สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลงานไตรมาส 1 ปีนี้ เบี้ยรวมธุรกิจยังโต 2.4% อยู่ที่ 6.57 หมื่นล้านบาท เบี้ยประกันรถบวก 2.5% รับรถหรูขายดี แรงหนุนยอดขายปลายปี 63 มาส่งมอบรถต้นปี 64 จับตาสถิติอุบัติเหตุเคลมน้อย ภาคธุรกิจประกันแข่งปั้มยอดขายชิงมาร์เก็ตแชร์ แจกส่วนลดเบี้ย 7-10% ตามรุ่นของรถ “นายกสมาคมฯ” ประมาณการทั้งปีเบี้ยรวม 253,000-265,000 ล้านบาท เติบโต 0.0-5.0% แรงหนุนประกันโควิดและสุขภาพ-ภาคส่งออกนำเข้าฟื้นตัวช่วยเสริม
วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564 ภาพรวมเบี้ยประกันภัยทั้งระบบอยู่ที่ 65,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยธุรกิจหลักอย่างพอร์ตประกันรถยนต์มีเบี้ยรับ 38,169 ล้านบาท ยังเติบโตได้ 2.5% ซึ่งเป็นผลจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วงปลายปี 2563 และมาส่งมอบรถในช่วงต้นปี 2564 รวมไปถึงรถหรูขายดี แต่ภาพรวมยอดขายรถใหม่จริง ๆ ในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.64) ติดลบไปกว่า 18.4% ซึ่งประเมินแนวโน้มทั้งปีคาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่คงติดลบเหมือนปีก่อน ซึ่งปีที่แล้วติดลบไปกว่า 21.4%
ทั้งนี้แนวโน้มเบี้ยประกันภัยรถยนต์ปีนี้ทั้งปีคาดว่าไม่น่าจะโตตามยอดขายรถยนต์ใหม่ ซึ่งถ้าไม่ติดลบได้จะถือว่าเก่งมากแล้ว โดยในช่วงตั้งแต่ ก.พ.64-ปัจจุบัน สถิติการเกิดขึ้นอุบัติเหตุและการจ่ายเคลมประกันลดลง ดังนั้นในช่วงนี้ที่ยอดขายรถยนต์ใหม่น้อย คาดว่าบริษัทประกันวินาศภัยน่าจะเพิ่มการแข่งขันเพื่อเพิ่มยอดขายและมาร์เก็ตแชร์ของตัวเอง โดยการให้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันรถยนต์ได้ประมาณ 7-10% ตามรุ่นของรถ
เพราะปัจจุบันอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการใช้รถที่ลดน้อยลงมาก ประกอบกับนักเรียนยังไม่เปิดเรียน และแต่ละบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน (WFH) กันค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าเทียบสถิติค่าสินไหมทดแทนของประกันรถยนต์ ย้อนไปตั้งแต่ปี 2561-2564 จะพบว่าลอสเรโชอยู่ที่ระดับ 65.3%, 66.1%, 63.2% และปีนี้ไม่น่าเกิน 62% (ตามลำดับ)
“ในช่วงปี 2562 ภาคธุรกิจถือว่ามีผลประกอบการขาดทุนจากประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ส่งผลให้ทุกบริษัทมีการปรับค่าเบี้ยขึ้นในปี 2563 แต่จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลไทยมีการเข้มงวดกำหนดมาตรการป้องกัน ทั้งจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดและประกาศเคอร์ฟิว ทำให้สถิติอุบัติเหตุลดลง ส่งผลให้เบี้ยประกันรถยนต์ที่หลายบริษัทจะปรับเพิ่มต้องปรับลดแทน” นายอานนท์กล่าว
นายอานนท์ กล่าวต่อว่า ปีนี้สมาคมฯ ประมาณการเบี้ยธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวมไว้ที่ 253,000-265,000 ล้านบาท เติบโต 0.0-5.0% มีอัตราการขยายตัวของจีดีพีที่แท้จริงเติบโต 1.5-2.5% อัตราการถือครองกรมธรรม์ต่อจีดีพี เติบโต 1.56-1.63% อัตราส่วนเบี้ยประกันต่อหัวอยู่ที่ 3,630-3,800 บาท และรายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 233,191 บาท
ทั้งนี้คาดว่าจะได้แรงหนุนจากเบี้ยประกันภัยโควิดรวมไปถึงประกันสุขภาพด้วย โดยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้(ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค.64) มีเบี้ยประกันโควิดกว่า 3,500 ล้านบาท มีกรมธรรม์จำนวน 9 ล้านฉบับ ซึ่งเชื่อว่าแต่ละบริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี เพราะแต่ละแห่งมีพันธมิตรบริษัทประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) กันอยู่แล้ว
ประกอบกับคงได้เซนติเมนต์จากภาคการส่งออกและนำเข้าที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ (+5.3%, +9.5% ตามลำดับ) ซึ่งคาดว่าจะดีต่อเนื่องได้ ดังนั้นจะเข้ามาเป็นตัวเสริมให้เบี้ยประกันโตไปได้ ทั้งนี้หากการระบาดโควิดไม่แผงฤทธิ์กับโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ
ส่วนความกังวลนอกจากยอดขายรถที่ไม่โต ยังมีการจดทะเบียนที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนติดลบไปกว่า 50% นั่นหมายความว่าคนซื้อบ้านน้อย ฉะนั้นจะกระทบต่อเบี้ยประกันอัคคีภัยของอุตสาหกรรมฯ แม้ว่าในไตรมาสแรกปีนี้จะมีเบี้ยอัคคีภัยอยู่ที่ 2,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีมีปัญหาซึ่งกระทบจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่หายไป จะส่งผลต่อประกันสินเชื่อเหล่านี้ด้วย
- วิริยะ แก้เกมโควิด เจาะรถป้ายดำซื้อเบี้ยต่ออายุ จับมือ รพ.ชิงเค้กประกันสุขภาพ