
ในการแข่งขันจักรยานลู่ กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 31 ส.ค. 61 “ทีเจ” จาย อังค์สุธาสาวิทย์ นักปั่นลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย วัย 23 ปี ฮึดสุดใจ เร่งสปีดในช่วง 20 เมตรสุดท้าย แซงนักปั่นญี่ปุ่นไปอย่างฉิวเฉียด คว้าเหรียญทองจักรยานคิรินชายมาครองได้อย่างสมเกียรติ
อีกทั้ง เหรียญทองที่ 10 ให้กับทัพนักกีฬาไทย จากฝีมือของจาย ยังถือเป็นเหรียญรางวัลประวัติศาสตร์เหรียญแรกของทัพจักรยานไทยในเอเชียนเกมส์ นับตั้งแต่มีการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2002 ที่ปูซาน เกาหลีใต้
เป็นข่าวที่สร้างความดีใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ พร้อมเกิดข้อสงสัยว่าในช่วงวินาทีก่อนเข้าเส้นชัย ทำไม “ทีเจ” จึงยกล้อ เป็นเพราะทะเล้น หรือ เทคนิคในการแข่งขัน
หลักวิทยาศาสตร์ กับการยกล้อ หนุน หรือต้านกำลัง
นายมงคล วิจะระณะ นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย ผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดกับการปั่นจักรยานมาหลายสิบปี อธิบายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า จากที่ดูการแข่งขัน เชื่อว่าทีเจไม่ได้ตั้งใจยกล้อ แต่จังหวะกระแทกพอดีกับจังหวะกดบันได ล้อเลยยกนิดนึง เนื่องจากจังหวะก่อนเข้าเส้นชัย จักรยานที่ปั่นอยู่มีน้ำหนักเบามาก และต้องใช้กำลังในการผลักตัวให้เร็วกว่าคู่ต่อสู้ โดยเกร็งตัว จับแฮนด์จักรยานให้แน่น แล้วเพิ่มน้ำหนักตรงตัวปั่นบันไดมากขึ้น


ซึ่งการยกล้อเป็นเทคนิคการแข่งขันอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้รถพุ่งเข้าเส้นชัย โดยอาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ว่ารถจักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์ที่ยกล้อหน้าจะช่วยให้รถพุ่งได้ยิ่งขึ้น เพราะแรงเสียดทานต้านการเคลื่อนที่น้อยลงเพื่อให้มีความเร็วดีที่สุด ซึ่งเสี้ยวเวลาในการยกล้อนั้น ยังสามารถปั่นทำความเร็วได้ดีอยู่ แต่จะควบคุมรถยากกว่าเดิม ต้องใช้แรงกำลังกายอย่างมหาศาลในการปั่นตัวบันไดให้แซงคู่แข่งให้ได้ และไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย


“ลักษณะการปั่นของทีเจ ก่อนเข้าเส้นชัยจับแฮนด์แน่น เพิ่มน้ำหนักไปที่ตัวปั่น ทำให้ทั้งแรงและเร็ว จึงเกิดโอกาสลักษณะยกล้อขึ้น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ การคว้าชัยครั้งนี้ มีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการวางแผนของทีเจ จังหวะปั่นดี ไหวพริบและเทคนิคดี ไม่งั้นไม่มีทางชนะได้เลยที่สำคัญพละกำลังปั่นดีมาก เพราะออกตัวคนสุดท้ายแต่ได้ที่ 1” นายมงคลกล่าวชื่นชม


องค์ประกอบแห่งชัยชนะ ไหวพริบเป็นเลิศ ชื่นชมปั่นแซงวงนอก
การคว้าชัยได้สำเร็จให้กับประเทศไทย นายมงคล ระบุว่านอกจากสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งไม่มีใครสอนได้ในกีฬาการแข่งขันทุกประเภท คือ “ไหวพริบ” แล้ว “จังหวะ” ก็มีส่วนด้วย ดังเช่นทีเจทำในการแข่งขันครั้งนี้ เมื่อเกิดช่องว่างเพราะกำลังของคู่แข่งที่จะแซงตก จึงตัดสินใจปั่นแซงวงนอก อ้อมออกทางด้านขวาด้วยความเร็วและแรงสุดกำลัง


“การแซงวงในจะใช้กำลังน้อยกว่า แต่ที่ทีเจแซงจากวงนอก บ่งบอกว่าร่างกายแข็งแรงมาก ทำได้สุดยอดจริงๆ นอกจากใช้กำลังกายได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังใช้ไหวพริบส่วนตัวได้ดีมาก การมีไหวพริบของนักกีฬา สอนกันไม่ได้ แต่เทคนิค อาจจะสังเกตจากคนอื่นแล้วเอามาฝึกฝน เวลาลงแข่งขัน นำสองสิ่งนี้มาใช้ด้วยกันก็ทำให้ชนะคู่แข่งขันได้” นายมงคลกล่าว
และทิ้งท้ายฝากถึงสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบันทุกจังหวัดมีการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานในทุกๆ วัย คนหันมาสนใจปั่นจักรยานเยอะขึ้น เกิดกิจกรรมหลากหลาย เกิดการแข่งขัน และมีการพัฒนาในระดับที่ดีขึ้น หากสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยส่งเสริมนักจักรยานจริงๆ จังๆ เชื่อว่าคนไทยก็มีโอกาสเข้าไปแข่งขันในระดับตูร์เดอฟรองซ์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Thaicycling Association