สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ผิดกฎหมายหรือไม่ – Brand Inside

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เริ่มกลายเป็นยานพาหนะในการเดินทางมากขึ้น เพราะพกพาสะดวก ใช้เดินทางระยะ 1-2 กม. ได้เป็นอย่างดี แถมใครไม่สะดวกซื้อมาใช้ก็มีบริการให้เช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเช่นกัน

แต่ล่าสุด สถานีตำรวจภูธรป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มีการออกใบสั่งกับผู้ขับขี่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ในข้อหา นำรถที่ไม่ได้จดทะเบียน และเสียภาษีมาใช้ในทาง และไม่มีใบอนุญาตขับรถฯ ตามความผิด พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522

สรุปแล้ว สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ต้องนำไปจดทะเบียนกับ กรมการขนส่งทางบก และผู้ขับต้องมีใบอนุญาตขับขี่หรือไม่ รวมถึงในต่างประเทศ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ถูกจัดเป็นยานพาหนะประเภทไหน Brand Inside ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า

สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ในไทย เท่ากับ รถจักรยานยนต์

แม้จะมีขนาด และพละกำลังน้อยกว่าจักรยานยนต์ แต่หากนิยามตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่า รถจักรยานยนต์ คือ รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ หรือกำลังไฟฟ้า และมีล้อไม่เกิน 2 ล้อ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วย สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ที่มี 2 ล้อ และส่งกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จึงเข้าเกณฑ์ รถจักรยานยนต์ ทันที

ดังนั้นการขับขี่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ในประเทศไทย ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ในกรณีที่ขับขี่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เพื่อเดินทางส่วนตัว ไม่ได้ใช้สร้างรายได้ เพื่อการันตีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมีค่าธรรมเนียมใบละ 500 บาท และผู้ทำต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป

ขณะเดียวกันผู้ใดขับขี่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า แล้วไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดบทลงโทษว่า ให้จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกับการขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วไม่มีใบขับขี่

แต่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จดทะเบียน รถจักรยานยนต์ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะตีความ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เป็น รถจักรยานยนต์ ทำให้ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ต้องไปจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล เพื่อได้ทะเบียน และเสียภาษีเหมือนกับ รถจักรยานยนต์ อื่น ๆ แต่ด้วย สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงไม่สามารถ จดทะเบียนเป็น รถจักรยานยนต์ ได้

เพราะ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ที่ระบุว่า รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ต้องมีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ ซึ่งมี สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่มีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าเกณฑ์ เช่น Xiaomi รุ่น M365 ราคาราว 10,000 บาท

และถึงจะมีกำลังมอเตอร์ถึง 250 วัตต์ แต่จะมาติดอีกข้อจำกัดคือ สามารถขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กม./ชม. ต้องวิ่งในความเร็วสูงสุดดังกล่าวได้นาน 30 นาทีเมื่อบรรทุกสูงสุดตามที่ผู้ผลิตกำหนด ซึ่ง Xiaomi รุ่นดังกล่าววิ่งได้ความเร็วสูงสุด 25 กม./ชม. เท่านั้น

segway
ภาพ pexels

เมื่อจดทะเบียนไม่ได้ก็โดนโทษปรับ 10,000 บาท

เมื่อจดทะเบียนไม่ได้ ผู้ขับ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จะถูกโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เพราะขับขี่รถยนต์ไม่จดทะเบียน โดยสถานีตำรวจภูธรป่าตอง มีการยึด สกู๊ตเตอร์ทั้งหมด 4 คัน และหลังจากนี้หากตรวจพบอีกจะตักเตือนเป็นราย ๆ ไป พร้อมแจ้งให้นักท่องเที่ยวที่ใช้งาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้งาน

ก่อนหน้านี้การใช้งาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า บนถนนสาธารณะ ยังไม่มีข่าวการถูกตำรวจจับ หรือโดนตักเตือนจากการขับขี่ และผู้ให้บริการเช่า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เช่น Haupcar หรือ Scoota ยังไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวถึงกรณีนี้ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า แบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นกัน

สำหรับบริการเช่า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น Haupcar มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,499 บาท/เดือน และรายชั่วโมงเริ่มต้น 30 บาท ส่วนผู้ขาย สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ในประเทศไทย มีดีลเลอร์ถูกต้องทั้งแบรนด์ Xiaomi, Nine bot by Segway รวมถึงกลุ่มจักรยานไฟฟ้า ราคามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น

แล้วต่างประเทศนิยาม สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ไว้อย่างไรบ้าง

ในสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย มีการกำหนดกฎหมายการขับขี่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ว่า ห้ามวิ่งเกิน 32 กม./ชม. หากวิ่งเกินจะถูกปรับ 250 ดอลลาร์สหรัฐ และหากอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องใส่หมวกกันน็อค ขับขี่ได้บนเลนจักรยานเท่านั้น รวมถึงต้องมีใบอนุญาตขับขี่ แต่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ไม่ต้องจดทะเบียน และไม่ถูกนิยามเป็นรถที่มีเครื่องยนต์

ส่วนในประเทศญี่ปุ่น การขับขี่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ถูกนิยามเป็น รถจักรยานยนต์ เช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้ทุกคันต้องมีป้ายทะเบียน และผู้ขับต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ถ้าผู้ขับไม่ทำตามจะถูกเปรียบเทียบปรับ และหากทำตามเกณฑ์ข้างต้นครบ แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร จะถูกลงโทษเช่นกัน

ด้านมูลค่าตลาดของ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มีรายงานว่าจะเติบโตเฉลี่ย 30.3%/ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564-2571 จนมีมูลค่ารวมกว่า 6.77 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนจำนวนจะเติบโตเฉลี่ย 23.5% นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564-2571 จนมีทั้งหมด 238.1 ล้านคัน

สรุป

แสดงให้เห็นว่า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ยังเป็นสีเทาในมุมการขับขี่ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก อาจเพราะด้วยความเร็วที่ทำได้ และขนาดที่ค่อนข้างเล็กทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการตรากฎหมายที่ชัดเจนเพื่อดูแลยานพาหนะประเภทนี้โดยเฉพาะ น่าจะเหมาะสม และเป็นธรรมต่อการขับขี่ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มากกว่าการปล่อยให้เป็นแบบนี้

อ้างอิง // กรมการขนส่งทางบก 1, 2, Japan Times, Electric Bike Report

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา