Motor Sport Sponsored

36 ปี ที่มาที่ไปของครูแพทย์ คนหนึ่ง (3) – เดลีนีวส์

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

Public communication skills

การตระหนักรู้ว่าตนไม่รู้อะไร คือ ความรู้ที่สำคัญไม่น้อยกว่า รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยความเชื่อนี้ ผมจึงเพียรพัฒนาจุดอ่อนด้านการสื่อสารสาธารณะ ผ่านการเขียนบทปัจฉิมพากย์ประจำเดือนใน “วารสารคลินิก” ต่อเนื่องกันนานกว่าสิบปี โดยผมได้รับโอกาสนี้จากท่าน อ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ในฐานะบรรณาธิการวารสารคลินิก และ อ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อท่านวางมือจากหน้าที่เขียนบทปัจฉิมพากย์ฯ แล้วส่งมอบให้ผม ซึ่งตอนแรก ผมแบ่งรับแบ่งสู้เพราะไม่มั่นใจในตนเอง แต่ได้รับกำลังใจประกอบการท้าทายด้วยประโยคว่า “คุณไม่รู้หรอกว่าขีดจำกัดของคุณอยู่ตรงไหน จนกว่าจะได้ลอง”

นอกจากการพัฒนาทักษะการสื่อสารสาธารณะผ่านตัวอักษร โอกาสฝึกทักษะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเริ่มเข้มข้นเมื่อผมอยู่ในบทบาทเลขาธิการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Foundation/NHF )…เวอร์ชั่นสองของ NEBT ที่จำต้องยุติบทบาทเพราะความขัดแย้งระหว่างประธาน NEBT กับ รมว.สธ.ในประเด็นนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ ประจวบกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ยุติการให้ทุน เพราะเห็นว่าประเทศไทยพึ่งตนเองด้วยทุนวิจัยภายในประเทศได้มากขึ้น

จังหวะเดียวกันนี้ มูลนิธิเมาไม่ขับได้ถือกำเนิดและมีบทบาทคึกคักสอดคล้องกับความสนใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจร ซึ่งอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ศูนย์นเรนทร (หนึ่งในที่มาของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน) รายงานตัวเลขคนเจ็บตายช่วงเทศกาลสงกรานต์บนพาดหัวหน้าแรกหนังสือพิมพ์ยอดนิยมหลายฉบับต่อเนื่อง สะท้อนบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนต่อการรับรู้ทางการเมือง ส่งผลต่อการแปลความบริบทของฝ่ายการเมืองว่า ฐานเสียงของตนกำลังสนใจอะไร

ความหมายเชิงบริบทเช่นนี้ ยกระดับอุบัติเหตุจราจรเป็นวาระทางการเมืองในเวลานั้น และเป็นอานิสงส์ให้ สกว.สนใจให้ทุนวิจัยด้านอุบัติเหตุจราจร  ผมจึงได้โอกาสร่วมมือกับ อ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์วิจัยประเมินผลการรณรงค์เมาไม่ขับแบบสหสถาบันโดยให้พยาบาลอีอาร์สอบถาม/ดมกลิ่นหายใจคนไข้ที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรว่า ก่อนเกิดเรื่อง ดื่มสุรามั้ย ดื่มยี่ห้ออะไร เมื่อได้ผลวิจัยก็ต้องสื่อสารสาธารณะตามข้อตกลงกับ สกว. (ที่มาของข้อตกลงนี้คือภาพสะท้อนสไตล์การจัดการทุนวิจัยของ สกว.ในสมัย อ.วิจารณ์ พานิช เป็น ผอ. ซึ่งผมอนุมานว่าเป็นบทเรียนที่ท่านได้จาก NEBT) ส่วนหนึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็น long term portfolio ที่ผมได้ใช้ในอีก 3 ปีต่อมา และทำให้ผมเชื่อว่า การลงทุนเพื่อการวิจัยก็ไม่ต่างจากการเล่นหุ้นตรงที่ต้องมี portfolio: short term, long term

บทเรียนต่อตนเองที่ผมได้จากการพัฒนาทักษะสื่อสารสาธารณะ คือ นักวิชาการผู้สนใจขับเคลื่อนสังคมต้องพร้อมเสมอที่จะตอบคำถามหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยไม่เลือกวันเวลาสถานที่ (เพราะธุรกิจสื่อมวลชนแข่งกันเสนอข่าวสดใหม่) การสื่อสารต้องกระชับชัดเจน ใช้ภาษาชาวบ้าน และระมัดระวังที่จะไม่พาดพิงตัวบุคคลหรือสถาบันให้มากที่สุด จะทำเช่นนี้ได้แปลว่าต้องเกาะติดกับเรื่องนั้นๆ จนช่ำชอง….ย้ำเตือนคติว่า “โอกาสเป็นใจให้กับผู้มีความพร้อมเท่านั้น”

การเตรียมพร้อมของผมอาศัยความรู้จากหลายแหล่ง ช่วงเวลานั้นซึ่งอินเทอร์เน็ตยังเพิ่งตั้งไข่ แหล่งความรู้ของผมคือ จุลสารจากสถาบันวิชาการด้านอุบัติเหตุจากประเทศกลุ่มนอร์ดิค และตำราหลายเล่ม เช่น Injury Epidemiology จากกัลยาณมิตรในเครือข่าย NEBT ซึ่งรู้ว่าผมสนใจเรื่องนี้ ตลอดจนการติดตามข่าวเพื่อเตรียมประเด็นไว้ตอบสนองสื่อมวลชน

Research as portfolio investment

ดังที่ได้กล่าวถึงผลวิจัยประเมิน “เมาไม่ขับ” ว่าเป็น short-term & long-term portfolio ผลผลิตในส่วน long-term คือ การค้นพบว่า ลำดับความถี่ (%) ของยี่ห้อสุราที่ผู้บาดเจ็บรายงานชัดเจนกับปริมาณการลงทุนโฆษณาสุรา โดยลำดับ

เมื่อโอกาสเปิดคือ รัฐบาลทักษิณ (๑) สนใจใช้การแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรสร้างผลงานทางการเมือง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (road safety policy platform หรือ วอร์รูม) ซึ่งเป็นไอเดียของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คุยหลังฉากกับรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง ผมได้รับเชิญให้เล่นบทหัวหน้าทีมสนับสนุนทางวิชาการโดยทุน สสส. (สองร้อยล้านบาทในสองปี) เพราะได้ทำงานวิชาการด้านนี้มาสิบปีตั้งแต่สมัย NEBT ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวสังคม สหสถาบัน สหสาขาทั่วประเทศ

การทำงานบน platform นี้เป็นไปแบบสายฟ้าแลบตามสไตล์การทำงานของรัฐบาลทักษิณ ที่เน้นความฉับไว เป็นฝ่ายรุก และสร้างภาพลักษณ์ (visibility) ให้ประจักษ์แจ้งต่อสังคม นับเป็นสไตล์บริหารรัฐกิจที่แหวกแนวโดดเด่นกว่าทุกรัฐบาลก่อนหน้านั้น สร้างคะแนนทางการเมืองได้มหาศาลอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นต้นแบบให้รัฐบาลภายหลังสืบทอดมาจนปัจจุบัน

ในทางปฏิบัติเมื่อเปิดประชุมวอร์รูมครั้งแรก ผมและทีมวิชาการจึงได้รับมอบหมายให้เสนอยุทธศาสตร์ภายใน 7 วัน เมื่อผ่านวอร์รูมก็ให้เสนอ ครม.ตัดสินใน 3 วันต่อมา การตอบสนองเช่นนี้ยากจะเป็นไปได้ถ้าทีมวิชาการไม่ได้ทำการบ้านมาต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งก็คือ การสะสม long term portfolio นั่นเอง

ยุทธศาสตร์หนึ่งคือ public empowerment รูปธรรมของการดำเนินยุทธศาสตร์นี้อาศัยข้อค้นพบลำดับความถี่ยี่ห้อสุราสัมพันธ์กับปริมาณการลงทุนโฆษณาสุราดังกล่าว ส่วนการสื่อสาร ผมเตรียมชุดสไลด์ ใส่มือคุณดำรง พุฒตาล นำเสนอวอร์รูม กลายเป็นจุดตั้งต้นของละรอกคลื่น “Talk of the Town” หลายช่องทางรวมทั้งสื่อมวลชนติดต่อกัน 7 เดือน จนในที่สุด ครม.มีมติห้ามการโฆษณาสุราทางสื่ออีเลกทรอนิกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ทำไมนักวิชาการไม่เสนอซะเอง ทำไมอาศัยคุณดำรง พุฒตาล

ใช้หลักการอะไรในการพัฒนาข้อเสนอห้ามโฆษณาสุรา ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญของธุรกิจสุรา

เรื่องราวนี้ชวนให้คิดถึงปฏิบัติการ “แจ๊คล้มยักษ์” เมื่อเปรียบทุนสองร้อยล้านบาทที่ สสส.อุดหนุนทีมวิชาการถนนปลอดภัย กับมูลค่าของธุรกิจสุราปีละหลายแสนล้านบาท ไอเดียผลักดันมติ ครม. “ห้ามการโฆษณา” ดังกล่าวนับเป็นการแทรกแซงกลไกสำคัญยิ่งยวดทางการตลาด เท่ากับ “แจ๊คท้าดวลกับยักษ์” ถ้าคิดแบบเส้นตรง คงไม่มีเหตุผลที่จะเปิดเกมล้มยักษ์เช่นนี้ แต่ทีมวิชาการมองว่าในแข็งมีอ่อน ในอ่อนมีแข็ง (หยินหยาง/paradoxical thinking) จึงใช้ข้อค้นพบนั้นทะลวงจุดอ่อนในด้านแข็งของธุรกิจสุรา การเลือกคุณดำรง พุฒตาล อาศัยหลักการสื่อสารที่ว่า คนส่งสารมีอิทธิพลต่อผู้รับสาร คุณดำรง พุฒตาล สะสมทุนสังคมมามากในฐานะนักจัดรายการทีวี และผู้นำการรณรงค์เมาไม่ขับอยู่หลายปีก่อนหน้าวอร์รูมถือกำเนิดจนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว. (สมัย ส.ว.เลือกตั้งไม่ใช่ลากตั้ง)

คำว่า “โอกาสเปิด” บ่งชี้ว่า บริบทสังคมเป็นพลวัตร หรือ complex systems (ระบบซับซ้อน) แม้ยากจะคาดเดาว่าเมื่อใดหน้าต่างโอกาสจะเปิดออก แต่ความพร้อมขององค์ประกอบย่อยในระบบซับซ้อน นับเป็นตัวแปรสำคัญต่อการปรับตัวของระบบ อ.ประเวศ วะสี เปรียบเปรยพลังทางวิชาการว่า คือ ค่าคงที่ในปฏิกิริยาเคมี หรือในทางการเมืองที่ตัวแปรอื่นผันผวนตลอดเวลา ถ้าไม่มีค่าคงที่นี้อันเปรียบเหมือน continuing wisdom สังคมก็จะปั่นป่วนไร้ทิศทางหรือหลงทาง ท่ามกลางความปั่นป่วนทางนโยบายรับมือโควิดของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ Antony Fauci คือ ค่าคงที่นี้อันเป็นที่พึ่งทางสติปัญญาแก่สังคม ตอนโรคหวัดนกระบาดเข้ามาในประเทศไทย ท่าทีแรกของรัฐบาลทักษิณคือ ปฏิเสธความจริงนี้เพราะไม่รู้จะรับมืออย่างไรจึงจะไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ นักไวรัสวิทยาอาวุโสก็เล่นบทคล้าย Fauci

คำถามคือ จะออกแบบกลไกทางสถาบันวิชาการอย่างไรให้ฟูมฟัก หล่อเลี้ยง “ค่าคงที่” นี้ได้อย่างมั่นคง NEBT ให้บทเรียนอะไรในแง่นี้

Realization of political naivety

แม้มีประสบการณ์ทำงานวิชาการเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใต้ร่ม NEBT และเครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่มาราวสิบปี ผมก็ยังอ่อนหัดในทางการเมืองเกินกว่าจะประคองนาวาทีมวิชาการถนนปลอดภัยให้รอดพ้นคลื่นลมไปได้อย่างยั่งยืน ทีมวิชาการนี้จึงมีอายุงานเพียง 15 เดือน

ผมมาทบทวนภายหลังจึงค่อยตระหนัก ถึงการใช้วิชาการเป็นเครื่องมือกลั่นกรองงบประมาณสนับสนุนปฏิบัติการระดับจังหวัดแบบเถรตรงโปร่งใส ตัวเลขเงินอุดหนุน 200 ล้านของ สสส.ดังกล่าว สะท้อนคติธรรมว่า “ที่ใดมีผลประโยชน์มากแรงดึงดูดผู้แสวงหาก็มากตาม…แล้วความยอกย้อน ช่วงชิง ก็ตามมา”

การสนับสนุนงบประมาณให้จังหวัด เป็นไปตามหลักการกลั่นกรองทุนวิจัย และติดตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งอาศัยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้หลายจังหวัดไม่ได้รับทุน บางจังหวัดถูกยุติทุนสนับสนุนเมื่อผลงานไม่เป็นไปตามแผนโดยขาดคำอธิบายที่สมเหตุสมผล แม้ว่าก่อนการรับข้อเสนอได้มีการติวทีมงานจังหวัดว่าควรเขียนแผนอย่างไร เมื่ออนุมัติทุนก็มีการติดตามนิเทศเพื่อช่วยให้จังหวัดสามารถดำเนินการตามแผนโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ความจริงที่ผมตระหนักในภายหลังคือ การไม่ได้รับทุนหรือถูกยุติทุนของจังหวัด มีนัยทางการเมืองเพราะจังหวัดคือฐานเสียงของฝ่ายการเมือง

คลื่นลูกใหญ่สุดที่ล้มคว่ำนาวาวิชาการลำนี้ ก่อตัวขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างบิ๊กในบอร์ดบริหาร สสส. ซึ่งเกิดภายใต้เงื่อนไขตามคติธรรมในย่อหน้าก่อน ขั้วตรงข้ามกับฝ่ายที่ถูกมองว่าสนับสนุนทีมวิชาการฯ จึงมองหาโอกาสทำลายคู่ต่อสู้ หนึ่งในโอกาสนั้นคือ กระบวนการจัดหา เครื่องมือตรวจวัดแอกอฮอล์ในลมหายใจ และเครื่องมือวัดความเร็วของรถยนต์ให้ตำรวจทั่วประเทศได้ทำงานตอบสนองนโยบาย ครม.ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2004 โดยให้เวลาดำเนินการเพียง 3 สัปดาห์ ทีมวิชาการฯ ซึ่งไม่น่าจะต้องรับผิดชอบหน้าที่นี้ (การซื้อของแจก) ได้ดำเนินการตามขั้นตอนพัสดุ (ตั้งกรรมการ สืบราคา ประกวดราคา ทดสอบตัวอย่างสินค้า ก่อนตัดสินใจ)

ส่วนการทำลายอาศัยเพียงการปล่อยข่าว “ซื้อของแพง” ตามด้วย คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา หลังจากมีการชี้แจงด้วยตัวหนังสือพร้อมหลักฐานประกอบการให้ปากคำ ก็ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาซ้ำเดิมอีกหลายรอบ ตีความได้ว่า เป็นการใช้กลไกทางนิตินัย และจิตวิทยา เพื่อบั่นทอนทุนทางสังคมนั่นเอง 7 ปีหลังจากวงจรทำลายล้างนี้ทำการ ผมได้รับหนังสือจากคณะกรรมชุดใหญ่ของ ป.ป.ช.แจ้งว่า คดีไม่มีมูล จึงปิดคดี Risk management จึงเป็นศาสตร์ที่ทุกคนควรเรียนรู้เพราะในโอกาสย่อมมีความเสี่ยง และกลับกัน ไม่ว่าเราจะข้องเกี่ยวกับปริมณฑลเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ….“ตถตา”.

“36 ปี” ที่มาที่ไป ของครูแพทย์คนหนึ่ง (1)

36 ปี ที่มาที่ไปของครูแพทย์ คนหนึ่ง (2)

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.