ส่องอนาคตหุ้นนอนแบงก์…ในวันที่ SCB เขย่าตลาด! – efinanceThai

หุ้นนอนแบงก์(Non-Bank) กอดคอร่วงยกแผง หลัง SCB ประกาศรุกสินเชื่อรายย่อย ขณะที่โบรกฯหวั่นตลาดแข่งเดือดขึ้น ฉุดสินเชื่อโตต่ำกว่าคาด แต่มองการมาของ SCB ยังไม่ส่งผลกระทบช่วง 1-2 ปีนี้ ชี้เป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นสินเชื่อ หลังราคาหุ้นร่วงยกแผงจากความกังวลดังกล่าว คาดงบปลายปีฟื้น – กำไรปี 65 ยังโตแจ่ม!

 

*** SCB รุกสินเชื่อ ฉุดหุ้น Non-Bank ร่วงยกแผง

 

กลายเป็นกระแสข่าวร้อนแรงขึ้นมาทันที หลังธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทาง SCB จะหันมารุกธุรกิจสินเชื่อมากขึ้น การส่งสัญญาณดังกล่าว สร้างความสั่นสะเทือนโดยตรงต่อบริษัทสินเชื่อขนาดใหญ่-น้อย ส่งผลให้ราคาหุ้นใหญ่ในกลุ่มดังกล่าววานนี้ (23 ก.ย.64) ปรับตัวลงยกแผง

โดย ราคาหุ้น บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ร่วงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ราคา 58.50 บาท ก่อนปิดซื้อขายด้วยราคา 60 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ-2.04%

ขณะที่ ราคาหุ้น บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ราคา 35.50 บาท ก่อนปิดซื้อขายวันดังกล่าวด้วยราคา 36.25 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ -2.02%

ส่วน ราคาหุ้น บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ร่วงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ราคา 63.75 บาท ก่อนปิดซื้อขายด้วยราคา 65 บาทลดลง 1 บาท หรือ 1.51%

 

*** กูรูหวั่น อุตสาหกรรมเดือดหนัก – สินเชื่อโตต่ำคาด

 

บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อย ต่อหุ้นในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อ จากประเด็นข่าวดังกล่าว เนื่องจาก จะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อ มีแนวโน้มช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม มองว่า มีสินเชื่อ 5 ประเภท ที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อประเด็นดังกล่าว ประกอบด้วย 1.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์, 2.สินเชื่อเช่าซื้อกลุ่มรถยนต์หรู, 3.สินเชื่อบัตรเครดิต, 4.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และ 5.สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบต่ำกำไรสุทธิโดยรวมของกลุ่มฯ ภายใต้สมมติฐานพอร์ตสินเชื่อของแต่ละบริษัท ลดลงทุก 1% จะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มสินเชื่อ มีดาวน์ไซด์ราว 0.7% ขณะที่คาดว่า MICRO เป็นบริษัทเดียวในกลุ่มสินเชื่อ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเน้นปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก เป็นหลัก

 

*** แต่ระยะสั้นไม่กระทบ กูรูชี้เป็นจังหวะสะสม รับงบปลายปีฟื้น

 

บล.ทรีนีตี้ มองว่า การรุกตลาดสินเชื่อของ SCB ในระยะสั้นยังไม่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ มองว่า กลยุทธ์ดังกล่าว จะช่วยหนุนการเติบโตระยะยาวมากกว่า โดยประเมินจากสมมติฐาน ธุรกิจการเงินของ SCB มีระดับ D/E Covenant ราว 7 เท่า จะทำให้มีเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อเต็มที่ 4.8 พันล้านบาท เท่านั้น

สอดคล้องกับ บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่มองว่า แม้ในระยะสั้น ตลาดจะมีความกังวลต่อการรุกสินเชื่อรายย่อยของ SCB ที่อาจกระทบต่อบริษัทสินเชื่อเดิม อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทในกลุ่มช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ ยังค่อนข้างจำกัด 

ขณะที่ กำไรสุทธิของบริษัทในกลุ่มฯ จะเริ่มฟื้นตัวโดดเด่น ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/64 ถึงปี 65 หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดระดับลงจากช่วงเดือน ส.ค.ที่มีการติดเชื้อราว 2 หมื่นคน/วัน ซึ่งคาดเป็นจุดสูงสุดแล้ว จึงมองช่วงนี้เป็นโอกาสสะสมหุ้นสินเชื่อ อย่าง TIDLOR, MTC และ SAWAD

โดย นักวิเคราะห์รายอื่นๆ ได้ประเมินกำไรสุทธิปี 64-65 ของ TIDLORSAWADMTC ไว้ดังนี้

 

ชื่อย่อหุ้น บล.  กำไรสุทธิปี 64 (ลบ.) %chg. YoY กำไรสุทธิปี 65 (ลบ.) %chg.YoY
TIDLOR เมย์แบงก์ฯ 3,215   33.07 4,085  27.06
TIDLOR โนมูระฯ 3,142  30.04   4,051 28.93
SAWAD  บัวหลวง  5,475 21.45  6,089 11.21
SAWAD เมย์แบงก์ฯ 4,965 10.13 5,747 15.75
MTC   หยวนต้า  5,684 9.01 6,607 16.23
MTC   ฟินันเซียฯ 5,374   3.06 6,637 23.50


*** โบรกฯเลือก TIDLOR เป็น Top Pick

 

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ภายพรวมอุตสาหกรรมปี 64 – 67 ยังมีแนวโน้มเติบโต 11% ต่อปี ขณะที่ กำไรสุทธิของกลุ่มในช่วงปี 64 – 67 คาดเติบโตราว 15% ต่อปี แม้คุณภาพสินทรัพย์แย่ลง NPL Ratio คาดปรับระดับขึ้นอยู่ที่ประมาณ 2-3% แต่เป็นระดับที่ไม่ได้น่ากังวล และบริษัทฯยังควบคุมได้ โดยยังคงเลือก TIDLOR เป็น Top Pick ของกลุ่มฯ ด้วยราคาเหมาะสม 50 บาท/หุ้น

ขณะที่ บล.เคทีบีเอสที ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานระยะยาวปี 64-67 ของ TIDLOR คาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรสุทธิเฉลี่ย 30% ต่อปีหนุนโดยสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ, จำนวนผู้ใช้งาน TIDLOR Card ที่เพิ่มขึ้น และโอกาสในการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ รวมทั้งแนวโน้มค่าใช้จ่ายดำเนินงานระยะยาวที่ลดลง 

 

*** เตรียมตัว 2 ปีจากนี้ เป็นเวลาปรับตัวเพื่ออยู่รอด! 

 

หากอ้างอิงข้อมูลของนักวิเคราะห์ ดูเหมือนการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มสินเชื่อวานนี้ จะเป็นปัจจัยลบเชิงจิตวิทยา ที่เข้ามากระทบในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งผลการดำเนินงานในกลุ่มฯ มีแนวโน้มเริ่มฟื้น ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป ดันกำไรปี 65 กลับมาโตแรง ส่วนการเข้ามาในตลาดของ SCB อาจต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี จึงเริ่มมีผลกระทบต่อกลุ่มฯ แต่นักวิเคราะห์มองว่า หลายบริษัทคงไม่อยู่เฉย และมีกลยุทธ์รับมือ ซึ่งยังพอมีเวลา สำหรับการปรับหมากในการแข่งขันอยู่บ้าง…