สานต่อพระราชปณิธาน ในหลวง ชีวิตครูบนดอย ของ ลูก “ม.ท.ศ.” ตอบแทนแผ่นดินตราบสิ้นลมหายใจ
“หากข้าพเจ้าได้เป็นครูอย่างที่หวังไว้ ข้าพเจ้าจะไม่สักแต่สอนหนังสือ แต่ข้าพเจ้าจะ ‘สอนคน’ คือสอนเด็กๆ ให้เป็นคนดี มีความรู้ มีความสามารถ และช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือชุมชน และช่วยเหลือประเทศชาติได้”
หนึ่งในคำมั่นของ “วาสินี รุ่งเมือง หรือ หญิง นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 2 จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ที่ประกาศคำมั่นในการทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเพื่อน้องบนดอยสูง
จากชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมองไม่เห็นโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สู่ชีวิตข้าราชการครูที่ตั้งใจจะถ่ายทอดความรู้ที่มีให้แก่เด็กๆ และตั้งปณิธานอันแน่วแน่วว่าจะ “ตอบแทนแผ่นดิน…ตราบสิ้นลมหายใจ”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่เรียนดี ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามสาขาวิชาที่ต้องการ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนจบระดับปริญญาตรี
วาสินี ได้รับทุนพระราชทานตั้งแต่ปี 2553 ทุนพระราชทานนี้ทำให้วาสินีได้ศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิชาที่มุ่งหวัง ซึ่งเลือกเรียนสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพราะมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็น ‘คุณครูบนดอย’ หรือ ‘คุณครูตามถิ่นทุรกันดาร’
เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหมุดหมายของชีวิตหวังไว้ วาสินี เลือกกลับมาสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเอง เพราะต้องการกลับมาพัฒนาเยาวชนในบ้านเกิดให้มีความรู้ มีทักษะชีวิต มีโอกาสที่ดีเหมือนตัวเขา และชีวิตข้าราชการครูที่มุ่งหวังและใฝ่ฝันไว้ก็ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา
ปัจจุบัน วาสินีเป็นครู โรงเรียนบ้านกอกหลวง ตำบลแม่นาจาง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยโรงเรียนนี้อยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 51 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์ กว่าสามชั่วโมง สภาพถนนหนทางมีทั้งลาดยาง คอนกรีต และลูกรัง สลับกันไป ทางลูกรังในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว ถนนก็จะเต็มไปด้วยฝุ่นหนา ส่วนในช่วงฤดูฝน ถนนก็จะสัญจรลำบาก
เนื่องด้วยเส้นทางดังกล่าวต้องลัดเลาะตามภูเขา จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แต่ความยากลำบากดังกล่าวก็มิได้ทำให้วาสินีรู้สึกท้อแท้หรือหวาดกลัว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่วาสินีตั้งใจอยากมาสัมผัส อยากมาเรียนรู้ และอยากมาช่วยพัฒนาเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้มีคุณภาพชีวิต รวมถึงคุณภาพความคิดให้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่าเส้นทางเข้าหมู่บ้านจะค่อนข้างลำบากและห่างไกล รวมถึงสื่อการเรียนการสอนอาจมีไม่ครบเหมือนอย่างโรงเรียนที่อยู่ในเมือง แต่บรรยากาศทั้งในโรงเรียนและในหมู่บ้านก็เต็มไปด้วยความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความเป็นครอบครัว เพราะเป็นเรื่องปกติที่คุณครูบนดอยจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง ไม่แบ่งแยก เช่นเดียวกับเด็กๆ และชาวบ้านที่ให้ความเคารพ ให้ความร่วมมือต่าง ๆ แก่คณะครูและทางโรงเรียนเป็นอย่างดี สิ่งนี้จึงถือว่าเป็นกำไรของคุณครูที่ได้มาอยู่บนดอย
นอกจากการที่ได้มีโอกาสเดินทางตามความฝันจนถือว่าสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้วนั้น
สิ่งที่วาสินีตั้งมั่นในปณิธานไว้เสมอก็คือ “…หากได้เป็นครูอย่างที่หวังไว้ จะไม่สักแต่สอนหนังสือ แต่จะ ‘สอนคน’ คือสอนเด็กๆ ให้เป็นคนดี มีความรู้ มีความสามารถ และช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือชุมชน และช่วยเหลือประเทศชาติได้…”
เหนือสิ่งอื่นใด วาสินีรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาพระราชทานทุนการศึกษานี้ให้แก่เธอ หากไม่ได้รับทุนพระราชทานนี้ คงไม่ได้รับโอกาสดีๆ อีกมากมายที่เข้ามาในชีวิตและครอบครัว โดยสัญญาว่าจะมอบโอกาสดีๆ ให้ผู้อื่น จะตั้งใจถ่ายทอดวิชาอันเป็นความรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กๆ จะเป็นข้าราชการ…ข้าของแผ่นดิน ที่ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งดีๆ เพื่อตอบแทนแผ่นดิน ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์สืบไป
มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) เป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่จะสร้างโอกาสแก่เยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ และทรงมีพระราชดำริพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โดยเสด็จพระราชกุศล มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่ยากจนให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำ “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อพุทธศักราช 2552 และต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” (ม.ท.ศ.) เพื่อดำเนินการส่งเสริมเยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรม มีฐานะยากจน สามารถศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่ตรงตามความต้องการ โดยทรงวางหลักการกระจายทุนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด อันเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถ และศักยภาพแก่เยาวชนไทย