เด็ก 16 ซิ่งรถหรูชนคนตาย “ลูกคนรวย” ถูกตีตรา “อภิสิทธิ์ชน”



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ภาพจำในสังคมไทยเกี่ยวกับ  “คดีลูกคนรวย” ขับรถหรูราคาแพงชนคนตาย ถูกมองว่ารวยเท่ากับรอด มองว่าคนรวยเมืองไทยมักเป็น “อภิสิทธิ์ชน”  ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนทั่วไป ได้รับความเกรงใจจากผู้บังคับใช้กฎหมาย ยิ่งกรณีผู้ก่อเหตุเป็นเพียง “เยาวชน”  กฎหมายยิ่งอะลุ่มอล่วย บทลงโทษเบาบางค้านสายตาประชาชน

ล่าสุดกับโศกนาฎกรรมกรณีเยาวชนอายุ 16 ปี ขับรถหรูฝ่าไฟแดงชนชายหนุ่มวิศวกรอนาคตไกลเสียชีวิต เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 30 ก.ย. 65 บริเวณถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างยิ่ง ทำให้ย้อนนึก  คดีแพรวา 9 ศพ ซึ่งตอนต่อเหตุก็อายุประมาณ 16 ปีใกล้เคียงกันกับกรณีนี้

ด้วยตัว  “ผู้ก่อเหตุ”  เป็น  “เยาวชน”  อายุ 16 ปี ไม่มีใบขับขี่ ซึ่งตามกฎหมายโดยกรมการขนส่งทางบก กำหนดไว้ว่าคนที่จะทำใบขับขี่ได้ ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้น ซึ่งขณะเกิดเหตุ เยาวชนชายซิ่งรถหรู ยี่ห้อ BMW มีเพื่อนที่นั่งมาอีก 2 คน ขับรถฝ่าไปแดงพุ่งชนวิศวกรหนุ่มจบใหม่อนาคตไกล ขณะขับขี่มอเตอร์ไซค์จากที่ทำงานกลับบ้าน ก่อนเสียชีวิตทันที

ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจขึ้นเรื่อยๆ หลังจากในโซเซียลมีเดียขุดคุ้นประวัติผู้ก่อเหตุ พบว่าเป็นนักกีฬาเยาวชนระดับทีมชาติ ครอบครัวมีฐานะร่ำรวย ทำธุรกิจเกี่ยวกับกีฬา มีธุรกิจร่วมหุ้นกันกับนามสกุลดังเมืองบุรีรัมย์ และคนในกลุ่มผู้ก่อเหตุมีพ่อเป็นตำรวจใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้น หลังเกิดเหตุพวกเขาดูไม่สนใจใยดีคนเจ็บ มีการถ่ายรูปโพสต์โซเชียล อัพสตอรีอินสตาแกรม ไม่ยี่หระต่ออุบัติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังก่อเหตุเจ้าหน้าที่ไม่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์กลุ่มเยาวชนทันที

สำหรับกระบวนการดำเนินคดีของตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ ได้แจ้งให้ผู้ปกครองพาเยาวชนผู้ก่อเหตุมารับทราบข้อกล่าวหา โดย  พ.ต.ท.ไพศาล ปันเร็ว  สารวัตรสอบสวน สภ.โพธิ์กลาง จ.นครราชสีมา พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เปิดเผยว่าทางผู้ปกครองได้พาเยาวชนชายอายุ 16 ปี ซึ่งเป็นคนขับรถเก๋ง BMW เดินทางเข้ามาพบพนักงานสอบสวนแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเยาวชนชายคนขับ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่เยาวชนชาย (คนขับ) 3 ข้อหา ประกอบด้วย ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต , ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง และไม่มีใบอนุญาตขับขี่

ทั้งนี้ เยาวชนชายที่เป็นคนขับยอมรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา โดยตำรวจยืนยันดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งหลังจากนี้พนักงานสอบสวนก็จะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดส่งให้กับพนักงานอัยการพิจารณาส่งฟ้องศาลต่อไป

ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยเรื่องเยาวชนชายคนขับมีอาการมึนเมาขณะขับรถหรือไม่นั้น หลังเกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอลล์แล้ว และไม่พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอลล์แต่อย่างใด

พ.ต.ท.ไพศาล กล่าวยืนยันด้วยว่าตำรวจทำคดีตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐาน ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้

คดีนี้นับเป็นตัวอย่างถึงความประมาทของผู้ปกครอง ซึ่งมีส่วนในการรับผิดชอบตามฐานความผิด โดย  นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่าหลังเยาวชนผู้ก่อเหตุได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้วในเบื้องต้น ทางคดีสามารถเอาผิดกับผู้ปกครองได้ หากมีการพิสูจน์ทราบว่ามีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนให้เยาวชนขับรถยนต์โดยไม่มีใบขับขี่ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก 3 เดือน โดยจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์หลักฐานในชั้นศาล เพราะกรณีนี้ถ้าเด็กขับรถออกจากบ้านผู้ปกครองต้องมีส่วนรู้เห็น

สำหรับการดำเนินคดีกับเยาวชนผู้กระทำผิด แม้มี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่ไม่สามารถจำคุกเยาวชนได้เหมือนความผิดของผู้ใหญ่ แต่จะมีกระบวนการควบคุมอบรม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเยาวชนผู้ก่อเหตุ และด้านคดีความผิดทางแพ่ง ครอบครัวผู้เสียชีวิต สามารถเรียกร้องเป็นรายเดือน โดยคิดจากฐานเงินเดือนสุดท้ายของผู้เสียชีวิต และทางกฎหมายมีผลบังคับให้จ่ายเงินส่วนนี้ไปจนกว่าคนที่ได้รับสิทธิประโยชน์มีอายุ 90 ปี

แน่นอนว่าคดีอุบัติเหตุลักษณะนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และถ้าเป็นไปได้ผู้ปกครองจะต้องได้รับโทษ หากมีการส่งเสริมให้บุตรขับรถยนต์ โดยไม่มีใบขับขี่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม สังคมตั้งคำถามถึงความผิดทางกฎหมายของเยาวชนผู้ก่อเหตุและความผิดของผู้ปกครอง อาจมีส่วนในการได้รับโทษในคดีนี้ ซึ่งทางสภาทนายความ จ.นครราชสีมา ได้เสนอเข้าช่วยเหลือด้านกฎหมายในการดำเนินคดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและไขข้อสงสัยของสังคมด้วย

ย้อนกลับไปช่วงที่มีการจัดการปัญหาเด็กแว้น มีคำสั่งตามคำสั่ง หน.คสช. ที่ 22/2558 และ 46/2558 ใช้อำนาจ ม.44 ออกคำสั่งปรามเด็กแว้น เอาผิดผู้ปกครอง โทษคุก 3 เดือน ปรับ 3 หมื่น หากปล่อยเด็กไปแข่งรถซิ่ง โดยผู้ปกครองถูกเชิญตัวมาทำทัณฑ์บน และถูกปรับคนละ 500 บาท ซึ่งหากบุตรหลานกระทำผิดซ้ำอีก จะมีความผิดฐานสนับสนุน มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

สำหรับการก่ออาชญากรรมโดยเยาวชน  “เยาวชน”  ซึ่งหมายถึง บุคคลที่อายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ โทษจากแตกต่างจากการดำเนินคดีกับ “ผู้ใหญ่” ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงการเป็นเยาวชนของผู้ก่อคดีอุกฉกรรจ์ อาจเป็นยันต์ให้พวกเขารอดพ้นกระบวนการยุติธรรมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมายหรือไม่

แต่ต้องยอมรับว่า หัวใจของกฎหมายเยาวชนมีจุดประสงค์ดี ถึงผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเยาวชนจะทำเรื่องที่ผิดร้ายแรง ใช่ว่าลงโทษรุนแรงแบบเดียวกับผู้บรรลุนิติภาวะจะเป็นทางเลือกที่ดีเสมอไป เพราะในระยะยาวอาจเป็นการเพาะปมให้เยาวชนรายนั้นอาจกลายมาเป็นปัญหาสังคมได้

คดีเยาวชนอายุ 16 ปีซิ่งรถหรูชนคนตาย ที่ได้รับความสนใจในสังคมไทยขณะนี้ คำถามคือ เยาวชนอายุ 16 ปี เอารถยนต์หรูออกมาขับขี่จนเกิดอุบัติเหตุได้อย่างไร ทางครอบครัวมีส่วนสนับสนุนรู้เห็นให้เด็กขับรถโดยไม่มีใบขับขี่หรือไม่ ครอบครัวเป็นต้นเหตุของโศกนาฎกรรมในครั้งนี้หรือไม่ และแน่นอนว่า เลี่ยงไม่ได้ที่ครอบครัวเยาวชนผู้ก่อเหตุ ต้องร่วมรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของบุตรหลาน

ขณะที่  นายเทิดพงษ์ กมลปัญญากร  อายุ 48 ปี ชาว อ.เมือง จังหวัดบุรีรัมย์ พ่อของเยาวชนชาย อายุ 16 ปี ผู้ก่อเหตุขับรถหรูชนคนตาย เปิดใจต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น โดยยอมรับว่าแม้จะมีการเยียวยาแต่ก็ตีเป็นมูลค่าไม่ได้ เพราะไม่สามารถเอาชีวิตกลับคืนมาได้ แต่ตนก็จะรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งจะต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นคนตัดสิน

คงต้องติดตามกันว่า จะมีการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ปกครองเด็กหรือไม่ และบทสรุปของคดีเยาวชนซิ่งรถหรูชนคนตาย กระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมเหยื่อและครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างไร

 สุดท้าย กรณีที่เกิดขึ้นนับเป็นบทเรียนสำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองที่สมควรจะต้องเอาใจใส่บุตรหลานของตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากกว่านี้