‘ศุภชัย’ ชี้รัฐ-เอกชนต้องผนึกกำลังดัน EEC เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจประเทศ เชื่อไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัล-รถยนต์ EV ได้ – THE STANDARD – thestandard.co

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Secret Sauce ถึงความสำคัญของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไปสู่ยุค 4.0 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งการลงทุนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกใหม่ สนามบินใหม่ และรถไฟความเร็วสูง รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใน EEC เป็นตัวบ่งชี้ว่าไทยกำลังเอาจริง

“การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของไทย ทำให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศนี้เอาจริงและเกิดความเชื่อมั่น ดังนั้นภาครัฐกับเอกชนต้องจับมือผนึกกำลังกันช่วยทำให้ EEC เกิดและผลักดันให้ไทยเป็นฮับการลงทุนให้ได้” ศุภชัยกล่าว

ศุภชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทยถือเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอยู่แล้วในสองด้าน คือปิโตรเคมีและการผลิตรถยนต์ เห็นได้จากการที่รถยนต์แบรนด์ดังหลายเจ้าเลือกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย และรถยนต์ที่ส่งออกจากไทยเป็นที่ยอมรับในแง่คุณภาพจากทั่วโลก 

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมรถยนต์ในเวลานี้กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า หรือ EV ทำให้ไทยอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า จะทำอย่างไรให้ค่ายรถยนต์เหล่านี้ยังใช้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ต่อไป 

“คำตอบคือเราต้องใช้ EEC เป็นตัวขับเคลื่อน ถ้าเราจูงใจให้เขาเลือกเราต่อได้ ธุรกิจต่อเนื่องจะตามเข้ามาจำนวนมาก เช่น บริษัทผลิตแบตเตอรี่ บริษัทที่ทำ IoT สำหรับสมาร์ทคาร์” ศุภชัยกล่าว

ศุภชัยกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยควรเดินหน้าผลักดันให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางให้ได้คือ ดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันไทยมีจำนวนคนใช้โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook สูงสุดในเอเชียนอกเหนือจากญี่ปุ่น แต่ Server หรือ ระบบ Cloud ที่ใช้ส่งผ่านและเก็บข้อมูลต่างๆ กลับต้องวิ่งผ่านสายไฟเบอร์ใต้ทะเลไปสิงคโปร์

“สมัยก่อนโลกแข่งกันด้วยทรัพยากรน้ำมัน แต่ปัจจุบันโลกแข่งกันด้วย Data เรื่องนี้เราต้องถามตัวเองเช่นกันว่าจะโน้มน้าวให้บริษัทเทคขนาดใหญ่มาตั้งฐานในไทยได้อย่างไร เรามี Incentives อะไรที่จะดึงดูดเขาได้บ้าง โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของเราพร้อมหรือไม่ กฎหมายต่างๆ พร้อมรองรับหรือยัง และที่สำคัญคือเรามีแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้เขาหรือเปล่า” ศุภชัยระบุ

ประธานคณะผู้บริหาร CP ยอมรับว่า หากพิจารณาจากปัจจัยข้างต้น ยังมีหลายเรื่องที่ไทยต้องเร่งผลักดัน แต่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เช่น ประเด็นการผลิตแรงงานทักษะฝีมือ สิ่งที่สามารถทำได้คือ ให้ภาคเอกชนจับมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางวิทยาศาสตร์ในประเทศ จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม หรือ Innovation Centres ขึ้นมา 4-5 แห่ง โดยในแต่ละศูนย์จะจ้างนักวิทยาศาสตร์ นวัตกร และศาสตราจารย์จากทั่วโลกเข้ามาทำงานวิจัย

“ถ้าเราทำได้ เรื่องนี้จะช่วยยกระดับมหาวิทยาลัยไทยขึ้นสู่ระดับโลก เมื่อมหาวิทยาลัยของเราติด Top 50 ของโลกก็จะดึงดูดเด็กเก่งให้เข้ามาเรียน เมื่อเรียนจบแล้วเราสามารถให้กรีนการ์ดเขาทำงานต่อได้เลย ถ้าภาครัฐแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าต้องการทำ เสนอ Incentives ให้เอกชน เช่นให้หักภาษีได้ เชื่อว่ามีเอกชนที่พร้อมทำ” ศุภชัยกล่าว

ศุภชัยกล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าการจัดตั้ง Innovation Centres 4-5 แห่งตามแผนดังกล่าว จะใช้งบประมาณอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านบาท หรือ 2 พันล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 5 ปี โดย 1 ใน 3 เป็นงบสำหรับเครื่องมืออุปกรณ์วิจัย อีก 1 ใน 3 เป็นงบดึงตัวบุคลากรมาจากทั่วโลก และส่วนที่เหลือเป็นทุนวิจัย ซึ่งถือว่าไม่มากสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้กับประเทศ

นอกจากนี้ศุภชัยยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่ม CP ได้รับสัมปทานว่า ทุกอย่างยังคืบหน้าไปตามลำดับกรอบเวลา โดยในปีนี้จะมีการรับมอบแอร์พอร์ตลิงก์เดิม และเมื่อรับมาแล้วจะต้องลงทุนต่ออีกหลายพันล้านบาทเพื่อปรับปรุงบริการให้ตอบสนองผู้โดยสารได้ดีขึ้น 

“ขณะนี้ไม่มีปัญหาอะไร จะมีก็เพียงปัญหาโควิดที่ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารของแอร์พอร์ตลิงก์ลดลงจาก 8-9 หมื่นคนต่อวัน เหลือ 2 หมื่นคนต่อวัน ทำให้เราต้องวางยุทธศาสตร์เรื่องการเงินให้ดี” ศุภชัยกล่าว





สำหรับแผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในส่วนที่เหลือ ศุภชัยกล่าวว่า ได้มีการเตรียมการก่อสร้างล่วงหน้าเอาไว้แล้วแม้ว่าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งภาครัฐพยายามเร่งรัดให้ โดยยังเชื่อว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ตามกรอบเวลาที่วางเอาไว้