประกอบด้วยรายได้ที่ได้จากภาษีอากรและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร แบ่งเป็น รายได้ที่ได้จากภาษีอากร ได้แก่
- • ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- • ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- • ภาษีป้าย
- • ภาษีบำรุง กทม. สำหรับน้ำมัน
- • ภาษีการพนัน
- • อากรฆ่าสัตว์
รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร ได้แก่
- • ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ใบอนุญาต
- • รายได้จากทรัพย์สิน
- • รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์และกิจกรรมอื่น ๆ
- • รายได้เบ็ดเตล็ด
2. รายได้จากการจัดสรรภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ได้แก่
- • ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- • ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน
- • ภาษีสรรพสามิต
- • ภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ/นิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
- • ภาษีธุรกิจเฉพาะ
- • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา
- • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเล่นการพนัน
- • ค่าปรับผู้ละเมิดกฎหมายจราจร
สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ กทม. จากข้อมูลพบว่า กทม. พึ่งพารายได้จากที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ค่อนข้างมาก คิดเป็นสัดส่วน 80-90% ในขณะที่รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองมีสัดส่วน 10-20%
แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้ของปีงบฯ 2563 และปีงบฯ 2564 นั้นลดลงระดับหมื่นล้านบาท สิ่งที่ทำให้รายได้ของ กทม.ลดลงนี้หลักๆ มาจากการยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ที่เป็นรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุดของรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง) และภาษีบำรุงท้องที่ ตาม ‘พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475’ และ ‘พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508’ และเปลี่ยนมาใช้ ‘พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562’ เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ภาษีที่ดิน’ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 แทน
รวมถึงผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้รัฐบาลและ กทม.ต้องออกมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งจากการกําหนดมาตรการทางภาษีของภาครัฐก็ทำให้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและ กทม.ที่ลดลง
รายได้กทม.ย้อนหลัง 5 ปี
• ปีงบประมาณ 2560
ประมาณการรายได้ไว้ 76,000 ล้านบาท
จัดเก็บได้จริง 79,292.73 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ 2561
ประมาณการรายได้ไว้ 78,500.00 ล้านบาท
จัดเก็บรายได้จริง 86,444.16 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ 2562
ประมาณการรายได้ไว้ 80,000.00 ล้านบาท
จัดเก็บรายได้จริง 83,338.64 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ 2563
ประมาณการรายได้ไว้ 83,000.00 ล้านบาท
จัดเก็บรายได้จริง 67,555.62 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ 2564
ประมาณการรายได้ไว้ 75,500.00 ล้านบาท
จัดเก็บรายได้จริง 69,728.57 ล้านบาท
เจาะลึกลงไปในรายละเอียดของการจัดเก็บรายได้ของ กทม.ประจำปีงบประมาณ 2564 กทม.ประมาณการรายได้ไว้ 75,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง 12,000 ล้านบาท และรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 63,500 ล้านบาท
หากดูตัวเลขแล้วก็นับว่าเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประมาณการรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง เพราะหากเทียบกับปีงบฯ 2563 ที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 20,500 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าตั้งเป้าลดลงถึง 8,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
และแม้จะประมาณการรายได้ลดลงแล้วก็ตาม แต่ตัวเลขการจัดเก็บรายได้จริงของปีงบประมาณ 2564 ที่ออกมาก็น้อยลงกว่าที่ตั้งเป้าไว้เสียอีก
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นสาเหตุหลักๆ มาจากการยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่เป็นรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุดของรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง เปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน และการเลื่อนการจัดเก็บต่างๆ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19