เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา “อีลอน มัสก์” ซีอีโอใหญ่ของบริษัท Tesla ต้อนรับคณะผู้แทนจากอินโดนีเซียที่มาเยือนโรงงาน Gigafactory Texas ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำหน้าที่สุดของ Tesla
หนึ่งในข้อหารือคือเรื่องนิกเกิลของอินโดนีเซียซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ Tesla ในเรื่องการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV รุ่นที่มีอยู่และรุ่นต่อๆ ไปของบริษัท
อินโดนีเซียเป็นแหล่งแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเหมืองแร่นิกเกิลที่ใหญ่เป็นอับดับ 1 ของโลกนี้ตั้งอยู่ที่เมืองสุลาเวสีเซลาตัน สามารถผลิตนิกเกิลได้ประมาณ 71.6 พันตัน (ปี 2020) และเหมืองนี้จะมีการขุดแร่นิกเกิลต่อไปจนถึงปี 2045 และเหมืองนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลกก็ตั้งอยู่ที่เมืองกาลีมันตันเช่นกัน ในปี 2020 สามารถผลิตนิกเกิลได้กว่า 42.9 พันตัน
อินโดฯมีเหมืองนิกเกิลติดอันดับโลก นี่คือเสน่ห์และข้อได้เปรียบในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ในอนาคต เพราะนิกเกิลเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
เป้าหมายของคณะผู้แทนอินโดนีเซีย คือ การเกลี้ยกล่อมให้ Tesla ร่วมมือกับอินโดฯในด้านซัพพลายเชนแบตเตอรี่ หมายความว่าทางอินโดฯต้องการให้บริษัท Tesla ทำข้อตกลงร่วมมือเพื่อให้อินโดนีเซียเป็นผู้จัดหาและแปรรูปนิกเกิลให้แก่บริษัท Tesla และสิ่งสำคัญคือการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Tesla ภายใต้ศักยภาพอันมหาศาลของอุตสาหกรรมแร่นิกเกิลในประเทศ
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยที่เราเคยภูมิใจกันว่าเราคือฮับของโลก ล่าสุด KKP Research ได้เขียนรายงานเชิงวิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า โลกกำลังไปเป็น EV แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังใกล้ตาย เพราะพึ่งพาแต่การเป็นฐานการผลิตให้ญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถแข่งสู้จีน-อินโดนีเซียในสนาม EV ได้
ไทยอาจจะไม่โชคดีเหมือนในอดีตเพราะอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ คือ ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สำหรับประเทศไทยที่พึ่งพานวัตกรรมจากญี่ปุ่นและนวัตกรรมลดภาษีเป็นหลัก อาจไม่สามารถเป็นฐานการผลิต EV เหมือนที่เคยเป็นฐานการผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายในได้อีกต่อไป
สถานการณ์เสียเปรียบที่ไทยกำลังเผชิญคือ EV มาแรงแต่ค่ายรถญี่ปุ่นยังปรับตัวช้า โดยมีแผนผลิต EV น้อยกว่าค่ายจีน-อเมริกันมาก ส่งผลเสียกับไทยที่เป็นฐานการผลิตของรถญี่ปุ่น
การแข่งขันสูงขึ้น จีน-อินโดนีเซียอาจกำลังจะส่งออกแซงไทยเพราะสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ในตลาดโลกของไทยลดลงจาก 1.7% เหลือ 1.3% แต่จีนเพิ่มจาก 0.7% เป็น 1.5%
ไทยกำลังเจอปัญหาการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) หรือยิ่งผลิตน้อย ต้นทุนยิ่งสูง เพราะไทยส่งออกหลักไปประเทศพวงมาลัยขวาที่มีขนาดเล็กอยู่แล้ว (แค่ 1 ใน 6 ของโลก) และปริมาณการผลิตลดลงอีกเมื่อเจอกับสังคมสูงอายุ จนเสียเปรียบด้านต้นทุนและยากที่จะเปลี่ยนมาผลิตพวงมาลัยซ้ายแทน
ข้อตกลงทางการค้ากับจีน อาจทำให้มีการนำเข้า EV มากกว่าผลิตเอง เพราะนำเข้า EV ได้โดยไม่มีภาษี แถมจีนยังมีกำลังผลิตมากกว่าทำให้ต้นทุนถูกกว่า
ถ้าเทียบกับคู่แข่งจะพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังจะตายเพราะไทยไม่มีบทบาทในการผลิตลิเทียมแบตเตอรี่ที่เป็นมูลค่าเพิ่มหลัก 30% ของ EV และเสียเปรียบคู่แข่งในตลาดอย่างจีน-อินโดนีเซียหลายด้าน เพราะไทยไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยแบบจีนยากกับการเข้าไปในตลาด
อินโดฯเป็นแหล่งทรัพยากรนิกเกิล 30% ของโลก แล้วยังมีต้นทุนแรงงานถูกกว่า ตลาดใหญ่กว่า ทำให้หลายบริษัทผู้ผลิตเริ่มเข้าไปลงทุนในอินโดฯ จึงเป็นไปได้ที่ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ให้จีนและอินโดฯมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบทั้งห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่แค่เฉพาะบริษัทประกอบรถยนต์ แต่รวมถึงบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนที่จะหายไปในการเปลี่ยนแปลงสู่ EV คือ เครื่องยนต์ ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบเกียร์ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มกว่า 32.5% ของมูลค่าการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเดิม
KKP Research ประเมินว่ากรณีเลวร้ายไทยส่งออกรถยนต์ได้ลดลงทำให้แรงงานกว่า 7-8 แสนคนอยู่ในภาวะเสี่ยงตกงานและถ้าไทยต้องเปลี่ยนจากประเทศผู้ผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก กลายมาเป็นประเทศที่ต้องนำเข้ารถยนต์ส่วนใหญ่ ดุลการค้าไทยในทศวรรษหน้ามีความเสี่ยงกลายเป็นขาดดุลได้
ประเทศเราอยู่ภาวะเสี่ยงเพราะระบบเศรษฐกิจแบบเก่าของเรา กำลังไม่ตอบโจทย์ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เพราะสุดท้ายแล้ว ประเทศเรากำลังต้องการผู้นำและรัฐบาลที่ตอบโจทย์ มีวิสัยทัศน์ที่จะนำพาประเทศไปสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้