ผมมักได้รับคำถามจากน้องๆ ที่อยากก้าวเข้ามาทำสื่อด้านรถยนต์ในฐานะนักทดสอบ นักรีวิวรถ ว่าต้องเรียนอะไร ฝึกอะไร ถ้าสมาธิของน้องคนนั้นสั้นและไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ผมจะตอบแค่ ขับให้เก่ง พูดให้เก่ง นำเสนอตัวเองให้เก่ง โอกาสในการได้รับการตอบรับที่ดีมันจะเริ่มขึ้นจากตรงนั้น แต่ถ้าคุณอ่านมาถึงจุดนี้ได้ แปลว่าคุณอ่านหนังสือได้มาก ดังนั้น ผมจะขอแชร์สิ่งที่อยู่ในหัว เผื่อจะเป็นประสบการณ์ให้คุณได้บ้าง ในวันที่ผมถูกปลดระวางจะได้มีสื่อฯ นักทดสอบรุ่นใหม่มาแทนไปเรื่อยๆ จนกว่าวันหนึ่งที่ไม่มีใครอยากขับรถอีกต่อไป
ข้อที่ 1 ขับให้เก่ง ไม่ใช่แค่ขับเป็น
การกระแทกคันเร่ง สับเกียร์หน้าหงาย หรือมุดขวาซ้าย ไม่ได้จัดเป็นทักษะที่ทำให้คุณขับรถเก่งในเชิงของการทดสอบ หลายคนอยู่บนถนน เก่ง ห้าว (รวมถึงผมในสมัยวัยรุ่น) แต่พอให้ลองขับสลาลอม ฝึกหักหลบกรวยแบบง่ายๆ ยังระเบิดกรวยกระเด็นแตกแหกเป็นว่าเล่น ทำรถหมุนในโค้งที่ไม่มีใครหมุน กะแรงเบรกไม่ถูก เพราะคุณเคยแต่ซิ่งบนถนนแบบเอาใจเข้าแลก แต่ไม่ได้มีทักษะที่ควรพกมาสำหรับการบังคับควบคุมที่จำเป็น การเรียนวิธีลัดที่ง่ายที่สุด มี 3 วิธี คือ หนึ่ง พาไปตัวเองไปลงทะเบียนคอร์สสอนขับรถขั้นสูง ซึ่งมีทั้งบริษัทรถ สื่อมวลชนเจ้าใหญ่ เปิดให้คุณจ่ายเงินเข้าไปเรียน ซึ่งมันไม่ใช่เพียงการขับรถผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่อาจารย์ผู้สอนวางกับดักไว้ แต่คุณจะได้รู้วิธีการขับรถอย่างถูกต้อง ถ้าเข้าโค้งแล้วท้ายปัดต้องทำอย่างไร ถ้าจะสาวพวงมาลัยให้เร็ว ต้องทำอย่างไร เห็นเส้นทางข้างหน้าแล้ว คุณรู้ได้อย่างไรว่าต้องวิ่งเข้าไปตรงไหน เบรกหนักจุดไหน เบรกปานกลางที่จุดไหน
วิธีที่สอง คือ นั่งไปในรถกับคนที่ขับเก่งเลยครับ แล้วสังเกตวิธีการขับของเขา คุณอาจจะมีเพื่อนที่เป็นนักขับฝีมือฉกาจอยู่แล้ว ก็ลองขอติดตามเขาไปนั่งรถเล่นรอบสนามในวันที่เขาซ้อมก็ได้ สำหรับตัวผม วิธีที่ผมใช้คือ ยื่นกุญแจตัวเองให้รุ่นน้อง ที่มีดีกรีเป็น Instructor (อาจารย์ผู้สอน) แล้วบอกว่า “เอ็งขับรถพี่ให้พี่ดูหน่อย” แล้วนั่งไปกับเขา รถคันเดียวกันแท้ๆ แต่คนที่มีประสบการณ์สามารถวิ่งรอบสนามได้เร็วกว่าผมขับเองถึง 7 วินาที ไม่มีไสยศาสตร์ทั้งนั้น มีแต่คำว่า จังหวะ + ความพอดี + การใช้พื้นที่ (ทางวิ่ง)
วิธีที่สาม คุณหาโอกาส รวมเงินกับเพื่อน ไปลองเช่าสนามแข่งแล้ววิ่ง ไม่ได้ให้ไปลงรายการแข่งนะครับ แต่เช่าเพื่อขับซ้อมในวันที่เขาไม่ได้จัดแข่ง หาแอปพลิเคชันจับเวลา (ผมใช้ Harry’s Laptimer) มาลงในโทรศัพท์แล้วจับเวลาตัวเอง พยายามทำเวลาให้เร็วขึ้น ขับบ่อยจนร่างกายคุณคุ้นชินกับอาการของรถ และสามารถแก้อาการได้ทันเมื่อเกิดการผิดพลาด พาตัวเองเข้าไปอยู่กับสังคมที่รักการฝึกขับ รักการแข่งในสนาม คุยกับคนที่เจนสนาม สิ่งที่เขาพูด จะพาให้ความคิดและทักษะคุณพัฒนาไปด้วย และอย่าเข้าใจผิดว่า รถเดิมสนิทวิ่งสนามแข่งไม่มีประโยชน์ เพราะเวลาคุณถูกบริษัทรถเชิญไปทดสอบ รถที่ทดสอบ ก็คือรถสเปกที่ขายโชว์รูมครับ ไม่ใช่รถแต่งมาเพื่อมอเตอร์สปอร์ต
ข้อที่ 2 สร้างทักษะในการถ่ายทอดความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม
ในโลกนี้มีเพียงคนเดียวที่อัดรถโดยไม่พูดอะไรเลยสักคำแล้วมีสาวกติดตามชมเป็นล้านคน เขาคือ THE STIG จาก Top Gear แต่คุณไม่ใช่เขาครับ ดังนั้น คุณต้องเลือกวิธีถ่ายทอดที่จับความสนใจ Follower ของคุณ ถ้าเป็นสาย Youtuber การเลือกถ้อยคำที่นำมาอธิบายรถคันหนึ่งสำคัญมากพอๆ กับการรู้ว่าคนที่ติดตามชมคุณมีรสนิยมแบบไหน ไม่มีคำว่าถูกต้อง 100% ในโลกของการสื่อสาร แต่คุณต้องมีเอกลักษณ์ในการพูด บางคน อาจจะเป็นสายขับขั้นสูง อธิบายการตอบสนองตัวรถว่าช้าหรือเร็ว ช่วงล่างเป็นอย่างไร เกียร์กระตุกแค่ไหน บางคน อาจไม่เน้นการเจาะตัวรถ แต่มีลีลาการพูดที่น่าติดตาม มีความตลกขบขันดูแล้วหายเครียด ถ้าคุณเกิดทัน 3 คุณลุงจากรายการ Top Gear คุณจะเข้าใจในจุดนี้ น้า Jeremy Clarkson ขายความฮา สีหน้าท่าทาง น้า Richard Hammond เน้นความบ้ารถแบบคนรักรถจริงๆ น้า James May ขับไม่ดุ พูดช้า แต่เก่งประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ละคนมีจุดเด่นต่างกัน
ที่แน่ๆ คือผู้ชมของคุณต้องได้อะไรจากการดู มากกว่าการอ่านสเปกจากโบรชัวร์ให้ฟัง ให้นึกเสมอว่าผู้ชมของคุณ มีตัณหา แต่ไม่มีโอกาสหรือเวลาที่จะไปทดสอบรถยาวๆ แบบคุณ เขาต้องการรู้ในสิ่งที่เว็บไซต์บริษัทรถยนต์ไม่ได้พูดถึงมากกว่า อีกสิ่งที่ผมอาจจะเห็นต่างจากหลายท่านก็คือ “อย่ากลัวที่จะสอดแทรกความเห็นส่วนตัวลงไป” แต่ทุกคำที่พูด คุณต้องระลึกเสมอว่าเมื่อมีคนท้วงติง คุณต้องมีเหตุผลที่จะงัดคานกลับได้ หรือใช้ข้อมูลมาถกกันได้ ไม่ใช่ว่า ของสิ่งนั้นห่วยแตก แค่เพราะคุณไม่ชอบมัน จงมองการแสดงความเห็นส่วนตัวเหมือนพริกในส้มตำ ถ้ามีนิดๆ หน่อยๆ มันจะอร่อยน่ากิน แต่ไม่มีใครหรอกอยากกินส้มตำที่พริกพูนจานมากกว่ามะละกอ
ถามตัวเองเสมอว่า ผู้ชมได้อะไรจากการชมคลิป/อ่านบทความของเรา ถ้าเขาได้ความรู้ ได้ข้อมูล นั่นเป็นเรื่องดี ถ้าไม่ได้ความรู้ แต่ดูแล้วผู้ชมอมยิ้ม รู้สึกคลายเครียด หรือคุณมีเทคนิควาจาที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้ชม ต่อให้ข้อมูลจะไม่เยอะ ก็ถือว่าได้มอบความรู้สึกบวกให้ผู้ชม แต่ถ้าสมมติ ความรู้ก็ไม่ได้ ความฮาก็ไม่มี ความสะใจก็ไม่มี คนเขาก็จะไปดูช่องทางอื่นอีกนับร้อยที่ถูกใจเขามากกว่า
ข้อที่ 3 พยายามเรียนรู้เรื่องรถ ในแง่ที่สนับสนุนแนวทางของสื่อฯ ของคุณ
ผมไม่ได้กำลังไล่ให้คุณไปเรียนวิศวะ หรือช่างยนต์ แต่คุณต้องมีความรู้ด้านรถติดตัวไว้บ้าง เพราะบางครั้งมันจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการแสดงความเห็นของคุณ ไม่จำเป็นว่าจะต้องรู้ทุกด้านเกี่ยวกับรถแบบครอบจักรวาล แต่จะเน้นการสื่อสารเรื่องใดก็ต้องชำนาญในเรื่องนั้น ถ้าคุณจะพยายามพูดถึงเทคโนโลยีเครื่องยนต์และการขับเคลื่อนโดยที่คุณไม่ทราบว่าแคมชาฟท์แปรผันมีผลดีอย่างไร ใช้คำว่า Turbo Lag โดยที่ไม่รู้ว่ามันควรจะเป็นอาการรอรอบจากการที่เทอร์โบโตจนไอเสียไม่พอปั่นกังหันที่รอบต่ำ หรือเกิดจากการที่ ECU ของรถจงใจสั่งให้รถถ่ายทอดพลังแบบนั้น หรือถ้าเจอคนถามว่า เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรไม่มีเทอร์โบ กับ 1.5 ลิตรมีเทอร์โบ ถ้าแรงม้าเท่ากันนิสัยเครื่องจะต่างกันอย่างไร มีความได้เปรียบเสียเปรียบตรงไหน ถ้าคุณคิดจะลงลึกเรื่องเครื่องยนต์กลไก คุณต้องตอบคำถามพื้นๆ อย่างนี้ให้ได้
แต่ถ้าหากคุณไม่ได้ลึกในสายสมรรถนะ คุณก็อาจไปเน้นที่การเปรียบเทียบอุปกรณ์และความคุ้มค่าต่อราคาที่จ่าย เรื่องพวกนี้ ไม่ต้องลึกในเชิงวิศวกรรม แต่คุณต้องหาข้อมูลเก่ง ทำตารางเปรียบเทียบแล้วสามารถวิจารณ์รถแต่ละรุ่นได้ว่าใครเด่น ใครขาดอะไร มันฟังดูเหมือนง่าย แต่เมื่อคุณต้องจำทุกอย่างให้ได้ และต้องพูดออกหน้ากล้องให้ดูน่าเชื่อถือ มันจะเริ่มยาก ถ้าคุณจำผิด พูดผิด คลิปออกอากาศไป มันก็เป็นความรู้สึกลบในตัวของคุณเอง ยิ่งพลาดบ่อยครั้ง ก็จะลดความน่าเชื่อถือลง ถ้าใครไม่ได้รักคุณจริง เขาก็เลิกติดตาม
คุณจะเล่นสายเทคนิค หรือสายเปรียบเทียบอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เอาเท่าที่ใจคุณไหว แต่ในท้ายสุด คุณจะต้องมีความแน่นหนาในทั้งสองสาย หากคุณต้องการจะพัฒนาตนเองไปเป็นสื่อมวลชนแบบที่ให้คนดูคลิปคุณคนเดียวแล้วได้ข้อมูลครบแบบจบๆ
แล้วอย่าลืมนะครับว่าโลกรถยนต์มีการเปลี่ยนแปลงที่จะมาท้าทายมันสมอง ความเข้าใจ ความจำ และการเลือกถ่ายทอดข้อความคุณอยู่ตลอดเวลา ในวันที่ผมเขียนเรื่องรถลงหนังสือเป็นครั้งแรก คนเกือบทั้งประเทศยังไม่รู้จักระบบควบคุมการทรงตัว และเซนเซอร์ถอยหลังเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถราคาหลายล้านเท่านั้น ในวันนี้ สื่อมวลชนรีวิวรถ ต้องทำความเข้าใจและจำสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นเยอะ พวกคนรุ่นผม ดูแค่ว่ารถขับสนุกไหม นั่งสบายไหม ประกอบดีไหม แต่สมัยนี้ ต้องดูด้วยว่ามี Gadget อะไรให้เล่นในรถ ต่อ CarPlay แล้วหลุดง่ายไหม ถ้าเป็นรถมีถ่าน ก็ต้องจำว่าชาร์จไฟได้สูงสุดกี่ kW และรายละเอียดอื่นๆ อีกมากที่นับวันมีแต่จะเพิ่ม นับวันมีแต่จะเปลี่ยน คิดดูสิอีกหน่อยพอรถมันขับตัวเองได้ สื่อฯ รุ่นเก่าอย่างผมจะรีวิวรถกันยังไงเล่า?
สามข้อที่ผมพิมพ์เล่าให้คุณฟังในวันนี้ ลองหาโอกาสทำดู ถ้าคิดว่าทำได้ คุณก็มีแววที่จะเติบโตต่อไปในโลกยานยนต์ ผมจะลองนำประสบการณ์อื่นๆ มาแชร์ให้ฟังอีก เพราะอันที่จริง ถ้าให้เล่าทั้งหมด บทความนี้คงยาว 20 กว่าหน้า เหนือสิ่งอื่นใดในการเป็นนักรีวิว จงซื่อสัตย์ต่อแนวทาง ความคิด และผู้ชมของคุณเสมอ บางคนอาจจะชอบเทคนิค บางคนอาจจะชอบความฮา บางคนอาจจะชอบการเปรียบเทียบความคุ้มค่า แต่ไม่มีใครหรอกที่ชอบคนที่เชื่อถือไม่ได้.
Pan Paitoonpong