Apple Car ปริศนาแห่งวงการเทค

This image is not belong to us

TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

กว่า 5 ปีแล้วที่ข่าวเกี่ยวกับ Apple car วนเวียนบนหน้าสื่อ แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าล่าสุดปลายปีที่ผ่านมาก็มีข่าวที่สร้างความฮือฮาอีกว่า Apple กำลังเจรจาดีลมูลค่าหลายพันล้านกับค่ายรถยักษ์ใหญ่จากเกาหลีอย่าง Hyundai และ Kia เพื่อผลิตรถไฟฟ้าไร้คนขับ แต่ลุ้นได้ไม่นานก็ฝันสลายเมื่อ Hyundai ปฏิเสธว่าไม่มีการคุยเรื่องนี้

กระนั้นนักวิเคราะห์และสาวก Apple ก็ยังไม่ตัดใจ จาก Apple car ได้ ด้วยชื่อชั้นระดับ Apple หากลงมือทำอะไรย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงกว้าง บ้างเชื่อว่า Apple น่าจะผลิตรถยนต์ของตนเองเหมือน Tesla บ้างก็มองว่าน่าจะจับมือกับพันธมิตรมากกว่า

จริงเท็จอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะบริษัทยังปิดปากแน่น

จากข้อมูลที่มีอยู่จำกัดพอปะติดปะต่อได้ว่าโครงการนี้มีอยู่จริงในชื่อ Project Titan มีการพูดถึงครั้งแรกปี 2017 หลัง Apple ได้ใบอนุญาตให้ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับในแคลิฟอร์เนีย

Morgan Stanley มองว่า หาก Apple ตัดสินใจผลิต Apple car ต้องสร้างปรากฏการณ์เขย่าวงการ mobility ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 1 ล้านล้านเหรียญเช่นเดียวกับที่ “ไอโฟน” เคยสั่นสะเทือนตลาดมือถือมาแล้ว และเชื่อว่า Apple น่าจะอยากเข้ามาแข่งในตลาดรถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า

เพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตก้าวกระโดด ขณะที่เกือบทุกอุตสาหกรรมซบเซาเพราะโควิด แต่วงการ EV กลับเริงร่าด้วยราคาหุ้นที่พุ่ง โดยเฉพาะ Tesla ที่มาร์เก็ตแคปสูงถึง 6.30 แสนล้านเหรียญ หลังราคาหุ้นทะยานขึ้นกว่า 682%

“ไมค์ เบลีย์” จาก FBB Capital Partners มองว่า Apple อาจพัฒนาแค่ซอฟต์แวร์เพื่อป้อนค่ายรถยนต์มากกว่าผลิตเอง เพราะรถยนต์เป็นสินค้าที่มาร์จิ้นต่ำ ใช้เวลาพัฒนานาน นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม Apple ลังเลไม่ลงมือผลิต Apple car

หากดู Tesla จะพบว่าบริษัทต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะมีกำไร ดังนั้น การพัฒนาระบบปฏิบัติการเพื่อนำมาใช้ในรถไฟฟ้าไร้คนขับอาจเป็นแนวทางที่ Apple ถนัดกว่า และอาจเป็นแหล่งรายได้ใหม่ชดเชยรายได้หลักจากการไอโฟนที่ตลาดเริ่มเต็มแล้ว

นอกจากนี้ ระบบที่พัฒนาขึ้นน่าจะออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้มีการใช้สินค้าและบริการอื่นของ Apple ด้วย เพราะแต่ละปีคนทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่บนรถกว่า 6 แสนล้านชั่วโมง

ดังนั้น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจึงมีข่าวออกมาเป็นระยะว่า Apple วิ่งไล่จดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับรถไว้เพียบ ทั้งช่วยควบคุมรถไร้คนขับ ทั้งที่ช่วยให้ผู้โดยสารทำงานในรถได้โดยไม่เมารถ ไปจนถึงซอฟต์แวร์สำหรับควบคุมความเข้มของกระจกรถ

ขณะที่ “แซม อะบูเอลซามิด” นักวิเคราะห์จาก Guidehouse Insights มองว่า Apple น่าจะอยากแข่งขันในตลาด mobility เช่น robo-taxi เป็นพิเศษ หากดูจากการที่บริษัทเข้าซื้อหุ้นใน digi บริษัท ride-sharing ชื่อดังของจีน และการซื้อ Drive.ai สตาร์ตอัพที่เคยพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ Lyft ในโครงการนำร่องสำหรับให้บริการ robo-taxi มาแล้ว ทำให้ออปชั่นนี้ดูมีความเป็นไปได้ไม่น้อย

แซมยังวิเคราะห์โดยเทียบเคียงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนมีข่าวลือเรื่อง Apple TV ที่สุดท้ายเลือกไม่ผลิตทีวีออกมาเป็นเครื่อง ๆ แต่หันมาพัฒนา box set เพื่อใช้สตรีมคอนเทนต์แทน จาก 2 สาเหตุ คือ 1.ทีวีมีกำไรน้อย 2.แนวคิดของ Apple เองที่ว่าหากผลิตสินค้าที่ดีกว่าที่มีอยู่ในตลาดไม่ได้ก็อย่าทำเสียดีกว่า

ในแง่ทีมงาน มีข่าวในปี 2018 ว่า Apple ไล่จีบผู้บริหารจากบิ๊กเทครายอื่น ทั้ง Tesla Google Fiat Chrysler Ford BMW และ Uber มาร่วม Project Titan แต่ต้นปี 2019 ก็มีข่าวช็อกวงการว่ามีการเลย์ออฟทีมงานโปรเจ็กต์นี้ไปกว่า 200 คน สรุปตอนนี้เลยไม่มีใครรู้ว่าโปรเจ็กต์นี้มีพนักงานกี่คน และบริษัทมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับ Apple car

นักวิเคราะห์เริ่มแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกมองว่า Apple น่าจะยังไม่ทิ้งโปรเจ็กต์นี้เพราะลงทุนไปไม่น้อย อีกฝ่ายมองว่ามีโอกาสสูงที่จะโฟกัสโปรเจ็กต์ที่ใกล้ตัวกว่า เช่น มือถือ 5G และบริการ healthcare ที่บริษัทดูให้ความสนใจเป็นพิเศษ ความไม่แน่นอนเหล่านี้ประกอบกับการที่บริษัทไม่เคยให้ความกระจ่างใด ๆ ทำให้ Apple car กลายเป็นอีกหนึ่งปริศนาของคนในวงการต่อไป