เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มี “แก๊งแว้นต่างชาติ” นัดแนะปิดถนนสาธารณะแว้นกันที่เมืองพัทยาอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย… ซึ่งตำรวจก็จับกุมนักแว้นต่างชาติได้ 10 กว่าคน ยึดรถจักรยานยนต์ได้ 40 กว่าคัน…
“แว้นต่างชาติ” นี่ก็ฉายภาพ “แว้นไทย”
บ่งชี้… “ปัญหาแว้นในไทยยังแก้ไม่ตก?”
ทั้งนี้ เกี่ยวกับการ “แก้ปัญหาแว้น” หรือ “แก้ปัญหาการแข่งรถบนถนนสาธารณะ” นั้น วันก่อนมีรายงานข่าวกรณี พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2565 ซึ่งถือเป็น พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับที่ 13 ของไทย จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ โดยมีเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับการจะเข้มงวดขึ้น ทั้งเรื่อง ห้ามแข่งรถบนถนนสาธารณะ รวมถึง ห้ามมีการชักชวน โฆษณา เพื่อให้มีการแข่งรถบนถนนสาธารณะ ตลอดจนมีเนื้อหาเกี่ยวกับการ ห้ามดัดแปลงสภาพรถนำมาใช้แข่งบนถนนสาธารณะ

สัมฤทธิผลการ “แก้ปัญหาการแข่งรถบนถนนสาธารณะ” หรือ “แก้ปัญหาแว้น” จาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2565 จะเป็นเช่นไร? ก็คงต้องตามดูกันไป… อย่างไรก็ตาม วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มข้อมูลวิชาการ “การวิจัยเกี่ยวกับปัญหาแว้น” ในส่วนที่เกี่ยวกับ “เด็กวัยรุ่น” หรือ “ปัญหาเด็กแว้น” มาสะท้อนให้พิจารณากันอีกโดยสังเขป โดยเป็นข้อมูลจากงานวิจัยโดยทุนสนับสนุนจาก สกว. นั่นคืองานวิจัยหัวข้อ “แนวทางการจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามเด็กแว้น” โดย ดร.สุรีย์พร นิพิฐวิทยา และคณะ ซึ่งได้ศึกษาวิจัย “เด็กแว้นในพื้นที่กรุงเทพฯ”
ข้อมูลโดยสังเขปจากผลศึกษาวิจัย… การรวมกลุ่มเพื่อแข่งรถ นั้น พบว่า… แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ… การรวมกลุ่มกัน แบบบังเอิญ เช่น ที่ร้านแต่งรถ ร้านเกม ร้านสนุกเกอร์ หรือภายในชุมชน และการรวมกลุ่มกัน แบบไม่บังเอิญ ที่จะมีการ หาข้อมูลการรวมกลุ่มแว้นจากเว็บไซต์ เว็บเพจ โซเชียลมีเดีย ที่มีการใช้เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ขณะที่วัน-เวลาแข่งรถเด็กแว้นส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า… จะ แบ่งวัน-เวลากันชัดเจนระหว่างรถยนต์กับรถจักรยานยนต์
สำหรับช่วงอายุเด็กแว้น… ในปัจจุบันเด็กแว้นมีตั้งแต่อายุ 13-14 ปี ซึ่งมีทั้งชายและหญิง โดยช่วงอายุเด็กแว้นนั้นมีแนวโน้มจะมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ และก็พบว่าเด็กแว้นหลายคน รู้สึกสนุกกับการขี่รถหลบหนีการจับกุมของตำรวจ เห็นเป็นเรื่องตื่นเต้นท้าทาย ใครรอดได้ก็จะเล่าแลกเปลี่ยนกันเป็นที่สนุกสนาน ถ้าถูกจับก็จะมองเป็นเรื่องดวงไม่ดี

นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของเด็กแว้นได้ให้ข้อมูลถึง วิธีหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจำแนกได้ 2 แบบ คือ… จาก การสืบหาข่าวและข้อมูลก่อนการปิดล้อมจับกุม โดยใช้คนรู้จักหรือลูกหลานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนคอยส่งสัญญาณว่าวันใดจะมีการสกัดจับกุม หรือจะ “ปิดกล่อง” ที่ใด โดยจะส่งข่าวกันทางโซเชียลมีเดีย หรือบนเพจของเด็กแว้นซึ่งมีทุกจังหวัด โดยจะบอกรายละเอียดกันแบบ real time และอีกแบบ… จาก การส่งสัญญาณของกลุ่มแว้นกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยกลุ่มเด็กแว้นที่อยู่ต้น ๆ หรือที่เรียกว่า “คนอยู่ต้นสาย” จะคอยสังเกตความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเห็นอะไรผิดสังเกต ก็จะมีการ “ใช้แตรรถให้สัญญาณ” กัน จะขี่รถจักรยานยนต์ออกมาพร้อมใช้แตรให้สัญญาณกันทันที
“แตรสัญญาณจะเป็นที่รู้กันดี… ถ้าบีบแตรไล่มาหลายคัน หมายถึงตำรวจมา ถ้าบีบแตรแล้วมีการออกตัวเร็ว ๆ พร้อมกัน หมายถึงให้ต่างคนต่างหนี ถ้าหนีได้ก็จะกลับมารวมกันใหม่ที่ฝั่งตรงข้าม โดยเด็กแว้นส่วนใหญ่ที่หนีได้จะเป็นเด็กแว้นในพื้นที่ ที่รู้เส้นทาง รู้สภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่เป็นอย่างดี” …นี่เป็นมุมหนึ่งกรณี “เด็กแว้น”
ทั้งนี้ งานวิจัยโดย ดร.สุรีย์พร นิพิฐวิทยา และคณะ ชี้ “ปัญหาแว้น” ไว้ว่า… “เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย!!” ซึ่งที่ผ่านมาแม้เจ้าหน้าที่จะพยายามป้องกัน-ปราบปรามพฤติกรรมแว้น แต่กับการจะจับกุมดำเนินคดีในแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้โดยง่าย ซึ่งคณะวิจัยนี้ได้พยายาม “ถอดรหัสปัญหา” โดยผลศึกษาก็ พบอุปสรรค ข้อจำกัด ที่อาจเป็นปัจจัยทำให้การแก้ปัญหานี้ทำได้ไม่ดีนัก จึงนำสู่ “ข้อเสนอแนะ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการ “ป้องกันและปราบปรามปัญหาแว้น”

ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย คือ…ควรให้มีการจับกุมต่อเนื่องสม่ำเสมอ, ควรมีการสนับสนุนอุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ, ควรส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้, ควรมีขั้นตอนปฏิบัติงานที่ชัดเจน เหมือนงานปฏิบัติการปราบจลาจล, ควรมีการตั้งงบประมาณด้านการป้องกันความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ, ควรฝึกทบทวนยุทธวิธีอย่างน้อยปีละครั้ง, ควร ปรับปรุงกฎหมาย ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น, ควรจัดตั้งศาลจราจรเพื่อดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กแว้น รวมถึง ควร มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้ามาจัดการปัญหาโดยตรง และควร ผลักดันให้ปัญหาเด็กแว้นเป็นวาระแห่งชาติ
ข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติ คือ…ควรจัดทำคู่มือที่ระบุขั้นตอนชัดเจนจากเบาไปหาหนัก, ควรดำเนินมาตรการเชิงรุก เช่น การหาข่าว ทำประวัติร้านซ่อม อู่รถ จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกตรวจในพื้นที่เสี่ยง, ควรต้องกำหนดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแก้ปัญหา เช่น กรรมาธิการสิทธิ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา อัยการ ศาล เพื่อป้องกันความผิดอาญามาตรา 157 …เหล่านี้เป็น “ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาแว้น” จากการศึกษาวิจัย ซึ่ง “ล่าสุดไทยก็มีการปรับปรุงกฎหมาย” บ้างแล้ว…
“ย้อนดูผลวิจัย” แล้วก็ “ลุ้นผลกฎใหม่?”
“แก้ปัญหาแว้น” ต่อไป “จะเป็นเช่นไร?”
“ไทยแลนด์แดนแว้น” ใกล้ “ปิดฉาก?”.