5 ผู้สมัครโชว์วิชั่นแก้ปม สวล.ในกรุง ลั่น! ถ้าเป็นผู้ว่าฯกทม. จะลดฝุ่น-ขยะ
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา “Greener and Livable Bangkok โชว์วิสัยทัศน์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าของกรุงเทพฯ” โดยเปิดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ประกอบด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6 กลุ่มรักษ์กรุงเทพ น.ส.รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7 ผู้สมัครอิสระ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 8 ผู้สมัครอิสระ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ปัญหาขยะ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาการจราจรติดขัด ฯลฯ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร
นายวิโรจน์กล่าวถึงแนวทางในการจัดการ PM2.5 ในกรุงเทพฯ ว่า จุดเริ่มต้นคือ การกวดขันโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ โรงงานไหนปล่อยมลพิษเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดต้องมีการตักเตือน หากเตือนแล้วไม่ฟังก็ต้องสั่งปิดชั่วคราว หากไม่แก้ไขก็ต้องปิดจนกว่าจะแก้ไข และจะมีการหารือกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ขยับมาตรฐานการควบคุมมลพิษให้เท่าหลักสากล นอกจากนี้ ถึงเวลาที่ต้องควบคุมรถที่ปล่อยมลพิษ โดยห้ามเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. เป็นต้น
“ส่วนการแก้ไขปัญหาขยะ สิ่งแรกจะต้องคำนึงถึงครัวเรือน ดังนั้น การปรับปรุง การคัดแยก และการจัดเก็บให้ถี่ขึ้นต้องเร่งทำ โดยจะออกข้อบัญญัติ กทม.ในการคิดค่าธรรมเนียมขยะตามสัดส่วนของปริมาณขยะ เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ต้องเก็บแพงกว่าครัวเรือน แล้วนำรายได้มาปรับปรุงจุดทิ้งขยะ แต่หากสถานที่ใด ช่วยกันลด หรือคัดแยกขยะจะให้ส่วนลดแก่ห้าง ร้านสะดวกซื้อนั้นๆ” นายวิโรจน์กล่าว
นายสุชัชวีร์กล่าวว่า สิ่งที่จะทำทันทีคือ เรื่องจุดตรวจวัด PM2.5 ซึ่งในวันนี้ไม่เพียงพอ ต้องมีอย่างน้อย 2,000 จุด ทั่วกรุงเทพฯ โดยจะรายงานผ่านป้ายโฆษณาของ กทม. และประชาชนจะได้รับรู้ และป้องกันตัวเอง
“นอกจากนี้ ผู้ว่าฯกทม.จะได้ใช้ข้อมูลนี้แก้ปัญหา PM2.5 ที่ต้นตอได้ เพราะรู้ว่าปัญหาเกิดที่จุดไหน โดยเฉพาะพื้นที่งานก่อสร้าง เพราะรถสิบล้อ หรือรถที่ปล่อยควัน PM2.5 ดังกล่าว เป็นรถที่มาขนย้าย ถ่าย วัสดุก่อสร้าง ไซต์งานไหนที่เป็นจุดกำเนิด ก็สามารถไปเพิกถอน หรือระงับการก่อสร้างได้ หลังจากนั้น ผู้รับเหมาก็จะไปเป็นหูเป็นตา ไม่ให้มีรถก่อควันเข้าไปในไซต์งาน อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจะต้องลดจำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลด้วย วันนี้เป็นโอกาสแล้ว เพราะน้ำมันดีเซลราคาแพงมาก กทม.จะเริ่มต้นเป็นเมืองตัวอย่าง เช่ารถไฟฟ้า ไม่ว่าจะรถขยะ หรือรถที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคอื่นๆ และจะสนับสนุนรถเมล์พลังงานไฟฟ้า วิ่งให้สะดวก ราคาถูก และปลอดภัย เท่านี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาวได้” นายสุชัชวีร์กล่าว และว่า ส่วนเรื่องขยะ จะต้องปฏิรูปการเก็บขยะทั้งต้นทางและปลายทาง ต้นทางคือ ขยะเกลื่อนเมือง เพราะ กทม.เข้าไม่ถึง เก็บไม่ถี่ ใช้รถขนาด 5 ตัน เข้าตามซอย ต้องเปลี่ยนเป็นรถครึ่งตัน หรือ 1 ตัน เมื่อเปลี่ยนตรงนี้ ก็สามารถแก้ปัญหาที่ต้นทางได้ ส่วนจุดรวมขยะ จะแก้ปัญหาทำเป็นระบบปิดเหมือนต่างประเทศ เพื่อกลิ่นเหม็นรบกวน
ทางด้าน พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 นั้น มี 3 มาตรการ 1.รับรู้ล่วงหน้า โดยอาจจะเผยแพร่ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบค่าของฝุ่นให้รู้ก่อน 2-3 วัน ให้รู้ถึงปัญหา เช่น การเผาไหม้ ก่อสร้าง 2.รับมือ จะต้องเหลื่อมเวลาการทำงาน โรงเรียนหยุด 3, 5, 7 วัน เพื่อไม่ให้เด็กได้รับผลกระทบ ทำให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น โดยเพิ่มรถหรือเรือโดยสารที่เป็นพลังงานสะอาด และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งได้ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2559-2564 และ 3.ร่วมมือ
“ส่วนขยะจะมีมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะช่วงก่อนโควิด-19 มี 10,500 ตันต่อวัน ปัญหาคือ จะแก้ไขได้ 3 ทาง 1.ต้นทาง คือ คัดแยกจากครัวเรือน 2.กลางทาง พวกขยะสดตามตลาด เอาไปบดทำปุ๋ย ซึ่งกว่าร้อยละ 40 ของขยะสามารถย่อยสลายได้ และ 3.ปลายทาง การแยกขยะไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อแปรรูป โดยจะใช้รถพลังงานไฟฟ้า และขณะนี้เริ่มมีการผลักดันแล้ว” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว
ขณะที่ น.ส.รสนากล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหา PM2.5 ว่า สาเหตุหลักของฝุ่นมาจากควันรถยนต์ที่เป็นน้ำมันฟอสซิล ฉะนั้นในระยะยาวการขนส่งระบบราง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในการที่จะช่วยลด PM2.5 ถ้ามีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯกทม. จะทำให้ระบบรางราคาถูก เช่น บีทีเอส 20 บาท ในระหว่างนี้จะส่งเสริมรถเมล์ไฟฟ้า ที่เป็นการขนส่งระยะสั้น สนับสนุนให้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้อากาศในกรุงเทพฯลด PM2.5 ได้ ขณะเดียวกัน จะมีการตรวจสอบรถเก่า ควันดำ ที่จะเข้ามาในพื้นที่แออัด จะมีการเข้มงวดมากขึ้น และช่วงหน้าหนาว หากมีแนวโน้ม PM2.5 เพิ่มขึ้นอาจจะสั่งหยุดการก่อสร้าง และขอให้ประชาชนลดการใช้รถส่วนตัว ซึ่ง กทม.อาจจะให้โดยสารรถไฟฟ้าฟรีในช่วงที่มีฝุ่นเกินมาตรฐาน ขณะที่ปัญหาขยะนั้น หากได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะเอาจริงเอาจังตั้งแต่การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และนำขยะไปแปรรูป โดย กทม.จะสนับสนุนทุนบางส่วนให้ชุมชนแยกขยะ ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือขยะกำพร้า จะประสานกับบริษัทเอกชนซื้อไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า
ส่วนนายชัชชาติกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ผ่านวีดิทัศน์สั้นๆ ว่า สิ่งแวดล้อมดี คือ สะอาด สบาย ใกล้บ้าน ตั้งชื่อว่า ‘กรุงเทพ 15 นาที’ ขอให้เราเดินถึงพื้นที่สีเขียวได้ 15 นาที ใกล้บ้าน เราจะปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ใน 4 ปี และการแยกขยะนั้นจะต้องทำอย่างจริงจัง เพราะวันนี้ เราใช้เงินในการเก็บขยะเป็น 3 เท่าของระบบการศึกษาของเด็ก และเป็น 2 เท่าของระบบสาธารณสุข
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่